เคล็ดลับถนอมความสัมพันธ์
“…เมื่อความสัมพันธ์เดินทางมาถึงจุดเปราะบางที่สุด
คุณมีเคล็ดลับถนอมความสัมพันธ์ของคุณอย่างไร?…”
มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ส่วนใหญ่เราไม่ชอบที่จะอยู่คนเดียวนักหรอก เราชอบที่จะมีความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ความสัมพันธ์ที่ว่าเป็นไปได้หลายรูปแบบ ทั้งพ่อแม่ พี่น้อง เจ้านายลูกน้อง เพื่อนสนิท คนรัก คู่สามีภรรยา ฯลฯ พลังของความสัมพันธ์ที่ดีจะกระตุ้นชีวิตของเราให้เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและมีชีวิตชีวา
Harvard Study of Adult Development คือชื่อของงานวิจัยที่ยาวนานที่สุดในโลก ใช้ระยะเวลาค้นคว้าวิจัยถึง 75 ปี เพื่อค้นหาความสุขที่แท้จริงของมนุษย์ ตลอดงานวิจัยเปลี่ยนผู้ควบคุมงานวิจัยไปถึง 4 รุ่น ติดตามชีวิตของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษาชายจากมหาวิทยาลัย Harvard กับวัยรุ่นชายทั่วไปจำนวนทั้งหมดถึง 724 คน ตั้งแต่วัยรุ่น พัฒนาสู่วัยทำงาน จนกระทั่งก้าวสู่วัยชรา (และแน่นอนว่ามีบางคนเสียชีวิตไปก่อนที่งานวิจัยจะจบ) ผลสรุปท้ายสุดของงานวิจัยชิ้นนี้ฟันธงได้ว่า คำตอบของความสุขที่แท้จริงของชีวิตมนุษย์นั่นคือ ‘การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง’ หาใช่การมีเงินทองหรือชื่อเสียงโด่งดังอย่างที่หลายคนเข้าใจ
แต่ทว่าสิ่งที่ทำให้คนเรามักเฉไฉออกนอกเส้นทางของการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง หันไปโฟกัสอยู่ที่การทำงานเยอะ ๆ หาเงินทองให้มาก ๆ หรือแสวงหาชื่อเสียงมาทดแทน นั่นก็เป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าการถนอมความสัมพันธ์ให้ดีนั้นเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเมื่อความสัมพันธ์นั้นเดินทางมาถึงจุดเปราะบาง ขัดแย้ง หรือมีปัญหา
เหตุการณ์ความยุ่งยากมักเริ่มต้นขึ้น เมื่อความสัมพันธ์ของคนสองคนมาถึงจุดที่เปราะบางที่สุด การต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง มักทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะเดินหนีออกจากกัน มากกว่าที่จะหันหน้าเข้าหากัน ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มสร้างพื้นที่หรือช่องว่างให้เกิดขึ้นตรงกลางระหว่างกัน ยิ่งเวลาทอดยาวออกไปเท่าไร พื้นที่ระหว่างคนสองคนที่หันหลังให้กัน ก็จะยิ่งถูกถ่างให้กว้างมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อคิดจะหันมาคุยกันอีกครั้ง ความห่างเหินก็จะทำให้เราตะโกนและเหวี่ยงความรู้สึกที่ขื่นขมให้กันและกัน “ฉันหนัก…ฉันเหนื่อย…ฉันยาก…” เมื่อถึงจุดนั้น ต่างก็ไม่มีใครฟังใครอีกต่อไปแล้ว และในที่สุดคนที่เคยรักกันมาก…ก็เลือกที่จะหันหลังให้กันตลอดกาล
ลำดับของเหตุการณ์คล้ายนิยายแสนเศร้านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าบนโลกใบนี้ โดยที่ตัวละครทั้งสองฝ่ายไม่เคยตระหนักรู้เลยว่า ความจริงแล้วเราสามารถเปลี่ยนตอนจบนี้ได้ด้วยตัวเราเอง แค่เพียงเราใช้หัวใจหลักของการถนอมทุกความสัมพันธ์ นั่นคือ ‘การรับฟังด้วยหัวใจ’
‘การรับฟังด้วยหัวใจ’ จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อคนสองคนหันหน้าเข้าหากัน เปิดพื้นที่ให้คนหนึ่งได้พูด และอีกคนหนึ่งพร้อมที่จะรับฟัง (เป็นเรื่องเสียเวลาอย่างมากที่จะมาทุ่มเถียงกันว่าใครจะรับฟังใครก่อน ใครก็ได้ที่รู้สึกตัวก่อนขอให้เริ่มเป็นผู้ฟังก่อน) จงรับฟังและอยู่กับคนที่เรารักตรงนั้น เปิดและขยายพื้นที่หัวใจของเราออกไปให้กว้าง ฟังทุกคำของคนตรงหน้าเราด้วยหัวใจ ไม่ด่วนตัดสิน ไม่ลงโทษ ไม่ชี้ถูกผิดแต่ให้พื้นที่ของการรับฟังตรงนั้น เป็นพื้นที่ของการโอบอุ้มและเข้าอกเข้าใจกัน โปรดจงจำไว้ว่า ‘คนที่รักเราและเรารักนั้น ควรค่าที่เราจะมอบการฟังที่ดีที่สุดให้กับเขา’
เมื่อพื้นที่ของการฟังด้วยหัวใจเปิดขึ้น เราจะพบว่าเราเข้าใจคนตรงหน้าอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ถัดจากนั้นเราจะเริ่มย้อนกลับมามองเห็นตัวเอง เห็นสิ่งที่เราทำ ได้ยินสิ่งที่เราพูดชัดเจนมากขึ้นกว่าครั้งไหน ๆ และเมื่อเราและคนตรงหน้าเดินทางไปถึง ณ จุดนั้นเมื่อไร ความเข้าใจระหว่างเพื่อนมนุษย์ที่เปี่ยมด้วยความรัก เมตตา และปรารถนาดีต่อกันจะเชื่อมโยงพวกเราเข้าไว้ด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง
…และครั้งนี้…เชื่อได้ว่ามันจะแนบแน่นและจีรังยั่งยืนกว่าทุกครั้งที่เคยผ่านมา…
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก : โครงการเพื่อนอาสา Volunteer Dialogue” ธนาคารจิตอาสา
http://www.catdumb.com/longest-harvard-study-75-years-290/
ภาพจาก : pixabay.com, freepik.com