เติมสุขในบ้านด้วยการภาวนา
การภาวนาต้องทำด้วยความสุข ความสุขจากการภาวนาจะเกิดขึ้นเองโดยไม่มีใครบังคับ พอเกิดขึ้นแล้วเราจะใช้ชีวิตสบายขึ้น มีความสุขง่ายขึ้น มันจะไม่มีความรู้สึกต้องไปตามหาอะไรมากมายอีกแล้ว
หลายปีก่อน ‘การภาวนา’ มักนิยมปฏิบัติกันเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย
คุณปู่-คุณย่า คุณตา-คุณยาย ไปวัด ลูกหลานก็อยู่บ้านกันไป
.
ต่อมากลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มสนใจการภาวนา
ลูกวัยทำงานเริ่มมาฝึกภาวนา พ่อแม่ก็อยู่บ้าน
บางบ้านคุณแม่มาฝึกภาวนา ทิ้งให้พ่อลูกอยู่บ้านดูแลกัน
.
ถัดมาอีกหน่อย พ่อแม่เริ่มเห็นประโยชน์ของการภาวนา
หลายครอบครัวเริ่มส่งลูกไปเรียนภาวนา ส่วนพ่อแม่รออยู่ที่บ้าน
โดยไม่รู้ว่าลูกไปเจออะไร ทำอะไรมาบ้าง
.
คนในครอบครัวต่างเรียนรู้การภาวนากันแบบแยกส่วน
จะดีกว่าไหม…ถ้าเราจะมาเรียนรู้การภาวนาพร้อมกัน
ให้ ‘การภาวนา’ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว
เยียวยาความขัดแย้ง เติมความสุขรินรดเข้าไปในหัวใจ
รู้จักการ ‘ภาวนาครอบครัว’
ทุกปีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นช่วงวันหยุดยาวที่ครอบครัวจะได้ใช้โอกาสทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกัน มูลนิธิหมู่บ้านพลัมจะมีการจัดกิจกรรม ‘ภาวนาครอบครัว’ เพื่อให้สมาชิกครอบครัวทั้ง พ่อ แม่ ลูก และคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย ได้มาเรียนรู้ ‘การภาวนา’ ร่วมกัน
กิจกรรมนี้เริ่มต้นที่ หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านพลัมได้มองเห็นว่า ปัจจุบันความสัมพันธ์ในครอบครัวเริ่มแตกกระจายเล็กลงไปเรื่อยๆ เมื่อลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น ครอบครัวก็จะเริ่มผลักลูกออกไปอยู่ห้องส่วนตัว บ้างก็ไปอยู่หอพัก สมาชิกครอบครัวแต่ละคนล้วนว้าเหว่ สำคัญที่สุดคือ เกือบทุกครอบครัวขาดความสามารถในการ ‘รับฟัง’ ซึ่งกันและกัน ดังนั้นหมู่บ้านพลัมจึงริเริ่มงานภาวนาครอบครัวขึ้น ใช้ ‘การภาวนา’ เป็นเครื่องมือให้ทุกคนได้ย้อนกลับมาเรียนรู้จักตัวเองและสมาชิกทุกคนในครอบครัว
“งานภาวนาครอบครัวจะมีช่วงเวลาที่พ่อแม่ได้เรียนรู้การภาวนาในแบบผู้ใหญ่ ส่วนเด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้การภาวนาในรูปแบบที่เหมาะกับเขาคือการเล่น แล้วก็มีบางช่วงที่ทุกคนในครอบครัวจะมาทำกิจกรรมรวมกัน ด้วยวิธีนี้ทำให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะได้เรียนรู้และเข้าใจในเรื่องเดียวกัน ที่สำคัญคือเขาจะได้เห็นว่า จริงๆ แล้วการภาวนาว่าเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวัน ไม่ยากและน่าเบื่ออย่างที่หลายคนเคยจินตนาการเอาไว้” คุณตุ้ง – สุภาพร พัฒนาศิริ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหมู่บ้านพลัมเล่าถึงรูปแบบกิจกรรม‘ภาวนา’ เครื่องมือเยียวยาความสัมพันธ์
ช่วงเวลา 5 วันของการภาวนาครอบครัว ผู้คนหลายร้อยชีวิตวัยตั้งแต่ 6 ปี ไปจนถึง 70 – 80 ปี ล้วนมาเรียนรู้เรื่องการภาวนา ฝึกที่จะกลับมามีสติอยู่กับปัจจุบัน ความคิดที่เคยวิ่งเร็วจี๋อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเริ่มสงบนิ่ง โลกภายในของแต่ละคนเริ่มช้าลง หลายคนเริ่มมองเห็น รับรู้ เข้าใจตัวเองและคนในครอบครัวมากยิ่งขึ้น
“เวลาภาวนาหลายเรื่องในสมองมันช้าลง มันจะเห็นอะไรชัดขึ้น ในงานภาวนาจะเห็นว่าคนในครอบครัวเราเขาเป็นเหมือนเดิมเลย แต่ตัวเราต่างหากจะเห็นเขาในแง่มุมที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ก็เพราะว่าโลกข้างในเรามันช้าลง เราเริ่มรู้จักฟังคนอื่นมากขึ้น” คุณตุ้งอธิบายถึงผลที่เกิดจากภาวนากับครอบครัว
“ในงานภาวนาพ่อแม่หลายคนร้องไห้ เพราะเพิ่งรู้ว่าตลอดเวลาตัวเองไม่เคยฟังลูกเลย ลูกก็ร้องไห้เพราะไม่เคยรู้ว่าตลอดเวลาพ่อแม่รักเราขนาดไหน หลายคนเข้าใจเลยว่าที่พ่อแม่บ่นว่า ขี้โมโห จู้จี้จุกจิก นั่นเพราะเขารักและเป็นห่วงเรา พร้อมกันนั้นพ่อแม่หลายคนก็ได้รู้อีกว่า ที่เราลำบากทำงานส่งเงินให้ลูกตลอดมา จริงๆ ลูกเขาไม่ต้องการเท่าไร เขาต้องการเวลาที่จะอยู่ด้วยกันมากกว่า การภาวนามันช่วยทำให้เกิดมิติแบบนั้นขึ้นมา”
เรียนรู้การภาวนาด้วยความสุข
อย่างไรก็ตาม งานภาวนาครอบครัวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะเรียนรู้การฝึกภาวนา เมื่อกลับมาสู่ชีวิตจริง หากครอบครัวสามารถนำการภาวนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีิวิตประจำวัน นั่นจึงเป็นการสร้างความสุขและความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน
“การภาวนาก็เหมือนกับการเรียน เราเรียนทฤษฎีในวัดหรือในคอร์สต่างๆ พอออกมาโลกภายนอก เราก็ต้องเอาสิ่งที่เรียนรู้มาประยุกต์ในชีวิตประจำวัน” คุณปุ้ม – สมจินตนา เปรมปราชญ์ อาสาสมัครหมู่บ้านพลัมกล่าว “อย่างตัวเองพอกลับมาก็เอาเรื่องหลักของ Beginning A New เอ่ยชมคนอื่นด้วยความจริงใจมาใช้กับสามี กับเพื่อนที่ทำงาน มันก็ดีขึ้นนะ เราเองรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง แต่ก่อนชมคนอื่นยากมาก เดี๋ยวนี้ง่ายขึ้น ความสัมพันธ์กับสามีกับคนรอบข้างก็ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น”
สำหรับผู้ที่สนใจอยากนำการภาวนามาใช้กับครอบครัว หากไม่สามารถไปร่วมงานภาวนาครอบครัวกับหมู่บ้านพลัมได้ คุณตุ้งแนะนำว่าควรเริ่มลองฝึกภาวนาด้วยตนเองก่อน ค่อยๆ เริ่มฝึกทีละน้อย แล้วถามตัวเองว่ามีความสุขไหม? ถ้ามีความสุขให้พากเพียรฝึกต่อไป ไม่ช้าไม่นานจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น หลังจากนั้นคนในครอบครัวจะเริ่มเห็น แล้วจากนั้นก็จะค่อยๆ หันมาฝึกภาวนาด้วยกันโดยไม่ยากเลย
“สิ่งสำคัญของการภาวนาคือต้องทำด้วยความสุข ถ้าทำแบบไม่มีความสุข จะเป็นเหมือนคนที่เราเคยเห็นว่าเขานั่งสมาธิทุกวัน แต่พอออกจากนั่งสมาธิก็เป็นเหมือนเดิม โมโหร้าย หงุดหงิดตลอดเวลา อันนั้นก็ไม่ใช่แล้ว” คุณตุ้งอธิบาย
“แต่มันต้องใช้เวลานะ มันบอกไม่ได้หรอกว่าจะใช้เวลาแค่ไหน” คุณปุ้มเสริม “มันอาจจะ 1 เดือนหรือ 1 ปี การภาวนาเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องฝึก ไม่ใช่เรียนรู้ปุ๊บทำได้ปั๊บ ความสุขจากการภาวนามันจะเกิดขึ้นเองโดยไม่มีใครบังคับ พอเกิดขึ้นแล้วมันจะส่งผลเปลี่ยนแปลง เราจะใช้ชีวิตสบายขึ้น มีความสุขง่ายขึ้น มันจะไม่มีความรู้สึกต้องไปตามหาอะไรมากมายอีกแล้ว”
วันนี้เราอาจต้องลองเปลี่ยนความคิดใหม่ บางทีความสุขของครอบครัวอาจไม่ได้อยู่ที่การทำงานหาเงินมากๆ เพื่อจะพาครอบครัวไปทานอาหารร้านหรูๆ ช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนม หรือออกเดินทางท่องเที่ยวด้วยกันไกลจนสุดขอบโลก เพราะแท้จริงแล้ว เพียงแค่เราหันกลับมาสร้างสุขภาวะทางปัญญาให้กับครอบครัว ลองย้อนกลับมาเรียนรู้โลกภายในตัวเรา รู้จักที่จะเปิดใจรับฟังกันและกันอย่างแท้จริง บางทีความสุขของครอบครัวคงง่ายและใกล้ตัวเรามากกว่านัก
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก: มูลนิธิหมู่บ้านพลัม
ผู้ที่สนใจฝึกการภาวนากับหมู่บ้านพลัม สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.thaiplumvillage.org