ใช้ชีวิตในทุ่งลาเวนเดอร์ – จะดีไหมถ้าคุณจะไม่รู้สึกเศร้าเสียใจอีกเลยในชีวิตนี้
ไม่มีใครชอบความเศร้าเสียใจ แต่ถ้าไม่มีมันโดยสิ้นเชิงชีวิตจะเป็นอย่างไร เรามารู้จักชายที่ไม่รู้จักความเศร้าเสียใจกัน
เขาชื่อ Malcolm Myatt ชาวอังกฤษที่เกษียณอายุจากงานขับรถบรรทุกมาหลายปีแล้ว ในอดีตเขาเล่นกีฬาและมีสุขภาพดีมาตลอด แต่เมื่ออายุได้ 62 โรคเส้นเลือดในสมองเขากำเริบและสมองขาดเลือด เขาใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลนานถึง 19 สัปดาห์ สุดท้าย เขาสูญเสียการควบคุมร่างกายด้านซ้ายไปและยังสูญเสียความทรงจำระยะสั้นอีกด้วย แต่เขายังจดจำเรื่องราวในอดีตเมื่อ 20 ปีก่อนได้ดีเยี่ยม
แต่สิ่งที่น่าแปลกประหลาดที่สุด คือเขาเริ่มที่จะมองโลกสวยงามมาก มากจนบางครั้งเยอะไปด้วยซ้ำ เขาหัวเราะได้ทุกที่ทุกเวลา เขาดูมีความสุข แม้กระทั่งในวันที่คุณหมอได้บอกกับเขาให้ทำใจในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเกี่ยวกับสุขภาพของเขา เขาระเบิดเสียงหัวเราะออกมาราวกับว่ามันเป็นเรื่องตลก
ไม่เศร้าเสียใจเลย…เป็นเรื่องดีไหม?
Myatt บอกว่า “ผมไม่เคยเศร้าเสียใจเลย การเศร้าใจก็ไม่ช่วยอะไรอยู่ดี ผมมันเป็นข้อได้เปรียบจริงๆ ครับ”
ส่วนภรรยาของเขาแสดงความเห็นว่า “เขาเหมือนเป็นเด็ก ๆ เลยค่ะ เมื่อเขาเริ่มหัวเราะ ทุกคนในห้องก็หัวเราะไปด้วย เสียงหัวเราะของเขาเหมือนเป็นโรคระบาดเลยค่ะ”
แม้จะฟังดูดีแฮปปี้ไปชั่วกาลนาน แต่การไม่รู้จักความเศร้ากลับทำให้เขามีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตหลายอย่าง เช่น การห้ามให้เขาไปงานศพเด็ดขาด หรือเวลามีคนพูดเรื่องเศร้าหรือเหตุการณ์สะเทือนใจสักอย่างให้เขาฟัง เป็นหน้าที่ของภรรยาของเขาที่ต้องอธิบายนำหน้าไปก่อนว่าเขาป่วยเป็นโรคสูญเสียอารมณ์เศร้า หรือแม้กระทั่งในโรงหนังก็ตาม เขาถูกห้ามเข้าโรงหนังที่มีการฉายหนังดราม่าสะเทือนอารมณ์เด็ดขาด เพื่อไม่ให้ผู้ชมท่านอื่นเสียอรรถรสเพราะเสียงหัวเราะของเขา
นับวันอาการของเขายิ่งหนักขึ้น เขาดูมีความสุขบนความกลัดกลุ้มของภรรยาแต่เธอเองก็ปลงตกและยอมรับสภาพของเขา
อีกด้านของอารมณ์ทางลบ : ความเจ็บปวด ความเศร้า ยังมีประโยชน์
นอกจากจะห้ามไปในที่ ๆ คนอื่นเขาเศร้ากัน การที่เราไม่เคยเศร้าเลยอาจทำให้เราไม่สามารถสร้างสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งได้ เช่น การมีความรู้สึกร่วมกับคนอื่นที่โศกเศร้าเสียใจ เพราะเราจะไม่เข้าใจความรู้สึกของเพื่อนที่อกหัก หรือเสียคนบุคคลอันเป็นที่รักไป คุณอาจจะมีอารมณ์เบิกบานในทุ่งลาเวนเดอร์เมื่อเพื่อนคุณเล่าว่าพ่อของเขาเพิ่งตายไป แต่เพื่อน ๆ คุณคงไม่ค่อยพอใจนักหรอก และสัมพันธภาพอันยั่งยืนและแน่นแฟ้นก็เกิดจากการได้ร่วมทุกข์กับคนอื่นนี่ล่ะ ดังที่เขาว่า เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก
อารมณ์ลบนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ การที่มนุษย์สามารถมีอารมณ์ในทางลบได้ โดยมีสมองที่เกี่ยวข้องควบคุมโดยเฉพาะอยู่ก็แสดงว่ามันต้องเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อยู่ (ถ้าเราใช้ให้เป็น) ไม่เช่นนั้นสิ่งนี้จะไม่ผ่านกระบวนการวิวัฒนาการมาได้หรอก
ลองคิดดูสิว่าเวลาที่ร่างกายเผชิญกับความเจ็บปวด ร่างกายจะตอบสนองโดยการหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นๆ ซึ่งอาจเกิดในทันที เช่น เมื่อจับของร้อน เราจะชักมือกลับทันที หรือ อาจจะเป็นการเรียนรู้เป็นประสบการณ์ในอนาคต เช่น การหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่างที่เราแพ้ หากเราไม่มีความเจ็บปวดทางกาย เช่น จับอะไรก็ไม่รู้สึกร้อน ปวด แสบ เราอาจพิการหรือเสียชีวิตไปนานแล้วก็ได้
ความเศร้าเสียใจ อารมณ์ลบอื่นๆ ก็เช่นเดียวกันกับความเจ็บปวดทางกาย หน้าที่ของมันคือเป็นเครื่องเตือนให้เรารู้ว่า “ใจ” ของเรากำลังสัมผัสกับสิ่งที่เป็นอันตราย หรือ ใจของเราวางไว้ไม่ถูกที่ หรือ ใจเราตกต่ำกว่าในภาวะปกติ แต่คนส่วนมากไม่ใช้อารมณ์ลบเพื่อเรียนรู้ แต่กลับจมอยู่ในอารมณ์นั้นแทน จึงไม่ได้เรียนรู้หรือปรับเปลี่ยนตนเองเลย
พระไพศาล วิสาโล ให้ความคิดเห็นว่า “มองในแง่นี้จะเห็นว่าใจโง่กว่ากาย ชอบหาทุกข์ใส่ตัว คล้ายกับว่าเรามีเศษแก้วอยู่ในมือ เพียงแค่เราพลิกมือลงเศษแก้วก็ตก แต่เราไม่ทำ เรากลับถือเอาไว้ แถมยังกำแล้วบีบซ้ำแล้วซ้ำเล่า เศษแก้วก็คือคำต่อว่าของคนบางคนซึ่งผ่านไปแล้ว แต่เราไม่ยอมวาง กลับครุ่นคิดถึงคำพูดเหล่านั้น คิดแล้วคิดเล่า เราก็เลยทุกข์ เพียงแค่ปล่อยวางเท่านั้น เราก็ไม่ทุกข์ เหมือนกับเพียงแค่พลิกมือ เศษแก้วก็ตก แต่เราไม่ยอมปล่อย กลับบีบไว้ แล้วก็เจ็บ เพราะอะไร เพราะเราไม่รู้ตัว เพราะไม่มีสติ”
มองทุกข์เสียใหม่
พุทธศาสนาได้ชี้ไว้ในบทสวดมนต์ ถึงความเป็นธรรมดาของชีวิตของเราที่จะต้องมีความเศร้าเสียใจและความทุกข์ในรูปแบบต่าง ๆ
แม้ความแห้งใจ ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์ ความเสียใจ ความคับแค้นใจ เป็นทุกข์
ความประจวบสิ่งอันไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก เป็นทุกข์
แต่ไม่แค่นั้นท่านยังบอกถึงเหตุของทุกข์ และ ทางออกจากความเศร้าเสียใจเหล่านี้ (โดยไม่ต้องไปผ่าตัดสมอง)
ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวไว้ว่า
“ความทุกข์เป็นครูที่ดีที่สุด เพราะมันมาเขย่า มาเตือนมาเฆี่ยน มาตี มาขบ มากัด ให้ระวัง อย่าไปมัวโง่ ไปหลงยึดมั่นเรื่องเกิด แก่ เจ็บตาย ให้ทำเสียใหม่ให้ถูกต้องเพราะฉะนั้น จึงควรมีความกตัญญูต่อความทุกข์ ชอบความทุกข์ รักความทุกข์ รับเอาเป็นอาจารย์ แล้วมันจะดีขึ้นเร็ว”
ใช้สติและปัญญา
โลกนี้มันแปลก หลายคนไม่ชอบความเศร้า แต่ทางตรงข้ามบางคนก็ชอบเศร้า ชอบฟังเพลงเศร้า ๆ เคล้าน้ำฝนเปาะแปะที่ข้างหน้าต่าง คือ เห็นความเศร้าเป็นของดีงาม เป็นนางเอกซีรีย์ไปเลย…แต่ทั้งสองทาง คือ การปฏิเสธ ความทุกข์ ความเศร้าโดยสิ้นเชิง หรือ การอยากซึมเศร้า หดหู่ ล้วนไม่ใช่หนทางที่ถูกในการดำรงชีวิต ความเศร้า ความทุกข์ จะมีประโยชน์ต้องใช้ให้เป็น คือใช้มันเพื่อเรียนรู้และเมื่อใช้เสร็จก็ปล่อยวางให้เร็ว และสิ่งที่จะช่วยได้ คือ การมีสติ มีความระลึกได้รู้ ว่าใจเราตอนนี้เป็นอย่างไร สติจะช่วยให้เราไม่อาลัยสิ่งที่เป็นอดีตและกลับมาสู่ปัจจุบันเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ใจเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สติอาจจะช่วยเราได้เป็นครั้งคราวแล้วแต่สติสั้นหรือยาว มากหรือน้อย แต่ปัญญาสูงสุดที่เห็นชัดว่าไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นเลย จะช่วยทำให้เราอยู่เหนือความทุกข์ ความเศร้าเสียใจได้อย่างแท้จริง
– – – –
เพิ่มเติม : สมองส่วนหน้าที่เรียกว่า frontal lobes ซึ่งแผ่ไปทั้งซีกขวาและซีกซ้ายของสมอง เป็นสมองส่วนสำคัญที่ควบคุมการเคลื่อนไหว การคิดวิเคราะห์ ภาษา การแก้ปัญหา ความทรงจำ การควบคุมตนเอง และพฤติกรรมทางเพศ สมองส่วนนี้เป็นพื้นฐานของอารมณ์และการตัดสิน จึงเป็นส่วนหลักสำคัญของบุคลิกภาพด้วย คนที่สูญเสียสมองส่วนนี้บางส่วนจะมีปัญหาเกี่ยวกับอารมณ์และการใช้เหตุผล สมองส่วนที่เสียหายไปของเขา คือ ส่วนด้านขวาบางส่วน โดยปกติผู้ป่วยเช่นนี้จะมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ แต่การเสียอารมณ์เศร้าเพียงอย่างเดียวเช่นในกรณีนี้พบได้ไม่บ่อยนัก
ที่มา
http://www.telegraph.co.uk/news/health/news/10237796/Stroke-victim-unable-to-feel-sadness.html
http://www.medicaldaily.com/unable-feel-sad-stroke-victim-malcolm-myatt-now-permanent-smiley-face-250741