อาสาข้างเตียง … เราจะก้าวผ่านความทุกข์ยากไปด้วยกัน
“อาสาข้างเตียง” คือ อาสาสมัครผู้อยู่เคียงข้างผู้ป่วยเรื้อรัง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อเป็นกำลังใจ เป็นเพื่อนชวนพูดคุยรับฟัง หรือชวนทำกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อให้ผู้ป่วยสบายใจ ผ่อนคลายจากความกังวลกลัว ความเงียบเหงา มีชีวิตที่เหลืออย่างมีความสุข และ ก้าวข้ามความทุกข์ยากไปด้วยกัน
จริงอยู่ โรงพยาบาลย่อมมีแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์พร้อมอยู่แล้ว แต่เป็นที่ทราบกันอยู่ว่า ทุกท่านล้วนแล้วมีภาระหนักอึ้ง การมีจิตอาสาซึ่งมีเมตตาจิตและผ่านการอบรมมาจนมีความเข้าอกเข้าใจผู้ป่วยเป็นอย่างดี ย่อมเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระแก่โรงพยาบาลได้แน่นอน
นอกจากนั้นยังเป็นการบ่มเพาะเหล่าอาสาสมัครให้มีจิตสาธารณะกุศลในแนวทางใหม่ รวมทั้งเกิดแรงบันดาลใจในการทำความดีและสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อมนุษยชาติต่อๆไป
เหตุที่เครือข่ายพุทธิกา จัดให้มี โครงการอาสาข้างเตียง
- เพื่อให้มีแนวทาง และวิธีการที่จะเผชิญความตายอย่างสงบนำไปปฏิบัติได้ทั้งต่อตนเอง และช่วยเหลือผู้อื่น
- เพื่อรวบรวมองค์ความรู้สู่การพัฒนาจิตวิญญาณ และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต และการเผชิญความตายอย่างสงบ
- เพื่อส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายอย่างกว้างขวางในการช่วยเหลือทางจิตใจ และจิตวิญญาณต่อผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต
อาสาสมัครควรมีคุณสมบัติดังนี้
- ไม่จำกัดเพศและวัย แต่มีสุขภาพกายและจิตที่ดี
- สามารถเข้ารับการปฐมนิเทศ อบรม และเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามวันเวลาที่กำหนดได้
- สามารถเข้าเยี่ยมผู้ป่วยอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งต่อเนื่องตลอด 3 เดือน
- เปิดใจกว้างพร้อมที่จะเรียนรู้ รับฟัง และ ให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม
How … ?
ทักษะที่ได้จากการอบรม (ราว 2 วัน) ก็คือการเรียนรู้ที่จะยอมรับ “ตัวตน” ของผู้ป่วยอย่างเข้าใจ ทำให้ไม่ตัดสินในพฤติกรรมใดๆของเขา ไม่วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ผู้ป่วยคิดหรือตัดสินใจ และไม่พยายามยัดเยียดความคิดความเชื่อใดๆของเราให้แก่เขา
นั่นทำให้เข้าใจหน้าที่ของเราอย่างถ่องแท้ว่า การดู ฟัง และพยายามทำความเข้าใจผู้ป่วยอย่างลึกซึ้ง ให้เขามีโอกาสบอกเล่าถึงประสบการณ์นานาในชีวิต เราเองก็จะได้รู้จักวางอัตตา (ตัวตน) ลดทิฏฐิของตนเองลง รวมทั้งการไม่ “ติดดี” ไม่ “หลงดี” กระทั่งไม่ได้เห็นว่าสิ่งที่ตนเอง คิด พูด ทำนั้นถูกต้องที่สุด และไม่มองผู้อื่นว่าไม่เข้าท่าไม่เอาไหน เพราะไม่เช่นนั้นก็รังแต่จะเพิ่มทุกข์ให้ผู้ป่วยหนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีก
เมื่อลดละอัตตาลงได้ เราก็จะร่วมชื่นชมหลากแง่มุมในชีวิตที่ผ่านมาของเขาอย่างจริงใจ ทำให้เขารู้สึกถึงคุณค่าในตนเอง รักภูมิใจชีวิตที่ผ่านมา และที่เหลืออยู่ ไม่ว่าจะอีกกี่ปีกี่เดือน หรือกี่วันก็ตาม
งานจิตอาสาเป็นเรื่องของการทำดี เราจะรู้สึกปลาบปลื้มกับสิ่งที่เราทำ แต่พอเราเอางานจิตอาสามาผนวกกับงานเผชิญความตายอย่างสงบ จะทำให้มีมิติที่ลึกขึ้นในเรื่องของจิตใจและ จิตวิญญาณ ทำให้เราได้มองเห็นความจริงของชีวิตมากขึ้น และเป็นอนุสติของเราในการดำเนินชีวิตอย่างไรให้มีวาระที่สงบอย่างคนที่เรา เห็นหรือเราจะไม่เป็นอย่างคนที่เราเห็น เป็น 2 ด้าน ที่เราควรเลือกที่จะไม่ทำอะไรเพื่อทำให้วันข้างหน้าเราไม่ต้องเจอกับสิ่ง เหล่านี้
– วรรณา จารุสมบูรณ์ (พี่ซุ่ย จากเครือข่ายพุทธิกา)
Where …?
เครือข่ายพุทธิกา
ซอยอยู่ออมสิน ถนนจรัญสนิทวงศ์ 40 แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700
โทรศัพท์ : สำนักงาน 02-882-4387 ติดต่อ เพชรลดา ซึ้งจิตสิริโรจน์ 085-919-7616
โทรสาร : 02-883-0592
email : pueypier@gmail.com
แหล่งข้อมูล
- โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ
- รับสมัครอาสาข้างเตียง เครือข่ายพุทธิกา
- ประสบการณ์จากงานอบรม “จิตอาสาข้างเตียง” โดย sasiwan|วันที่ 14 สิงหาคม 2555
- เปิดโลกอาสา : อาสาข้างเตียง
- จิตอาสาข้างเตียง…กิจกรรมบำบัดทุกข์ช่วยผู้ป่วย
- ผู้ใกล้ชิดกับความตาย – วรรณา จารุสมบูรณ์
- อบรม(ว่าที่)คุณหมออาสาสมัครข้างเตียง
- ผู้ใกล้ชิดกับความตาย – วรรณา จารุสมบูรณ์