‘ศิลปะจากธรรมชาติ’ เรียนรู้และเยียวยาชีวิต
ธรรมชาติสวยงามและยุติธรรมที่สุด การเข้าใกล้ธรรมชาติ ก็เหมือนเข้าใกล้ธรรมะ ถ้าเราไม่ต้านทาน ไม่ฝืน เราก็จะพบว่าทั้งสุขทั้งทุกข์ในชีวิตมันเป็นธรรมชาติทั้งคู่
ภาพหยดน้ำค้างกลมๆใสๆ ต้องประกายแสงอาทิตย์ กำลังทิ้งตัวลงมาบนใบไม้เรียวยาวสีเขียวสด ตรึงสะกดทุกสายตาให้ต้องหยุดมอง ความรู้สึกขณะจับจ้องเกิดเป็นความนิ่ง สงบ ณ ช่วงเวลานั้นคล้ายความงดงามจากธรรมชาติ กำลังเปิดดวงตาด้านในของเราให้มองเห็นสัจธรรมความจริงในชีวิต ขณะเดียวกันก็ต่อเติมกำลังใจที่เหนื่อยล้าของเรา ให้เต็มเปี่ยมด้วยความหวังและเกิดความสุขขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
ข้อความข้างต้นเป็นความรู้สึกของหลายๆ คนที่ได้มีโอกาสชื่นชมผลงานภาพถ่ายของอดีตช่างภาพหญิงมืออาชีพ Bangkok Post คุณคิด – สมคิด ชัยจิตวนิช ที่ปัจจุบันเธอเล่าว่าชีวิตของเธอแบ่งออกเป็น 2 ส่วน หนึ่งคือการประกอบอาชีพช่างภาพอิสระอันเป็นเรื่องของการดำรงชีวิตด้านกาย อีกส่วนคือด้านของการทำงานเพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจ โดยใช้งานถ่ายภาพของเธอรับใช้พระศาสนา และก่อตั้งโครงการ Art Care ที่จะนำภาพถ่ายธรรมชาติงดงาม สร้างพลังใจ ไปติดในโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อหวังเยียวยาผู้ป่วยและญาติให้คลายความทุกข์จากอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย
“Art Care คือศิลปะแห่งความสงบ สวย สว่าง ภายใต้แนวคิดเชิงบวก ภาพถ่ายในโครงการเป็นภาพธรรมชาติที่ให้ความรู้สึกมีพลังชีวิต ซึ่งเป็นสไตล์การถ่ายภาพที่ถนัดของตัวเอง” คุณคิดเล่าถึงแนวคิดภาพถ่ายในโครงการ Art Care
โครงการ Art Care ดำเนินงานมา 6 ปีแล้ว จากจุดเริ่มต้นครั้งแรกที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ก็เริ่มขยายต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ จากภาพถ่ายชุดแรกซึ่งเป็นผลงานภาพถ่ายที่คุณคิดถ่ายสะสมไว้เอง ก็ขยายออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือผลงานภาพถ่ายจากบุคลากรในโรงพยาบาลที่คุณคิดเปิดอบรมให้ ส่วนที่สองคือภาพถ่ายจากธนาคารภาพ Art Care ที่เปิดรับผลงานจากช่างภาพทั่วไป และส่วนสุดท้ายคือผลงานภาพถ่ายของช่างภาพมืออาชีพที่บริจาคเข้ามา
สำหรับความคิดเริ่มต้นในการนำภาพถ่ายธรรมชาติมาติดที่โรงพยาบาลนั้น เกิดจากการที่ช่วงหนึ่งคุณคิดต้องเดินเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อพาคนใกล้ชิดไปรับการรักษา ระหว่างนั้นได้เห็นว่าผู้ป่วยและญาติต้องนั่งรอพบแพทย์อย่างไร้ความสุข เธอคิดว่าความทุกข์ในใจของญาติและผู้ป่วยอาจคลายลงได้บ้าง หากโรงพยาบาลมีภาพสวยๆ สดชื่น สบายตา ให้พลังใจและความหวังในชีวิต
ดังนั้น ภาพถ่ายในโครงการ Art Careทุกภาพจึงเกิดขึ้น เพื่อทำหน้าที่รับใช้คนที่มีความทุกข์ เยียวยาทั้งผู้ป่วย ญาติ และสำคัญที่สุดคือย้อนกลับมาเยียวยาตัวของผู้สร้างผลงานภาพถ่ายเอง
“รูปที่เอาไปเยียวยาผู้ป่วย ความจริงแล้วมันคือการเยียวยาตัวเราเองก่อน เพราะภาพที่สงบนิ่ง ต้องมาจากคนที่สงบ ภาพถ่ายที่ออกมาทุกภาพจะบอกคุณภาพใจของเรา มันบอกทุกอย่างเลยนะ ว่าคนที่ถ่ายเป็นคนยังไง ถ้าเป็นคนชอบแข่งขันหรือร้อนรน ภาพมันจะสวยบีบคั้น กดดัน คนที่เย็นๆ สบายๆ รูปมันจะออกมาใสๆ ดังนั้นการถ่ายภาพมันคือการฝึกตัวเอง” คุณคิดกล่าว
คุณคิดเล่าว่าเธอชอบถ่ายภาพธรรมชาติในมุมเจาะ โดยเฉพาะภาพหยดน้ำจะเป็นภาพที่เธอโปรดปรานในการถ่ายมากที่สุด และทุกครั้งธรรมชาติที่เธอมองเห็นผ่านเลนส์ จะย้อนกลับมาสอนใจเธอ
“เวลาที่เราถ่ายภาพธรรมชาติ เราจะรู้สึกว่ามันมหัศจรรย์ ธรรมชาติมันสวยงามและยุติธรรมที่สุด เราถ่ายภาพหยดน้ำทุกวัน ต่อให้เป็นสถานที่และเวลาเดิม แต่รูปจะไม่มีวันเหมือนเดิม มันทำให้เราเรียนรู้ว่าทุกอย่างไม่่จีรัง มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา”
เมื่อคมความคิดจากการมองธรรมชาติ ถูกเชื่อมโยงส่งต่อไปสู่ผู้ป่วยและญาติที่กำลังจมอยู่ในความทุกข์ จึงทำให้หลายคนที่ได้มองภาพถ่ายต้องหยุดคิด ย้อนกลับมาเรียนรู้และใคร่ครวญถึงความทุกข์สุขด้วยปัญญาจากภายใน หลายครั้งความทุกข์ที่เคยคิดว่าแทบทนไม่ได้ ก็กลับคลายลงด้วยความเข้าใจว่าทุกอย่างที่เป็นไปล้วนคือธรรมชาติของชีวิต
“คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะชอบธรรมชาติอยู่แล้ว ขอให้ไว้ใจธรรมชาติ เพราะการเข้าใกล้ธรรมชาติ ก็เหมือนเข้าใกล้ธรรมะ ถ้าเราไม่ต้านทาน ไม่ฝืน เราก็จะพบว่าทั้งสุขทั้งทุกข์ในชีวิตมันเป็นธรรมชาติทั้งคู่ ทุกอย่างคือสิ่งสมมติ” คุณคิดกล่าว
การเรียนรู้ธรรมชาติคือหนึ่งในวิถีการสร้างสุขภาวะทางปัญญาในการดำเนินชีวิต ขณะเดียวกัน ศิลปะการถ่ายภาพก็เปรียบได้กับการเลือกมุมมองชีวิต แท้จริงแล้วธรรมชาติมีความสวยงามซ่อนอยู่ทุกที่ ทุกเวลา ทุกฤดูกาล การจะมองเห็นความงามของธรรมชาติหรือชีวิตได้ ล้วนอยู่ที่มุมมองของเราทั้งสิ้น หากเรามองหาสิ่งใด เราก็จะเจอสิ่งนั้น ถ้าเรามองหาสิ่งสวยงาม เราก็เจอแต่สิ่งสวยงาม แต่ถ้าเรามองสิ่งใดเป็นทุกข์ไปเสียหมด ย่อมหลีกไม่พ้นที่เราจะเจอแต่ความทุกข์เป็นแน่
‘ถ้าเรามองหา ก็จะมองเห็น’
….จะเห็นสิ่งใด ล้วนเป็นไปตามใจของเราเอง….
ขอขอบคุณ
ข้อมูล : หลักสูตร ‘ถ่ายภาพ ถ่ายใจ’ โครงการวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส.
http://adamslove.org/d.php?id=403
ภาพ: โครงการ Art Care / FB : Kiddee Dee