ความสุขวงใน

คลายปม คลายจิต ด้วยศิลปะสร้างสรรค์

เรื่องมันเริ่มจากเด็กหญิงคนหนึ่งตกหลุมรักความคิดสร้างสรรค์ แต่ห้องเรียนในวัยเด็กกลับหนืดเฉื่อย น่าเบื่อ และมีแต่เรื่องท่องจำ เมื่อเธอเติบโตขึ้น เรียนจบด้านศิลปศาสตร์การละคร ได้ทำงานเป็นก๊อปปี้ไรเตอร์ (คนเขียนคำโฆษณา) ในบริษัทแห่งหนึ่ง เธอก็ลาออกเพราะอยากรู้ว่าหากได้ใช้พลังสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัวเองทำงานกับผู้คนโดยตรงจะเป็นอย่างไร เลยหันไปสมัครเป็นครูโรงเรียนทางเลือกต่างๆ ที่เปิดช่องทางให้เธอออกแบบห้องเรียนด้วยตัวเอง

เธอทำให้เด็กๆ ได้สนุก ได้ความรู้ แถมยังได้ทำงานศิลปะและการละครในหลายคราว เธอคนนั้นทำงานในฐานะครูกว่า 15 ปี ก่อนจะลาออกอีกครั้งเพื่อเรียนรู้โลกภายในตน เธอร่วมกิจกรรมภาวนาและเข้าอบรมเกี่ยวกับจิตใจด้านต่างๆ เพื่อพบว่าสิ่งที่เธออยากเรียนและสอนคือสิ่งที่เธอชอบทำ นั่นคืองานศิลปะสร้างสรรค์ Creative arts (เคลื่อนไหว ละคร เพลง เขียนบันทึก วาด ปั้น ตัดปะ ฯลฯ) ที่เป็นไปเพื่อ ‘การเข้าใจตนเองและผู้อื่น’

เธอคนนั้นชื่อ ครูเหล่น จันทร์ทิพย์ ปิยะวรธรรม ผู้ก่อตั้ง ‘บ้านขวัญเอย’ เพื่อเป็นห้องเรียนที่ใช้กระบวนการศิลปะสร้างสรรค์เพื่อการเข้าใจตนเอง และยังมีการทำบำบัด จัดอบรมให้กับเด็กๆ พ่อแม่ และบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าใจตนเองผ่านงานศิลปะสร้างสรรค์อีกด้วย

สมัยเรียน เราชอบคิดว่าถ้าเป็นครูจะสอนยังไงให้สนุกเพราะตัวเองไม่ค่อยสนุกกับห้องเรียนในวัยเด็ก เราอยากให้การศึกษามันสนุก มีความหมาย ไม่น่าเบื่อ ตอนเรียนจบก็ยังเลือกทำสารนิพนธ์เรื่อง ‘การใช้กระบวนการละครสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาการศึกษาของเด็กไทย’พอตัดสินใจอยากเป็นครูก็หาว่าโรงเรียนไหนจะเปิดให้เราสอนสนุกๆ โดยใช้ละครได้ พอเจอเราก็สร้างสรรค์เต็มที่ เอาทุกเครื่องมือที่มีมาใช้ และทำให้เราพบว่ากระบวนการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ไม่ใช่แค่สนุกนะ แต่เปลี่ยนจิตใจเด็กได้เลย

ครั้งหนึ่งเธอเคยจัดการเรียนที่สนุกสมวัยเด็ก โดยเธอชวนเด็กๆ เรียนเรื่องราวของสุดสาครที่สระว่ายน้ำ โดยให้จินตนาการว่าตนเองเป็นสุดสาครที่กำลังจะปีนขึ้นไปบนนั่งร้านและโรยตัวลงมาที่สระว่ายน้ำเพื่อจับม้านิลมังกร เด็กทุกคนเล่นอย่างสนุกสนาน ยกเว้นเด็กเพียงคนเดียวที่กลัวและอายเกินกว่าจะทำได้ หลังคลาสเรียนนั้นเธอลองชวนเด็กคนนี้มาลองกันอีกสักตั้งนอกรอบ คราวนี้เธอขึ้นนั่งร้านไปพร้อมเด็กน้อยด้วย เด็กน้อยหันหลังไม่มองน้ำ ครูกอดเด็กไว้แนบอกแล้วก็โรยตัวลงมาที่สระน้ำพร้อมกัน เพื่อนๆ ส่งเสียงเชียร์ดังลั่น เด็กน้อยค่อยๆ หันหน้าลงน้ำไปพร้อมครู หลังจากนั้นเด็กน้อยเริ่มอยากลองลงน้ำเองโดยให้ครูปีนขึ้นไปส่งข้างบน ครั้งสุดท้ายเด็กน้อยเพียงให้ครูยืนรอให้กำลังใจและส่งเสียงเชียร์อยู่ด้านล่าง เธอก็โรยตัวมาด้วยตนเองได้ ภายในไม่กี่วันหลังจากกิจกรรมครั้งนั้น เด็กคนนี้มีบุคลิกภาพเปลี่ยนไป กลายเป็นคนร่าเริง ช่างพูดช่างคุย มีชีวิตชีวา เธอจึงเห็นว่าการเรียนที่สนุกและสร้างสรรค์นั้นมีพลังบางอย่างที่แฝงเร้นอยู่

ชอบทำงานสร้างสรรค์กับคน เห็นผลลัพธ์ในตัวคน ตัวงานสร้างสรรค์เองก็มีพลังอยู่แล้วพอเราเห็นงานที่คิดสร้างสรรค์ขึ้นมาออกดอกส่งผลกับคนอื่นก็ยิ่งรู้สึกมีพลัง แต่พอเป็นครูได้สักระยะก็ต้องทำงานวิชาการมากขึ้น โอกาสได้ทำละครหรือศิลปะแบบต่างๆ น้อยลงเรื่อยๆ และเริ่มไม่สนุกไร้พลัง วันหนึ่งก็พบว่าตัวเองยังมีฝันเกี่ยวกับงานศิลปะและละครกับการเปลี่ยนแปลงภายใน พอถามตัวเองว่าอะไรที่เราอยากเชี่ยวชาญ เราได้ยินเสียงภายในเรียกหา ชีวิตที่สร้างสรรค์ด้วยศิลปะแบบต่างๆ

ผนวกกับความสนใจในเรื่องภาวนาและการเรียนรู้ด้านในจึงเกิดคำถามกับตัวเองว่า “เราจะไปสอนอะไรใครได้หากยังไม่เข้าใจชีวิต สุดท้ายเราจะเป็นแค่ลำโพงที่จำเขามาเล่าต่ออีกที” สุดท้ายเธอลาออกจากอาชีพครูในระบบ กลับมาเรียนรู้ชีวิตผ่านการภาวนาและเข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเอง จิตวิทยา และจิตวิญญาณ จนสุดท้ายได้เจอกับครูที่สอนละครบำบัดจึงชัดเจนว่าอยากจะเชี่ยวชาญเรื่องศิลปศาสตร์กับจิตวิญญาณ

วันหนึ่งมีนักจิตวิทยาที่รู้จักกันชวนเธอทำละครบำบัดให้กับเด็กคนหนึ่งที่ถูกคุณครูทำร้ายจนเกิดบาดแผลทางจิตใจ เธอใช้เวลาร่วมกับเด็กคนนั้น 10 ครั้ง อาการของเขาค่อยๆ ดีขึ้นจนหาย เธอพบว่าประสบการณ์การเป็นครูและการเรียนรู้ที่เธอสะสมมานั้นใช้ช่วยเหลือคนอื่นได้จริง จึงลงเรียนหลักสูตรอบรมศิลปะบำบัดระดับประกาศนียบัตร ที่สถาบันศิลปะบำบัดนานาชาติแห่งประเทศแคนาดา (Canadian International Institute of Art Therapy: CiiAT) และที่ศูนย์ศิลปะบำบัดฮิวแมนเซ็นเตอร์ (HUMAN center) เพื่อลงลึกมากขึ้นว่าหากจะเป็นนักบำบัดเธอต้องเข้าใจเรื่องอะไร

ในช่วงเวลาที่เธอลงลึกเกี่ยวกับงานบำบัด เธอได้ก่อตั้งองค์กรเล็กๆ ชื่อ ‘บ้านขวัญเอย’ เพื่อทำงานการศึกษาทางเลือกชวนผู้คนมาทำงานกับโลกภายในผ่านงานศิลปะ เธอทำงานกับเด็ก พ่อแม่ บุคคลทั่วไป ไปจนถึงองค์กรต่างๆ ที่สนใจ

พี่รู้สึกว่าตัวเองเป็น wounded healer หรือผู้เยียวยาที่เคยบาดเจ็บมาก่อน พี่เป็นคนที่ป่วยในจิตใจ มีบาดแผลในจิตใจมาก่อนเหมือนกัน มีเรื่องที่เหงา เรื่องที่ไม่เข้าใจตัวเอง พี่ไปเรียนรู้เพื่อรักษาตัวเอง เดินทางไปที่ต่างๆ เพื่อตามหายา พอเรารู้ว่ารักษาอย่างไรก็เอากลับมาแชร์กับชุมชนกับคนอื่นๆ แล้วเราก็กลับออกไปเพื่อหายาตัวใหม่ที่ลึกยิ่งขึ้นตามการเติบโตของเรา ฉะนั้นการอบรมหรือบำบัดต่างๆ จึงมีฐานจากประสบการณ์ตรงของเรา

แกนการอบรมของบ้านขวัญเอยจะทำงานอยู่สามฐานคือ ศิลปะแขนงต่างๆ ซึ่งทำงานเชื่อมกับความคิดและความรู้สึกในจิตใจและร่างกาย งานกระบวนการซึ่งเน้นการเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งเชื่อมโยงมิติจิตวิทยาและจิตวิญญาณ และ NVC (Non-violence communication) หรือการสื่อสารอย่างสันติ ซึ่งเป็นเครื่องมือทางจิตวิทยาที่ให้เราเข้าใจตัวเองและสื่อสารกับผู้อื่น

ครูเหล่นตอบว่า ใช่ หนทางนั้นมีหลากหลาย แต่ทางนี้เธอรู้จักมันเป็นอย่างดี อย่างแรก ศิลปะแบบต่างๆ ทำงานกับสมองซีกขวาซึ่งเป็นด้านที่ทำงานกับอารมณ์ ความรู้สึก จินตนาการ และความสร้างสรรค์ ส่วนสมองซีกซ้ายทำงานกับตรรกะเหตุผล ภาษาการเขียนอ่าน และตัดสินใจ ในชีวิตส่วนใหญ่เราพึ่งพาสมองซีกซ้ายมาก การใช้ศิลปะแบบต่างๆ เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการดึงข้อมูลในตัวเรา เราจำเรื่องราวต่างๆ ผ่านร่างกาย ความรู้สึกนึกคิด สิ่งเหล่านั้นเก็บงำไว้ในจิตใต้สำนึก ศิลปะแบบต่างๆ ซึ่งทำงานกับความรู้สึก ร่างกายและจินตนาการจึงเป็นสะพานเชื่อมอย่างดีที่จะพาเราลงไปห้องเก็บของที่ชื่อจิตใต้สำนึก เราจะทำงานเป็นภาพก็ได้ ทำงานผ่านการเคลื่อนไหวหรือดนตรีก็ได้ จะทำงานผ่านการจินตนาการก็ดี แล้วข้อมูลที่นึกไม่ถึงในจิตใต้สำนึกจะปรากฏขึ้นมาให้เราตระหนักรู้ในระดับจิตสำนึก หากเรามีเวลาตกตะกอนและคิดย้อนทบทวนมากเพียงพอ เราจะเห็นร่องรอยบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตเรา เราอาจเห็นความเชื่อมโยงระหว่างความคิดจิตใจ ความรู้สึกและร่างกายเกี่ยวข้องกัน เช่น อาการที่นอนหลับๆ ตื่นๆ อาการปวดหลังเรื้อรัง ความโมโหที่มีบ่อยครั้งจนไม่เข้าใจตัวเอง สิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับทัศนคติต่อชีวิตของตัวเองและผู้อื่นเป็นต้น ข้อมูลที่ได้จากงานศิลปะสร้างสรรค์และกระบวนการสืบค้นจะทำให้เราเริ่มเห็นต้นสายปลายเหตุของความทุกข์วิธีการเข้าใจตัวเองมีตั้งเยอะ ทำไมต้องเป็นศิลปะ ฉันถาม

และนั่นก็คือ ‘ปัญญา’ มิใช่หรือ

ปกติสำหรับคนที่มีความทุกข์ เรารู้สึกทุกข์และอยากได้ความสุข แต่ความสุขนั้นก็ยังไม่อาจทำให้เราหายจากความทุกข์ได้ ตราบใดที่เรายังไม่รู้สาเหตุแห่งทุกข์ ในกระบวนการศิลปะบำบัดเราจะได้เห็นเหตุแห่งทุกข์ พอเห็น เราก็จะเริ่มเข้าใจและพบว่าเราเลือกปรับการรับรู้และรื้อสร้างความหมายเก่าที่ฝังอยู่ในใจเราได้ การเยียวยาตัวเองก็จะเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงในตัวเองจะค่อยๆ ตามมาและเราจะตระหนักว่าเรามีศักยภาพ หรือเป็นอะไรได้มากกว่าที่เราเคยคิด ฉะนั้นพี่จึงชอบและเชื่อมั่นในงานลักษณะนี้ เพราะเราได้กลับไปสัมผัสพลังในตัวเอง เรามีประสบการณ์ตรง เราจึงเลือกเครื่องมือนี้ขึ้นมาใช้ แต่ไม่ได้บอกว่าสิ่งนี้ดีที่สุด

ตัวครูเหล่นเองก็ใช้พลังของสมองซีกขวาดูแลตัวเองเช่นกัน เช่น วันหนึ่งเธอรู้สึกปวดหลังมาก จึงลองนอนหลับตา ผ่อนคลายกายใจ และอนุญาตให้ตัวเองเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ลองไว้ใจปัญญาของร่างกายดู ขณะที่ลูบไหล่ลูบหลังตัวเองคล้ายกำลังนวด ภาพของมือแม่ที่คอยลูบเธอเวลาไม่สบายก็ผุดขึ้นมาในความทรงจำ จากนั้นไม่นานเธอก็เห็นภาพตนเองนอนอยู่บนพื้นทรายอุ่นๆ ที่กำลังดูดซับความทุกข์ทั้งมวลที่เธอมี มือที่กำลังนวดเธอนั้นจึงไม่ใช่ที่แค่มือของเธอเท่านั้น แต่เป็นมือของแม่ที่เปี่ยมไปด้วยความรักความห่วงใยและมือของแม่ธรณีที่โอบอุ้มให้จิตใจของเธอมั่นคงกับชีวิต เธอจบกระบวนการด้วยการวาดภาพในสมุดบันทึกของเธอในฐานะผู้เฝ้าดูอีกครั้ง

ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกความคิด แต่ความคิดแบบไหนที่ทำให้มีพลังชีวิต ความคิดความทรงจำไหนที่ทำให้เรามีพลังเดินต่อไปข้างหน้าด้วยความรักและกรุณาทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ร่างกายของเรามีชุดข้อมูลอยู่มากมายที่เราเอามาใช้เป็นพลังในชีวิตได้ พลังของจินตนาการอาจถูกให้คุณค่าและมูลค่าน้อยไปหน่อยในโลกสมัยใหม่ ดูจับต้องได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันไม่มีอยู่ไม่อย่างนั้นเราจะมีความฝันยามค่ำไปเพื่ออะไร หากไม่ใช่เพื่อการสร้างความสมดุลให้จิตใจ บางครั้งฝันยังเป็นข้อมูลและกระบวนการที่นำไปสู่ปัญญาที่ลึกซึ้ง คนสมัยโบราณวาดภาพเขียนในถ้ำเพื่อบอกบางอย่างภายในความคิดจิตใจที่คำพูดอาจไปไม่ถึง หรือบางช่วงเราต้องการเคลื่อนไหวในลีลาบางอย่างราวกับอยากปลดปล่อยความรู้สึกอะไรลึกๆ ไปจากตัว พลังของศิลปะ จินตนาการ การเคลื่อนไหวมีคุณค่ามีความหมายมากทีเดียวกับความเป็นมนุษย์ หากเราเรียนรู้ที่จะใช้อย่างสร้างสรรค์และเราก็ควรใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อการเข้าใจตัวเอง พาไปสู่การรักตัวเองและผู้อื่น ในฐานะที่เป็นพลังธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่เราได้มา

 


หากสนใจเรียนรู้ศิลปะสร้างสรรค์เพื่อการเข้าใจตนเองกับบ้านขวัญเอย ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Facebook : บ้านขวัญเอย (www.facebook.com/bankwanoei)

ตัวอย่างชื่อการอบรมที่เคยเปิดสอน

  • กลุ่มศิลปะบำบัดแบบครอบครัว (Family Group Arts Therapy)
  • ผ่อนกายคลายใจด้วย TRE
  • การอบรมสื่อสารอย่างสันติ เพื่อครอบครัวแสนสุข
  • Insight Into Selves
  • หยั่งรากเพื่อผลิบาน สำหรับเด็ก 9-13 ปี

เป็นต้น

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save