‘ธนูโพชฌงค์’ ธนูพิชิตใจ
เมื่อพูดถึงการยิงธนู ส่วนใหญ่ภาพที่เรามักนึกถึงคือ กีฬาที่เน้นการแข่งขัน มุ่งไปที่การเล็ง ยิงให้แม่น เพื่อชัยชนะและพิชิตเป้าหมาย แต่เชื่อไหมว่า ยังมีการยิงธนูอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นการยิงที่ไม่เน้นเป้า ไม่เน้นแม่น ไม่เน้นแข่ง แต่เน้นยิงแล้ว ‘จิตว่าง‘พิชิตเป้าหมายคือความสุขในใจ ธนูนี้มีชื่อว่า ‘ธนูโพชฌงค์‘
คำว่า โพชฌงค์ คนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงบทสวดที่ไว้สวดตอนพระอาพาธ แต่จริงๆ แล้วความหมายของโพชฌงค์นั้น แปลตรงตัวว่าเป็น ธรรมที่เป็นเครื่องตรัสรู้ จึงมีความหมายว่า คนที่จะเข้าถึงการบรรลุมรรคผลได้นั้น ต้องมีโพชฌงค์ 7 ประการ ซึ่งประกอบด้วย 1.สติ 2.ธรรมวิจยะ 3.วิริยะ 4.ปีติ 5.ปัสสัทธิ 6.สมาธิ และ7. อุเบกขา
แล้วคำว่า ‘โพชฌงค์‘ ที่เป็นเรื่องของธรรมะ มาเกี่ยวข้องกับการ ‘ยิงธนู‘ ได้อย่างไร?
ธนูโพชฌงค์ เริ่มต้นขึ้นจาก อาจารย์ ดร. วรภัทร์ ภู่เจริญ โดยเริ่มแรกอาจารย์สนใจศึกษาการยิงธนูแบบญี่ปุ่นที่มุ่งเน้นการยิ่งเพื่อหาความว่าง หรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า มุชิน ต่อมาอาจารย์ได้ไปศึกษาธนูจีน การรำมวยจีน แล้วก็ค้นพบว่าทั้งหมดล้วนเป็นการฝึกสติ ปล่อยความคิดให้โล่ง จึงนำมารวมกันจนกลายเป็น ‘ธนูโพชฌงค์’
“ครั้งแรกไปฝึกยิงที่วัดพระราม 9 ก่อน ลำดับการยิงธนูเป็นไป 7 ขั้น คือ มีสติ (สติ) รู้กาย (ธรรมวิจยะ) ดีดความคิดไร้สาระออกไป (วิริยะ) เมื่อปล่อยธนูออกไปจะรู้สึกเบา (ปีติ) ทำมากๆ ก็จะสงบ (ปัสสัทธิ) ต่อเนื่องจนกลายเป็นความว่าง (อุเบกขา)พอพระราชญาณกวี ปิยโสภณท่านมาเห็น ท่านก็เลยบอกว่า นี่มันโพชฌงค์นี่นา ก็เลยได้ชื่อว่าธนูโพชฌงค์มาตั้งแต่ตอนนั้น” ดร.วรภัทร์ เล่าถึงที่มาของชื่อธนูโพชฌงค์
เราอาจจะเรียกการยิงธนูโพชฌงค์ ว่าเป็นการยิงธนูที่ช้าที่สุดก็น่าจะได้ เพราะในการยิงแต่ละครั้ง ผู้ยิงจะต้องนั่งสมาธิ ฝึกอานาปานสติ กำหนดรู้ลมหายใจ จากนั้นจึงลุกขึ้นยืน ใช้การเดินจงกรมเดินไปยังจุดยิง ค่อยๆ ยกศรธนูขึ้น นิ่ง แล้วจึงยิง จากนั้นผู้ยิงก็จะเดินจงกรมถอยหลังกลับมานั่งอีกครั้ง ตลอดการยิงตั้งแต่ต้นจนจบจึงต้องมีสติ รู้เนื้อรู้ตัวตลอดเวลา
ดังนั้น ธนูโพชฌงค์ จึงเป็นไปตามที่บอกตั้งแต่ต้น คือไม่ได้เป็นกีฬาที่เน้นการยิงให้แม่นเหมือนกีฬายิงธนูทั่วไป ไม่ได้เน้นที่เป้าหมายและชัยชนะ แต่เน้นที่สติและการรู้เนื้อรู้ตัว ธนูโพชฌงค์จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นธนูภาวนา เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยสร้าง ‘ความสุขที่แท้ในจิตใจ‘ ที่มาในรูปแบบของการเคลื่อนไหวร่างกาย
“เวลาที่คนเราทุกข์ ส่วนใหญ่เราทุกข์เพราะความคิด เราดักความคิดไม่ทัน แต่คนฝึกยิงธนูจะจับความคิดได้ทัน เพราะระหว่างยิงจะต้องไม่มีความคิดอะไรเลย ต้องดีดความคิดไร้สาระทิ้งไปให้หมด ตอนที่ปล่อยลูกธนูออกไป เราจะรู้สึกว่าง โล่ง ถ้าเราฝึกซ้ำๆ เป็นร้อยครั้ง กล้ามเนื้อจิตใจมันก็จะจดจำความว่างอันนั้น แล้วต่อไปเมื่อเราไปเจอความทุกข์เมื่อไร เราก็จะตัดความคิดที่เป็นลบได้ทัน กลับมาอยู่กับปัจจุบัน เราก็ไม่ทุกข์ ง่ายๆ เท่านั้นเอง” ดร.วรภัทร์ สรุปให้เห็นความเชื่อมโยงของการฝึกยิงธนูโพชฌงค์กับความสุข
นอกจากสุขภาพใจแล้ว การยิงธนูโพชฌงค์ยังส่งผลถึงสุขภาพกายโดยตรงอีกด้วย การยิงธนูที่ใช้การเคลื่อนไหวของสะบักหลัง จะช่วยแก้ปัญหาโรคออฟฟิศซินโดรมของคนในยุคปัจจุบัน การฝึกอานาปานสติ การเคลื่อนไหวช้าๆ ของธนูโพชฌงค์ ยังดึงมนุษย์ปัจจุบันที่ทุกวินาทีเต็มไปด้วยรีบเร่งให้กลับมาช้าลง จากที่เคยหายใจสั้นๆ เต็มไปด้วยความเคร่งเครียดโดยไม่รู้ตัว ก็ได้มาฝึกหายใจใหม่ กลายเป็นการหายใจที่ยาว นิ่ง สงบ ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น หัวใจก็แข็งแรงขึ้นตามไปด้วย
ตอนนี้การฝึกธนูโพชฌงค์มีการก่อตั้งเป็นชมรม มีสมาชิกร้อยกว่าคนแล้ว ใครสนใจข้อมูล อยากรู้หรืออยากฝึกธนูโพชฌงค์ไม่ใช่เรื่องยาก อาจารย์ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ ได้เปิดช่องทางให้สื่อสารผ่านทางเฟซบุ๊ก : กลุ่มศรธรรมะ หรือเฟซบุ๊ก : ชมรมธนูโพชฌงค์ ลองเข้าไปติดตาม พูดคุย สอบถามผ่านช่องทางเหล่านี้กันได้ก่อน โดยทางชมรมธนูโพชฌงค์จะมีการประกาศเปิดให้ผู้ที่สนใจ สามารถไปลองฝึกกันได้เป็นรอบๆ ไป
เพราะสิ่งที่ดีที่สุด นอกจากการอ่านและพูดคุยกันแล้ว ทุกคนต้องลองปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้น
“ความสุขทางธรรมนั้น ตราบใดที่ยังไม่เคยสัมผัส ก็ยังตอบไม่ได้หรอกว่าความสุขคืออะไร” ดร.วรภัทร์ฝากข้อคิดทิ้งท้าย “มันอธิบายไม่ได้ ต้องลงมือทำด้วยตนเอง ถ้าเอาแต่อ่านมันไม่ได้ มันต้องหยุดคิด แล้วลงมือทำ”
ขอบคุณภาพจาก FB : ชมรมธนูโพชฌงค์