ภาวนากับความทุกข์
บอกสิ่งที่คุณทำเป็นอย่างแรกเมื่อเจอ ‘ความทุกข์’
ก. นั่งจ่อมจมขังตัวเองอยู่กับความทุกข์ ร้องไห้ให้สาสมใจ
ข. พาตัวเองออกไปปาร์ตี้ยันสว่าง ราตรีเต็มไปด้วยสีสัน
ค. ไปเม้าท์มอยกับเพื่อนฝูง กินบุฟเฟ่ต์ให้สาแก่ใจ
ง. ออกไปผลาญเงินช้อปปิ้ง เทกันให้หมดกระเป๋า
ถ้าใครพยักหน้าว่าเคยทำครบทุกข้อ แต่ก็ยังไม่เจอทางออกจากทุกข์เสียที วันนี้ชวนมาลองใช้วิธีใหม่เพื่อรับมือกับความทุกข์กันดีกว่า กับ นพ.สตางค์ ศุภผล เจ้าของรางวัล The Giver สาขาความสุขจากการภาวนา จากโครงการ Mahidol Day of Service
ขึ้นชื่อว่า ‘คุณหมอ’ ความเก่งด้านวิชาการต้องมีอยู่แล้ว แต่คุณหมอสตางค์มีดีและครบเครื่องกว่านั้น เพราะคุณหมอยังเก่งเรื่องของการเรียนรู้และพัฒนาจิตใจ ผ่านการทำงานด้านจิตตปัญญาศึกษา นั่นคือการชวนคนให้หันกลับมาใคร่ครวญความคิด ความรู้สึก การกระทำของตัวเอง เพื่อที่จะรู้จักตัวเองและเข้าใจคนอื่นมากยิ่งขึ้น
“จิตตปัญญาศึกษานี่จริง ๆ เพิ่งมารู้จักภายหลัง แต่ตัวผมเองสนใจเรื่องของการรู้จักตัวเองอยู่แล้ว เป็นคนที่ชอบคิดใคร่ครวญตัวเอง อาจจะมาจากคุณพ่อด้วย เพราะคุณพ่อเป็นคนชอบคิด ตอนเด็ก ๆ คุณพ่อชอบตั้งคำถามให้เราคิด ให้เราใคร่ครวญอะไรบางอย่าง มันทำให้เราเป็นคนช่างคิดไปในตัว จนมาเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีปรัชญาเรื่องของการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น ทำให้เราใคร่ครวญอยู่ตลอดว่าเราจะเป็นแพทย์แบบไหน?”
จากคำถามว่า “เราจะเป็นแพทย์แบบไหน?” วันนี้คำตอบของคุณหมอสตางค์ไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่ขยายต่อไปยังลูกศิษย์ ในฐานะรองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานักศึกษา ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลขอนแก่น คุณหมอสตางค์เน้นให้ลูกศิษย์แพทย์ทุกคน ได้พัฒนาเรื่องของการดูแลจิตใจควบคู่ไปกับการดูแลร่างกายของผู้ป่วย ด้วยการสอดแทรกหลักคิดและกระบวนการจิตตปัญญาเข้าไปในการเรียนการสอนและกิจกรรมเสริมของนักศึกษาอยู่เสมอ ๆ
“ในการรักษาคนไข้เรามักจะดูกันแค่ว่าโรคนี้รักษายังไง ใช้ยาอะไร แต่ผมจะดึงอีกมุมหนึ่งของการเป็นแพทย์มาให้นักศึกษาได้เรียนรู้…เรารู้ไหมว่าคนไข้รู้สึกอย่างไร…เราจะตอบสนองต่อความทุกข์ของคนไข้ได้อย่างไร….เราชวนนักศึกษามาคุยเรื่องนี้กัน แล้วมันก็ได้ผล เขาได้แชร์มุมมองทำให้เข้าใจคนไข้ แล้วเขาก็ไปปรับตัวกับการดูแลคนไข้ได้มากขึ้น เขารู้ว่าเขาสามารถแสดงออกแบบอื่นเพื่อการรักษาได้ด้วย นอกจากการให้ยาและการรักษาแบบเดิม เช่น การให้กำลังใจ การรับฟัง การพูดคุย ซึ่งจริง ๆ เขาก็ทำอยู่แล้ว แต่ผมเพียงเน้นขึ้นมาให้เขาเห็นว่า สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาคนไข้เหมือนกัน”
ฟังคุณหมอสตางค์แล้ว ก็แอบดีใจที่อนาคตประเทศไทยจะมีคุณหมอที่เก่งทั้งวิชาการและเก่งทั้งการดูแลเยียวยาจิตใจคนไข้ เพราะป่วยทางกายก็เรื่องหนึ่ง แต่หลายครั้งป่วยทางใจหนักหนาสาหัสกว่ามากมายนัก หลายคนแทบเอาชีวิตไม่รอดเวลาที่เจอกับ ‘ความทุกข์’
“เวลาเรามีปัญหาหรือว่าเกิดความคับข้องใจ เรามักจะเฉไฉไปหาสิ่งที่เบี่ยงเบนไป เช่น ไปฟังเพลง ช้อปปิ้ง ทั้งที่จริง ๆ แล้ว เวลาเรามีความทุกข์ เราควรจะกลับมาทบทวนและใคร่ครวญตัวเองนะ เพราะเมื่อไรก็ตามที่ความทุกข์มันโผล่ขึ้นมา มันแสดงว่าเริ่มมีอะไรในใจ ความทุกข์เป็นสัญญาณเตือนที่บอกเราว่า เราต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในตัวเอง”
ในความหมายของคุณหมอ การกลับมาทบทวนและใคร่ครวญ ห่างไกลจากคำว่านั่งจมอยู่กับความทุกข์มากนัก สิ่งที่คุณหมอสตางค์แนะนำไม่ใช่การย้ำคิดอยู่กับความทุกข์ของตัวเอง แต่คือการถอยตัวเองออกมาจากความทุกข์ แล้วใคร่ครวญมองปัจจัยเหตุผลที่มาของความทุกข์ จากนั้นเริ่มมองหาทางออกเพื่อแก้ไข กระบวนการตรงนี้ทำให้เกิดเป็นสุขภาวะทางปัญญา เป็นการตระหนักรู้ เห็นทางที่จะแก้ไขทุกข์นั้นอย่างยั่งยืน
“เราต้องมีมุมมองที่เป็นกลางกับตัวเอง คือต้องถอยออกมามองตัวเอง ทำไมฉันทุกข์อยู่อย่างนี้ ทุกข์มาจากไหน ซึ่งบางทีคำตอบอาจไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่เราจะรู้ว่า จะต้องเริ่มหาอะไรเพื่อที่จะเข้าใจทุกข์ตรงนี้มากขึ้น เช่น การไปอ่านหนังสือ ไปฟังธรรมะ เพื่อที่จะใคร่ครวญตรงนี้ได้ดีขึ้น แล้วพอเราเรียนรู้อะไรที่มันปิ๊ง ตรงกับสิ่งที่กำลังใคร่ครวญ มันก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ผมเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า การภาวนา”
ด้วยความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้โดยธรรมชาติผ่านการภาวนา ใคร่ครวญและทบทวนตัวเอง แต่ปัญหาคือไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาส หรือสามารถเข้าถึงช่องทางความสุขนี้ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นงานของคุณหมอสตางค์ทุกวันนี้ จึงเป็นความพยายามที่จะพาคนไปพบกับการตระหนักรู้ เพื่อนำสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมปลุกฝันปั้นหมอเพื่อนักศึกษาแพทย์ในวันมหิดลที่ผ่านมา หรืองานด้านจิตตปัญญาอื่น ๆ ที่คุณหมอเข้าร่วมเป็นกระบวนกรอย่างสม่ำเสมอ
“ทุกสิ่งที่เราแสดงออก คิด เชื่อ มันมีที่มาที่ไป ขอแค่เราได้รู้ว่าสิ่งที่เราทำมันมีที่มาที่ไปอย่างไร ธรรมชาติของคนจะเข้าไปปรับเปลี่ยนภายในตัวเองได้อยู่แล้ว ผมก็เลยอยากจะเป็น ‘ผู้ให้’ ตรงนี้ คือให้โอกาสที่เขาจะได้ใคร่ครวญ ตระหนักรู้อะไรบางอย่างในตัวเอง ทำให้เขาสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น”
ขอบคุณ นพ.สตางค์ ศุภผล ผู้ให้ความสุขจากการภาวนา อย่างน้อยบนพื้นที่ตรงนี้ คุณหมอก็ได้ชี้แนวทางแห่งความสุขให้กับคนอ่าน ครั้งหน้าที่เราทั้งหลายเจอความทุกข์ คงไม่ต้องดิ้นไปไหนไกลให้เหนื่อยแรง ลองย้อนกลับมาดูใจใคร่ครวญด้วยตัวเองแบบที่คุณหมอแนะนำ บางทีเราอาจค้นพบความสุขล้ำค่า ที่ซุกซ่อนอยู่ภายในหัวใจของเราเองก็เป็นได้
**โครงการ Mahidol Day of Service เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมหิดลและธนาคารจิตอาสา ภายใต้โครงการวิถีสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. รายละเอียดwww.mahidol.ac.th/dayofservice **