8 ช่องทางความสุข

เส้นทางความสุข : การเคลื่อนไหวร่างกาย

alone-959243_1920

ถ้าเราทำความเข้าใจกับเนื้อตัวร่างกายของเราเองอย่างลึกซึ้ง จะเห็นว่าร่างกายที่มันขับเคลื่อนไปนี้มีสิ่งซึ่งสถิตอยู่ข้างในก็คือ ‘ใจ’ ทำอย่างไรให้กายกับใจอิงอาศัยซึ่งกันและกันอย่างเกื้อกูล

ตั้งแต่เราเริ่มจำความได้ นับจากวัยเด็กเล็กที่เริ่มเรียนรู้จักร่างกาย ตลอดชีวิตที่ผ่านมาเราเฝ้าสาละวนแต่งเสริมเติมสวยให้อวัยะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เราอยากแข็งแรง อยากสูง อยากผอม อยากดูดีในสายตาของคนอื่นๆ….แต่จะมีสักครั้งไหม ที่เราจะหันมาตระหนักว่า แท้จริงแล้วร่างกายนี้คือพื้นที่อันเป็นที่อยู่ของ ‘ใจ’ ซึ่งเราควรจะเฝ้าดูแลและพิจารณาเพื่อให้นำทางเราไปถึงซึ่งความสุขที่ยั่งยืน

ย้อนกลับไปเมื่อ 2,500 ปีก่อนพุทธกาล มีการค้นพบหลักฐานว่าพราหมณ์หรือโยคีในยุคนั้น ใช้การฝึกฝนร่างกายให้นิ่งและสมดุลที่เรียกว่าโยคะ มาเป็นเครื่องมือในการฝึกลมหายใจ เพื่อเข้าสู่การเพ่งฌานหรือสมาธิ ขณะที่พระนิกายเก็นไดของญี่ปุ่น ก็ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการวิ่งมาเป็นเครื่องมือในการฝึกสมาธิ โดยต้องวิ่งพร้อมกับสวดมนต์บนภูเขากลางดึกไม่ต่ำกว่า 40-80 กิโลเมตรต่อคืน

ส่วนในพุทธศาสนาเอง ก็มีการเลือกใช้การเดินซึ่งถือว่าเป็นวิธีเก่าแก่ที่สุดของการบริหารร่างกาย มาใช้เพื่อการตามรู้การเคลื่อนไหวร่างกายให้เกิดเป็นสมาธิผ่านการเดินจงกรม รวมถึงยังมีศิลปยุทธ์จีนโบราณอย่างกังฟูหรือไท้เก๊ก ที่ใช้การเคลื่อนไหวกายที่เนิบช้ามาเป็นเครื่องมือให้เราได้ย้อนกลับมาอยู่กับตัวเอง ค่อยๆ รู้จักร่างกาย ผ่อนตามลมหายใจ คล้ายกับการเจริญสติโดยใช้ร่างกายที่เรียกว่า ‘กายคตาสติ’ ซึ่งมีความหมายว่า การเห็นความเป็นไปของกายตามความเป็นจริง

ตัวอย่างเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นว่า การเคลื่อนไหวร่างกายเมื่อนำไปผนวกกับสิ่งที่มีคุณค่าอย่างเช่นการภาวนาหรือการทำสมาธิ จะทำให้เกิดเส้นทางพิเศษที่เชื่อมโยงร่างกายกับจิตใจให้กลายเป็นหนึ่งเดียว จนสามารถนำเราเดินทางไปสู่สิ่งที่เรียกว่าความสุขที่แท้จริงหรือ สุขภาวะทางปัญญา

balance-1107484_1920

อ.ณรงค์ เทียมเมฆ  ที่ปรึกษาสมาพันธ์ชมรมเดิน – วิ่งสุขภาพไทย ได้สะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ชัดๆ ของการเคลื่อนไหวทางกายในรูปแบบของการวิ่งที่เชื่อมโยงถึงจิตใจไว้ว่า “ถ้าเราใส่เรื่องสมาธิเข้าไปด้วย จะวิ่งช้าหรือเร็วไม่สำคัญ ทุกย่างก้าวที่เราวิ่งมันจะสงบ เราจะอยู่กับความนิ่ง จนถึงจุดหนึ่งมันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าความสว่าง การรู้ตัว การตระหนักรู้ การนึกถึงเรื่องดีๆ ใหม่ๆ ขึ้นมาแทนที่ ร่างกายจะมีกลไกหลั่งสารแห่งความปีติสุขออกมา ยิ่งถ้าเรามีความรู้ มีทัศนคติที่ดีต่อการออกกำลังกายเสริมเข้าไปด้วย มันก็ยิ่งเกิดขึ้นได้ง่าย”

ด้านดร.ประมวล เพ็งจันทร์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เลือกใช้การเดินเท้าเป็นระยะทาง 1,000 กิโลเมตร เพื่อหาคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตกล่าวแนะนำว่า ถ้าเราทำความเข้าใจกับเนื้อตัวร่างกายของเราเองอย่างลึกซึ้ง จะเห็นว่าร่างกายที่มันขับเคลื่อนไปนี้มีสิ่งซึ่งสถิตอยู่ข้างในก็คือใจ เราควรทำให้กายกับใจอิงอาศัยซึ่งกันและกันอย่างเกื้อกูล

“ตอนผมเดิน จริงๆ มันเป็นเรื่องของใจนะ จิตของผมอยู่ที่เท้าที่เดิน ผมไม่ส่งจิตไปคิดเรื่องอะไรอื่นอีกแล้ว ผมทำสมาธิภาวนาของผมกับการเดินทางนั้น สังเกตการเปลี่ยนแปลงในใจ เห็นจิต เห็นสภาวะ มันกลายเป็นกระบวนการเรียนรู้ครั้งสำคัญ ความรู้ชุดนี้เป็นความรู้ที่ผมปรารถนามาตลอด”

อย่างไรก็ตาม ในครั้งแรกๆ สิ่งที่ได้ค้นพบระหว่างตามดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย อาจนำเราสู่การตั้งคำถามบางอย่างขึ้นในจิตใจ

“มันจะทำให้เราค่อยๆ รู้จักตัวเองมากขึ้น จะเกิดคำถามกับตัวเองหลายอย่าง เช่น เอ๊ะ…ทำไมฉันใช้ชีวิตแบบนี้มาจนป่านนี้? มันเกิดอะไรขึ้น? ที่ผ่านมาเราส่งจิตออกข้างนอกมากไปหรือเปล่าทำให้เป็นทุกข์? ทำไมไม่ย้อนกลับมามองดูตัวเอง ความจริงความทุกข์มันอยู่แค่ที่ปลายจมูกเราเท่านั้นเอง” ครูบี – เสกสันน์ ทรัพย์สืบสกุล ผู้ฝึกสอนไท้เก๊กกล่าว

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ฝึกการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีทิศทาง อันเปี่ยมไปด้วยสติและสมาธิ คือการค้นพบความสุขที่ประณีตลึกซึ้ง เป็นความสุขที่ละเอียด อันแตกต่างจากสุขที่เกิดจากการแสวงหาวัตถุมาครอบครอง

picjumbo.com_HNCK4578

“ความสุขนั้นมีหลายระดับ มีหลายแง่มุม” ครูกวี คงภักดีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันโยคะวิชาการ กล่าว “ในเบื้องต้นเรามักจะอิงความสุขที่คว้าได้ง่าย เป็นรูปธรรม แต่พอชีวิตเราดำเนินไปเรื่อยๆ ความสุขจากวัตถุภายนอกจะถึงจุดหนึ่งซึ่งเป็นจุดที่อิ่มตัว ถึงตอนนั้นมนุษย์จะค่อยๆ พัฒนาไปหาความสุขที่ละเอียด ประณีตกว่าความสุขแบบเดิม อันนั้นแหละคือความสุขที่เป็นภาวะมาจากภายใน คือความสุขจากความสงบ สมาธิ”

เคล็ดลับที่ดีที่สุดของผู้ที่สนใจการฝึกฝนจิตใจผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย คือการลงมือปฏิบัติอย่างมีวินัย อาศัยความเพียรและความละวาง ด้วยใจที่แช่มชื่น เบิกบาน ธรรมชาติจะพาเราไปอยู่ในภาวะที่ดีที่สุด เราจะค้นพบความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้นในทุกด้าน พบความสุขในมิติที่ยั่งยืน ซึ่งหาไม่ได้จากการได้ฟังหรือแค่อ่านหนังสือเรื่องวิธีคิด จะพบได้ก็ต่อเมื่อต้องทำด้วยตัวเอง เพราะสุขภาวะทางปัญญาไม่สามารถเกิดได้เพียงแค่คิด หากต้องลงมือทำ

ขอบคุณภาพ : www.pixabay.com, www.freepik.com

 

การภาวนา

การเคลื่อนไหวร่างกาย

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save