5 วิธีที่จะหยุดกังวลกับเรื่องที่คุณเปลี่ยนมันไม่ได้
มีความจริงเกี่ยวกับชีวิตอย่างหนึ่งที่หลายคนปฏิเสธ นั่นคือ เราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างในชีวิตให้เป็นไปดังใจได้ แต่หลายคนไม่เชื่อและไม่ยอมรับ และพวกเขากลายเป็นพวกบ้าที่ชอบควบคุมไปทุกสิ่งอย่าง คนพวกนี้จะจู้จี้ จุกจิก กับการทำงานของคนอื่น หรือ พยายามทำงานเองทุกอย่าง และคอยบังคับคนอื่น ๆ ให้เปลี่ยนแปลง พวกเขาเชื่อว่าหากสามาาถควบคุมคนและสถาณการณ์ได้ ก็จะไม่มีเรื่องร้าย ๆ เกิดขึ้น
ส่วนคนอีกกลุ่มอาจจะพอรู้ว่า พวกเขาไม่สามารถที่จะป้องกันเรื่องร้าย ๆ ให้เกิดขึ้น แต่ก็ยังกังวลอยู่นั่นเอง พวกเขาพร่ำบ่นเกี่ยวกับปัญหาภัยพิบัติ โรคระบาด ความกังวลพวกนี้ทำให้พวกเขาหมกมุ่น เสียเวลาและพลังงาน เพราะการกังวล(อย่างเดียว)ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น
นี่คือเคล็ดลับบางประการที่ Amy Morin ผู้เขียนหนังสือ What Mentally Strong People Don’t Do แนะนำสิ่งที่ช่วยให้หยุดกังวลในเรื่องที่ควบคุมไม่ได้
1. ลองหาว่าอะไรที่คุณควบคุมได้จริงๆ และลงมือทำมัน
เมื่อพบว่าตัวเองกำลังวิตกกังวล ลองคิดดูว่ามีอะไรบ้างที่คุณควบคุมได้ เช่น คุณควบคุมพายุที่กำลังจะมาถึงไม่ได้ แต่คุณเตรียมตัวได้ คุณไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของคนอื่นได้ แต่คุณสามารถควบคุมอารมณ์และปฏิกิริยาโต้ตอบของคุณได้ การที่คุณใช้พลังงานและเวลาไปกับสิ่งที่คุณควบคุมได้ ย่อมมีประสิทธิภาพมากกว่า
2. มุ่งไปที่การโน้มน้าวหรือวางแนวทางเท่านั้นพอ
คุณอาจจะสามารถโน้มน้าว ชักจูง ผู้คน หรือวางแนวทางต่อสถาณการณ์ได้ แต่คุณไม่สามารถบังคับให้มันเป็นไปตามใจได้ เช่น คุณสามารถเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเรียน เพื่อให้ลูกคุณมีผลการเรียนที่ดี แต่คุณไม่สามารถบังคับให้ลูก ๆ ได้เกรดเฉลี่ย 4.0 ได้ หรือ คุณสามารถวางแผนจัดงานปาร์ตี้เริ่ดๆ แต่คุณไม่สามารถบังคับให้ทุกคนสนุกไปด้วยได้
การจะสามารถโน้มน้าว วางแนว ได้ดีนั้น ให้จดจ่อที่การเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณเอง เช่น เป็นตัวอย่างที่ดี และหากคุณกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้อื่น ก็ลองแชร์ความเห็นของคุณให้เขารู้ แต่แค่ครั้งเดียวพอ อย่าพยายามไปเปลี่ยนคนที่เขาไม่ได้อยากจะเปลี่ยน
3. หาความกลัวของคุณให้เจอ
การที่คุณพยายามควบคุมทุกอย่างอาจเป็นเพราะคุณกลัว ลองถามตัวเองว่า คุณกำลังกลัวอะไรอยู่? คุณกำลังคาดถึงผลที่เลวร้ายที่จะเกิดขึ้น หรือ คุณสงสัยความสามารถในการรับมือกับความผิดหวังของตัวเอง ปกติแล้วกรณีที่แย่ที่สุด มักจะไม่แย่เท่ากับที่เราจินตนาการไว้ และมันก็มีโอกาสมากที่คุณจะเข้มแข็งกว่าที่คุณคิด แต่บางครั้งหลายคนมีความคิดว่า “ฉันไม่สามารถยอมให้ธุรกิจนี้ล้มได้” แต่กลับไม่ถามตัวเองว่า “ฉันจะทำอย่างไรหากธุรกิจล้มเหลว” การตระหนักว่าเราสามารถจัดการกับกรณีที่แย่ที่สุดได้ ช่วยให้เราใส่พลังงานเข้าไปในการกระทำที่สมควรทำ
4. แยกแยะความต่างระหว่างการคิดเพื่อแก้ปัญหา และ การย้ำคิดจมในปัญหา
การคิดโต้ตอบ ฟุ้งซ่าน คิดกลับไปกลับมาในหัวซ้ำ ๆ หรือ การจินตนาการถึงผลแย่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้นไม่ช่วยอะไร ลองถามตัวเองสิว่า “การคิดของคุณเป็นประโยชน์ไหม” หากคุณคิดเพื่อแก้ปัญหา เพื่อหาทางออกก็ดีไป แต่หากคุณคิดย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ เกี่ยวกับปัญหา รีบเปลี่ยนช่องด่วน ตั้งสติรับรู้ว่าความคิดพวกนั้นไม่ได้ช่วยอะไร ลุกขึ้นและทำอะไรบางที่เป็นประโยชน์สักสองสามนาที เพื่อให้สมองหันมาจดจ่อกับการกระทำที่มีประโยชน์
5. วางแผนบริหารความเครียด
หากคุณไม่รู้จักหาทางลดความเครียด คุณก็จะวิตกกังวลอยู่นั่น การออกกำลังกาย การกินอาหารที่ดี การหลับนอนให้พอ เป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับความเครียด นอกจากนั้น ลองใช้วิธีลดความเครียดแบบที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การทำสมาธิ การทำงานอดิเรก หรือ ใช้เวลากับเพื่อนๆ และให้หันมาสนใจระดับความเครียดของตัวเอง และลองดูว่าปกติคุณมีวิธีรับมือกับความเครียดอย่างไร พยายามกำจัดวิธีการที่ไม่ดี เช่น การบ่น ๆ ๆ หรือ การดื่มเหล้าเมายา ซึ่งไม่ช่วยแก้ไขปัญหาในระยะยาว
ขอบคุณภาพ pixabay และเนื้อหาจาก http://bit.ly/2wepG0n