8 ช่องทางความสุข

เปิดหัวใจใน ‘ห้องเรียนธรรมชาติ’

F1

….วันนี้อยากจะมาชวนคุยเรื่อง ดิน ฟ้า อากาศ….

สมัยก่อนหากวงสนทนาใด เปิดประเด็นว่าด้วยการคุยเรื่องดินฟ้าอากาศ คงมีความหมายแค่การคุยเรื่องสัพเพเหระทั่วไป แต่ในสมัยนี้ที่ดินฟ้าอากาศของเราช่างแปรปรวนนัก ฤดูกาลต่างๆ ทั้ง ร้อน ฝน หนาว สลับสับสน ยังมีภัยแล้ง น้ำท่วม พายุหิมะ แผ่นดินไหว สึนามิ ผลัดกันเข้ามาย่ำยีให้โลกของเรากลายสภาพเหมือนผู้ป่วยหนัก เรียกว่าถ้าเป็นคน คงเข็นเตียงสลับเข้าออกระหว่างห้องพักธรรมดาและไอซียูเป็นว่าเล่น

ดังนั้นประเด็นชวนคุยเรื่อง ‘ดิน ฟ้า อากาศ’ จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่หลายบุคคล ตลอดจนหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ เริ่มหันมามองกันอย่างจริงจัง การรณรงค์เชิญชวนให้คนหันมาตระหนักและมีส่วนร่วมในการช่วยกันอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำกันได้เพียงวันสองวัน แต่หากจำเป็นต้องมีการสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและยั่งยืนที่เรียกว่าสิ่งแวดล้อมศึกษา

สิ่งแวดล้อมศึกษา คือ กระบวนการเรียนรู้ เป็นการนำข้อมูลสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการศึกษามาแล้ว มาแปลงเป็นกระบวนการเรียนรู้บางอย่าง เพื่อถ่ายทอดไปให้อีกคนหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดบางส่ิงบางอย่างขึ้นในตัวของผู้รับ เช่น เรื่องของความรู้สึกนึกคิด อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม ที่จะนำไปสู่การช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป”  ธีรยุทธ ลออพันธ์พล รองผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมศึกษา และหัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) ให้ความหมายของคำว่าสิ่งแวดล้อมศึกษา

F2

จริงๆ แล้วเรื่องของสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานที่ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษา อาจยังไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายได้ทั้งหมด เนื่องจากกระบวนการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาที่ไปถึงขั้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้น จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทำซ้ำๆ และใช้เวลานาน

การจัดกระบวนการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาที่ถูกต้อง จำเป็นต้องประกอบด้วย 3 ขั้นตอนสำคัญคือ

ขั้นตอนที่ 1 : About  หมายถึง การจัดกิจกรรมที่จะพาผู้เรียนรู้ให้สนุก ตื่นตัว และเข้าไปสู่โลกของสิ่งแวดล้อมในเบื้องต้น

ขั้นตอนที่ 2 : Inหมายถึง การจัดกิจกรรมพาผู้เรียนรู้ ไปสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จริง สร้างกิจกรรมให้เกิดการตั้งคำถาม การสังเกต นำไปสู่การเก็บตัวอย่าง การทดลอง จนได้คำตอบในที่สุด

ขั้นตอนที่ 3 : Forขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญที่สุด ผู้เรียนรู้จะได้รู้ว่าเขาจะทำอะไรเพื่อสิ่งที่เขาเพิ่งเรียนรู้จบไปแล้วได้บ้าง โดยผ่านกิจกรรมการบำเพ็ญประโยชน์ การทำงานจิตอาสาไม่ว่าจะเป็นการดูแลพัฒนาหรือปรับปรุงพื้นที่ธรรมชาติ การปลูกป่า เพาะต้นกล้า ฯลฯ

F4

“ในส่วนของ For ที่เราทำกันในกิจกรรมส่วนใหญ่ มันคือสิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น For เฉพาะหน้า” คุณธีรยุทธให้ข้อสังเกต “เป็นFor ณ กระบวนการเรียนรู้ตรงนั้น แต่ For ที่แท้จริงที่เราต้องการ คือสิ่งที่ตัวเขาได้รับกลับไป ติดอยู่ลึกๆ ภายในตัวของเขา เมื่อกลับจากกิจกรรมตรงนี้แล้ว เขาจะทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมบ้างในอนาคต ตรงนี้แหละที่เขาจะต้องกลับไปจัดการตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีเด็กที่มาเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา เขากลับมาเล่าให้ฟังว่า หลังจากเขามาเรียนรู้เรื่องนี้แล้ว กลับไปเขาไม่เคยกินข้าวเหลือทิ้งอีกเลย อย่างนี้เราก็เรียกว่าประสบความสำเร็จแล้วนะ”

แน่นอนว่าการจัดกระบวนการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาที่ดี ควรมีสถานที่ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งเรียนรู้ แต่หากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติเช่นนั้นได้สะดวก ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม

“สิ่งแวดล้อมศึกษาทำได้ทุกที่ ทุกเวลา จะอยู่ในเมือง อาศัยในบ้านเล็กๆ คอนโด แฟลต อพาร์ทเม้นท์ สลัม เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมได้หมดไม่มีข้อจำกัด” คุณธีรยุทธกล่าว

“ยกตัวอย่างกิจกรรมง่ายๆ คุณพ่อคุณแม่อาจจะหาบ้านนกเปล่าๆ มาสักหลังหนึ่ง เอามาตั้งไว้ แล้วให้เด็กคอยหมั่นไปสังเกตดู มีนกมาเมื่อไร นกอะไรที่มา หรือถ้านกไม่มา ก็อาจมีสัตว์อย่างอื่นเข้ามาแทน แค่นี้ก็ศึกษาได้นะ อาจจะมีหนูเข้ามาอยู่แทน กระรอกเข้ามา แล้วยิ่งถ้าเอาอาหาร เอาน้ำไปวางไว้ ก็จะเห็นมากขึ้น เด็กสามารถยืนดูได้เลยว่าสัตว์มีพฤติกรรมทำอะไรบ้าง แล้วเราก็ไม่ได้ขังมันด้วย ไม่เหมือนการเลี้ยงสัตว์ ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ พ่อแม่ยังอาจเชื่อมโยงกลับมาเรื่องชีวิตประจำวันของเด็กได้อีก อย่างเรื่องทานอาหาร เด็กก็เหมือนนกตัวหนึ่ง พ่อแม่เป็นคนหาอาหารมาให้ ถ้าเรากินไม่หมดล่ะ จะเป็นยังไง เห็นไหมว่าแค่บ้านนกหลังเดียว มันเชื่อมโยงเรื่องให้เรียนรู้ได้เยอะแยะเลย”

F3

ดังนั้น สิ่งแวดล้อมศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องยากหรือไกลตัว การเรียนรู้ธรรมชาติจะย้อนกลับมาเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ภายในตัวตน กระบวนการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาจะขัดเกลาตัวตนด้านในของผู้เรียนไปพร้อมกัน ทำให้เกิดสุขภาวะทางปัญญา มองเห็นแง่มุมความงดงามของธรรมชาติที่ลึกซึ้งมากกว่าแค่สายตา เกิดความอ่อนโยน เป็นมิตรกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมศึกษาจะเข้าไปปรับพฤติกรรมพื้นฐาน ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะนึกถึงทุกอย่างที่อยู่รอบตัว

“วันนี้เราต้องตระหนักแล้วว่า การพัฒนาทุกอย่างจำเป็นจะต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ เพราะเราใช้ทุกอย่างจากธรรมชาติทั้งนั้น เด็กที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา เมื่อวันหนึ่งที่เขาโตขึ้น เข้าไปมีบทบาทในส่วนต่างๆ ของสังคม เขาก็จะย้อนกลับมาคิดถึงสิ่งนี้ แต่ถ้าเขาไม่ได้รับการปลูกฝังมาเลย เขาก็จะมุ่งเน้นไปแต่ทางวัตถุ ซึ่งถ้าสังคมเรามุ่งเน้นพัฒนาแต่ทางวัตถุ โดยทิ้งธรรมชาติไว้ข้างหลัง สุดท้ายเราก็จะไม่รอด” คุณธีรยุทธกล่าวสรุป

วันนี้ประเทศไทยมีแหล่งเรียนรู้เรื่องธรรมชาติมากขึ้น ขอเพียงเราเปิดใจ วันหยุดครั้งหน้าคุณพ่อคุณแม่อาจลองเปลี่ยนสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของครอบครัว จากเดิมที่เคยเป็นห้างสรรพสินค้า พาเด็กๆ เข้าไปสู่ห้องเรียนธรรมชาติบ้าง ปล่อยให้หัวใจได้สัมผัสและเรียนรู้ธรรมชาติ บางทีเราอาจได้พบและเติมเต็มความสุขบางอย่างที่ขาดหายไป สุดท้ายไม่ใช่แค่โลกที่จะหายป่วย แต่หัวใจเราก็งดงามและเปี่ยมสุขด้วยเช่นกัน

การศึกษาเรียนรู้

การสัมผัสธรรมชาติ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save