ความสุขวงใน

นำพากระบวนการเรียนรู้ ผู้ปลุกปลูกความรู้ในผู้คน

กระบวนกร (Facilitator) คือ ผู้นำพากระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดชุดความรู้ใหม่ขึ้นจากภายในจิตใจของผู้เรียนเอง ชุดความรู้ใหม่นั้นอาจหมายถึง มุมมองใหม่ ความหมายใหม่ ความรู้สึกใหม่ ความคุ้นชินใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ หรือกรอบความเชื่อใหม่ องค์ประกอบสำคัญของการนำพากระบวนการเรียนรู้โดยกระบวนกรคือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ และการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ จะช่วยให้ผู้เรียนเปิดใจพร้อมเรียนรู้ รู้สึกถึงการมีตัวตนแต่ไม่ปกป้องตัวตน เมื่อเกิดพื้นที่ปลอดภัย เสียงเล็กๆ จากภายในที่เคยผุดขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวตนในลักษณะที่ว่า สิ่งนี้ใช่-สิ่งนี้ไม่ใช่ สิ่งนี้ชอบ-สิ่งนี้ไม่ชอบ รวมถึงเสียงความคิดต่างๆ ที่แปรเปลี่ยนมาจากความกลัวภายในจิตใจ จะค่อยๆ หายไป ผู้เรียนจะเริ่มดำรงอยู่ในสภาวะที่ไม่คุ้นชินทีละเล็กทีละน้อยเพื่อการสำรวจพื้นที่ใหม่ๆ ภายในจิตใจของตนเอง

บรรยากาศในการเรียนรู้ที่ปลอดภัยนั้น มีลักษณะที่ผ่อนคลาย สบายๆ มีความรัก ไม่ตัดสินตนเอง ไม่ตัดสินผู้อื่น มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ‘ประตูใจ’ ของผู้เรียนจะเปิดกว้างออก และพร้อมที่จะเรียนรู้ถึงระดับจิตใจ

บางทีเราอาจเรียกการเรียนรู้ระดับจิตใจว่าเป็นการเรียนรู้ทักษะด้านอ่อน (Soft Skills) ซึ่งจำเป็นอย่างมากที่จะต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในการนำพากระบวนการเรียนรู้ อุปมาเหมือนการแตกของเปลือกไข่ หากเปลือกไข่เกิดการแตกจากภายนอกชีวิตก็ตาย หากเปลือกไข่เกิดการแตกจากภายในชีวิตใหม่ก็เกิดขึ้น (If egg is broken by outside force, life ends. If broken by inside force, life begins.)

หรืออุปมาเหมือนธรรมชาติของต้นไมยราบ ถ้าเราผลีผลามเข้าไปแตะสัมผัส ใบของมันก็จะหุบเข้าทันที โดยธรรมชาติของจิตใจมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน หากเรารีบร้อนแนะนำบอกสอน เรื่องราวที่ไปกระทบตัวตนของผู้เรียนแบบทันทีทันใด ‘ประตูใจ’ ของผู้เรียนก็จะปิดลง หลงเหลือเพียงการเรียนรู้ในระดับความคิดความจำเท่านั้น

กระบวนกรสามารถวางท่าทีใน 2 ลักษณะเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนรู้

  1. ดำรงอยู่แบบไร้ตัวตน อยู่เหมือนไม่อยู่ คือเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ร่วมกันไม่รบกวนการเรียนรู้ เปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง
  2. ดำรงอยู่อย่างมีตัวตน ด้วยการเป็นในแบบที่ตัวเองเป็นอย่างซื่อตรง มีคุณภาพบางอย่างจากภายในที่เหนี่ยวนำให้ผู้เรียนเกิดความศรัทธา พร้อมที่จะเผชิญความไม่คุ้นชิน

กระบวนกร (Facilitator) นำพาให้เกิดผลของการเรียนรู้ที่หลากหลายแตกต่างกันไป อาทิเช่น การสร้างให้เกิดชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice) ที่มีความสนใจร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง มีอิสรภาพในการแลกเปลี่ยนความคิดเป็นเบื้องต้น ไปจนถึงสามารถค้นพบข้อจำกัดภายในของตนเอง ละวางกรอบความเชื่อเดิมขยับขยายศักยภาพใหม่ๆ ไปจนถึงการเปิดศักยภาพสูงสุดของการเป็นมนุษย์

ขยับขยายขอบเขตจิตใจของตนเอง จากมุมมองที่ตนเองเป็นศูนย์กลางสู่มุมมองที่เข้าใจผู้อื่น ทำเพื่อกลุ่มคน ทำเพื่อสังคม จนขยับขยายไปถึงการมีมุมมองแห่งการเชื่อมโยงถึงกัน (Interconnectedness) เป็นหนึ่งเดียวกันกับทุกกลุ่มคน และทุกสรรพสิ่ง

 


เขียนโดย รัน ธีรัญญ์ ไพโรจน์อังสุธร ผู้ชำนาญด้าน Ei (Emotional Intelligence) หรือ EQ ประกอบด้วย 1. การตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) 2. การบริหารจัดการตนเอง (self-management) 3. การตระหนักรู้ในสังคม (social awareness) 4. การบริหารจัดการความสัมพันธ์ (relationship management) ถ่ายทอดความรู้ผ่านการหลอมรวมสรรพวิชาเข้าด้วยกัน (multidisciplinary) มีวิธีการสอนที่หลากหลาย อาทิเช่น การฟา (facilitation) การโค้ช (coaching) และกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญา (contemplative learning) เพื่อให้เกิดการบ่มเพาะ และ เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม (transformative learning)

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save