ความสุขวงใน

จิตปล่อยวางด้วยศิลปะแห่งการย้อมคราม

ช่วงนี้หลายๆ คนคงสังเกตเห็นกิจการ SME เกิดใหม่ผุดกันขึ้นมาเป็นดอกเห็ด มีทั้งขายเครื่องสำอางค์นำเข้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป หรือแม้กระทั่งแคปหมูออนไลน์ เสื้อผ้าย้อมสีธรรมชาติก็เป็นอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความสนใจไม่น้อย วันนี้เรามีโอกาสได้มาสัมภาษณ์ SME รายใหม่อีกรายที่เลือกทำเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ย้อมครามธรรมชาติยี่ห้อ little pine ซึ่งมีคุณแปะ ปรินดา ตันติประสุต เป็นเจ้าของ มาดูกันว่าครามมีเสน่ห์อย่างไร แล้วให้ความสุขได้อย่างไร

ยี่ห้อ little pine เริ่มต้นมาได้อย่างไร

เกิดขึ้นจากความสงสัยและความอยากได้ค่ะ คือเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว เห็นเสื้อผ้าย้อมครามของยี่ห้อหนึ่งแล้วชอบมาก ชอบสีน้ำเงินของครามที่เราว่ามันไม่เหมือนสีเคมี แต่ราคาก็สูงมากเช่นกัน ซื้อไม่ลง ได้แต่ตัดใจ เพราะคิดว่าถ้าเราซื้อกางเกงตัวนี้ราคา 3 พันกว่าบาทได้ตัวเดียว ไม่สู้เราไปซื้อเสื้อผ้าธรรมดาอย่างอื่นได้ตั้งหลายตัว คราวนี้มันก็ค้างคาอยู่ในใจว่าทำไมเสื้อผ้าย้อมสีธรรมชาติต้องแพง เหมือนข้าวอินทรีย์ ที่ชักชวนให้คนกินกัน บอกว่าไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ปลูกตามธรรมชาติ แต่ทำไมถึงแพงกว่า เลยเป็นข้อสงสัยและอยากรู้ว่ากรรมวิธีมันเป็นอย่างไร

เริ่มแรกเลยก็ลองค้นหาดูข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับการทำครามค่อนข้างน้อยมาก มีการให้ใส่น้ำด่าง มะขามเปียก ปูนแดง เหล้าขาว แค่น้ำด่างก็งงแล้วคืออะไร ใช่น้ำด่างจากเครื่องกรองน้ำรึเปล่า ให้เติมจนหม้อมา ให้คอยโจก (การเติมออกซิเจน) คอยชิม สังเกตดูจากสีน้ำเงินจะกลายเป็นสีเหลือง นั่นคือพร้อมที่ย้อมแล้ว ย้อมโดยการเอาผ้าลงไปย้อมในน้ำเหลืองๆ บีบๆ แล้วพอยกขึ้นมาโดนอากาศผ้าจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียว และสีครามตามลำดับ เราอ่านไปเราก็ไม่รู้เรื่องหรอก ก็พยายามจินตนาการตาม รวมถึงมีความเชื่อโบราณต่างๆ ที่ควรและไม่ควรทำในการก่อหม้ออีกต่างหาก

จนมีอยู่วันหนึ่งเห็นฟีดในเฟสบุคของร้านครามทอง หรือ mann craft นี่แหละ ขายหม้อคราม DIY (ทำได้ด้วยตัวเอง) ส่งทางไปรษณีย์ เลยไม่รอช้าที่จะสั่งมาลอง ตอนทำก็สนุกมาก คิดว่า เอ๊ะ ก็ไม่เห็นยากนี่ จุ่มๆ แป๊บๆ ก็ได้แล้วเสื้อยืดย้อมคราม 1 ตัว ถึงขนาดอยากจะสร้างยี่ห้อแล้วตอนนั้น เพราะพอเราโพสต์ลงในอินสตราแกรมก็มีแต่คนอยากได้


แล้วก็มีโอกาสได้ลง workshop มัดย้อมครามกับครูแมน mann craft (designer of the year 2017 สาขา textile & fabric design) ตัวเป็นๆ ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่รู้หรอกว่าแกเป็นผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการออกแบบ ผลิตผ้าทอมือย้อมครามและสีธรรมชาติ ตอนนั้นประทับใจมาก ได้ฟังครูอธิบายคร่าวๆ ถึงหลักการทางวิทยาศาสตร์ของการจะได้สีจากต้นครามและการเคารพธรรมชาติที่เราพึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกัน ทำให้เราฉุกคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เราได้ร่วมทำลายแบบไม่รู้ตัว คือเราก็ไม่ถึงกับไปตัดไม้ทำลายป่า แต่สิ่งที่เราใช้ที่เราเสพอยู่ทุกวัน มันส่งผลกระทบทีละเล็กละน้อย เสื้อผ้าที่เคยซื้อเดือนหนึ่งหลายๆ ตัว เพราะเห็นว่าราคาถูก เราไม่เคยคิดถึงกระบวนการก่อนที่จะมาถึงมือเราว่าได้ปล่อยมลพิษไปเท่าไร รู้อย่างเดียวคือสวยและถูก

กลับมาก็ลองเลย ด้วยความที่เราอยู่กรุงเทพฯ แค่หาเนื้อครามเปียกกับน้ำด่างก็ยากแล้ว แต่ก็ค้นหาจนเจอ สั่งเนื้อครามมาจากสกลนคร น้ำด่างจริงๆ เขาต้องเผาพวกหยวกกล้วย กาบมะพร้าว แล้วมากรองเอาน้ำขี้เถ้า เราหาไม่ได้ก็เปิดเอาจากเครื่องกรองน้ำเลย ขอแค่ค่า pH 10-12 คือเราก็คิดเองว่ามันแทนกันได้ ก็ลองนู่นนี่นั่นไปเรื่อย กลายเป็นว่ามันไม่ง่ายอย่างที่คิดเลย ไม่ใช่ว่าอ่านเอาแล้วจะทำตามได้ เหมือนเวลาเราทำขนม เราเปิดสูตรทำตาม แต่ตอนสุดท้ายไม่เห็นอร่อยเลย นี่ก็เหมือนกัน หม้อไม่เคยมาเลย แต่เราก็ดันทุรังย้อมนะ มันก็ติดบ้างไม่ติดบาง มีถึงขนาดหนอนขึ้นหม้อย้อมเลย เราก็มานั่งเขี่ยออก แต่เราก็ไม่ทิ้งหม้อนะ ก็ลองผิดไปเรื่อยอยู่เกือบปี แต่ระหว่างนั้นก็นึกว่าที่มันติดมันโอเคแล้ว เราก็เริ่มลองทำขาย พวกเสื้อยืดย้อมคราม กางเกงเลให้เพื่อนๆ ได้ใส่กัน เขาก็ช่วยให้กำลังใจอุดหนุนเรา เลยทำให้เราพยายามจะหาความรู้และพัฒนาสิ่งที่เราทำอยู่เพื่อจะได้ให้สิ่งที่ดีๆ กับคนที่คอยสนับสนุนเรา

 


ได้เรียนรู้อะไรจากการย้อมครามบ้าง

ไม่น่าเชื่อว่าการได้มาเรียนรู้การย้อมครามมันทำให้ความคิด ความเชื่อเราเริ่มเปลี่ยน ด้วยกรรมวิธีที่ค่อนข้างละเอียด ต้องคอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของหม้อครามเพื่อรักษาสมดุลของหม้อว่าด่างไปหรือกรดมากไป เรียนรู้เรื่องการรอเป็น เมื่อเราทำทุกอย่างให้สมดุลแล้ว ก็ต้องรอเวลาให้หม้อมาเพื่อที่จะได้ย้อมผ้า คือไม่ใช่อย่างเมื่อก่อนที่เราดันทุรังจะย้อมทั้งที่หม้อยังไม่พร้อม ผลออกมาก็เลยไม่ดี ‘หม้อครามก็เหมือนคนเพียงแต่เขาพูดไม่ได้ ได้แต่แสดงออก เราก็ต้องคอยสังเกต คอยเอาใจใส่

การมัดย้อมผ้าเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ ‘สอนเราเรื่องความงามของความไม่สมบูรณ์แบบ’ จากที่อาชีพเราคือนักออกแบบกราฟฟิก เราก็จะติดออกแบบจัดตัวหนังสือแบบมีกริด ขยับแล้วขยับอีกจนตรงตามที่เราพอใจ ฝึกสายตาจับผิดการออกแบบที่ไม่ตรงตามใจเรามาตลอด พอมาทำมัดย้อมผ้า บ่อยครั้งที่มันไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวัง แต่มันกลับดูมีเสน่ห์ในตัว มันช่วยทำให้เราเริ่มปล่อยกับการดำเนินชีวิต คือเราก็เนาๆ ไว้ว่าอยากได้ลายแบบไหน คิดไว้คร่าวๆ แล้วลงมือทำให้เต็มที่ สุดท้ายได้เท่าไหนก็เท่านั้น ถ้าไม่พอใจจริงๆ ก็แค่เริ่มใหม่ สะสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ

รวมถึงคำตอบที่ค้นหามาตั้งแต่ต้นว่าทำไมเสื้อผ้าย้อมครามถึงแพง การได้ไปเรียนรู้เรื่องการย้อมครามที่ SACICT หรือศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ทำให้เปิดกะลาใบเก่าของเราออกเลย เพราะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเก็บต้นครามมาทำเนื้อคราม จนถึงการก่อหม้อแบบโบราณ และได้เจอกับแม่จิ๋ว ประไพพรรณ แดงใจ ผู้ก่อตั้งยี่ห้อแม่ฑีตา มาร่วมให้ความรู้ด้วย ซึ่งกางเกงตัวที่เราอยากซื้อเมื่อ 2 ปีก่อนก็คือของแม่ฑีตานี่แหละ แกได้บอกไว้ว่าการทำเสื้อผ้าย้อมคราม ทำคนเดียวไม่ได้ มันต้องแบ่งปัน ช่วยเหลือ เกื้อกูลกับเพื่อนบ้าน แม่จิ๋วเป็นผู้บุกเบิกการนำผ้าย้อมครามให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหลังจากที่หายไปจากสังคมไทย เพราะเป็นภูมิปัญญาของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่มีใครสืบทอด แกทุ่มเทนำกลับมาและให้เป็นอาชีพของคนในท้องถิ่นด้วย เลยรู้ว่าการซื้อผ้าแต่ละชิ้นมันได้ช่วยผู้คนมากมายให้มีงานทำในบ้านที่เขาอยู่โดยไม่ต้องดิ้นรนเข้ากรุงไปลำบาก ตอนนี้เวลาไปงาน OTOP ก็ไปซื้อผ้าด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป เวลาที่ซื้อผ้าจากป้าๆ ยายๆ ก็จะไม่ค่อยต่อแล้ว แค่ต่อนิดหน่อยพอเป็นพิธี ขำๆ เพราะเราเริ่มรู้คุณค่า รวมถึงเสื้อผ้าของแม่ฑีตาเราก็ตามสนับสนุนอยู่เรื่อยๆ แบบหมดข้อกังขา แล้วก็นับถือแม่จิ๋วเป็นไอดอลเราด้วย

 


สุดท้ายมันกลายเป็นความสุข

สังเกตตัวเองตอนย้อมผ้า เราจะจดจ่ออยู่กับการย้อม ให้ร่างกายรู้สึกแทน มันจะไม่มีความคิดอย่างอื่นนอกจากเรื่องย้อมผ้า ช่วงที่บีบๆ ผ้าใต้น้ำย้อม เราต้องใช้ความรู้สึกเอาว่าช่วงนี้บีบไปแล้ว ค่อยๆ ขยับไป แม้กระทั่งเวลาซักล้าง เวลามันปวดหลัง ปวดไหล่ขึ้นมา มันเตือนเราแล้วว่าเราเกร็งอยู่ ก็ต้องผ่อน คือมันมีสมาธิ มันไม่ใช่มีความสุขแบบเมื่อก่อนที่คอยแต่เที่ยวหาจากข้างนอกหรือสิ่งของที่ได้มา แต่เหมือนชีวิตมันเบาขึ้น เพราะก็ลองเอาไปใช้ในชีวิตเวลาอื่นๆ ด้วย

เวลาเราเห็นเพื่อนหรือลูกค้าเราใส่เสื้อผ้าที่เราทำ เราก็มีความสุข ถึงแม้เราจะเพิ่งเริ่มต้นทำ แล้วเราก็ไม่ได้เป็นมืออาชีพด้านการย้อมครามขนาดนั้น แต่การที่เราได้รับแรงสนับสนุน และกำลังใจ มันทำให้เราไปต่อได้ อยากที่จะพัฒนาและทำประโยชน์ต่อๆ ไป กลายเป็นว่าเพื่อนและลูกค้าก็เห็นและเติบโตกับเราไปด้วย

 


สามารถติดตามผลงานได้ที่

  • instagram : little_pine_indigo
  • facebook : มาหาสาระคราม
ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save