ใจไม่เครียด จิตก็ไม่เหนื่อย ด้วยวิปัสสนา
หากให้คิดถึงการไปปฏิบัติวิปัสสนา เรามักคิดถึงกลุ่มคนที่แต่งชุดขาวตั้งแต่หัวจรดเท้ากำลังเยื้องย่างช้าๆ เพื่อสงบจิตสงบใจ การสวดมนต์เช้า-เย็นด้วยภาษาบาลีสันสกฤติ ฯลฯ แต่การปฏิบัติวิปัสสนาของศูนย์ท่านโกเอ็นก้านั้นต่างออกไป ที่นี่ไม่มีรูปเคารพ ไม่จำกัดศาสนาผู้เข้าร่วม ไม่มีข้อกำหนดเรื่องสีเสื้อผ้า ไม่บังคับท่านั่ง จะเดินช้าหรือเร็วก็ไม่สำคัญ แต่มีกฎระเบียบอื่นๆ เช่น การปิดวาจาฯ ที่พึงปฏิบัติร่วมกันเพื่อเข้าถึงแก่นของการปฏิบัติวิปัสสนา ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้จึงทำให้บุคคลที่อยู่เบื้องหน้า เหมียว วรัตดา ภัทโรดม นักการตลาดด้าน CRM (Customer Relationship Management) วัย 52 ปี เข้าคอร์สวิปัสสนากรรมฐานของท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเมื่อ 17 ปีก่อน
มันเริ่มจากวันที่เธอกำลังพักร้อนจากการงานด้วยการไปดำน้ำที่เกาะสิมิลัน ขณะนั้นเธออายุ 35 ปี เพื่อนสาวของเธอพูดขึ้นมาว่า “พวก ‘แบ็คแพ็คเกอร์’ เนี่ย ใครๆ ก็ไปวิปัสสนากัน เหมียวไม่สนใจไปเหรอ” เหมียวก็ตอบทันทีแบบไม่คิดมากว่า “ได้! จัดมา” แล้วเพื่อนรุ่นพี่ของเธอก็สมัครให้ทันทีเมื่อกลับบ้าน ทว่าสถานปฏิบัติธรรมที่แรกมีกฎว่าต้องใส่ชุดขาวตั้งแต่หัวจรดเท้า เธอจึงถามกลับในทันทีว่า “ถ้าไม่นุ่งขาวห่มขาวแล้วจะไม่บรรลุเหรอ ถ้าใส่ชุดขาวจะมี success rate เพิ่มขึ้นเท่าไหร่” คนปลายสายอึ้งไปและการสนทนาก็จบลง หลังจากนั้นเพื่อนจึงแนะนำให้เธอไปหลักสูตรปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน10 วันที่ศูนย์ของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า เมื่อดูเงื่อนไขต่างๆ แล้ว ไม่มีเรื่องสีเสื้อ ไม่บังคับต้องนั่งขวาทับซ้ายเธอก็สมัครทันที
แม้ว่า 3-4 วันแรกจะแสนยากลำบาก ทั้งปวดแขน ปวดขา ปวดหลัง แถมยังอึดอัดที่ไม่ได้พูดกับใครอีก แต่ด้วยความคิดที่ว่า ถ้ามันดีจริงแล้วเธออยู่ได้แค่ครึ่งทาง วันเวลาที่ลงทุนไปก็เสียเปล่าสิ เธอจึงอยู่ต่อ แล้ววันถัดไปก็ดีขึ้นจริงๆ เธอได้เรียนรู้หัวใจของการวิปัสสนา พบความสุขภายใน แม้ว่าหลังการไปปฏิบัติธรรมครั้งนั้นจะไม่ได้พลิกเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือในทันที แต่มันค่อยๆ เปลี่ยนไปอย่างน่าประหลาดใจ
เธอเป็นแม่สาวสายบู๊ สุดซ่า และมีมาตรฐานสูง ที่ให้คุณค่าว่าผู้คนควรเคารพกฎเกณฑ์ของสังคมและไม่ควรรังแกสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีทางสู้ (เช่น สัตว์ ป่าไม้ ต้นน้ำ) ดังนั้นทุกครั้งที่เธอขับรถแล้วโดนรถปาดเข้าให้ เธอจะไม่ตะโกนด่าให้เสียเวลา แต่ขับไล่บี้เพื่อปาดกลับทันที ครั้งที่รุนแรงสุดคือเมื่อรถคันนั้นกลับรถหนี เธอจอดรถแล้ววิ่งไปเอากรวยส้มบนถนนมาปาใส่รถคันดังกล่าว แต่เมื่อเธอไปปฏิบัติธรรมกลับมา ครั้งหนึ่งมีรถคันหนึ่งขับปาดหน้าเธอ เธอเห็นแล้วก็ขับต่อไป จนเพื่อนทักขึ้นมาว่า “เมื่อกี้นี่น่าบีบแตรใส่จริงๆ ทำไมขับรถแบบนี้” นั่นแหละเธอถึงเริ่มสังเกตว่าทำไมเธอไม่โกรธล่ะ! แถมจากที่เคยชอบปาร์ตี้ กินไวน์ แต่พักหลังกลับไม่อร่อยและไม่สนุกเอาเสียอย่างนั้น ยิ่งปฏิบัติไปเรื่อยๆ จำนวนครั้งที่โกรธเกรี้ยวก็น้อยลงๆ พื้นที่ว่างที่เผื่อให้ความเข้าใจว่ารถอีกคันคงรีบก็ถ่างกว้างขึ้น สิ่งที่เรียกว่า ‘สุขสงบ’ มาแทนที่ในใจ ปัจจัยเดียวในชีวิตที่เปลี่ยนไปคือการวิปัสสนากรรมฐาน
พี่พบว่าถ้าเอาสมองนำหรือท่องว่า ไม่โกรธหนอๆ พินาศหมด เพราะเป็นคนใจร้อนมาก ร้อนเร็วมาก ถ้ามัวแต่บริกรรมคำใดๆ คงไม่ทันความร้อนของใจแน่นอน สำหรับนิสัยใจร้อนแบบพี่ ต้องหยุดคิด ให้อาหารจิต ฝึกจิตให้แข็งแรง จิตจะนำสมอง ยังไม่ทันได้โกรธ แค่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หรือลมหายใจเริ่มผิดจากปรกติไป เราก็รู้ตัวแล้วเมื่อสติทำงานได้ดี อุเบกขาก็จะแข็งแรง ฉะนั้นเรื่องนั้นมันผ่านไปเลย พี่ไม่โกรธ แต่คนทุกวันนี้เราไม่เคยให้อาหารจิต จิตก็อ่อนแอวิธีให้อาหารจิตที่ดีที่สุดคือไปปฏิบัติธรรม ไปภาวนา
10 วันทำอะไรกัน
พี่เหมียวบอกว่า 3 วันแรก ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าจะให้ผู้ปฏิบัติฝึกอานาปานสติฝึกรู้ลมหายใจ และตั้งแต่วันที่สี่เป็นต้นไป จะให้สังเกตความเป็นไปในร่างกายอย่างที่มันเป็น พี่เหมียวบอกว่าบทเรียนนี้เป็นแก่นแกนของคำสอน ในขณะเดียวกันก็เป็นวิทยาศาสตร์มากๆ เพราะเป็นปฏิกิริยาทางชีวเคมี (biochemical reactions) ของร่างกายมนุษย์ แต่แทนที่พระพุทธเจ้าจะทรงให้เราทดลองในห้องแล็บ ท่านทรงให้เรามีประสบการณ์ตรงผ่านการวิปัสสนา ยกตัวอย่างเช่น หากเรานึกถึงเรื่องที่โกรธหรือเสียใจเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แค่นึกถึงเรื่องนั้นในตอนนี้ ความรู้สึกโกรธหรือเสียใจก็จะกลับมาในทันที นี่คือปฏิกิริยาที่จิตและกายมีต่อกัน
ท่านไม่ได้บอกให้เราเชื่อ แต่ให้เอาจิตเราลองไปปฏิบัติและพิสูจน์ด้วยตัวเอง เหมือนเราเห็นถ่านร้อนๆ พี่บอกว่าอย่าจับ มันร้อน แต่ถ้าเราไม่จับ เราก็ไม่แน่ใจว่าร้อนจริงไหม ทันทีที่เราจับด้วยตัวเอง เราไม่ต้องใช้คำอธิบายอะไรแล้ว ความรู้สึกที่มือบอกเราทุกอย่างว่ามันร้อนอย่างไร สิ่งที่ท่านให้เราทำคือสิ่งนี้เข้าไปมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งที่เกิดในกายอย่างที่มันเป็น เริ่มจากรู้ลมหายใจ รู้ความรู้สึกทางกาย ถ้ามันเมื่อย เราจะโกหกว่าไม่เมื่อยได้ไหม ก็ไม่ได้ เรารับรู้ความรู้สึกนั้นอย่างที่มันเป็น สิบวันท่านสอนสิ่งนี้แหละ และต้องรักษา ‘ศีล’ ฝึก ‘สมาธิ’ และ พัฒนา ‘ปัญญา’ ไปด้วย
พี่เหมียวเป็นเด็กวิทย์ฯ ที่มีนิสัยอย่างหนึ่งคือไม่เชื่ออะไรง่ายๆ หากฟังแล้วดูไม่มีเหตุผล เธอก็ไม่เชื่อ แถมพระพุทธศาสนายังมีคำสอนเรื่อง ‘กาลามสูตร’ ที่บอกว่า อย่าเชื่อ หากเขาว่าตามกันมา อย่าเชื่อ แม้แต่สิ่งที่ครูบาอาจารย์บอกสอน ดังนั้นเมื่อเธอฟังคำสอนอะไรแล้วไม่แน่ใจ เธอจะเก็บเรื่องนั้นเอาไว้ เมื่อสบโอกาสก็ไม่ลังเลที่จะถาม ด้านครูผู้ดูแลคอร์สก็จะตอบเพียงแต่น้อยเพื่อให้ผู้ปฏิบัติฝึกให้มาก ไม่หลงไปอยู่กับความคิดหรือการต่อล้อต่อเถียง การถามให้แน่ใจเช่นนี้ช่วยเธอมาก เพราะเมื่อมั่นใจในวิธีการปฏิบัติ เธอก็รู้แจ้งแก่ใจว่าวิธีการนี้ใช่หรือไม่ใช่
ท่านโกเอ็นก้าบอกว่าถ้าลองสิบวันแล้วไม่ชอบก็ไม่เป็นไร ไปทางอื่นได้ แต่ระหว่างสิบวันนี้อย่าลองใช้วิธีการอื่น ลองทำให้สุดเสียก่อน พี่ก็ลอง บางเรื่องฟังแล้วเราไม่เชื่อ พี่ก็แปะเอาไว้ก่อน จนวันหนึ่งปฏิบัติไปเรื่อยๆ คำตอบมันมาเองเช่น ท่านโกเอ็นก้าบอกว่ามนุษย์เรามีEgo (อัตตาตัวตน) และเราก็สร้าง Image (ภาพลักษณ์) กับคนอื่น พี่ฟังแล้วก็ไม่แน่ใจ วันหนึ่งพี่ไปสะดุดล้มฟุตบาทหน้าบริษัทที่ไปเป็นที่ปรึกษา ข้าวของตกกระจาย กางเกงขาด พี่เงยหน้าขึ้นไปดูออฟฟิศที่พี่กำลังจะขึ้นไปทำงานทันที ซึ่งหลังปฏิบัติธรรม เราจะเห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจได้ชัดมากเหมือนภาพสโลว์โมชั่น พี่กำลังเงยหน้าขึ้น มองว่ามีใครเห็นบ้าง ลูกค้าเห็นไหม เพื่อเตรียมตัวว่าจะอายมากหรืออายน้อยดี ฉะนั้นจึงพบเลยว่าระดับของความอายไม่สัมพันธ์กับเข่าที่เจ็บ ยิ่งปฏิบัติไป พี่ยิ่งพบว่าสิ่งที่พุทธเจ้าสอนเป็นความจริงหมดเลย
อย่างไรก็ดี พี่เหมียวย้ำว่าสิ่งสำคัญคือต้องไปปฏิบัติไปก่อน แล้วค่อยมาทำความเข้าใจทฤษฎีไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ‘สติปัฏฐาน 4’ ‘อุเบกขา’ หรืออะไรก็ตาม
เคยได้ยินบทสวดสรรเสริญพระธรรมคุณที่สวดว่า ‘ปฏิบัติ ปริยัติเป็นสอง’ ไหม ครูบาอาจารย์ท่านบอกให้เราปฏิบัติ เพราะถ้าเราไม่หยุดคิด แล้วเอาจิตไปปฏิบัติ เราไม่มีทางทำได้เลยแต่ถ้าลงมือปฏิบัติต่อเนื่อง มีศีล สมาธิ ปัญญาเป็นพื้นฐาน การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนและยั่งยืน พี่ปฏิบัติกับที่นี่แล้วไม่คิดจะไปทางอื่นอีก เพราะเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเองที่ดีขึ้นตลอด 17 ปีที่ผ่านมา
การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับพี่เหมียวการปฏิบัติธรรมไม่ได้เปลี่ยนความคิด ความเชื่อ และบุคลิกภาพของเธอ เธอยังเป็นคนที่มีจุดยืนในชีวิตเช่นเดิม ยังเป็นนักธุรกิจที่รวดเร็วว่องไวและไม่ได้จำกัดว่าตัวเองต้องเลิกดื่มเหล้า ห้ามพูดจามึงกู หรือต้องถือศีลกินเจ แค่ปฏิบัติไปเรื่อยๆ พฤติกรรมต่างๆ ก็เปลี่ยนไปเอง เมื่อเจอคนที่ทำผิดกฎ แทนที่เธอจะตอบโต้ด้วยความโกรธ เช่นมีคนแซงแถวเข้าห้องน้ำ แทนที่จะว่าๆ “ที่บ้านไม่ได้สอนให้เข้าแถวเหรอคะ”เธอสังเกตว่าอีกคนมีอาการอย่างไร ถ้ามีขนลุกที่แขนแปลว่าเขารีบมาก เธอจะให้คนนั้นแซงแถวเข้าไปเลย เธอแก้ปัญหาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยใจกลางๆ และปัญญาที่มากขึ้น
พี่มีจุดยืนเหมือนเดิม แต่ไม่โกรธ ถ้าโกรธ พี่จะไม่ทำอะไรเลย นิ่งก่อน พอความโกรธมันสงบลงแล้วค่อยลงมือทำอะไรต่อ ด้วยความที่เราปฏิบัติจนอุเบกขาแข็งแรง พักเดียวก็หาย ปัญญาของเราจะทำให้เราเห็นสถานการณ์เดิมๆ ในมุมที่เปลี่ยนไป แทนที่จะไปเปลี่ยนคนอื่น เราเปลี่ยนวิธีการที่เราปฏิสัมพันธ์ จุดมุ่งหมายของเราคือความสงบ ฉะนั้นพี่จะไม่ท้ารบ ไม่ก่อเรื่อง ไม่เครียด
ด้านชีวิตที่เคยติดเสพสุขจากการช้อปปิ้ง ดื่มไวน์ ก็ค่อยๆ ลดลงจนสุดท้ายก็หายไปเฉยๆ เพราะลึกๆ การกระทำเหล่านั้นต่างเป็นไปเพื่อหาความสุข เมื่อได้พบความสุขที่แท้จริงแล้ว ความอยากหาความสุขข้างนอก ความปรารถนาประกาศว่าฉันเป็นใคร ความอยากร่ำรวย ฯลฯ ก็ค่อยๆ สำคัญน้อยลงไปตามลำดับ
เราแค่ต้องปฏิบัติไป จริงๆ แล้วสุดท้ายเราจะเบื่อไปเอง พี่เคยลากตัวเองไปเที่ยว แต่นั่งแล้วปวดหัว กินไม่อร่อย หรือแม้แต่ไปกินข้าวและคุยกับเพื่อน หลายครั้งก็พบว่าวงคุยแบบนี้ไม่ใช่ความสนใจของเรา เหมือนนั่งอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่มีลูก แต่มีเราคนเดียวที่ไม่มี เลยหันมาคบเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตรทางธรรมมากขึ้น ดูแลเอาใจใส่และคุยกับพ่อแม่เรื่องชีวิตเรื่องธรรมะมากขึ้น
พี่เหมียวบอกว่าทุกวันนี้พ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวของเธอต่างไปปฏิบัติธรรมในสายทางนี้ และเตรียมชีวิตให้พร้อมกับความตายอยู่เสมอ
ครอบครัวพี่คิดถึงความตายทุกวัน คิดถึงบ่อยๆ แต่ไม่ได้กังวล เราคิดถึงความตาย ด้วยความไม่ประมาท ตื่นมาสูดหายใจลึกๆ ‘ขอบคุณที่ยังมีวันนี้อีกวันหนึ่ง’ พอคิดได้แบบนี้ก็ไม่เอาชีวิตไปทำเรื่องบ้าๆ ก่อนนอนก็คิดว่า ถ้าพรุ่งนี้เราไม่ตื่น เราจะขออโหสิกรรมใคร จะขอบคุณและขอโทษใคร มันทำให้แต่ละวันของเราเบาสบาย
เมื่อก่อนเธอเป็นคนที่ทำงานเยอะและเครียดจนไม่มีเวลาให้คนในครอบครัว แต่หลังจากที่ชีวิตมีการปฏิบัติ แม้ว่างานจะเยอะขึ้น แต่ประสิทธิภาพการทำงานกลับเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เนื่องจากความเครียดและขยะในใจลดน้อยลง ปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาไม่ได้ทำให้เหนื่อยใจ แต่มีให้แก้ไปตามสถานการณ์ เมื่อใจไม่เครียด จิตก็ไม่เหนื่อย เวลาในชีวิตจึงมีมากพอจะดูแลคนใกล้ตัว
งานมันเป็นวิธีการให้เรามีชีวิตที่สบายกายได้ แต่เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด งานไล่เราออกได้ แต่พ่อแม่ไม่มีวันไล่เราออกจากการเป็นลูก ฉะนั้นศิลปะของการตายอย่างสงบจะไม่เกิดถ้าเราไม่มีศิลปะในการใช้ชีวิต ถ้าเราต้องทำงาน พ่อแม่ย่อมสนับสนุนเราอยู่แล้ว แค่เราโทรไปคุยบอกว่าวันนี้ไม่ว่างไปกินข้าวด้วย แต่รักพ่อกับแม่นะคะ พรุ่งนี้เจอกัน หากวันนี้ใครคนใดคนหนึ่งต้องตายไป เราจะไม่เสียใจเพราะเราไม่ได้ทิ้งงานหรือทิ้งพ่อแม่ สิ่งเหล่านี้คือปัญญาที่ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเน้นและพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้
เมื่อถามย้อนกลับไปว่า หากเปรียบชีวิตเมื่อก่อนกับทุกวันนี้เธอมองเห็นตัวเองเป็นเช่นไร เธอตอบทันทีว่า
เวอร์ชั่นเก่าของพี่มันไม่มีความสุขนะ มันเหนื่อย โอเคว่ามีเงิน แต่นิสัยไม่ดี ใจร้อน ความอดทนต่ำ และพูดจาทำร้ายจิตใจคนอื่นโดยที่ไม่รู้ตัว พี่มีเพื่อนที่จนถึงทุกวันนี้ยังเป็นแบบนี้เวลาเรียกพนักงานเสิร์ฟ เขาจะดูถูกด้วยน้ำเสียงก่อน มันทำให้พี่ถามตัวเองว่าเราอยากเป็นมนุษย์แบบไหน มนุษย์ที่คนสาปแช่ง ด่าลับหลัง หรือคนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ แล้วเราจะไปรู้ได้ไงว่าการพูดแบบนั้นอาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายของพนักงานเสิร์ฟคนนั้นก็ได้ ฉะนั้นพี่จึงถือว่าชีวิตแบบเดิมนี้ไม่มีความสุขและถือว่าไม่ประสบความสำเร็จในความเป็นมนุษย์
คำแนะนำ
พี่เหมียวกล่าวต่อไปว่าปัญญาในพุทธศาสนานั้นมี 3 ระดับ ระดับแรกเป็นปัญญาจากการฟังและอ่านมา ระดับที่สองเกิดจากการคิดและใช้ตรรกะเหตุผลพิจารณาสิ่งที่ได้อ่านได้ฟังมา และ ระดับที่สามคือปัญญาที่ได้จากประสบการณ์ส่วนตัวโดยตรง ฉะนั้นแทนที่จะทำความเข้าใจเรื่องวิปัสสนาด้วยการอ่านบทความนี้เธออยากให้เราๆ ท่านๆ ไปปฏิบัติด้วยตัวเองจะดีกว่าเยอะ
ยกเว้นอย่างเดียวที่ไม่แนะนำให้ปฏิบัติธรรมคือคนที่ป่วยทางจิตและต้องกินยาทางจิตต่อเนื่อง เพราะการปฏิบัติแนวทางนี้ทำงานกับจิตใจในระดับลึกร่างกายและจิตใจอาจจะรับไม่ไหวได้
แต่สำหรับคนที่เปิดใจเป็นนักวิทยาศาสตร์ และปรารถนาจะทดลองธรรมะของพระพุทธเจ้าด้วยตัวเองเส้นทางนี้น่าสนใจ เพราะแม้ว่าภายนอกจะดูเหมือนนั่งอยู่เฉยๆ แต่จิตของเราจะได้ทำงานตลอดเวลา ทุกๆ ชั่วโมงจะมีแบบฝึกหัดที่อาจารย์มอบหมายให้ทำ เรามีหน้าที่แค่ทำตาม
คนที่พี่แนะนำไปเรียนส่วนใหญ่บอกว่าชีวิตเปลี่ยน ส่วนน้อยที่ไม่ได้ผล แต่พอลองให้เขาไปคุยกับครูผู้สอนก็มักจะพบว่าเขาเข้าใจบางอย่างผิด จริตไม่ตรงกัน หรือเป็นคนที่ชอบปรัชญามากๆ แต่สำหรับพี่เส้นทางนี้เป็นทางของความสุขที่แท้จริง เป็นสุขที่ไม่วีดว้าย เป็นความสุขที่สงบ ใครจะเอาปัญหาอะไรมาให้ก็ไม่หนักใจ เพราะไม่แบก แก้ไปก็จบ ชีวิตก็ไม่เหนื่อยใจ ถ้าเหนื่อยกายก็พัก แค่นั้นเอง
- หากท่านสนใจข้อมูลเพิ่มเติม เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ http://www.thaidhamma.net/