ความสุขวงใน

สัมผัสความดีงามผ่านศิลปะด้านใน

เวลาที่เรามองท้องฟ้ายามโพล้เพล้ จากสีฟ้าเข้มอมส้ม เปลี่ยนเป็นสีม่วงชมพูอ่อน แล้วค่อยๆ กลายเป็นสีน้ำเงินครามเข้มยามค่ำคืน ตกดึกเราก็ผล็อยหลับลง เมื่อตื่นขึ้น หากเห็นท้องฟ้ายังคงสีเข้ม เราจะหลับต่อ แต่หากเห็นแสงมาเจนตาแรก (ชมพู-ม่วง) ของวันใหม่ ร่างกายเราจะค่อยๆ ตอบสนองโดยตื่นขึ้นทีละน้อยๆ

สิ่งเหล่านี้เป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่เราเจอทุกเช้าค่ำ ในขณะเดียวกันก็เป็นที่ศึกษาด้านจิตวิญญาณของมนุษย์อย่างลึกซึ้งด้วย มีปราชญ์ชาวออสเตรียท่านหนึ่งศึกษาเกี่ยวกับ “วิทยาศาสตร์ทางจิตวิญญาณ” (spiritual science) อย่างลึกซึ้ง เขาชื่อ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ เป็นนักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ จิตรกร นักปฏิรูปการศึกษา สถาปนิก ฯลฯ ที่เชื่อว่ามนุษย์มิได้มีเพียงแต่มิติทางกายภาพ แต่ยังมีจิตใจและจิตวิญญาณที่ต้องเข้าไปเรียนรู้และเชื่อมต่อ จึงให้ชื่อของศาสตร์นี้ว่า “มนุษยปรัชญา” (Anthroposophy) มนุษยปรัชญาให้ภาพและมุมมองของมนุษย์ในองค์ประกอบต่างๆ ในแต่ละช่วงพัฒนาการ อธิบายให้เข้าใจว่ามนุษย์เมื่อถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว จะพบและรู้จักโลกอย่างไรบ้าง ความหมายของชีวิตและการเป็นมนุษย์คืออะไร จากหัวใจและความรู้ของศาสตร์นี้ได้แตกแขนงเป็นแนวทางต่างๆ มากมาย เช่น การศึกษาวอลดอร์ฟ การแพทย์แผนมนุษยปรัชญา เกษตรกรรมระบบชีวพลวัต (Biodynamics) ศิลปะการเคลื่อนไหวจิตตลีลา (eurhythmy) สถาปัตยกรรมแนวมนุษยปรัชญา ศิลปะและดนตรี เศรษฐศาสตร์การเงิน พยาบาล เภสัชกรรม ทันตกรรม การพัฒนาองค์กรและชุมชน ฯลฯ


วันนี้เรามานั่งคุยกับครูมอส อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกรและนักศิลปะบำบัดแนวมนุษยปรัชญา ผู้ศึกษาศิลปะและศิลปะบำบัดที่ประเทศเยอรมันมากว่า 8 ปี เขาได้ริเริ่มงานศิลปะบำบัดแนวมนุษยปรัชญาในประเทศไทย มีประสบการณ์ทำงานศิลปะบำบัดกว่าสิบปีในโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ โรงพยาบาลมนารมย์ และมีรักคลินิก ปัจจุบันทำงานศิลปะและงานศิลปะบำบัด พำนักอยู่ที่สตูดิโอศิลปะด้านใน (๗ Arts Inner Place) อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และยังเป็นผู้อำนวยการสถาบันศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา ที่เป็นผู้ผลิตศิลปะบำบัดที่ได้รับการรับรองโดยตรงจากสวิสเซอร์แลนด์

ครูมอสบอกกับเราว่า เราต้องแยก ‘ศิลปะบำบัด’ กับ ‘ศิลปศึกษา’ ออกจากกันก่อน เพราะการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องศิลปะนั้นมีมานาน การเรียนรู้สี เส้น รูปร่าง รูปทรง เหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่ดีต่อจิตใจ และเด็กๆ ทุกคนควรได้เรียนศิลปะ เปรียบเสมือนเด็กๆ ควรได้รับอาหารครบห้าหมู่เพื่อร่างกายจะได้แข็งแรงนั่นแหละ แต่ ‘ศิลปะบำบัด’ ซึ่งเป็นศิลปะด้านในนั้นทำงานต่างออกไป ศิลปะบำบัดจะใช้กับคนป่วยที่หลุดจากเส้นของความเป็นปกติ โดยเลือกใช้เครื่องมือ ‘ศิลปะ’ เข้าไปบำบัดรักษาให้ธาตุต่างๆ ในกาย ใจ จิตวิญญาณของเขาทำงานอย่างสมดุลสอดคล้องกันมากขึ้น

ศิลปะเกี่ยวข้องกับอวัยวะภายใน เช่น การระบายสีเกี่ยวข้องกับปอด เพราะสีเป็นการหายใจชั้นดี ก็เวลาที่มองท้องฟ้าตอนเย็นๆ แสงที่กระทบเข้ามาในโลกตอนเย็นคือการหายใจ เวลาเรานั่งดูฟ้าที่ทะเลเรายังผ่อนคลาย เมื่อเราให้เด็กวาดรูปท้องฟ้าในกระดาษ เราก็กำลังดึงเขาไปยังจักรวาลน้อยๆ เพื่อไปสู่จักรวาลใหญ่

ฉะนั้นทุกคุณสมบัติของสี เส้น ความสว่าง ความมืด ต่างเอามาใช้เพื่อรักษาเยียวยา ครูมอสพูดต่อไปว่าเหตุที่ผู้คนเสียสมดุลและต้องเข้ารับการบำบัดมากขึ้น เพราะระบบสังคมและการศึกษาทุกวันนี้กำลังตีลังกากลับหัว เช่น ไม่ให้เด็กได้เล่นในวัยที่ควรได้เล่น ไม่ให้เด็กได้สัมผัสความรู้สึกและความคิดในวัยที่ควรได้ใช้ฐานเหล่านี้

ในทางมนุษยปรัชญามองว่ารากฐานของมนุษย์ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ เจตจำนง ความรู้สึก และความคิด ช่วง 0-7 ปีแรกเป็นวัยแห่งเจตจำนง ชีวิตเด็กจะสัมพันธ์กับร่างกายทั้งการสัมผัส การเคลื่อนไหว สมดุลร่างกาย และการมีชีวิต ชีวิตจึงพึงเรียนรู้ผ่านการเล่น ช่วง 7-14 ปีจะเป็นฐานของความรู้สึก ส่วนช่วง 14-21 ปีเป็นฐานของความคิด หลังจากนั้นชีวิตก็จะหมุนเป็นวงรอบเช่นนี้ทุกๆ 7 ปี

ระบบสังคมตอนนี้มันตีลังกาอยู่ เราเร่งเรียนเขียนอ่านเร็วเกินไป แทนที่เด็กจะได้เล่น เขาต้องไปอยู่กับการคิด จำศัพท์ บวกเลข เขาจึงเชื่อมั่นน้อยลง กลายเป็นต้องเข้าสู่การบำบัดมากขึ้น แต่ถ้าเราไปตามธรรมชาติของมนุษย์ เขาจะไปตามเส้นทางธรรมชาติของมนุษย์


ศิลปะบำบัดแนวมนุษยปรัชญาจะให้ความสำคัญกับกระบวนการ…ทันทีที่ได้กระดาษวาดภาพ เราจะไม่ลงมือในทันที แต่ทำงานกับกระดาษ เช่น ทำกระดาษให้หมาด เพื่อดึงให้แต่ละคนอยู่กับขั้นตอนการระบายสีภาพของตนอย่างแนบแน่นมากขึ้น ภาพแต่ละภาพไม่ได้เล็งผลลัพธ์เพื่อความสวยงาม แต่เป็นไปเพื่อทำงานกับธาตุในร่างกายและจิตใจของผู้วาด ฉะนั้นหากจะวาดต้นไม้สักต้น เราจะเริ่มจากดินก่อน ‘ดิน’ เป็นธาตุในตัวมนุษย์ สีน้ำตาลซึ่งเป็นสีโทนอุ่นจะค่อยๆ ซึมเข้าสู่ใจของเรา

เราวาดอะไรก็ตามสิ่งนั้นก็จะเข้าไปในตัวเรา เหมือนเราอยู่กับสิ่งแวดล้อมแบบใด เราก็จะเป็นแบบนั้น ในงานของสไตเนอร์จึงมีสิ่งที่เรียกว่าเจ็ดขั้นตอนแห่งการพัฒนา (7 processes) เหมือนกับเราจะสร้างบ้าน เราต้องทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จู่ๆ เราจะทำหลังคาเลยไม่ได้ เราต้องขุดดิน สร้างฐาน ลงเสาเสียก่อน การวาดภาพระบายสีก็เหมือนกัน จะระบายสีอ่อนก่อนแล้วค่อยลงสีเข้ม เป็นการทำงานที่ค่อยๆ ย่อย เพื่อให้เราอยู่กับภาวะของแต่ละสี

กระบวนการเหล่านี้ทำให้ผู้วาดไม่ติดอยู่กับจุดใดจุดหนึ่ง แต่ได้ทำงานกับบรรยากาศ สสาร และความรู้สึก เพราะก่อนที่จะเป็นดอกไม้สวยๆ สักดอกให้เราวาด ดอกไม้นั้นเกิดจากเมล็ดเล็กๆ ใต้ดิน มีแร่ธาตุ แสงแดด น้ำฝน และอื่นๆ ช่วยประกอบสร้างอีกมากมาย


ความงามเป็นสิ่งเรียบง่าย คือสภาพปกติและธรรมชาติ เช่น เราเห็นเด็กวิ่งใต้ต้นไม้ เรารู้สึกว่างามมากเลย พ่อแม่และครูก็ต้องมีสายตานี้ สายตาที่ไม่ได้มองแต่ผลลัพธ์ เพราะถ้ามองแต่ปลายทาง เราจะไม่เห็นอะไรเลย เด็กหลายคนลบรูปตัวเองที่วาดไป เพราะเขารู้สึกว่าไม่สวย แต่จริงๆ ระหว่างที่ทำ เขาสงบและตั้งใจ สิ่งเหล่านั้นก็คือความงามในตัวมันอยู่แล้ว ถ้าเราพลิกให้เขามองเห็นตรงนี้ เขาจะมีมุมมองที่เปลี่ยนไป ฉะนั้นโลกของการศึกษาเด็กจึงต้องฉายภาพว่า โลกนี้ยังมีอะไรที่ดีงามอีกเยอะแยะที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ในโลกที่เร่งเร็ว ‘ความงาม’ อาจไม่ใช่สิ่งสลักสำคัญนัก แถมยังเป็นของสำเร็จรูปหาซื้อได้ง่าย แต่ในฐานะนักศิลปะบำบัด ครูมอสมองว่าความงามเป็นส่วนสำคัญที่ขาดหายไปจากมนุษย์ และ ‘ศิลปะ’ มีหน้าที่ส่งความงามไปสู่จิตใจซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญและมีพลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยเด็ก

ครูมอสได้มีโอกาสอ่านข่าวเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และบอกเล่าให้เราฟัง

หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ มีเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งถูกหินถล่มใส่ จนต้องติดอยู่ในนั้นถึง 7 วัน 7 คืน บังเอิญว่ามีซอกหลืบหนึ่งที่เป็นช่องอากาศเล็กๆ ให้เขายังได้หายใจ แสงเช้าผ่านลอดช่องเล็กๆ นั้นเข้ามาที่เขา และเขาก็ยังได้รับแสงของดวงดาวในเวลากลางคืน แต่ละวันที่อยู่ในนั้นเขาย้อนคิดถึงชีวิตในวัยเด็กที่ได้ทำงานศิลปะ คิดถึงครูศิลปะที่พาเขาทำงานต่างๆ ด้วยความสุข เมื่อถึงวันที่เจ็ดเขาถูกช่วยออกมารักษาในโรงพยาบาล นักข่าวถามว่าอะไรคือความหวังของการมีชีวิตอยู่ในวันนั้น เขาตอบสั้นๆ ว่าความทรงจำในวัยเด็กช่วยให้เขามีพลังอยู่ต่อได้ ฉะนั้นศิลปะกับความงามจึงเติมพลังแห่งความหวังให้กับเด็กชายคนนี้

ผมพยายามบอกคนที่มาเรียนกับผมว่า ความงามไม่ได้ถูกวัดด้วยราคาของภาพเสมอไป แต่ให้มองไปรอบๆ เราจะเห็นว่าโลกนี้ยังมีความงาม และมีความหวังที่จะทำอะไรต่อไป ผมจึงไม่ละเลยที่จะพูดความงามกับทุกคน และความงามนั้นเป็นความจริง กับคนบางคนที่บกพร่องทางตรรกะเหตุผล หากเราทำศิลปะบำบัดกับเขาจนเขาพบความงาม ความงามจะพาเขาไปสู่ความคิดที่เป็นเหตุผลและมีวิจารณญาณมากขึ้น ฉะนั้นจึงเชื่อมโยงได้ว่าความงามคือความจริง แต่แทนที่จะเราจะเอาเหตุเป็นผลและข้อเท็จจริงไปทำงานกับเขา เราทำงานผ่านสิ่งที่เรียกว่าความงามแทนได้

หาก ‘ความดี ความงาม ความจริง’ เป็นคุณธรรมหลักของการเป็นมนุษย์ เราพึงสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ในตัวเด็กผ่านงานศิลปะ แทนที่จะสอนสั่งว่าควรและไม่ควรทำอะไร สไตเนอร์เคยพูดว่า ‘สี’ ก็เป็นคุณธรรม (Moral) ทางจิตวิญญาณ เพราะทำให้คนพัฒนาตัวเอง ดังนั้นหากเราทำงานศิลปะอย่างพิถีพิถัน ละเอียด และเข้าถึงใจ มนุษย์จะพบความสงบ ความสุข และมองโลกอย่างนุ่มนวลขึ้น


ตัวครูมอสเองก็ย้ายมาอยู่ที่นี่ได้ 4 ปีแล้ว สตูดิโอศิลปะด้านในจึงเป็นทั้งบ้านและที่ทำงาน ซึ่งมีทุกอย่างพร้อมสำหรับการบำบัดทุกวันนี้ครูมอสทำงานทั้งด้านศิลปศึกษา ศิลปะบำบัด และเป็นจิตรกร เมื่อ 7-8 ปีก่อน เขาได้เริ่มเปิดหลักสูตร ‘พื้นฐานศิลปะบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญา’ ในนามสถาบันศิลปะบำบัดในเชิงมนุษยปรัชญาเพื่อผลิตนักศึกษาที่อนาคตจะเป็นนักศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา (ปัจจุบันมีนักศึกษา 2 รุ่น ใช้เวลา 3 ปี/หลักสูตร) และสร้างสตูดิโอศิลปะด้านในที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นสถานที่เรียนสำหรับนักศึกษา จัดอบรมสำหรับบุคคลทั่วไป และเป็นพื้นที่สำหรับการบำบัดโดยเฉพาะ

เรามีภูเขา มีน้ำ มีทุ่งนา มีแสงแดด เป็นสถานที่ที่มีความพร้อมในเชิง substance (ธาตุดินน้ำลมไฟ) สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ทำให้การบำบัดคลี่คลายได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ ‘เชียงดาว’ ยังเป็นสถานที่ที่คนมักมาท่องเที่ยว แสวงหาและศึกษาตนเอง สตูดิโอศิลปะด้านในจึงเป็นพื้นที่จัดอบรมต่างๆ ด้วย เช่น ห้องเรียนที่ให้ความรู้แก่พ่อแม่ ให้ความรู้เรื่องสีแก่บุคคลทั่วไป จัดอบรมให้องค์กรที่มีความสนใจ เป็นต้น

 


ติดต่อและติดตามข่าวสารของสตูดิโอศิลปะด้านในได้ที่

  • facebook : ๗ Arts Inner Place
  • website : www.arttherapythai.com
  • email: sevenartsinnerplace@yahoo.com
ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save