‘โคริงกะ’ ดอกไม้จัดใจ (ตอนที่ 1)
การจัดดอกไม้โคริงกะ ไม่มีสูตรตายตัว ทุกอย่างเป็นไปตามความงามของดอกไม้ที่แต่ละคนมองเห็น เรียกได้ว่ายิ่งเรียนรู้การจัดดอกไม้โคริงกะมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมองเห็นใจของตนเองชัดขึ้นเท่านั้น
พวกเรามักชอบเปรียบความสุขในใจกับแบตเตอรี่โทรศัพท์
เวลาชีวิตชักไม่ค่อยสุข คำที่ใช้กันบ่อยคือ แบตหมด แบตเสื่อม
หลายคนจึงใช้เวลาออกไปท่องเที่ยวกับธรรมชาติเพื่อ “ชาร์จแบต ให้มีพลังกลับมาสู้ต่อ”
ฟังดูราวกับว่าในธรรมชาติมี ‘พลังแห่งความสุข’ ให้เราได้ตักตวงอย่างมหาศาล ?
‘โมกิจิ โอกาดะ‘ ศิลปิน – นักปรัชญาชาวญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเอ็มโอเอ ซึ่งมีแนวคิดหลักในการนำธรรมชาติและศิลปะมาเยียวยามนุษย์ทั้งร่างกายและจิตใจ ได้เคยพูดถึงธรรมชาติไว้ว่า
“มนุษย์หายใจอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และเติบโตได้ด้วยพลังจากธรรมชาติ…..ความงามของทัศนียภาพที่ได้ชมจากการท่องเที่ยวในแต่ละฤดูกาลนั้น จะชำระความขุ่นมัวในแต่ละวัน ทำให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่าและมีจิตใจที่ผ่องแผ้ว“
โมกิจิ โอกาดะ เชื่อว่าทุกอย่างบนโลกนี้ประกอบด้วยกายกับวิญญาณ จุดที่เล็กและละเอียดสุดคือจิตวิญญาณ รองลงมาคือจิตใจ ถัดมาคือร่างวิญญาณ ทั้งสามส่วนรวมเรียกว่าดวงจิตหรือว่าความรู้สึกนึกคิด มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนร่างกายของเราให้เคลื่อนไหว
เวลาใดที่เราเกิดความรู้สึกในแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ อิจฉา ฯลฯ จะส่งผลทำให้ดวงจิตของเราขุ่นมัว ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถชำระความขุ่นมัวได้วิธีหนึ่งคือ ‘การสัมผัสกับธรรมชาติ‘
“ความหมายของการสัมผัสธรรมชาติของท่านโอกาดะ ไม่ใช่เพียงแค่พาตัวเองไปอยู่กับธรรมชาติเท่านั้น แต่เราจะต้องใช้สัมผัสทั้ง 5 ของเราด้วย ใช้ตามอง หูฟัง มือจับต้อง ดมกลิ่น ลิ้มรส จนก่อเกิดเป็นความรู้สึกซาบซึ้งประทับใจอย่างที่สุด ซึ่งความรู้สึกตรงนั้นแหละที่จะไปช่วยขจัดความขุ่นมัวในใจของเราได้” คุณสุชาญ ศีลอำนวย กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิ เอ็มโอเอ ไทย กล่าว
อย่างไรก็ตาม การสัมผัสธรรมชาติด้วยการท่องเที่ยวนั้น ยังถือเป็นความสุขเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เพราะจะเห็นว่าเมื่อเราไปเที่ยวชาร์จพลังใจมาจนเต็ม แต่พอกลับมาอยู่กับสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ใช้เวลาไม่นาน แบตในใจที่ชาร์จเต็มมาก็ค่อยๆ ลดลงๆ กลับมามีจิตใจห่อเหี่ยวเต็มไปด้วยความทุกข์เหมือนเดิม
ดังนั้น โมกิจิ โอกาดะ จึงคิดออกแบบวิชาการจัดดอกไม้ ‘โคริงกะ’ โดยนำเอาศิลปะการจัดดอกไม้ชั้นสูงแบบญี่ปุ่นมาเชื่อมโยงกับความงามตามธรรมชาติของดอกไม้ เป็นการเปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้เข้ามาเป็นช่วยเยียวยาจิตใจของผู้คนในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกและง่ายดาย
หัวใจสำคัญของศิลปะการจัดดอกไม้แบบโคริงกะ อยู่ที่การปล่อยใจให้เพลิดเพลินไปกับความงามของดอกไม้ ใช้ประสาทสัมผัสนำเราให้เข้าถึงความงามที่ซุกซ่อนอยู่ในดอกไม้แต่ละดอก ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ใจของตนเองไปพร้อมกัน
“การจัดดอกไม้สามารถทำได้ทุกวัน เพื่อฝึกฝนตัวเองได้เท่าที่เราต้องการ แต่สำคัญคือเราต้องสังเกตให้เป็น ต้องมองเห็นความงามอย่างที่ดอกไม้เป็น แล้วจัดดอกไม้ออกมาให้ได้อย่างที่ดอกไม้ต้องการ ไม่ใช่อย่างที่ใจเราต้องการ นี่คือหลักสำคัญที่สุดของดอกไม้โคริงกะ” คุณสุชาญย้ำ
ดังนั้นการจัดดอกไม้โคริงกะ จึงแตกต่างจากการจัดดอกไม้ประเภทอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง เพราะไม่มีสูตรการจัดตายตัว ไม่มีกรอบบังคับ ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ตามความงามของดอกไม้ที่ผู้จัดแต่ละคนมองเห็น อาจจะเรียกได้ว่ายิ่งเรียนรู้การจัดดอกไม้โคริงกะมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งจะมองเห็นใจของตนเองชัดขึ้นเท่านั้น จึงมีคนเรียกขานการจัดดอกไม้รูปแบบนี้ว่าเป็นการ ‘จัดดอกไม้ จัดใจ‘
………………………………………………..
ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีการนำหลักสูตรการจัดดอกไม้โคริงกะ เข้ามาประยุกต์เป็น 1 ในรูปแบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาด้านสุขภาวะทางปัญญาในคนหลายกลุ่ม ทั้งบุคคลทั่วไป นักศึกษา นักเรียน กลุ่มเด็กพิเศษ กลุ่มผู้ถูกควบคุมความประพฤติ ฯลฯ ซึ่งในตอนต่อไป เราจะมาติดตามถึงผลของการเรียนรู้การจัดดอกไม้แบบโคริงกะ ที่เข้าไปเปลี่ยนทัศนคติและวิถีชีวิตของใครต่อใครหลายคนได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ขอขอบคุณ : หลักสูตรการจัดดอกไม้โคริงกะ มูลนิธิ เอ็มโอเอ ไทย