สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ต้นแบบของผู้ใฝ่ศึกษาเรียนรู้
เรามักคิดเสมอว่า การศึกษาเรียนรู้เป็นเรื่องของตัวเราเอง เป็นประโยชน์ส่วนตนไม่เกี่ยวกับใครและเรามักคิดเสมอว่า หากชีวิตสะดวกสบายแล้ว เราคงไม่จำเป็นต้องอุตสาหะร่ำเรียนอะไรเพิ่มเติมสักเท่าไร ชีวิตหลายคนเลยมักมาตกร่องว่า เมื่อลำบากแล้วจึงค่อยขวนขวายเรียนรู้
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นต้นแบบสำหรับปวงชนชาวไทยในการเป็นผู้ศึกษาใฝ่หาความรู้อย่างไม่มีวันหยุด นอกจากนี้ ความวิริยะอุตสาหะในการศึกษาเรียนรู้ของพระองค์ท่าน ยังส่งผลดีต่อการเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูตระหว่างประเทศ และยังกลายเป็นแรงบันดาลใจ นำทางให้อีกหลายต่อหลายคนเดินตามรอยพระองค์ท่าน เรื่องราวนี้ปรากฎชัดเจนเป็นรูปธรรม เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระอักษร (เรียน) ภาษาจีน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มศึกษาภาษาจีนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 โดยทรงศึกษาจากครูสอนภาษาจีน 9 ท่าน ทุกวันเสาร์ ครั้งละ 2 – 3 ชั่วโมง ไม่ว่าจะมีพระราชภารกิจมากมายเพียงใดก็ตาม จนไม่เพียงแต่มีพระราชดำรัสภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่วเท่านั้น หากยังทรงพระราชนิพนธ์แปลบทกวีจีนและนวนิยายจีนที่มีมากกว่า 100 บท ดังพระราชนิพนธ์แปล หยกใส ร่ายคำ และ เมฆเหิน น้ำไหล นอกจากนี้ทุกครั้งหลังเสด็จพระราชดำเนินเยือนจีนทุกครั้ง จะทรงพระราชนิพนธ์สารคดีออกมาเสมอ เช่น ย่ำแดนมังกร มุ่งไกลในรอยทราย เกล็ดหิมะในสายหมอก ใต้เมฆที่เมฆใต้ เย็นสบายชายน้ำ คืนถิ่นจีนใหญ่ และเจียงหนานแสนงาม ฯลฯ
แต่แม้ว่าจะมีความเชี่ยวชาญทั้งการพูด การฟัง การเขียนมานับ 20 ปี หากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ก็ยังทรงมีพระดำริว่าสิ่งที่พระองค์รู้นั้นยังไม่เพียงพอ ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาภาษาจีนเพิ่มเติม ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 – 15 มีนาคม 2544 ว่า
“ข้าพเจ้าเรียนภาษาจีนมา 20 ปีแล้ว แต่ความรู้ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่สถานทูตจีนจัดครูมาสอนเป็นประจำ จึงเกิดความคิดว่า ถ้าข้าพเจ้าได้มาอยูในแวดวงคนจีน เรียนภาษาจีนอย่างเดียวไม่ต้องทำงานอื่นสักพักหนึ่งน่าจะดีขึ้น ปัญหาอยู่ที่ว่าระยะหลัง ๆ นี้การงานที่เมืองไทยค่อนข้างมาก จะปลีกตัวมาได้นานสักเท่าไร เมื่อ 3 ปีก่อนเคยไปสหรัฐอเมริกาเดือนหนึ่ง จึงคิดว่าน่าจะอยู่จีนได้เหมือนกัน ได้ไปลองปรึกษากับใคร ๆ ที่เมืองจีน ทั้งทางมหาวิทยาลัยและคนอื่น ทุกคนต่างเห็นดีด้วย ลองไปสืบราคาที่อยู่และค่าเล่าเรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง รู้สึกว่าค่อนข้างแพง แต่ก็น่าจะสู้ราคาได้ ภายหลังท่านทูตฟู่เสวียจังทูตจีนประจำประเทศไทยในขณะนั้นบอกว่ากระทรวงศึกษาธิการจีนจะรับค่าใช้จ่ายทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านที่พักในมหาวิทยาลัย การเล่าเรียน และอาหารการกิน”
การที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จไปศึกษาเรียนรู้ภาษาจีนที่ปักกิ่งเพิ่มเติมครั้งนั้น ยังเกิดผลสะท้อนต่อการศึกษาเรียนรู้ภาษาจีนครั้งใหญ่ในสังคมไทย เรื่องนี้ ดร.บุษกร กาญจนจารี พระอาจารย์ที่ปรึกษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งทรงศึกษาปริญญาตรีที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าไว้ว่า
“การที่ท่านทรงศึกษาภาษาจีนมีผลอย่างมากต่อนิสิตให้หันมาสนใจเรียนภาษาจีน โดยเฉพาะเมื่อตอนท่านเสด็จปักกิ่งหนึ่งเดือนนั้น โทรทัศน์ออกทุกวันท่านทรงทำอะไรอยู่ที่นั้นบ้าง ปีนั้นบูมที่สุด ….ตื่นตัวมาก โรงเรียนสอนภาษาจีนเปิดกันเยอะแยะ เด็กสนใจเรียนกันมากเป็นพิเศษ …เป็น fever ไปเลยเพราะเห็นท่านเสด็จไปปักกิ่ง”
การเป็นผู้ใฝ่ศึกษาเรียนรู้อย่างไม่มีวันหยุด ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งหลงใหล ยิ่งพบสิ่งที่น่าสนใจ ทำให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงทุ่มเทให้กับการเรียนรู้เรื่องราวของจีนในทุกด้าน ทั้งการเรียนภาษาจีน การเขียนพู่กันจีน การวาดภาพแบบจีน และฝึกรำมวยไทเก๊ก ฯลฯ
เมื่อชาวจีนได้เห็นพระองค์ทรงสนพระทัยร่ำเรียนทุกด้านได้อย่างเชี่ยวชาญ จึงเกิดความภาคภูมิใจมากๆ ที่มี ‘เจ้าฟ้าหญิง’ ของประเทศเพื่อนบ้านให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมของประเทศจีนมากเช่นนี้ และเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 มีการประกาศว่า ชาวจีนทั่วประเทศได้โหวตยกย่องให้ ‘ฟ้าหญิงสิรินธร’ เป็น ‘มิตรที่ดีที่สุดในโลก’ ของคนจีนและประเทศจีน ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นราชนิกุลพระองค์เดียวในโลกที่เสด็จเยือนจีนมากที่สุด เป็นเจ้าฟ้าหญิงที่คนจีนรู้จักมากที่สุด และเคารพรักพระองค์เสมือนหนึ่งเป็น ‘เพื่อนสนิท’ ที่สุดคนหนึ่งของชาวจีนทั้งประเทศ
และนี่คือเรื่องราวของพลังแห่งการศึกษาเรียนรู้
ตัวอย่างความใฝ่เรียนใฝ่รู้อันงดงาม ที่จุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั้งสังคม
กลายเป็นพลัง…เป็นคุณูปการสำหรับประเทศชาติอย่างหาที่สุดมิได้
ขอบคุณที่มา
http://www.sirindhorn.net/Book-detail.php?type=Other&id=2009-08-21%2010:50:15
https://www.facebook.com/samkokview/posts/317761265011550
http://pantip.com/topic/32292684