8 ช่องทางความสุข

ปลูกผักปลูกสติ… : การบรรลุธรรมอย่างอ่อนโยน

­ทุกชีวิตในโลกล้วนมีพ่อแม่เดียวกัน ! นั่นคือพ่อพระอาทิตย์และแม่พระธรณี ชีวิตจะเกิดมามิได้เลยหากไม่มีท่านทั้งสอง “การทำสวน-ปลูกผัก” คือ การให้โอกาสแก่ตนที่จะได้ใกล้ชิดพ่อและแม่แห่งสรรพชีวิตอีกครั้งหนึ่ง!

ปลูกผัก ปลูกสติ (Mindful Gardening) คือ หนึ่งในวิถีแห่งการปฏิบัติธรรม อันนำมาซึ่ง ศีล สมาธิ ปัญญา เช่น การไม่ใช้สารเคมี การไม่ฆ่าสัตว์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือการฝึกสติ ไม่ให้ผิดศีล และก่อให้เกิดความเมตตา

การใช้เวลาบำรุงรักษาแปลงผักนั้น คือการกล่อมเกลาและเยียวยาจิตใจตนเองด้วยความอ่อนโยน อันมีผลช่วยลดละความโกรธ ความกลัว ความเศร้าหมอง การปลูกผักยังทำให้เข้าใจ สัจจะแห่งความไม่เที่ยง เช่น ได้เรียนรู้การแปรรูปต่างๆ นั่นคือ การหมัก เพื่อเอาไปทำปุ๋ยปลูกผัก ได้เห็นความปฏิสัมพันธ์โยงใยกันของ วัฏจักรชีวิต เช่น เมื่อมีแสงอาทิตย์ก็จะมีแม่น้ำ มีผืนดิน มีต้นไม้ มีคนปลูกผัก มีผักผลไม้ ฯลฯ…

นอกจากนั้นยังได้มีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูล เพราะการปลูกผักนั้นบรรดามือใหม่หัดปลูกมักจะกังวลไว้ล่วงหน้าว่า กลัวจะปลูกแล้วไม่พอกิน แต่ความเป็นจริงกลับพบว่า มันมีมากเกินจะกินไหว พวกเขาจึงนำไปแจกจ่ายแก่บ้านใกล้เรือนเคียง ก่อให้เกิดกัลยาณมิตรขึ้นในชุมชน ในขณะที่จิตใจตนเองก็มีความปิติสุขจากการเป็นผู้ให้ และยังทลายจิตกังวลเพราะความหวงแหนและห่วงใยตนเองจนเกินไปว่า กลัวไม่มีจะกิน

 

How … ?

 

“หมู่บ้านพลัม” ต้นแบบแห่งแนวปฏิบัติธรรม “ปลูกผักปลูกสติ”นั้น ก่อกำเนิดขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศสซึ่งปฎิบัติธรรมตามแนวทางของ ท่านติช นัท ฮันน์ มหาเถระระดับโลกชาวเวียดนามแห่งพระพุทธศาสนานิกายเซน (สถานปฏิบัติธรรมแนวติช นัท ฮันน์มีอยู่ในหลายประเทศไม่น้อยกว่า 12 แห่ง ทั้งในฝรั่งเศส เยอรมัน อเมริกา เวียดนาม นอกนั้นยังมีอีกกว่า 1,000 กลุ่มในทั่วโลก)

“หมู่บ้านพลัม” คือ ชุมชนต้นแบบแห่งพุทธบริษัท ๔ (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา) สถานที่แห่งนี้จึงเป็นที่ที่จะได้ฝึกการเจริญสติในทุกย่างก้าว ทุกลมหายใจเข้าออกของชีวิตประจำวัน ทั้งการเดิน การนอน การนั่ง รับประทานอาหาร ยิ่งการเข้าหมู่กลุ่มไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การร่วมรับประทานอาหารก็คือการเจริญสติอย่างสำคัญ โดยเฉพาะการเจริญสติในทุกมื้ออาหาร เพื่อพิจารณาอย่างลึกซึ้งถึงคุณค่าซึ่งมาจากผืนแผ่นดิน สายลม แสงแดด การสำนึกในบุญคุณของธรรมชาติและการดำรงอยู่ของสรรพชีวิต

การบรรลุธรรมไม่ได้แยกออกจากการล้างจานหรือปลูกผักกาด
(Enlightenment is not separate from washing the dishes or growing lettuce)
– ธรรมะโดย พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์

 

ตัวอย่างกิจกรรมเบื้องต้น ของหมู่บ้านพลัม

  • 04.00 น.         ตื่นนอน
  • 04.30 น.         นั่งสมาธิ สวดมนต์ เดินในวิถีแห่งสติ ออกกำลังกาย
  • 07.00 น.         รับประทานอาหารเช้าในความเงียบ
  • 08.00 น.         เข้าสวนผักหมู่บ้านพลัม
  • 09.30 น.         การภาวนาด้วยบทเพลง ธรรมบรรยาย
  • 11.30 น.         รับประทานอาหารกลางวันร่วมกันเป็นสังฆะ
  • 13.00 น.         ผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ (นอนสมาธิ)
  • 14.30 น.         สนทนา /ทำงานในวิถีแห่งสติ (หัดทำปุ๋ย เตรียมอาหารเย็น)
  • 17.30 น.         อาหารเย็นในกลุ่มครอบครัวธรรม
  • 19.30 น.         นั่งสมาธิ กราบสัมผัสผืนดินตามแนวทางของหมู่บ้านพลัม
  • 21.00 น.         ความเงียบอันประเสริฐ

 

Where … ?

 

มูลนิธิหมู่บ้านพลัมประเทศไทย
สถานปฏิบัติธรรมนานาชาติหมู่บ้านพลัมประเทศไทย
174,176 หมู่ 7 บ้านสระน้ำใส ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
ห่างจากกรุงเทพไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะทางประมาณ 240 กิโลเมตร

สอบถามข้อมูลหมู่บ้านพลัม กรุณาโทร : 085-128-8044
เวลา 8:00-11:00 น. และ 14:00-17:00 น.
ทุกวัน ยกเว้นวันพฤหัสบดี และวันอาทิตย์

email : ติดต่อทั่วไป, สั่งซื้อหนังสือและสื่อธรรม info@thaiplumvillage.org
email : เดินทางไปหมู่บ้านพลัม(ปากช่อง) visitus@thaiplumvillage.org

 


 

แหล่งข้อมูล

 


ปลูกผัก ปลูกสติ (Mindful Gardening)

Enlightenment is not separate from washing the dishes or growing lettuce.
การบรรลุธรรมไม่ได้แยกออกจากการล้างจานหรือปลูกผักกาด
– พระอาจารย์นัท ฮันห์

 

มูลนิธิหมู่บ้านพลัม ขอเชิญผู้สนใจสุขภาพร่วมกิจกรรม ปลูกผัก ปลูกสติ (Mindful Gardening)

เรียนรู้การกินอยู่ในวิถีแห่งสติตลอดระยะเวลาที่เราอยู่ด้วยกัน ทุกคนจะได้เข้าสวนในยามเช้า กินข้าวในความเงียบ หัดทำปุ๋ยเกษตรอินทรีย์ กลับมาดูแลกาย ดูแลใจ ในบรรยากาศผ่อนคลายและดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะ

ด้วยลมหายใจแห่งสติ

เส้นทางขับรถ

จากกรุงเทพตรงสู่ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) ถึง อ.ปากช่อง เลี้ยวเข้าถนนธนะรัชต์ (ทางหลวงหมายเลข 2090) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 14 สังเกตด้านซ้ายมือ ป้ายทอสคาน่า/ สภอ.หมูสี เลี้ยวซ้ายตามทางจนเจอวงเวียนแล้วเลี้ยวขวา เมื่อเจอสามแยกเลี้ยวซ้ายอีกครั้งไปทางวัดท่าช้าง แล้วตรงไปเรื่อยๆ ผ่านแยกบุ่งเตย โรงเรียนพฤกษาวิทยา/ โรงเรียนบ้านสระน้ำใส/ วัดถ้ำสระน้ำใส เลี้ยวซ้ายเข้าซอยทองหล่อ ตรงไปอีก 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าซอย บ้านภูสวยสระน้ำใส อีก 700 เมตร ถึงหมู่บ้านพลัม 🙂

 

กิจกรรม ปลูกผัก ปลูกสติ ที่สถานปฏิบัติธรรมนานาชาติหมู่บ้านพลัม ประเทศไทย

เจริญ ตรงวรานนท์ ฝ่ายระดมทุนเพื่อก่อสร้าง หมู่บ้านพลัม ประเทศไทย บอกว่า คนที่เข้ามาต้องเข้าใจแนวทางการปฏิบัติก่อน ไม่มีประโยชน์ถ้าคนจะบริจาคเงินอย่างเดียว แล้วไม่รู้เรื่องธรรมะ

แม้สถานที่ปฏิบัติภาวนาจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่หนทางในการปฏิบัติธรรม เพื่อไปสู่ความเบิกบานในชีวิตก็คือ หัวใจของหมู่บ้านพลัม ดังนั้นสถานปฏิบัติธรรมจึงมีการออกแบบอย่างเรียบง่ายและมีแนวทางในการรักษาสิ่งแวดล้อม (Green Project) โดยใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างประหยัดและยั่งยืน เช่น การใช้ ระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิพย์ ระบบชลประทานใช้น้ำ 4 รอบ หอประชุมบ้านดิน เพื่อลดเบียดเบียนโลก และแสดงความเคารพต่อพื้นแผ่นดินแม่ พร้อมทั้งปลูกต้นไม้ล้อมรอบ โดยมีต้นไม้หลักคือต้นสาละ ต้นสะเดา ต้นไทร และต้นโพธิ์เงิน โพธิ์ทองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา ตรงทางเข้าสองทางอย่างละ 2 ต้น

 

โครงการก่อสร้างหมู่บ้านพลัมประเทศไทยมีทุนดำเนินการโดยประมาณ 40-50 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับการก่อสร้างแบบปกติแล้ว ราคาก่อสร้างค่อนข้างสูง ทว่ามีคุณค่าในระยะยาว

เรื่องนี้ วิจิตร ชินาลัย ฝ่ายออกแบบสถาปัตยกรรม บอกว่า ก่อนหน้านี้นักบวชหมู่บ้านพลัมได้ไปดูที่ดินที่เชียงใหม่ และลงมติกับกลุ่มสังฆะว่า เป็นพื้นที่อับ กระทั่งต้นปีที่ผ่านมามีกลุ่มสังฆะแนะนำที่ดินแถว อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จำนวน 10 ไร่ และเห็นว่าเหมาะสม

การออกแบบและสร้างหมู่บ้านพลัม ข้อมูลต้องมาจากนักบวช ที่แน่ๆ ต้องมีห้องพักสำหรับนักบวช 4 ท่าน ห้องจะมีลักษณะเรียบง่าย ผมเองก็คุ้นชินกับงานออกแบบโบสถ์ วิหาร เพราะผมมีความสนใจเรื่องศาสนา และปฏิบัติธรรมด้วย ผมเคยพาครอบครัวไปร่วมภาวนาตั้งแต่ปี 2548 ประกอบกับเคยศึกษาด้านพุทธศาสนาสายมหายาน ทั้งแนวทางท่านติช นัท ฮันห์และพุทธสายวัชรยาน

ส่วนการก่อสร้างต้องเป็นไปตามมติแลกเปลี่ยนกับกลุ่มสังฆะ วิจิตร ย้ำว่า อยากให้เป็นตัวอย่างของสถานที่ปฏิบัติธรรมการคืนสู่ธรรมชาติอย่างเรียบง่าย

ระบบน้ำต้องใช้อย่างประหยัด จะมีระบบรีเคิลสี่ครั้ง หลังจากดื่มแล้ว นำมารีไซเคิลที่บ่อพัก จากนั้นนำน้ำกลับมาบำบัดอีกหลายครั้ง เพื่อใช้ทำอาหาร อาบ ใช้ในห้องน้ำ และนำมารดน้ำต้นไม้ ทุกจุดต้องมีท่อพิเศษและบ่อพัก

แม้กระทั่งการใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ วิจิตรขยายความว่า หมู่บ้านพลัมในเมืองไทยจะใช้ไฟฟ้าจากท้องถิ่นน้อยที่สุด ในแง่การออกแบบ ก็มีหลายคนบอกว่า น่าจะเป็นบ้านดิน และในส่วนนี้ก็คิดถึงเวลาฝนตกและอากาศที่ร้อนชื้น แต่ก็มีส่วนของบ้านดินด้วย หลักๆ คือ ห้องปฏิบัติธรรมต้องรับคนปฏิบัติได้จำนวนมาก

ในส่วนของการบำบัดน้ำเสีย ก็จะมีการใช้จุลินทรีย์ ซึ่งต้นทุนต่ำ เราก็หาองค์กรที่ทำเรื่องนี้ร่วมโครงการ ปกติแล้วนักบวชหมู่บ้านพลัมที่ฝรั่งเศสจะปลูกผักผลไม้กินเอง ผลไม้ที่เหลือจากการกิน นักบวชก็นำมาทำแยม เพราะที่นี่ทานมังสวิรัติ ดังนั้นหมู่บ้านพลัมในเมืองไทยก็จะปลูกผักกินเองด้วย

ส่วนกุฏิท่านติช นัท ฮันห์ ผู้ออกแบบหมู่บ้านพลัม บอกว่า ไม่มีอะไรพิเศษ เพราะท่านเรียบง่าย ตอนที่ท่านมาเมืองไทย ท่านก็พักตึกเดียวกับนักบวช ตอนนั้นท่านป่วยจากสภาวะอากาศ และอยู่เหมือนนักบวชทั่วไป

การปฏิบัติของนักบวชที่นี่ เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต อย่างหลวงปู่ชาและท่านพุทธทาส ก็เป็นนักบวชที่เรียบง่ายคล้ายๆ พุทธศาสนาสายเซน หรือแม้กระทั่งหลวงปู่ดุลย์ ท่านก็มีวิธีการเทศน์เรียบง่าย สั้นๆ และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

สถานปฏิบัติธรรมของหมู่บ้านพลัมจึงต้องแวดล้อมไปด้วยต้นไม้เขียวขจี เรื่องนี้ วิจิตร บอกว่า ได้เพาะต้นสาละไว้ เป็นต้นที่นำมาจากศรีลังกา เพราะต้นใหญ่ ดอกโต และมีหน่อนำมาเพาะได้

ผมวางแปลงการปลูกต้นสาละตามแนวทางเดินจงกรมประมาณห้าร้อยต้น คนมาปฏิบัติธรรมก็จะได้เดินใต้ต้นสาละ ต้นนี้จะออกดอกที่โคนมีกลิ่นหอม ทำให้คนเดินวิถีแห่งสติรู้สึกสดชื่น นอกจากนี้ยังมีต้นโมกซ้อนปลูกริมรั้ว และมีต้นไม้อีกหลายชนิด ต้นบุษนาค จันทร์กะพ้อ การปลูกต้นไม้ต้องพิถีพิถัน มีสวนไม้ยืนต้นด้วย อย่างประตูทางเข้าจะเป็นต้นโพธิ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา

วิจิตร ย้ำว่า การสร้างสถานปฏิบัติธรรมต้องมีการแลกเปลี่ยนกับกลุ่มสังฆะอยู่เรื่อยๆ เจ้าอาวาสหมู่บ้านพลัมที่เป็นสถาปนิก เมืองซานดิเอโก ก็อยากแลกเปลี่ยนการออกแบบในเมืองไทย แรกๆ คิดไว้ว่าจะมีทะเลสาบและปลูกบัวกลางน้ำ แต่พอได้แลกเปลี่ยนกัน นักบวชเกรงว่า ทุกอย่างดูสวยงาม แต่เมื่อคนปฏิบัติธรรมกลับไปแล้ว จะเป็นภาระของนักบวช จึงเปลี่ยนรูปแบบบางอย่างเพราะนักบวชอยากมีเวลาปฏิบัติมากกว่างานจัดการ

อยากให้สถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้เป็นสถานที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ และให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน

หมายเหตุ : ผู้ใดสนใจอยากมีส่วนร่วม ในการสร้างสรรค์สถานปฏิบัติธรรม หมู่บ้านพลัมเมืองไทย เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เวบ www.thaiplumvillage.org

Tags : หมู่บ้านพลัม อ.ปากช่อง นครราชสีมา • เจริญ ตรงวรานนท์

โดย เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
กรุงเทพธุรกิจ; จุดประกาย วันที่ 5 พ.ย. 2552
สวนผักปลูกชีวิต : Growing in (edible) Garden (ตอน2)

ด้วยความที่เป็นลูกสาวชาวนาแต่กำเนิด ทำให้คุณชลธิชา ศรีสุข รู้สึกเจ็บลึกอยู่ข้างในเสมอมา ว่าทำไมชาวนาจึงยังมีชีวิตที่ลำบากอยู่ ก่อเกิดเป็นแรงผลักดันภายในใจว่าสักวันจะต้องช่วยพ่อแม่พี่น้องชาวนาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดละเลิกการใช้สารเคมีลงให้ได้ เมื่อเติบโตขึ้น คุณชลธิชาจึงใช้ผืนดินที่ตนมีอยู่เปลี่ยนชีวิตของเกษตรกรที่อยู่ในชุมชน

คุณชลธิชาเล่าให้ฟังว่า

ครั้งแรกเคยลองเอาเมล็ดพันธุ์ไปให้เกษตรกรให้ทดลองปลูกดู เกษตรกรก็บอกว่าปลูกไม่ได้หรอก มันไม่เกิดหรอก เราก็ถามว่า แล้วปลูกหรือยัง เขาก็บอกว่ายัง เราเลยตัดสินใจยกผืนดินที่มีอยู่ทั้งหมด 14 ไร่ ที่จังหวัดสุรินทร์ ให้เป็นห้องเรียนเกษตรกร ให้พวกเขามาลองปลูกผัก ปลูกผลไม้ด้วยกัน แล้วก็สอนวิธีการทำปุ๋ยหมัก ก็เห็นว่ามันงอกงามดี ชาวบ้านก็เริ่มสนใจ

จากความฝันภายใน ตอนนี้คุณชลธิชาทำให้ฝันเป็นรูปเป็นร่างขึ้นจริง ก่อร่างสร้างตัวเป็นมูลนิธิการศึกษาเพื่อโลกสีเขียว ด้วยการก้าวเดินอย่างช้าๆ ไม่รีบไม่ร้อน เน้นหาแนวร่วมจากนักเรียนในโรงเรียน และจากชาวบ้านในชุมชน “นักเรียนถือเป็นสื่อสำคัญที่จะนำผู้ปกครองเข้ามาร่วมโดยเด็กๆจะปลูกผักอินทรีย์ที่โรงเรียน แล้วก็เอากลับบ้าน เด็กก็จะบอกพ่อแม่ว่านี่ผักอินทรีย์นะ ปลอดภัย มีประโยชน์ ทำให้สุขภาพ พ่อแม่ก็ถามว่าใครสอน แล้วก็เริ่มสนใจ เริ่มเข้ามาเรียนรู้กับมูลนิธิ” จากผืนดินที่ว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เนื่องจากผู้เป็นเจ้าของมาทำงานที่เมืองกรุง ตอนนี้ผืนดินแห่งนี้ ได้ช่วยปลูกและเปลี่ยนให้เกษตรกรจากที่ทำเกษตรแบบเคมีมาเป็นการทำเกษตรอินทรีย์มากถึง 50 กว่าครัวเรือน ในเวลาปีกว่า นอกจากปลูกได้แล้ว ก็ยังมีการเปิดตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ในชุมชนด้วย แถมเกษตรกรในกลุ่มยังสามารถนำผลผลิตไปขายที่ตลาดเขียวที่อ.จอมพระ จังหวัดสุรินทร์ได้ด้วย

พอกลับไปเห็นผลงานตัวเองแล้วมีความสุขมาก และก็มีความสุขมากที่ได้แบ่งปันให้กับคนอื่น อยากให้ผืนดินที่มีเป็นห้องเรียนธรรมชาติ มีเพดานเป็นท้องฟ้า เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทำให้เยาวชนรักการเกษตรมากขึ้น

นี่คือความประทับใจและความใฝ่ฝันของคุณชลธิชา

อาจกล่าวได้ว่า ผืนดินนั้นมีประโยชน์มากมายมหาศาลหากเรารู้จักนำมาใช้ ผืนดินของคุณชลธิชา เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการรู้จักสละผืนดินของตัวเองที่มีอยู่ที่ต่างจังหวัด ให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ นอกจากผืนดินในต่างจังหวัดแล้ว เชื่อว่าคงมีหลายคนที่มีที่ดินว่างเปล่าในเมืองกรุง ที่ทิ้งรกร้างไว้ ผืนดินรกร้างว่างเปล่าในเมืองนี้ ก็กลายเป็นพื้นที่ปลูกชีวิตให้คนในชุมชนเมืองได้ไม่น้อยเช่นกัน

คุณปฐมพงศ์ น้ำเพชร หนึ่งในสมาชิกสวนผักชุมชนเคหะทุ่งสองห้อง 327 ซึ่งเติบโตงอกงามทั้งคนทั้งผักบนพื้นที่รกร้างในเมือง เล่าให้ฟังว่า พื้นที่ที่ทำสวนผักตอนนี้ เดิมเป็นที่รกร้างของโรงงาน ซึ่งเป็นที่มัวสุมของผู้ประพฤติไม่ชอบ จึงได้ปรึกษากับสำนักงานเขตหลักสี่ เสนอให้สำนักงานประสานกับเจ้าของพื้นที่ มีการทำสัญญาขอใช้พื้นที่ร่วมกัน และทางชุมชนก็ได้ชวนคนที่อยู่ในชุมชนใกล้เคียงมาช่วยกันปลูกผัก โดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบกัน จากวันนั้นถึงวันนี้ แปลงผักบนพื้นที่รกร้างแห่งนี้ก็สร้างพื้นที่สีเขียว ช่วยเปลี่ยนภูมิทัศน์ของชุมชน เป็นพื้นที่ที่ทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักกันแบบใกล้ชิด ก็ได้มารวมกลุ่มปลูกผัก สนิทสนมกัน และเป็นพื้นที่อาหารปลอดภัยใกล้บ้าน ที่นอกจากจะให้คนกินมีสุขภาพดีแล้ว ยังช่วยให้คนปลูกได้ออกกำลังกาย โดยได้ผลผลิตตอบแทนกลับมา เป็นเวลาติดต่อกันมายาวนานถึง 6 ปีแล้ว

หัวใจสำคัญแห่งความสำเร็จคือ

คนที่มาทำต้องรักและชอบทำเกษตร คนที่ชอบทำก็จะทำได้นาน แล้วก็พยายามที่จะศึกษา ค้นคว้า ปรับปรุงอยู่ตลอด ที่สำคัญคือต้องรวมกลุ่มกันทำ ทำคนเดียวไม่ค่อยยั่งยืน เราใช้วิธีแบ่งปันคนละแปลง 10 คน ก็ 10 แปลง ปลูกแล้วก็เอามาแบ่งกันกิน เวลาเจออุปสรรคก็ช่วยกันแก้ไข บางครั้งก็ต้องอดทน เช่นปัญหาจากการทำลายของศัตรูพืช สัตว์เลี้ยง หรือจากคนที่ไม่ได้ปลูกแต่มาเก็บกิน

ในเมืองมีที่รกร้างอยู่มาก อยากแนะนำให้ไปติดต่อกับเจ้าของที่ อาจจะประสานกับสำนักงานเขตให้รู้ว่าเป็นที่ของใคร แล้วจะขอปลูกผักได้หรือไม่ อยากให้ลองทำดู เพราะได้ประโยชน์มาก แล้วก็ช่วยพัฒนาจิตใจด้วย จาก 1 เมล็ดเล็กๆ จนเป็นต้น เป็นผักให้เรากิน หรือถ้าปลูกไม้กินผล ก็ต้องคอยเฝ้าดู จากเมล็ด เป็นต้น เป็นดอก เป็นผล มันสอนให้เรารู้จักธรรมชาติ รู้จักการรอคอย พอได้ผลผลิตก็ภูมิใจ เหมือนเราปลูก รดน้ำ ดูแลเขา เขาก็ตอบแทนให้ผลผลิตเรา

คุณปฐมพงศ์กล่าว

 

นอกจากสวนผักจะปลูกและเปลี่ยนชีวิตของเกษตรกร และผู้คนในชุมชนมากมาย ให้มีคุณภาพชีวิตทางโลกที่ดีแล้ว พลังของสวนผักและผืนดินยังช่วยพัฒนาทางธรรม ทำให้เกิดการเรียนรู้และเติบโตภายในด้วย

หมู่บ้านพลัม หลายคนที่สนใจเรื่องธรรมะอาจคุ้นเคยกับชื่อนี้กันดี จากประเทศฝรั่งเศส ตอนนี้หลวงปู่ติช นัท ฮันท์ และสังฆะได้มาสร้างชุมชนหมู่บ้านพลัมขึ้นที่เมืองไทย ท่ามกลางขุนเขา ณ นครราชสีมา คุณสุภาพร พัฒนาศิริ ตัวแทนจากหมู่บ้านพลัม เล่าให้ฟังว่าการปลูกผักเป็นหนึ่งวิถีการปฏิบัติ การทำความเข้าใจตัวเองเป็นสิ่งที่นักบวชต้องเรียนรู้ การปลูกผักที่หมู่บ้านพลัม นอกจากจะเป็นอาหารแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้ได้เรียนรู้ที่จะรักษาศีล อย่างการไม่ใช้สารเคมี ไม่ฆ่าสัตว์ ที่สำคัญยังเป็นการฝึกสติ และช่วยทำให้อ่อนโยนกับตัวเองด้วย

ความจริงไม่ใช้แค่ผู้ป่วยจิตเวชนะ แต่เราทุกคนในสังคมล้วนต้องการการเยียวยา เรามีความโกรธ ความเศร้า ถ้าได้ใช้เวลาอยู่ในแปลงผัก เราจะรู้เลยว่าเราได้รับการเยียวยา ทำให้เราอ่อนโยนกับตัวเอง และอ่อนโยนกับผู้อื่นมากขึ้น เราไม่ได้ปลูกผักแบบเคร่งเครียดไปกับการปลูก แต่กระบวนการปลูกผัก ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติ และเห็นหลักธรรมบางอย่างจริงๆ การปลูกผักแล้วคิดว่าผักของฉันๆ มีหนอนก็จะฆ่าหนอน กับการเรียนรู้ว่าในที่สุดแล้วเราต้องอยู่ร่วมกัน เป็นการปลูกผักแบบมีสติ มันต่างกันมาก มันกล่อมเกลาจิตใจ

ที่น่าสนใจคือการปลูกผักยังทำให้ได้เรียนรู้ถึงความแปรแปลี่ยน และวัฏจักรของสิ่งต่างๆด้วย คุณสุภาพรยกตัวอย่างให้ฟังว่า เราใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ แปรรูป เช่นอาหารที่เหลือ เราก็เอาไปหมัก เอาไปทำปุ๋ย ปลูกผัก แล้วเราก็กินผัก ผักก็กลับมาที่ตัวเรา เป็นวัฏจักร เป็นความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน หรือเวลาที่เรามองที่ใบผัก เราเห็นแสงอาทิตย์มั้ย เห็นแม่น้ำมั้ย เห็นผืนดินมั้ย เห็นปู่ย่าตายายมั้ย คนปลูกผักและอยู่กับผักจะเห็นนะ เราจะรู้ว่าถ้าไม่มีแสงอาทิตย์จะไม่มีต้นไม้ ไม่มีแม่น้ำ ไม่รักษาต้นน้ำ ก็ไม่มีน้ำรดผัก ไม่มีองค์ความรู้จากปู่ยาตายายที่ตกทอดมา เราจะปลูกผักได้หรือ ถ้าเราไม่เริ่มทำวันนี้ วันข้างหน้าลูกหลานเราก็คงปลูกผักไม่ได้ ทุกวันนี้ถ้าเราถามลูกว่าปลูกผักยังไง เขาก็จะถาม Google ตอบได้ แต่ทำไม่เป็น การทำเป็นอยู่ที่การที่เราทำให้เขาดู

 

การปลูกผักยังทำให้เกิดความมั่นคงภายในจิตใจด้วยคุณสุภาพรแบ่งปันประสบการณ์ว่า

ความจริงแล้ว เวลาปลูกผัก เราก็จะหาคนช่วยกินนะ บางคนอาจคิกว่าจะกินไม่พอ แต่พอปลูกจริงๆ เราจะรู้เลยว่าเรากินน้อยมาก เราก็เอาไปแจกบ้านโน้นหน่อยบ้านนี่หน่อย สิ่งนี้ทำให้ความงก ความละโมบ ความกลัวที่จะไม่มีกินมันค่อยๆน้อยลงไปเรื่อยๆ และก็ทำให้เรามีความมั่นคงในใจเกิดขึ้นเรื่อยๆด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นประโยชน์มากเวลาเราต้องเผชิญกับวิกฤตบางอย่าง เช่นเรากลัวตาย ความมั่นคงในใจนี้มันจะช่วยเรามาก การปลูกผักไม่ใช้เรื่องเล็กๆ ถ้าเราปลูกและหัดสังเกตจิตใจของเรา เราชอบมั้ย เราโกรธมั้ย มันก็จะกล่อมเกลาเรา และจะขยายขอบข่ายออกไปโดยที่เราไม่รู้ตัวเราเปลี่ยน

เป็นเรื่องราวของสวนผักกับการปลูกและเปลี่ยนชีวิตของผู้คนในหลากหลายมิติ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทั้งประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม ซึ่งก็คงต้องขอบอกอย่างที่คุณพงษ์ศักดิ์ คูประเสริฐยิ่ง สมาชิกโครงการบำรุงราษฎร์เขียวได้อีก ผู้ดำเนินรายการเสวนาหัวข้อสวนผักปลูกชีวิต ในงานเทศกาลสวนผักคนเมือง City Farm Festival 2014 กล่าวทิ้งท้ายว่า “กลับไปปลูกผักกันเถอะครับ แล้วทุกอย่างจะตามมา ถ้าไม่เริ่มปลูกผัก ฟังข้อคิดต่างๆนานา ก็คิดเยอะเกิน กลับไปแล้วลองปลูกดูว่าเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้าที่เราปลูกมันรอดมั้ย ถ้ารอดต้นที่ 1 ต้นที่ 2 3 4 5 6 ..ก็จะตามมา ถ้าตายก็อย่าลืมพยายามใหม่ แล้วมันก็จะเขียวขึ้นไปเรื่อย” แล้วคุณก็จะพบด้วยตัวคุณเองว่าสวนผักปลูกชีวิตอย่างไร เมื่อพบแล้วก็อย่าลืมบอกต่อนะคะ

8 เส้นทางสู่ความสุข เปลี่ยน (กิน) ก่อนป่วย
Last updated: 21 กรกฎาคม 2559 | 16:53

‘การกินผักผลไม้’ ก็คงเหมือนกับหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตของเรา พวกเราเกือบทุกคนได้รับการบอกกล่าว พร่ำสอน เชิญชวนมาตั้งแต่เด็ก ว่าการกินผักผลไม้เป็นเรื่องดี มีประโยชน์กับชีวิตของคนเรา เหมือนๆ กับการออกกำลังกาย การหายใจในอากาศบริสุทธิ์ การทำใจให้สงบ การมองโลกในแง่บวก ฯลฯ และอีกหลายสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตของคนเรา

และสิ่งที่เราเลือกทำกับบรรดาสิ่งที่มีประโยชน์เหล่านี้แทบจะเหมือนกัน คือการให้ความสำคัญมันในลำดับเกือบสุดท้ายของชีวิต โดยเฉพาะคนเมืองที่หายใจเข้าออกเป็นการทำงานและหาเงินตัวเป็นเกลียว

ถ้าให้ทบทวนดูว่าใน 1 วันเราได้กินผักผลไม้สักเท่าไร น่าตกใจที่หลายคนตัวเลขออกมาแทบเป็นศูนย์

พี่ตุ๊ก – จันทร์จิดา งามอุไรรัตน์ เป็น 1 ในสาวเมืองกรุง ที่ชีวิตก่อนหน้านี้ก็เป็นเช่นเดียวกับคนทำงานคนอื่นๆ การทำงานในบริษัทโฆษณาที่รีบเร่ง กระตุ้นให้ใช้ชีวิตแบบแข่งกับเวลา การทานอาหารให้ครบทุกมื้อยังเป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นการกินผักให้ครบสัดส่วนเพื่อสุขภาวะที่ดีจึงแทบเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อม สุดท้ายพี่ตุ๊กก็ป่วยด้วยอาการท้องผูกชนิดรุนแรง ทำอย่างไรก็ไม่หาย จึงตัดสินใจเริ่มปรับอาหาร กินผักมากขึ้นร่วมกับการออกกำลังกาย ร่างกายค่อยๆ ดีขึ้น อาการท้องผูกหายไป จากที่เคยปวดหัวไมเกรนทุกเดือน ก็ไม่ปวดเลย การไม่ต้องพึ่งยาแก้ปวดสำหรับเธอ เป็นเรื่องที่ยิ่งกว่าความสุขอื่นๆ ในชีวิต

จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง ทำให้พี่ตุ๊กหันเหตัวเองมาทำงานสื่อสารให้คนหันมาเปลี่ยนชีวิตตัวเองด้วยการกินผักผลไม้ให้มากขึ้น ปัจจุบันพี่ตุ๊กเป็นหัวหน้า ‘โครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม’ สนับสนุนโดย สสส. เป้าหมายของโครงการเรียบง่ายตรงตัว คือชวนคนเมืองให้หันมากินผักผลไม้ให้มากขึ้น ถ้าคิดไม่ออกว่าต้องกินแค่ไหนถึงจะพอ ให้ใช้ปริมาณ 400 กรัมเป็นเป้าหมายง่ายๆ ในแต่ละวัน

400 กรัม มาจากตัวเลขที่องค์การอนามัยโลกเขาเคยวิจัยออกมาแล้วว่า คนเราถ้ากินผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม จะสามารถลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคที่ไม่ติดต่อ เช่น มะเร็ง เบาหวาน หัวใจหลอดเลือด ฯลฯ ได้เป็นอย่างดี เลยคิดว่าตัวเลขนี้เป็นปริมาณที่เหมาะสม และน่าจะเป็นเรื่องไม่ยากที่จะชวนคนให้รู้สึกเป็นมิตรกับการกินผักผลไม้เพิ่มมากขึ้น

พี่ตุ๊กเล่าถึงที่มาของชื่อและแนวคิดโครงการฯ

ตัวเลข 400 กรัม หากใครนำมาเป็นเป้าหมายในการกินอาหารในแต่ละวัน สิ่งที่เปลี่ยนไปลำดับแรกๆ ที่จะเห็นชัดเจนคือสุขภาพกายที่ดีขึ้น และสิ่งที่พ่วงตามมาแบบไม่น่าเชื่อคือ การกินผักผลไม้ 400 กรัมยังเป็นการฝึกสติเหมือนการภาวนาได้ด้วย !

มันเกิดจากการที่เราตระหนักรู้ แค่รู้ว่ามื้อนี้จะกินอะไรนี่ก็คือการภาวนาแล้ว มันเป็นการฝึกภาวนาในชีวิตประจำวันได้ง่ายๆ ยิ่งถ้าเราเคี้ยวอาหารอย่างตั้งใจ มีสติละเอียดกับแต่ละคำที่เคี้ยว เราจะรู้สึกเลยว่าผักผลไม้ มันมีพลังชีวิต กินแล้วสดชื่น การมีสติรับรู้รสชาติอาหารขณะเคี้ยวนี่แหละคือการภาวนา แล้วมันจะส่งผลทำให้กระเพาะเราทำงานน้อยลง ระบบย่อยก็ดีขึ้น สารอาหารก็ถูกดูดซึมดีขึ้น สุขภาพกายก็ดีขึ้น สุขภาพใจเราก็ดีขึ้นตามไปด้วย

พี่ตุ๊กกล่าว

 

ความละเอียดในชีวิต ตระหนักรู้ว่าเรากำลังจะกินอะไร ยังส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อไป ให้หลายคนเริ่มค่อยๆ เปลี่ยนวิถีชีวิต จากกินอาหารนอกบ้าน ก็เริ่มหัดทำอาหารเอง หันมาปลูกผักด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ คลี่คลายชีวิตที่สับสนยุ่งเหยิงของคนเมืองให้ค่อยๆ ช้าลง จนเข้าสู่วิถีชีวิตที่ละเมียดละไมหรือที่คนรุ่นใหม่ชอบใช้คำว่า ‘สโลว์ไลฟ์’ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

โครงการเคยไปทำกิจกรรมปลูกผักปลูกสติร่วมกับหมู่บ้านพลัม เราอยากรู้ว่าคนที่เขากินผัก เขามีอะไรในใจที่ทำให้เขากินผักได้ แล้วเราก็พบว่าส่วนหนึ่งคือ มันมีความเป็นชุมชนที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้คนเรากินได้ นอกจากนี้ การได้ลงมือปลูกผักเอง ทำให้เขาเข้าใจมากขึ้นถึงที่มาของอาหาร เขาก็จะกินแต่ละอย่างด้วยความตระหนักมากขึ้น เราจะเห็นเลยว่าทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันไปหมด

พี่ตุ๊กชี้ให้เห็นภาพการเชื่อมโยงระหว่างการกินและแนวคิดการดำเนินวิถีชีวิตที่ไม่อาจแยกขาดจากกัน

โครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม ยังเป็นตัวอย่างรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไป ด้วยแนวคิดของโครงการไม่ได้มุ่งเน้นให้คนหันมากินผักแบบจัดหนักเหมือนมังสวิรัติหรือเจแต่อย่างใด ทุกคนยังสามารถดำเนินชีวิตกินอาหารได้ตามปกติ เพียงแต่เพิ่มเติมผักผลไม้เข้าไปในแต่ละมื้อ ใครที่ยังกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือยังติดใจข้าวเหนียวหมูปิ้งก็ไม่ว่ากัน ขอแค่ใส่ผักลงไปเพิ่มเติม นั่นถือเป็นความสำเร็จในขั้นต้นแล้ว

ถัดจากนั้น เมื่อเราเริ่มมีเพื่อนเป็นผักผลไม้ในทุกมื้ออย่างสนิทใจแล้ว จึงค่อยขยับขั้นต่อไปด้วยการลองฝึกทำเมนูง่ายๆ ซึ่งทางโครงการก็เตรียมสูตรลับเมนูเด็ดไว้ให้ซ้อมมือมากมาย และเมื่อถึงขั้นสุดท้าย ชีวิตเราก็จะเริ่มละเอียดกับการคัดสรรวัตถุดิบ เราจะเริ่มเรียนรู้การปลูกผักง่ายๆ บางชนิดด้วยตนเอง ซึ่งจะนำสู่วิถีการกินอยู่แบบปลอดภัยในที่สุด

มันยากที่สุดตอนเริ่มทำถ้าทำได้แล้ว สิ่งที่เห็นชัดก่อนเลยคือสุขภาพดีขึ้นสิ่งต่อมาที่สัมผัสได้คือความสุขเมื่อเราตั้งเป้าหมายโดยรู้ว่าสิ่งนี้ดี แล้วเราทำมันได้ เราก็จะมีความสุข มีความภูมิใจในตัวเองว่าเราทำได้ รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า และพี่เชื่อว่าความรู้สึกแบบนี้ มันจะกลายเป็นพลังบวกที่จะดึงดูดสิ่งที่มันบวกๆ ให้กับชีวิตเรา

พี่ตุ๊กสรุป

 

ใครสนใจอยากเริ่ม ‘เปลี่ยน’ สามารถเข้าไปดูข้อมูล ชั่ง ตวง วัด ปริมาณผักแต่ละชนิด พร้อมสูตรปรุงผักง่ายๆ สไตล์คนเมืองใน เฟซบุ๊ก ‘โครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม’ หรือเข้าไปดูข้อมูลที่เว็บไซต์ www.vegandfruit400.org

ชีวิตที่มีสุขภาวะที่ดีมีมีรออยู่แล้ว วันนี้อาจถึงเวลาที่เราจะ ‘เปลี่ยนก่อนป่วย’ เพราะถ้ารอป่วยแล้วค่อยเปลี่ยน เบาๆ คงไม่เท่าไร แต่ถ้าป่วยหนักขึ้นมา ไม่แน่อาจไม่ทันการณ์ !

ขอบคุณภาพจาก โครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม

ที่มา : ความสุขประเทศไทย 17 กรกฎาคม 2559

การสัมผัสธรรมชาติ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save