ขบถเรียน ห้องเรียนปฏิวัติการเรียนรู้
‘ห้องเรียน’ สถานที่สี่เหลี่ยมที่เราออกจากท้องแม่มา 3-4 ปีก็ถูกลากจูงเข้าไปนั่ง วันแรกๆ อาจจะร้องไห้กระจองอแง แต่เมื่อเรียนรู้กับมันหลายปีก็เริ่มชินชา บางคนสนุกกับมัน ในขณะที่บางคนก็แค่เรียนให้มันจบๆ ไป อาจเป็นเพราะหลายครั้ง ‘การเรียน’ พูดเรื่องที่ไกลจากตัวเรา ทั้งที่จริงๆ แล้วโลกนี้มีอะไรน่าเรียนมากมาย เราอาจไม่อยากรู้การถอดล๊อกกาลิทึ่ม แต่อาจอยากรู้วิธีการทำบัญชีและออมเงิน เราอาจไม่อยากเรียนการทำเงื่อนพิรอด แต่เราอยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้เราผูกสัมพันธ์กับคนอื่น เราอาจไม่อยากเก็บหน่วยสาระรายวิชา แต่เราอยากเก็บซากความทรงจำที่พังทลาย ฯลฯ
ด้วยความอยากสนใจใคร่รู้ของชายหนุ่มคนหนึ่ง เวย์ เวสารัช โทณผลิน ลองเปิดรูปแบบการเรียนรู้ชื่อ ‘ขบถเรียน’ ขึ้นซึ่งมีคำจำกัดความกว้าง (มากๆ) ว่า การเรียนรู้เกี่ยวกับมนุษย์ซึ่งไม่สอนในห้องเรียน
เขาคิดเรื่องนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เมื่อเขาออกจากงานประจำด้านนักเขียนนักข่าวมาทำงานอิสระ เขาอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่ก็ไม่มีทักษะในการสร้างหรือผลิตอะไร ในอีกทางเขาชอบอ่าน เขียน ชอบเล่าเรื่อง และบอกต่อ เลยลองสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ออกนอกกรอบห้องเรียน เรื่องสำคัญที่โรงเรียนและบ้านลืมบอกสอน แต่เขาใส่ใจ
ช่วงแรกเขาทำหน้าที่ตัวกลางระหว่างคนที่อยากเรียนกับผู้สอน ส่วนเขาเป็นแค่ผู้จัดงาน ห้องเรียนครั้งแรกๆ จึงเริ่มจากครูผู้สอนที่เขารู้จักดี เช่น วิชา ‘เล่านิทาน’ ได้เจ้าของสำนักพิมพ์ก้อนเมฆมาเป็นผู้สอน วิชา ‘อ่านหาเรื่อง’ ได้ โตมร ศุขปรีชา เป็นผู้นำกระบวนการ ปรากฏว่าไม่ว่าจัดกี่ครั้งก็ไม่คุ้มต้นทุน ทั้งค่าตกแต่ง ค่าสถานที่ ค่าอาหาร ค่าวิทยากร ค่าประชาสัมพันธ์ นี่ยังไม่ทันได้คิดค่าแรงตัวเองเลยด้วยซ้ำ
มองกลับไปเป็นโมเดลธุรกิจที่แย่ ขาดทุนแบบเข้าเนื้อ แต่ก็เป็นเรื่องดีที่ได้ริเริ่มอะไรใหม่ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไมเหมือนกัน
เวย์เล่าไปหัวเราะไป เพราะหลังจากนั้น ‘สุขเทรนนิ่ง’ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ติดต่อให้เขาลองทำห้องเรียนเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายบ้าง เขาเลยจัดห้องเรียน ‘สวยไม่ app’ โดยชวนสาวๆ มาพูดคุยหานิยามความสวยของตัวเองโดยไม่จำกัดกรอบความสวยที่สังคมบอกสอน ซึ่งถือเป็นการจัดห้องเรียนครั้งแรกที่ไม่ขาดทุน
หลังจากนั้นเขาก็หยุดจัดกิจกรรมไปพักใหญ่ เพราะปริมาณงานที่มีมากขึ้น อีกทั้งเขายังอยากศึกษาเรื่องธุรกิจเพิ่มเติม ช่วงนั้นเขาได้เข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคม ได้เจอเพื่อนใหม่เต็มไปหมด และได้ทบทวนตัวเองว่าจริงๆ แล้วอยากเป็นคนสอนเอง หากตัดปัจจัยเรื่องสถานที่และค่าตัววิทยากรได้ล่ะก็ ห้องเรียนของเขาน่าจะเป็นไปได้
ห้องเรียน LOVE 101
เฉกเช่นคนทั่วไป เวย์มีปัญหาความรักกับแฟนของเขา แต่แทนที่จะบ่นหรือหาที่ระบาย เขามักกลับไปหาหนังสืออ่านหรือพูดคุยกับผู้รู้ เพื่อเข้าใจว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ เขาอ่านทั้งหนังสือวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา ศาสนา ปรัชญา สังคมวัฒนธรรม ฯลฯ
วันหนึ่งรุ่นน้องก็มาปรึกษาเขาว่า เพิ่งเลิกกับแฟนที่คบกันได้ 3-4 เดือน เพราะแฟนเปลี่ยนไป แทนที่จะปลอบใจน้อง เวย์ลองอธิบายทฤษฎีเกี่ยวกับการตกหลุมรักว่าสมองและร่างกายของมนุษย์ทำงานอย่างไรเมื่อตกหลุมรัก พอน้องได้ฟังก็บอกว่ารู้สึกเข้าใจและไม่โกรธ สุดท้ายก็กลับไปคบกับแฟนได้
ผมจะเป็นคนเอาความรู้เข้าสู้ เล่มไหนที่มีประโยชน์ผมจะอ่านหลายรอบ ทำหนังสือเสียง เขียนสรุป ด้วยกระบวนการแบบนี้จึงมีความมั่นใจว่าผมสอนต่อได้ แต่ถามว่าผมทำได้หมดไหมตามที่อ่าน ก็ไม่นะครับ
– ชายหนุ่มอธิบายพร้อมอมยิ้ม
ประกอบกับเพื่อนให้ใช้สถานที่การอบรมขนาดกำลังดีคือจุคนได้ 20 คน เขาจึงทดลองเปิดห้องเรียนนี้ โดยตั้งชื่อว่าห้องเรียน LOVE 101 เป็นห้องเรียนที่ให้ความรู้ว่าด้วยความรัก เนื้อหาร้อยละ 80 เป็นวิทยาศาสตร์ว่าด้วยสมอง วิวัฒนาการ และจิตวิทยา และอีกร้อยละ 20 เป็นความรู้ด้านประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม นอกจากการฟังบรรยายก็มีช่วงแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันสบายๆ ด้วย
เขาอธิบายต่อไปว่าห้องเรียน LOVE 101 มีองค์ประกอบ 4 อย่างคือ 1. Modeling คือการเป็นต้นแบบหรือเป็นอย่างที่สอนจริงๆ 2. Mentoring คือการสร้างและดูแลความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่น 3. Organizing คือการร่วมกันสร้างระบบในช่วงที่มีสติสัมปชัญญะปกติดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และ 4. Telling คือการพูดและสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น
ปัจจุบันเขาจัดห้องเรียนได้ 7 ครั้ง 5 ครั้งแรกทดลองจัดฟรีเพื่อให้เขาได้เรียนรู้และปรับเนื้อหา เมื่อเดือนที่แล้วลองเก็บเงินซึ่งก็มีคนยินดีจ่าย บรรยากาศในห้องสนุกสนานและดีขึ้นทุกๆ ครั้งที่มีการเรียนรู้
ผมอยากให้ความรู้มันสนุก แทนที่จะดูหนัง ฟังเพลง ถ้าเราชอบความรู้ เราอยากเรียนเรื่องนี้ เราจะได้ทั้งความสนุก ความรู้ และได้เพื่อน
นอกจากห้องเรียน LOVE 101 ในอนาคตอันใกล้จะมีห้องเรียนอื่นๆ อีก ได้แก่ LOVE 102 คือ การสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication : NVC) ไม่นานมานี้เพื่อนที่เป็นนักจิตวิทยาของเขาก็ริเริ่มอยากทำห้องเรียน LOVE 201 นอกจากนี้เขายังคิดทำห้องเรียนว่าด้วยชีวิต หรือ Humanity 101 ซึ่งอันนี้จะไม่ใช่การบรรยาย แต่เป็นกิจกรรมล้วนๆ
หากมองเป็นหนังสือ ก็อยากให้เป็นหนังสือที่มีหลายบท เป็นหลักสูตรที่มีให้เรียนที่หลากหลายต่อเนื่อง
จริงๆ แล้วเวย์มีต้นแบบการทำขบถเรียนอยู่ในใจ ชื่อบริษัท ‘School of Life’ ของประเทศอังกฤษซึ่งขายสินค้าชื่อความรู้ ในทางรูปธรรมบริษัทจะขายหนังสือ อุปกรณ์การศึกษา จัดสัมมนา และจัดการเรียนรู้ต่างๆ หากเราอยากได้ความรู้เรื่องอะไร เราก็เดินเข้าไปใช้บริการ เช่น เราอยากรู้ว่าตนเองควรทำอาชีพอะไร ภัณฑารักษ์จะมีกระบวนการสอบถามและสุดท้ายจะแนะนำหนังสือ ภาพยนตร์ สถานที่ที่ควรไป เช่น พิพิธภัณฑ์ สัมมนา การอบรม ที่น่าจะช่วยเราได้
ฉะนั้นคนที่สนใจขบถเรียนหรือห้องเรียน LOVE 101 นอกจากจะสนใจเรื่องความรัก น่าจะสนใจความรู้ สนใจการแลกเปลี่ยนพูดคุยด้วย เป็นบรรยากาศสบายๆ เหมือนแนะนำหนังสือให้กันและกันอ่าน
สนใจการเรียนรู้ของขบถเรียน อ่านเพิ่มเติมหรือติดต่อได้ที่
- facebook : ขบถเรียน (www.facebook.com/KABOTLEARN)
- website : www.kabotlearn.com
- email: kabotlearn@gmail.com