พิจารณาความตาย : ไม่ตื่นตระหนกแต่ตระหนักรู้
สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่, ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต, ทั้งที่มั่งมี และยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นที่ไปถึง ในเบื้องหน้า. เปรียบเหมือนภาชนะดินที่ช่างหม้อปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกแล้ว และยังดิบล้วนแต่มีการแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใด, ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย ก็มีความตายเป็นเบื้องหน้า ฉันนั้น
– มหาปรินิพพานสูตร มหา ที่ ๑๐ / ๑๓๙ / ๑๐๖
ความตาย คือ…นิรันดร์ นี่คือสิ่งที่ทุกคนจำต้องตระหนักไว้เสมอ แม้ผู้คนมากมายไม่อยากเผชิญ พูดถึง แม้แต่จะคิดถึง แต่ทุกชีวิตก็หนีความตายไปไม่พ้น ดังนั้นการพิจารณาความตายด้วยความสงบสุขุมจึงน่าจะมีคุณค่าสำหรับชีวิตที่ยังอยู่
คุณค่าแห่งเตรียมใจเผชิญกับความตายจะทำให้ ไม่กลัวทุรนทุราย ไม่ตื่นตระหนก แต่ตระหนักรู้ในสัจจธรรมแห่งชีวิต ดังเช่นพระนิกายเซ็นได้กล่าวไว้ว่า
ชีวิตที่เข้าถึงปัจจุบันจะไม่หวั่นไหวกับความตายเลย
การ ละเว้นทำชั่วและมุ่งมั่นทำความดี เมื่อถึงคราวสูญเสียพลัดพรากจิตใจก็ย่อมไม่หวั่นไหวและยังนำไปสู่การปล่อยวางด้วยความสงบสุขุม
การระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ทำให้เราคลายความยึดติดทั้งสิ่งที่น่ายินดีและสิ่งที่ชวนยินร้าย (เช่น ความสูญเสีย ความบาดหมาง) จึงช่วยให้เรามีชีวิตที่ผาสุก โปร่งเบา และสงบเย็น กล่าวอีกนัยหนึ่งหากเรารู้วิธีตายดี ก็ย่อมรู้ว่าจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร ในทางกลับกันการมีชีวิตที่ดีย่อมช่วยให้เราตายดีในที่สุด ชีวิตที่ผาสุกกับความตายที่สงบ หาได้แยกจากกันไม่
– พระไพศาล วิสาโล
How…?
โลกนี้เต็มไปด้วยสถานศึกษานานาวิชาสารพัด แต่การเรียนรู้ศาสตร์ด้านความตายกลับหาได้ยาก ยิ่งการเรียนรู้เพื่อเตรียมตัวเตรียมใจเผชิญกับความตายก็แทบไม่เคยได้ยินมาก่อน
ณ วันนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ได้สนับสนุนโครงการ “เรียนรู้เรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบ” ซึ่งจัดโดยเครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย (คพส.) และเสมสิกขาลัย โดยมีจุดหมายเพื่อเรียนรู้เรื่องของชีวิตและความตายอย่างถ่องแท้ ไม่ตื่นตระหนกต่อความตายแต่มองสิ่งนี้ด้วยความลุ่มลึก
3 วันแห่งการเรียนรู้ร่วมกันเปี่ยมไปด้วยการแชร์ประสบการณ์ ความรู้สึกนึกคิดอันเกี่ยวเนื่องกับความอ้างว้าง ความกลัวและความตาย เพื่อให้ทั้งผู้เข้าร่วมอบรมและตนเอง ได้สัมผัสรับรู้อย่างถ่องแท้ ยังผลให้แปรเปลี่ยนความรุ่มร้อนทุกข์โศกเป็นความผ่อนคลาย เบาสบายและสงบเย็น
สิ่งที่ผู้อบรมจะได้เรียนรู้มีหลากหลาย อาทิเช่น
- เรียนรู้แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับความตาย และเหตุปัจจัยที่กำหนด
- เรียนรู้เรื่อง “ภาวะใกล้ตาย” ว่าเป็นอย่างไร
- ทำความเข้าใจหลักการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่นำไปปฏิบัติได้จริง (กาย ใจ สิ่งแวดล้อม จิตวิญญาณ ความสัมพันธ์ ฯลฯ)
- ฝึกทำมรณสติ (ตายก่อนตาย)
- ฝึกทำภาวนาร่วมกับผู้ป่วย
ฯลฯ
ข้อตกลงร่วม
- ตรงต่อเวลา (เริ่ม)
- ปิดสัญญาณโทรศัพท์มือถือระหว่างอบรม และเปิดเฉพาะเวลาพัก เพื่อให้มีสมาธิกับการอบรม
- เปิดใจรับฟังและเคารพความคิดเห็นที่ต่างของเพื่อน
- แบ่งปันประสบการณ์เพื่อเรียนรู้อย่างเต็มที่
- ฝึกมองความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลาง ไม่ต้องให้คุณค่าว่าดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด
- ถ้ามีคำถามอยากให้เป็นคำถามที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิต
Where…?
- เผชิญความตายอย่างสงบ / เสมสิกขาลัย เครือข่ายพุทธิกา เครือข่ายชีวิตสิกขา (งานศพออกแบบได้) บ้านพุฒมณฑา
- เป็นมิตรกับความตาย / เสมสิกขาลัย