การหายใจ (ปราณายามะ) : เพื่อพลังชีวิตทั้งกายและใจ
“การหายใจ” คือ สิ่งจำเป็นอย่างยิ่งของสิ่งมีชีวิตตั้งแต่แรกเกิดตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต
การหายใจของคนเราโดยทั่วไปมักเป็นไปตามระบบอัตโนมัติของร่างกาย ที่บางครั้งราบรื่น บางครั้งติดขัด บางครั้งถึงกับสะดุดหยุดลง เช่นในยามที่ตื่นเต้น ตกใจ หรือช็อค
ใน 1 นาที คนเราจะหายใจราว 15 ครั้ง (21,600 ครั้ง ใน 1 วัน) ลมหายใจจะนำก๊าซออกซิเจน ไปเผาผลาญกับกลูโคสในระดับเซลล์ทำให้ เกิดพลังงานแก่กล้ามเนื้อ อวัยวะ และสมอง ลมหายใจส่งผลต่อการกระทำทุกอย่างของคนเรา
แต่ทว่า โลกใบนี้มีหลายศาสตร์ที่สอนการฝึกควบคุมลมหายใจเพื่อสุขภาพกายใจที่แข็งแรง และเพิ่มพลังชีวิตให้เต็มเปี่ยม “ปารณยามะ” (Pranayama) อันเป็นภาคหนึ่งของคัมภีร์โยคะ ก็คืออีกศาสตร์หนึ่งแห่งการฝึกปรือลมหายใจ เพื่อจิตที่มั่นคงสงบเย็น และเอื้อต่อการปฏิบัติธรรมขั้นสูงต่อไป
ปราณายามะ คือการฝึกควบคุมการหายใจให้ช้าลงๆ จนกระทั่ง เรามีความคุ้นเคย มีความชำนาญสามารถอยู่ในสภาวะที่เราหายใจช้า รวมทั้งการไม่หายใจ ได้นั่นเอง
How …?
องค์ความรู้จาก ปราณายามะ สอนว่า การหายใจนั้น ควรหายใจด้วยจมูกเสมอ หากไม่จำเป็นไม่ควรหายใจทางปาก ควรล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ (เกลือ ๑ ช้อนชา ต่อน้ำ ๑ ลิตร)
ศาสตร์การบำบัดแบบอายุรเวทของอินเดีย แนะนำให้ใช้กาน้ำที่เรียกว่า “กาเนติ” (Neti pot) หรือใช้รองน้ำไว้ในอุ้งมือ แล้วสูดเข้าทางจมูก เวลาหายใจเข้าควรพองช่องจมูกออก ส่วนหายใจออกให้คลายช่องจมูก
เพื่อสุขภาพที่ดีและจะได้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฝึกเทคนิคหายใจอื่น ๆ ควรทำความสะอาดโพรงจมูกให้เป็นกิจวัตร ภูมิปัญญาแต่โบราณยืนยันได้ถึงความสดชื่นแจ่มใส คลายอาการอุดตันลมหายใจได้เป็นอย่างดี
สำหรับเวลาแห่งการฝึก ควรเป็นในช่วงเช้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทั้งกายและใจ สดใสที่สุด นอกนั้นช่วงเย็นย่ำหรือก่อนนอนก็ยังสามารถฝึกฝนได้เช่นกัน ขอเพียงพยายามฝึกตามเวลาเดียวกันเสมอ การฝึกนั้นจะต้องผ่อนคลายสบาย ๆ ไม่ความรีบเร่ง อาศัยหลักการ “ฝึกช้าๆ และต่อเนื่อง” เป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ควรเลือกสถานที่ฝึก ที่มีความเงียบสงบ สะอาด ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป (ไม่ควรตากแดดจัด ๆ ร้อน ๆ ) ไม่แนะนำให้ฝึกในห้องแอร์ หรือ เปิดพัดลมเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นไข้เป็นหวัด
ก่อนฝึกควรทำใจสบาย ๆ ผ่อนคลาย หรือไม่เอาจริงเอาจังเกินไปจนเครียด การฝึกหายใจควรฝึกเท่าที่ร่างกายรู้สึกสบาย ไม่ต้องเร่งรัดรีบร้อนแต่อย่างใด
สิ่งที่ต้องทราบไว้ล่วงหน้าก็คือ ในการฝึกนั้น แรกๆอาจเกิดผลข้างเคียงอยู่บ้าง เช่น มีอาการคัน รู้สึกร้อน เย็น เบา หรือ รู้สึกหนัก ทั้งนี้ไม่ต้องตกใจ เพราะเหตุว่าร่างกายเกิดกระบวนการขับสารพิษ ซึ่งจะเกิดเพียงชั่วคราวเท่านั้น (แต่หากอาการยังไม่หายแม้จะฝึกต่อไป ก็ควรปรึกษาครูโยคะ)
ควรงดฝึกไว้ก่อนหากอยู่ในภาวะเจ็บไข้ และผู้ฝึกลมหายใจไม่ควรสูบบุหรี่
ท่านั่งในการฝึก เลือกท่านั่งที่เราสามารถนั่งฝึกได้สบายและเป็นเวลานาน การนั่งที่ดีทำให้การฝึกมีประสิทธิภามมากขึ้น และทำให้ร่างกายมีความมั่นคงในระหว่างการฝึก เช่น ท่าวัชราสนะ (Vajarasana) ท่านั่งดอกบัว (Padmasana) ท่าสวาติกสนะ (Swatikasana) และท่าสิทธาสนะ (Siddhasana) เป็นท่าฝึกที่แนะนำ เพราะจะทำให้หลัง คอ และศีรษะตรง ควรนั่งบนผ้ารองให้เรารู้สึกสบาย
ลำดับการฝึก การฝึกลมหายใจ ควรฝึกหลังจากฝึกโยคาสนะ และก่อนการฝึกสมาธิ หลังจากฝึกลมหายใจเสร็จแล้วควรนอนพักด้วยท่าคนตาย (Shavasana) สัก 2-3 นาที
เสื้อผ้า ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่เบา สบาย ทำจากเส้นใยธรรมชาติ หากอากาศหนาวเย็นควรมีผ้าห่มคลุมร่างกาย
การอาบน้ำ ควรอาบน้ำก่อนการฝึก หรืออย่างน้อยล้างหน้า มือ และเท้า และหลังจากฝึกควรพักอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงเพื่อให้ร่างกายปรับอุณหภูมิเสียก่อน
ท้องว่าง ควรพักอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารก่อนการฝึกลมหายใจ เนื่องจากอาหารในกระเพาะอาหารก่อให้เกิดความดันต่อกระบังลมและปอด ทำให้ควบคุมลมหายใจยากขึ้น
อาหาร ควรรับประทานอาหารที่มีความสมดุลของโปรตีน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่และควรมีส่วนประกอบของอาหารธรรมชาติ ผักและผลไม้สดด้วย
Where … ?
- สถาบันโยคะวิชาการ
201 ซ.รามคำแหง 36/1 บางกะปิ กทม.10240
โทรศัพท์ ซ 02-732-2016-17 หรือ 081-401-7744
เวลาทำการ จันทร์-ศุกร์ 08.30-17.00 น. (เสาร์-อาทิตย์ ปิดทำการ)
facebook : https://www.facebook.com/thaiyogainstitute
- รายาโยคะ เชียงราย
ชั้น 2 เชียงรายคอนโดเทล ถ.อุตรกิจ ต.เวียง อ.เมือง จ. เชียงราย 57000
โทรศัพท์ : 081-111-2072, 086-915-5885
email : rayayoga1@gmail.com
website : http://www.rayayoga.com
facebook : Raya Yoga
แหล่งข้อมูล
- ปราณายามะ ขั้นพื้นฐาน โดย สถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
- อบรม ค่ายปราณายามะพื้นฐาน
- การฟื้นฟู กาย – ใจ ปราณายามะ อุชชายี
website – หมอชาวบ้าน โพสโดย somsak เมื่อ 1 สิงหาคม 2550 - website – รายาโยคะ เชียงราย