ธรรมยาตรา : การดำเนินด้วยธรรม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542
ธรรม ธรรมะ[ทํา ทํามะ] น. คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม คําสั่งสอนในศาสนาฯ
ยาตร ยาตรา [ยาด, ยาดตฺรา] ก. เดิน, เดินเป็นกระบวน
ธรรมยาตรา (ธรรม + ยาตรา) จึงหมายถึง การดำเนินไปด้วยธรรม (ความถูกต้อง ความดีงาม ความจริง) หรือ การออกไปด้วยธรรม อีกนัยหนึ่งก็คือ การดำเนินออกจากทุกข์ทางกายใจด้วยธรรมะขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
ธรรมยาตรา หรือ การเดินอย่างเป็นหมู่กลุ่มในระยะทางไกล โดยมีนัยทางศาสนาและสังคม (Social Movement) ซึ่งเริ่มมีการพูดถึงเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2535 เมื่อสมเด็จพระมหาโฆษนันทะ แห่งประเทศกัมพูชาเป็นผู้นำขบวน “การจาริกของความจริง”(pilgrimage of truth) ซึ่งองค์การสหประชาชาติให้การสนับสนุน ด้วยเห็นว่ามีจุดหมายเพื่อเรียกขวัญกำลังใจของประชาชนชาวเขมร หลังจากบอบช้ำจากภัยสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน
ธรรมยาตราในครั้งนั้นจึงเป็นการประกาศเจตนารมณ์ให้ชาวโลกรับรู้ถึงถึงการเจริญสติในแนวทางของพุทธศาสนาเพื่อสังคม (Engaged Buddhism) และนี่คงเป็นแรงดลใจอันสำคัญที่อีกไม่กี่ปีถัดมาประเทศไทยได้เริ่มต้น “ธรรมยาตราเพื่อสันติภาพและชีวิต” ตามมาด้วย “ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาสงขลา ครั้งที่ 1” ซึ่งจัดให้มีขึ้นในปี พ.ศ.2539 อันเป็นต้นแบบการเดินสื่อธรรมที่ตามติดมาอีกหลายการขับเคลื่อนเพื่ออนุรักษ์สภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของตน ทั้งกลุ่ม “ธรรมชาติยาตราเพื่อแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี”/ ธรรมยาตราสู่ชุมชนแห่งขุนเขาโดยเสมสิกขาลัย ในปี 2540 “ธรรมยาตราเดินเท้าต้านไฟป่าในปี 2540 ณ จังหวัดลพบุรี/ ธรรมยาตราแม่น้ำมูล ในปี 2542/ “ธรรมยาตราเพื่อชีวิตและธรรมชาติลุ่มน้ำลำประทาว (จ.ชัยภูมิ) ในปี 2543/ ธรรมยาตรารักษาแม่น้ำโขงในปี 2546 ธรรมโฆษณ์ธรรมยาตราในวาระ 100 ปีชาตกาลพุทธทาสภิกขุ ในปี 2549 ฯลฯ
ธรรมยาตราในแต่ละกาละ แม้จะต่างประเด็น แต่รูปแบบการยาตรานั้นสืบเนื่องกันอย่างทรงพลัง นั่นคือสงบสุขุม การเดินเพื่อเผยแผ่ธรรมพร้อมขัดเกลาจิตใจของตน จุดหมายคือเปลี่ยนแปลงสังคมโดยเริ่มจากภายในใจตนเอง (ได้รู้จักตนเองอย่างลุ่มลึก เมื่อเดินอย่างสงบและมีสติ)
…เป็นการเดินอย่างสงบ เพื่อเป็นสื่อธรรมะไปยังทุกหนแห่งที่เดินผ่าน ขณะเดียวกันก็อาศัยการเดินนั้นเป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาตนเองไปด้วย ความเปลี่ยนแปลงในสังคมนั้นแยกไม่ออกจากความเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง และทั้งหมดนี้จะต้องเริ่มจากความเปลี่ยนแปลงในใจของผู้เดินเป็นประการแรก…..แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือการเดินเปิดโอกาสให้ทุกคนในคณะธรรมยาตราได้รู้จักตนเองอย่างลุ่มลึก เมื่อเดินอย่างสงบและมีสติ เราย่อมเห็นความรู้สึกนึกคิดของตัวเองแจ่มแจ้งขึ้น รวมทั้งสังเกตเห็นความแปรเปลี่ยนภายในอย่างชัดเจน และเมื่อเผชิญกับความทุกข์ขณะเดิน ไม่ว่า ความร้อน ความเหนื่อย ความเมื่อย สติที่พัฒนาระหว่างเดินจะช่วยรักษาใจไม่ให้ทุกข์ไปกับกายได้…
พระไพศาล วิสาโล
How ?
ทุกขณะจิตแห่งการเดิน (ธรรมยาตรา) พึงรำลึกไว้เสมอว่า นี้คือการปฎิบัติธรรมทั้งเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติและ เพื่อฝึกสติ ปฏิบัติสมาธิ (Meditation) ขัดเกลาจิตใจตนเอง
การขัดเกลากิเลสย่อมหมายถึงการกินอยู่อย่างเรียบง่าย ทนความลำบากได้ทั้งสภาพอากาศและความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอย่างมีสติสมาธิ (อากาศที่ผันผวนแต่จิตใจไม่ปรวนแปร)
เพราะขบวนธรรมยาตราจะมีพระสงฆ์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ฉะนั้นการดำเนินขบวนไปยังชุมชนต่างๆ ก็มักจะได้รับการต้อนรับจากชาวบ้านด้วยการโปรยข้าวตอกดอกไม้ การตักบาตร ฟังสวดมนตร์ เทศนาธรรม กิจเหล่านี้คือการสืบสานศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม พร้อมเพิ่มพูนความอ่อนโยนให้แก่จิตใจของเยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนทุกคน
การเดินในกิจกรรมธรรมยาตรา ย่อมเป็นการเดินที่เปิดโอกาสทุกคนในคณะธรรมยาตราได้สัมผัสกับสภาพความเป็นจริงสิ่งแวดล้อมอย่างลุ่มลึกด้วยตัวเอง ทั้งปัญหาทางนิเวศวิทยา และปัญหาทางสังคม นอกนั้นยังซึมซาบถึงพลังแห่งชุมชน พร้อมซาบซึ้งถึงน้ำใจไมตรีของชาวชุมชนที่แสนเอื้ออาทรดังญาติพี่น้อง แต่สิ่งอันมีคุณค่าไม่แพ้อื่นใดก็คือ การเรียนรู้จิตใจตนเองอย่างกระจ่างแจ้ง
ความเข้าอกเข้าใจระหว่างขบวนธรรมยาตราและชาวชุมชนก็มักจะก่อเกิดเป็นเครือข่ายแห่งความร่วมมือร่วมใจ มีการถ่ายทอดข่าวสาร เสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดการแก้ปัญหาด้วยความสงบสันติ
Where ?
- ธรรมยาตราเพื่อฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติลุ่มน้ำลำปะทาว
วัดป่าสุคะโต หมู่ ๘ บ้านใหม่ไทยเจริญ ตำบลท่ามะไฟหวาน อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ๓๖๑๕o
webeditor@pasukato.org
http://www.pasukato.org/dhammayatra.html - อาศรมวงศ์สนิท (นิเวศวิทยาอาศรมวงศ์สนิทกับการดูนก / ท่องธรรมชาติ)
ตู้ปณ.1 คลอง 15 ถนนรังสิต-องครักษ์ องครักษ์ นครนายก 26120
มือถือ 098-403 2557, โทรศัพท์ 037-332 296 ถึง 7, 037-332 218, โทรสาร 037-333 184
Email: info@wongsanit-ashram.org
Facebook: Wongsanit Ashram
Website: http://www.wongsanit-ashram.org/
http://wongsanit-ashram.org/tha/