ความสุขวงใน

ประโยชน์สุขจากงานพิธีกรเวทีชุมนุมนักอ่าน

คุณแชมป์ โสภณ บุญรัตนกิจ หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมนักอ่าน (Reader club) ที่ได้รับโอกาสจากอาจารย์ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ ให้เป็นพิธีกรเวทีชุมนุมนักอ่าน ซึ่งมีการรวมตัวกันของกลุ่มคนผู้รักการอ่านมาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวที่ตกผลึกจากหนังสือแต่ละเล่ม โดยบรรยากาศของกิจกรรมจะมีแขกรับเชิญผู้รักการอ่าน ร่วมสนทนากันบนเวทีเล่าถึงวรรคตอนที่ประทับใจในหนังสือที่ชมรมคัดเลือกมาในเดือนนั้นๆ

ผมเริ่มจากมาเป็นคนฟัง รู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์และสนับสนุนให้คนรักการอ่าน ทางชมรมได้คัดเลือกหนังสือดีๆ ให้ผู้อ่านได้มาแบ่งปันมุมมองของหนังสือที่แตกต่างกัน จุดสนใจที่อยากจะมาเป็นพิธีกรคือ คนเราจะเก่งขึ้นต้องกล้าที่จะออกไปทำอะไรสักอย่างที่เราไม่เคยทำ ผมอยากเรียนรู้

ความกังวลใจของการทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำมีอะไรบ้าง

สำหรับผมมีความรู้สึกเหมือนลงมือทำเพื่อเรียนรู้จริง แรกๆ จะมีความกังวลบ้าง จากการที่ยังไม่รู้ขั้นตอน แต่พอมีทีมงานที่ดี มีการพูดคุยมีการวางแผนงาน และตรวจดูรายละเอียดต่างๆ ร่วมกัน เราก็กล้าที่จะไว้ใจไม่ต้องพะวงหลัง มีสมาธิกับหน้างานและเนื้อหาได้เต็มที่ จริงๆ แล้วเมื่อทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ ผมก็แค่ทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดีที่สุด ไม่ได้ห่วงผลลัพธ์

หน้าที่หลักของพิธีกรคือ

การเชื่อมโยงครับ คนที่เก่งมากๆ คนเดียว สู้คนธรรมดาสามคนคุยกันไม่ได้ ผมเชื่อว่าทุกคนมีมุมมองที่ดีอยู่แล้ว หน้าที่ที่ผมทำไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นร่วมกับผู้อ่าน แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ คนที่สำคัญที่สุดคือผู้ร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นแขกรับเชิญกับผู้ฟัง ผมมีหน้าที่ทำให้แขกรับเชิญกับผู้ฟังเชื่อมโยงกัน แต่ละคนอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราสลับมุมมองกัน แล้วทำให้เห็นมุมมองที่ต่างกัน

หัวใจสำคัญของการเป็นพิธีกรคือ

เป็นเรื่องของใจ บางครั้งเราคุ้นชินกับการวางแผนโดยการใช้เทคนิค Hard Side Management (การบริหารจัดการที่อิงแต่ระบบและวัดผลจากตัวเลข) จนทำให้เราลืมเรื่องของใจไป การใส่ใจผู้อื่น ทีมงาน ภาพรวม คนที่อยู่ตรงหน้า ผู้ร่วมกิจกรรม และผู้คนทางบ้าน คือสิ่งสำคัญ เป็นเรื่องปกติที่แขกรับเชิญจะรู้สึกตื่นเต้นเมื่ออยู่บนเวที ถ้าแขกรับเชิญพูดเร็วมาก พูดติดขัด จะไม่มีการยั้งหรือเร่ง แต่จะปล่อยให้เขาได้ใช้เวลาอยู่ตรงนั้น ได้ปรับตัว

ในส่วนของผู้ฟังต้องคอยดูว่าผู้ฟังยังมีสมาธิกับเนื้อหาไหม คอยดูจังหวะว่าถึงจุดที่ควรยั้งแล้วหรือยัง สุดท้ายต้องมีการสรุปความให้ผู้ฟัง การสรุปความคือการเปิดโอกาสให้คนได้ย่อยเนื้อหาอีกครั้ง

ตลอดกระบวนการถ้าพิธีกรตื่นเต้น มีความคิดจรหรือความคิดอื่นเข้ามาในระหว่างนั้น พิธีกรจะพลาดเนื้อหา อย่างอื่นก็จะพลอยแย่ไปหมดแต่ถ้าพิธีกรใจสงบ ทำให้ทั้งแขกรับเชิญและผู้ฟังกลมกลืนกันได้ อารมณ์ร่วมที่เกิดจากข้างในจะทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ ท้ายสุดผมได้ความสงบ

ความสงบที่ว่าคือ

การนั่งนิ่งๆ อาจจะไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสงบที่ชัดเจน การทำพิธีกรเวทีชุมนุมนักอ่านมีตัวชี้วัดที่หลากหลายการทำงานกับคนหมู่มาก ทำงานกับความหลากหลายเป็นบททดสอบที่ดี ใจเรายังสงบอยู่ไหม เมื่อมีอะไรที่ไม่ตรงตามแผน ไม่เป็นไปตามที่กำหนด เราต้องคอยดูว่าอารมณ์ของเรายังมั่นคงอยู่หรือไม่ ถ้ามีความคิดจร ไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน ขาดสติ จะทำให้หลุดออกจากสิ่งที่ทำ ร่างกายเป็นตัวชี้วัดที่ดี การสังเกตร่างกายจะรู้ว่าเราสงบหรือไม่สงบ ซึ่งสามารถฝึกไปด้วยกันกับการทำกิจกรรมระหว่างวัน

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็นพิธีกรคือ

การทำงานเป็นทีม งานที่เราทำมีหลายองค์ประกอบ นอกจากการขึ้นไปพูดคุยกับแขกรับเชิญ ยังต้องมีการเตรียมงาน จัดฉาก การเตรียมสถานที่ต่างๆ รวมถึงคลิปวิดีโอที่จะเผยแพร่ทาง youtube ทุกอย่างต้องมีความเหมาะสมลงตัว ต้องใส่ใจในทุกมิติ การประสานงานเป็นทีมจึงเป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกันเพื่อให้งานออกมาได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้

การพัฒนาที่ได้จากการทำหน้าที่นี้คือ

พัฒนาความช่างสังเกตและการแก้สถานการณ์ ตัวอย่างเช่น การสังเกตดูสีหน้าท่าทางของแขกรับเชิญ ถ้าแขกรับเชิญไม่เข้าใจคำถาม งง หรือไม่มีการตอบโต้ ผมต้องรีบแก้สถานการณ์ อีกจุดหนึ่งคือการทำงานบนความไม่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นการเป็นพิธีกรหรือการทำงานอื่น บางครั้งอาจจะมีเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายที่เราไม่สามารถเตรียมการล่วงหน้า เราก็ต้องแก้สถานการณ์ได้และต้องมองโลกให้กว้างขึ้นไม่ยึดเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง รู้ในสิ่งที่ทำ เรามีหน้าที่อะไร กำลังทำอะไร

ในอนาคตมอง Reader club ไว้อย่างไร

การทำให้ Reader Club ขยายวงกว้างสู่คนนอกมากขึ้น น่าจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายน่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากขึ้นการนำหนังสือที่ผู้เขียนตกผลึกมาแล้ว มาร่วมกันอ่านและแบ่งปันมุมมองกันถือเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ที่ดี แต่ถ้าจะพัฒนารูปแบบโดยเปลี่ยนจากการถอดรหัสหนังสือมาเป็นการถอดรหัสบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญอย่างใดอย่างหนึ่ง เชิญเขาเหล่านั้นมาแบ่งปันสิ่งที่เขาทำและชำนาญ สะท้อนแง่คิด ความสำคัญของสิ่งที่เขาเชี่ยวชาญ ทำให้เป็นการต่อยอดองค์ความรู้ที่มีมิติมากขึ้นกว่าเดิม

ความสุขที่ได้รับจากการลงมือทำเพื่อเรียนรู้จริง

ความสุขเกิดจากการที่เรียนรู้แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่ได้วิชาแต่ไม่ได้สร้างประโยชน์การได้ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่ากับผู้อื่น ความสุขมันอยู่ตรงนี้สิ่งที่ทำมันจะไม่ก่อเกิดอะไรเลยถ้าไม่มีผู้รับ จริงๆ แล้วต้องขอบคุณผู้รับมากกว่า ที่เปิดโอกาสให้ผมได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ แค่ผมเห็นว่าเขาได้ประโยชน์ก็เกิดความสุข แต่คุณค่าจะสูงกว่านั้นถ้าสิ่งที่ผมให้ไปผู้รับได้นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง น้ำที่ผมยื่นให้คุณ ความสุขจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าคุณไม่ยกขึ้นดื่ม แต่ถ้าคุณดื่มน้ำนั้นแล้วดับกระหาย ความสุขมันอยู่ตรงนี้ต่างหาก คือผมมีความสุขที่เห็นผู้รับมีความสุข

สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับกิจกรรม Reader Club สามารถติดตามข่าวสารได้จากทางไหนบ้าง

ติดตามได้จาก http://facebook.com/bojjhangainstitute ซึ่งจะมีการประกาศเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ เช่น วัน เวลา และ ชื่อหนังสือที่จะใช้ในกิจกรรมแต่ละครั้งครับ

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save