8 ช่องทางความสุข

ความสุขในโลกใต้น้ำ

14446236_1964025487157335_5265386944727222590_n

ท่ามกลางอากาศร้อนในเดือนเมษายน ความสุขประเทศไทยขอชวนไปทำความดีที่ได้ทั้งความเย็นกายเย็นใจกับเจ้าของรางวัล The Giver Award สาขาความสุขจากการสัมผัสธรรมชาติ ‘ดร.อาทร นกแก้ว’ ผู้เลือกกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะ สร้างประโยชน์ให้ทั้งกับตัวเอง ท้องทะเล และสังคม

“ผมชอบดำน้ำเพราะเป็นคนชอบธรรมชาติ การดำน้ำเปิดมุมมองให้ผมได้เรียนรู้โลกใบใหม่ที่เราไม่คุ้นเคย ทุกครั้งที่ได้ลงน้ำผมมีความสุขอยู่แล้ว แต่ว่าการที่ลงไปดำน้ำแล้วได้ทำประโยชน์ด้วย มันก็ยิ่งเป็นความสุขอีกต่อหนึ่ง เพราะเป็นความสุขที่มีประโยชน์กับคนอื่นด้วย

ดร. อาทร นกแก้ว เป็นทั้งศิษย์เก่าและอาจารย์ปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยมหิดล งานหลักของ ดร.อาทร คือการเป็นอาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่หากมีเวลาว่างเมื่อไร ดร.อาทร ก็จะหลีกหนีความวุ่นวายของเมืองกรุง มุ่งสู่ท้องทะเลสีฟ้าคราม ดำน้ำลึกลงไปจนถึงใต้ท้องทะเล เปิดใจกายในโลกใบใหม่ที่สงบและมีความสุข

page

การอยู่กับธรรมชาติทำให้เรามีความสุขตรงที่เราได้เรียนรู้จากสิ่งที่อยู่รอบตัว ผมชอบการที่ได้เฝ้ามองสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ในน้ำ รู้จักกระแสน้ำ สำคัญที่สุดคือต้องรู้จักตัวเอง เพราะกิจกรรมดำน้ำเป็นกิจกรรมที่อันตราย ทุกนาทีต้องมีสติ ต้องอยู่กับตัวเอง เราพาตัวเราไปอยู่ในระบบธรรมชาติที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่เราต้องอยู่กับมันให้ได้ อันนี้คือเสน่ห์ของการได้อยู่กับธรรมชาติ”

ใครที่เคยดำน้ำ เคยคิดจะดำน้ำ หรือแม้แต่ไม่กล้าคิดที่จะดำน้ำ คงมีสิ่งหนึ่งที่รับรู้ตรงกันก็คือ เมื่อคิดจะดำน้ำ มักจะมี ‘ความกลัว’ แอบซุกซ่อนอยู่มุมใดมุมหนึ่งในใจเราอยู่เสมอ สิ่งนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ ดร.อาทร ได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเองจากการดำน้ำ โดยเฉพาะการฝึกดำน้ำแบบ ‘ฟรีไดวิ่ง’ ที่ไม่ใช้ถังอ๊อกซิเจน แต่ใช้เพียงลมหายใจเฮือกเดียวเพื่อลงไปสำรวจโลกใต้ท้องทะเล

“การดำน้ำแบบฟรีไดวิ่งที่ผมเริ่มหัดนี้ ยิ่งทำให้เราต้องเรียนรู้ที่จะสู้กับใจตัวเองมาก ๆ เพราะโดยกลไกธรรมชาติของร่างกาย เราสามารถที่จะทำได้ แต่สิ่งที่มันยับยั้งความสามารถนั้นไว้ ก็คือใจของเรานี่แหละ ถ้าเราทำได้ นั่นหมายความว่า เราสามารถเอาชนะใจของตัวเองได้ในอีกขั้นหนึ่ง”

14457533_1964378957121988_6204585035244302282_n

เมื่อการดำน้ำนำมาซึ่ง ‘ความสุข’ และความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในชีวิตและจิตใจของตัวเองมากมาย เมื่อมีโอกาส ดร.อาทร นกแก้ว จึงขอใช้ความสุขของตนเอง เปลี่ยนเป็น ‘การให้’ ที่เป็นประโยชน์ต่อท้องทะเล

ผมเชื่อว่าทุกอย่างบนโลกนี้ต้องมี การรับ และ การให้ ตัวผมเองเมื่อดำน้ำ ท้องทะเลได้ให้ความสุขกับผม ผมได้รับมาแล้ว ทีนี้ผมจะเปลี่ยนสิ่งที่เรามีความสุขนี้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร เช่น ถ้าเราดำน้ำไปเจออวนที่มันหุ้มปะการังอยู่ คำถามคือเราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง? บางกลุ่มที่ผมไปดำน้ำด้วย พอขึ้นมาเราก็จะรวบรวมเงินกันแล้วกลับไปจุดนั้นใหม่ เพื่อที่จะตัดอวนเหล่านั้นออก เพราะถ้าอวนไม่ถูกตัด ปะการังก็จะตาย นั่นคือเรารับความสุขจากเขามาแล้ว เราก็ควรจะช่วยเขากลับด้วย ผมคิดแบบนั้น”

ดังนั้น เมื่อถึงวันมหิดล 24 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ดร.อาทร นกแก้ว จึงเลือกที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทำความดีในโครงการ Mahidol Day of Service ด้วยการดำน้ำเก็บขยะที่บริเวณเกาะล้าน จ.ชลบุรี โดยการดำน้ำเก็บขยะในวันนั้น นักดำน้ำทุกคนสามารถเก็บขยะรวมกันได้ถึง 340 กิโลกรัม ซึ่ง ดร.อาทร เองกล่าวว่า ปริมาณขยะที่พบนั้น ไม่ได้เกินความคาดหมายเท่าใดนัก เนื่องจากบริเวณที่ลงไปเก็บขยะนั้นเป็นท่าเรือ ดังนั้น ขยะที่รวมกันอยู่ใต้ท้องทะเลมาได้ทั้ง 2 ทาง คือจากขยะที่ถูกทิ้งในท้องทะเลโดยตรง และอีกส่วนมาจากขยะบนบกที่คนทิ้งไว้ แล้วน้ำทะเลพัดพาลงมารวมกัน

“สภาพใต้น้ำที่เห็นคือขยะเยอะมาก เรียกว่าพอเราดำลงไปก้นทะเล เราไม่ต้องเคลื่อนที่ไปไหนเลย รอบๆ ตัวเรามีขยะให้เก็บจนเต็ม เราต้องขึ้นมาถ่ายขยะลงเรือแล้วก็ลงไปใหม่ คืออยู่ตรงนั้น แทบไม่ต้องไปไหนเลย”

14448930_1963991853827365_3710718026795701317_n

จากกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะ เมื่อถูกโพสต์ลงในโลกโซเชียลมีเดีย ภายใต้ #MahidolDayofservice #วันมหิดล ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครอีกหลายคนเริ่มตระหนัก และเห็นความสำคัญของการดูแลธรรมชาติ จนในที่สุดคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาในโครงการ Mahidol Day of Service ได้ตัดสินใจมอบรางวัล The Giver Award หรือรางวัล ผู้ให้ สาขาความสุขจากการสัมผัสธรรมชาติ แก่ ดร.อาทร นกแก้ว โดยเข้ารับรางวัลจาก ศ.คลินิก นพ. อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในวันครบรอบวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยที่ผ่านมา

“ตอนที่ทำกิจกรรมก็ทำไปโดยไม่รู้นะว่าเขามีรางวัลด้วย (หัวเราะ) ก็ดีใจครับที่ได้รางวัล” ดร.อาทร กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อได้เป็น 1 ใน 10 ของผู้ได้รับรางวัล The Giver Award

ดร.อาทรรับรางวัล

“สำหรับผมโครงการ Mahidol Day of Service นี้ น่าสนใจตรงที่เราได้หยิบเอาสิ่งที่รู้สึกว่าทำเป็นเรื่องปกติมานำเสนอให้คนอื่นเห็น ทีนี้พอนำเสนอไปแล้ว กลายเป็นว่ามันไปจุดประกายให้ใครบางคนเขาเกิดแรงบันดาลใจอยากจะทำสิ่งดี ๆ ขึ้นมาบ้าง มันก็จะเกิดการต่อยอดไปเรื่อย ๆ ดังนั้น การที่เรามาแชร์กัน มันก็เป็นการสร้างสังคมของการเรียนรู้ที่ดีในระดับหนึ่ง เป็นชุมชนสังคมออนไลน์ที่ดี”

เราฝากคำถามสุดท้ายให้ ดร.อาทร ได้ฝากถึงคนอื่น ๆ ที่อยากจะเริ่มมาเป็น The Giver หรือ ผู้ให้ บ้าง แน่นอนอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นวันมหิดล วันสำคัญใด ๆ ก็ตามที่อยากจะเริ่มต้นทำความดี เราควรจะเริ่มต้นอย่างไร?

“ผมว่าการรับและการให้ มันเป็นสิ่งที่เราทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือการมองหาการให้และการรับที่ตรงกันมากกว่า คือถ้าเราได้ให้ในสิ่งตรงกับความต้องการ มันก็จะเกิดเป็นคุณค่าขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราเพียงแค่ทำสิ่งที่เราทำได้ในปัจจุบัน แล้วหาอะไรที่มันตรงกัน คือสิ่งที่เรามีและสิ่งที่เขาต้องการเท่านั้นเอง”

และเมื่อทุก ‘การรับ’ นำสู่ ‘การให้’ และทุกการให้ได้ถูกส่งต่อไปตรงกับความต้องการของผู้รับ เมื่อนั้นก็จะเกิดวงจรของความสุขที่ไม่มีวันสิ้นสุดอย่างแท้จริง

**โครงการ Mahidol Day of Service เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมหิดลและธนาคารจิตอาสา ภายใต้โครงการวิถีสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. รายละเอียดwww.mahidol.ac.th/dayofservice **

 The Giver-ดร.อาทร2

การสัมผัสธรรมชาติ

งานจิตอาสา

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save