สุขในปัจจุบัน…ประสบการณ์ภาวนากับหมู่บ้านพลัม
เวลา 20.32 น. ของวันที่ 5 มีนาคม 2556 ผมโพสต์ข้อความลงบน Facebook ส่วนตัวว่า “เซนนี่มันเป็นอย่างไรนะ” ก่อนหน้านั้นผมสวดมนต์ทำวัตรเย็นที่บ้าน แล้วสักพักผมก็ได้ยินเสียงคล้ายหยดน้ำดังเข้ามาในหัวของผมโดยไม่ทราบแหล่งที่มา ผมคิดถึงคำว่า ‘เซน’ จึงโพสต์ข้อความเช่นนั้นลงไปใน Facebook ส่วนตัว จากนั้นไม่กี่นาทีก็มีพี่ท่านหนึ่ง ตอบข้อความของผมว่า
“นี่เลย…ท่านติช นัท ฮันห์ ท่านเป็นพระนักปรัชญาชาวเวียดนาม อยู่ทางใต้ของฝรั่งเศส พี่ตามอ่านหนังสือท่านมาหลายปีแล้ว อ่านแล้วเข้าถึงง่าย สำหรับคนรุ่นใหม่” ภายหลังอ่านข้อความแนะนำจากพี่ท่านนี้ ผมก็เริ่มค้นข้อมูลใน Google ทันที โดยค้นจากชื่อ ‘ติช นัท ฮันห์’ ผลการค้นข้อมูลทำให้ผมทราบข่าวว่า ท่านกำลังจะเดินทางจากประเทศฝรั่งเศสมาประเทศไทยในอีก 20 วันข้างหน้า เพื่อจัดงานภาวนาที่กรุงเทพฯ ชื่องานว่า งานภาวนาจริยธรรมประยุกต์ (Applied Ethics Retreat) ระหว่างวันที่ 4 – 8 เมษายน 2556 ผมตัดสินใจเข้าร่วมงานภาวนาในครั้งนี้ และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นประสบการณ์ภาวนาของผมกับหมู่บ้านพลัม
การภาวนาตามแนวทางหมู่บ้านพลัมนั้นจะเน้นให้เราเจริญสติในชีวิตประจำวัน ผู้เข้าร่วมงานภาวนาจะได้ฝึกเจริญสติผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิเช่น
- การนั่งภาวนาแบบมีบทนำ (Guided Sitting Meditation) โดยจะมีคำพูดสั้นๆ ที่ชวนให้ความคิดความเห็นของเราเป็นไปในทิศทางที่เกื้อหนุนการฝึกปฏิบัติ พร้อมกับมีเสียงระฆังแบบเซนที่จะดังกังวานเข้าไปสะเทือนภายในใจ ทำให้เราได้เห็นถึงการสั่นสะเทือนเบาๆ ที่ภายในใจ และสงบลงที่ภายในใจของเรานั่นเอง
- การเดินสมาธิ (Walking Meditation) เป็นการฝึกปฏิบัติที่เรียบง่าย เพียงเดินเพื่อดำรงอยู่ท่ามกลางสังฆะ (ชุมชนผู้ปฏิบัติ) ดั่งสายน้ำที่ไหลไปด้วยกัน ไม่ว่าเราจะเดินอยู่ด้านหน้า เดินอยู่ด้านหลัง เดินอยู่ริมซ้าย เดินอยู่ริมขวา หรือว่าเดินอยู่ตรงกลาง ก็เหมือนเป็นสายน้ำเดียวกัน ไม่มีความแตกต่าง และมากไปกว่านั้น เราก็อาจฝึกเดินแบบรับรู้สัมผัสของการก้าวเท้า พร้อมๆ กับการรู้ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกของเราไปด้วย
- การรับประทานอาหารในวิถีแห่งสติ (Eating Mediation) เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เราดำรงอยู่กับคนที่รักบนโต๊ะอาหาร และฝึกการรับประทานอาหารในความเงียบอันประเสริฐ (Noble Silence) เราจะพิจารณาถึงความเชื่อมโยงของทุกสรรพสิ่งอย่างลึกซึ้ง ขอบคุณทุกสรรพสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยให้เราได้มีอาหารรับประทาน
- การภาวนากับบทเพลง (Singing Meditation) เป็นช่วงเวลาที่เราจะได้สัมผัสถึงความเบิกบานผ่านการร้องเพลงด้วยกัน ไม่ว่าเราจะเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่ เป็นคนชรา เราก็จะได้สัมผัสถึงความเบิกบานเช่นเดียวกัน
- การสนทนาธรรมกลุ่มย่อย (Dharma Sharing) ร่วมกับธรรมาจารย์ประจำกลุ่มเป็นกิจกรรมที่ผู้ปฏิบัติจะได้นั่งล้อมวงคุยกับครอบครัวธรรม (Dharma Family) ซึ่งจะจัดกลุ่มตามหัวข้อสนทนาที่เราสนใจ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
คำสอนของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์มีมากมายหลายเรื่อง ซึ่งล้วนมีความเรียบง่ายและความลึกซึ้งอยู่พร้อมกัน สำหรับคำสอนที่ผมประทับใจมากในการเข้าร่วมงานภาวนาครั้งแรก ก็คือคำสอนเรื่อง ‘การเป็นดั่งกันและกัน (Inter-being)’ ซึ่งชวนให้เราได้มองเห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่างเรากับคนที่รักเป็นเบื้องต้น เป็นคำสอนที่ทำให้เราไม่แบ่งแยกตัวตนของเราออกจากความทุกข์ความสุขของคนที่เรารัก
เมื่อเราสัมผัสถึงปัญญาแห่งการไม่แบ่งแยก ก็จะทำให้เราเป็นอิสระจากตัวตน มีความคิดความเห็นที่เปิดกว้างมากขึ้น จิตใจขยับขยายออก มีความสุข รู้สึกสะดวกสบายภายในจิตใจได้ง่ายขึ้น
ส่วนอีกคำสอนที่มีผลสำคัญต่อวิถีการภาวนาของผมจนถึงทุกวันนี้ ก็คือคำสอนเรื่อง ‘การฟังอย่างกรุณา (Compassionate Listening)’ คือการฟังให้เห็นถึงความทุกข์ของผู้พูดด้วย แม้ว่าคำพูดนั้นจะถูกหรือผิดในการรับรู้ของเรา เราก็จะไม่ตัดสิน เราจะยังคงฟังเพื่อให้โอกาสผู้พูดได้พูด เราจะดำรงอยู่ตรงนั้นอย่างเต็มเปี่ยมกับผู้พูด เราจะสามารถฟังได้หลายๆ ชั่วโมง หลายๆ วัน หลายๆ เดือน หรืออาจเป็นปี และนี่ก็คือการฟังอย่างกรุณา (Compassionate Listening)
หลังจากผ่านประสบการณ์ภาวนากับหมู่บ้านพลัมครั้งแรก ก็ทำให้ผมได้พบกับความสุขในชีวิตแบบง่ายๆ ไม่ใช่ความสุขจากการได้ดูภาพยนตร์ที่ชอบ ไม่ใช่ความสุขจากการได้กินของอร่อย
ผมพบกับความสุขในการมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ความสุขในการเดินได้ ความสุขในการพูดคุยกับผู้คนได้ ผมยืนบนแผ่นดินได้อย่างมั่นคง ผมเกิดทัศนคติที่ดีต่อการภาวนาที่เรียบง่ายและเบิกบาน
ผมเดินด้วยความเร็วอย่างเป็นปกติในชีวิตประจำวัน พร้อมรับรู้ลมหายใจเข้าใจออกไปด้วย ผมสามารถฝึกภาวนาในทุกวันด้วยการฟังอย่างกรุณา และการได้สัมผัสรับรู้ถึงความงดงามของการมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เหล่านี้คือผลที่ปรากฏขึ้นจากการภาวนากับหมู่บ้านพลัมครับ
กำเนิดหมู่บ้านพลัม
หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ได้สร้าง ‘สังฆะ’ หรือชุมชนแห่งการฝึกปฏิบัติของพุทธบริษัท 4 เพื่อดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ด้วยความตั้งใจที่จะแลกเปลี่ยนพระพุทธศาสนาในดินแดนตะวันตก สังฆะแห่งแรกตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ชื่อว่า ‘อาศรมมันเทศ (Sweet Potato Hermitage)’ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส จากนั้นได้ย้ายลงไปทางตอนใต้และตั้งชื่อสังฆะแห่งใหม่นี้ว่า ‘หมู่บ้านพลัม (Plum Village)’ ตามชื่อต้นพลัมที่ปลูกอยู่ทั่วผืนดินแห่งนี้
ปัจจุบัน ‘สังฆะ’ ตามแนวทางหมู่บ้านพลัมเกือบหนึ่งพันกลุ่มกระจายอยู่ใน 31 ประเทศทั่วโลก อาทิ ประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมัน ฮ่องกง ซึ่งในประเทศไทยมีสังฆะใหญ่ชื่อว่า สถานปฏิบัติธรรมหมู่บ้านพลัมนานาชาติ ประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และมีนักบวชกว่า 500 รูป จาก 20 ประเทศทั่วโลก
เรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่
- website : www.thaiplumvillage.org
- facebook : Thai Plum Village
- เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์ ไพโรจน์อังสุธร ผู้ชำนาญด้าน Ei (Emotional Intelligence) หรือ EQ ประกอบด้วย 1. การตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) 2. การบริหารจัดการตนเอง (self-management) 3. การตระหนักรู้ในสังคม (social awareness) 4. การบริหารจัดการความสัมพันธ์ (relationship management) ถ่ายทอดความรู้ผ่านการหลอมรวมสรรพวิชาเข้าด้วยกัน (multidisciplinary) มีวิธีการสอนที่หลากหลาย อาทิเช่น การฟา (facilitation) การโค้ช (coaching) และกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญา (contemplative learning) เพื่อให้เกิดการบ่มเพาะ และ เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม (transformative learning)
- www.runWISDOM.com