การถ่ายภาพเชิงภาวนา
การถ่ายภาพเชิงภาวนา คือการฝึกภาวนาด้วยการมอง เรียนรู้การมองเห็นโลกด้วยมุมมองที่สดใหม่ เกิดเป็นสุขภาวะทางปัญญา มองเห็นความง่ายงามจากสิ่งธรรมดาๆ ที่อยู่รอบตัว
หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ เมื่อเราออกเดินทางกับเพื่อนสักคน ต่างคนต่างถ่ายภาพระหว่างทาง แต่ทั้งๆ ที่ไปที่เดียวกันแท้ๆ ภาพที่ได้กลับไม่เหมือนกัน ของธรรมดาๆ บางอย่างที่เราไม่เคยสังเกตเห็น เช่น ดอกไม้ริมกำแพง หยดน้ำค้างบนยอดหญ้า เงาของเสาไฟฟ้าที่ทอดยาวบนพื้นถนน บางครั้งคนอื่นกลับมองเห็น และถ่ายทอดออกมาสวยงามจนคาดไม่ถึง
‘ความงดงามที่ซ่อนอยู่ในสิ่งธรรมดา’ จะว่าไปคงคล้ายกับที่มีคนเคยบอกไว้ว่า อย่าจับจ้องความสวยงามเฉพาะที่จุดหมายปลายทาง เพราะดอกไม้ใบหญ้าระหว่างทางก็งดงามไม่แพ้กัน เหมือนความสุขในชีวิตคนเรา ที่ไม่จำเป็นต้องรอจนได้ทุกสิ่งที่หวัง แต่สามารถสัมผัสง่ายๆ ได้ทุกเมื่อเชื่อวันที่เราหายใจ
ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราจะสัมผัสความสุขของชีวิตในทุกวันได้อย่างไร? เมื่อไรที่เราจะสังเกตเห็นความงดงามของสิ่งเล็กๆ ข้างทาง? เมื่อไรที่เราจะมองเห็นความงามที่ซุกซ่อนอยู่ในสิ่งของธรรมดาๆ ที่ปรากฎอยู่ตรงหน้าเรา?
ฝึกฝนการมองด้วย ‘การถ่ายภาพเชิงภาวนา’
Contemplative photography หรือ การถ่ายภาพเชิงภาวนา คือศาสตร์การถ่ายภาพที่มาจากแนวคิด ‘ธรรมศิลป์’ (Dharma Art) ของ เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ครุชาวทิเบตผู้บุกเบิกการเผยแพร่พุทธศาสนาแบบวชิรยาน มุ่งเน้นให้ผู้ฝึกเรียนรู้ ‘การมองเห็นโลก’ ด้วยมุมมองที่ ‘สดใหม่’ ซึ่งจะทำให้เราเกิดสุขภาวะทางปัญญา มองเห็นความงามของสิ่งต่างๆ ที่แม้จะอยู่รอบตัวเรา แต่มักจะถูกมองข้ามไป
“ความหมายหนึ่งของการภาวนา คือการทำจิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งเราเชื่อว่าจริงๆ จิตของเรามีความบริสุทธิ์อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเรามักเอาอะไรไปบังไว้ ทำให้เราเข้าไม่ถึงความบริสุทธิ์นั้น ดังนั้นการภาวนาคือการทำอะไรก็ตาม ที่ทำให้เราเข้าไปถึงภาวะที่เป็นอยู่เดิมของจิตที่มันมีอยู่แล้วในตัวเรา” อ.ธนา นิลชัยโกวิทย์ ผู้จัดกระบวนการหลักสูตรการถ่ายภาพเชิงภาวนา โครงการวิถีสุขภาวะทางปัญญา โดยธนาคารจิตอาสาและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างการถ่ายภาพและการภาวนา
“หลวงพ่อเทียนท่านเคยสอนว่า ให้รู้ซื่อๆ คือให้เรารับรู้ซื่อๆ ไม่ต้องไปปรุงแต่ง ซึ่งในที่นี้ การถ่ายภาพเชิงภาวนา ก็คือการฝึกภาวนาด้วยการมอง เรามาฝึกมองแบบซื่อๆ ไม่ปรุงแต่ง ไม่ต้องตัดสิน ไม่ต้องบรรยาย แค่รับรู้ซื่อๆ เท่านั้น”
ฝึกมองทีละอย่าง…สี…แสง…พื้นผิวสัมผัส ฯลฯ
ขั้นตอนการฝึก ‘มอง’ สำหรับมือใหม่จำเป็นต้องเริ่มต้นทีละอย่าง เริ่มจากการฝึกมองสี จากที่เราไม่เคยเห็นสี ก็จะเริ่มมองเห็นสีรายรอบตัวเรามากมาย หัดมองแสง มองพื้นผิว แบบแผน คล้ายกับคนฝึกขับรถที่ต้องค่อยๆ เรียนรู้ทีละส่วน ตั้งแต่การบังคับพวงมาลัย การเหยียบเบรก คันเร่ง ฯลฯ ฟังดูแล้วคล้ายจะง่าย แต่เวลาปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น
“แรกๆ เราจะสับสน” คุณปรกชล อู๋ทรัพย์ จากมูลนิธิชีววิถี หนึ่งในผู้ร่วมฝึกหลักสูตรถ่ายภาพเชิงภาวนาเล่าประสบการณ์ “ก่อนจะออกไปถ่ายภาพ แม้อาจารย์จะบอกว่าขอให้ชั่วโมงแรกเราฝึกถ่ายอะไร เช่น พื้นผิว (Texture) พอชั่วโมงต่อไป ค่อยถ่าย แบบแผน (Pattern) แต่พอถึงเวลาออกไปจริงๆ เราเห็นแล้วก็จะเสียดาย ถ่ายมาปนกันไปหมด พอถึงเวลาส่งงาน ก็จะเห็นเลยว่างานที่ถ่ายมามันสับสน แยกไม่ออกว่าอันไหนเป็น Texture เป็น Pattern ซึ่งก็ทำให้เราได้เรียนรู้ใจตัวเราเองเลยว่า มันไม่นิ่งพอ”
‘ปิ๊งแวบ – ใจนิ่ง – กดชัตเตอร์’
การฝึกฝนการถ่ายภาพเชิงภาวนา อาจแบ่งขั้นตอนออกเป็น 3 ขั้นตอนหลักคือ
ขั้นตอนที่ 1 – การเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างชัดเจน
เราทุกคนต่างเคยมีประสบการณ์การมองเห็นในลักษณะนี้กันทุกคน เป็นช่วงเวลาแวบหนึ่งที่จิตใจเราโล่งโปร่งสบาย วินาทีนั้นเรามองเห็นความสวยงามของสิ่งตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์รอบตัว ก้อนเมฆที่ลอยอยู่บนฟ้า สีสนิมบนรั้ว แสงเงาที่ปรากฎบนกำแพง เป็นประสบการณ์ ‘ปิ๊งแวบ’ ที่ทุกคนต้องเคยผ่าน เป็นชั่ววินาทีที่เราตระหนักรู้ถึงความงดงามและมีอยู่ของสิ่งตรงหน้าเราจริงๆ
ขั้นตอนที่ 2 – ใช้ใจที่นิ่ง โฟกัสภาพที่อยู่ตรงหน้า
หลายครั้งที่เราเห็นความงามของสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่เมื่อคว้ากล้องขึ้นมา เรากลับไม่สามารถถ่ายภาพให้ได้อย่างที่เรารู้สึก นั่นเป็นเพราะใจของเราไม่นิ่งพอ
“บางทีเราก็ตื่นเต้นดีใจเกินไป หรือบางทีเราก็คิดมากเกินไปว่าจะถ่ายรูปนี้ออกมาให้สวยยังไง ตอนนั้นแหละที่เราสูญเสียการเชื่อมโยงตัวเรากับภาพที่เห็นไปในทันที” อ.ธนา อธิบาย “ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ พอเราเห็นแล้ว ใจเราต้องนิ่ง รักษาภาพแรกที่เราเห็นแล้ว ‘โดน’ ไว้ให้มากที่สุด ถ้าเรารักษาภาพแรกที่เราเห็นไว้ได้ ถ่ายยังไงก็สวย เรื่องว่าจะถ่ายมุมไหน แนวตั้งแนวนอน ไม่จำเป็นต้องคิดเลย”
ขั้นตอนที่ 3 – กดชัตเตอร์บันทึกภาพ
ขั้นตอนนี้คือการถ่ายทอดภาพที่เราเห็นออกมาเป็นภาพถ่าย โฟกัสให้ชัด ถามตัวเองว่าที่เราเห็นว่าสวยมันสวยตรงไหน แค่ไหนที่เราว่าสวย เลือกเฉพาะสิ่งที่ ‘โดน’ เราในครั้งแรกเท่านั้น จากนั้นใช้เทคนิคการถ่ายภาพตามความเหมาะสม ถ่ายภาพตามที่เราต้องการ ซึ่งถ้าเราทำได้ดี เมื่อคนดูได้เห็นภาพถ่ายนั้น เขาจะมีความรู้สึกเหมือนได้มาสัมผัสสิ่งนั้นด้วยตัวเองจริงๆ โดยไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆ
ความสุขจากการถ่ายภาพเชิงภาวนา
เมื่อได้ฝึกฝนการมองผ่านการถ่ายภาพเชิงภาวนา หลายคนเริ่มมองเห็นโลกใบใหม่ปรากฎขึ้นตรงหน้า สิ่งที่ไม่เคยสังเกต ก็เริ่มมองเห็นและตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ และสิ่งที่เคยเห็นทุกเมื่อเชื่อวัน ก็อาจเปลี่ยนผันไปได้ในอีกหลายแง่มุม
“การได้มาฝึกถ่ายภาพภาวนาทำให้เรามีความสุขง่ายขึ้น” คุณวรรณี โล่ห์วนิชชัย จิตอาสาจาก I SEE U หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมสะท้อนความรู้สึก “เรามองเห็นความงามของสิ่งเล็กๆ ที่อยู่รอบตัว ไม่จำเป็นต้องไขว่คว้าไปเที่ยวเมืองนอก หรือไปสถานที่ท่องเที่ยวที่ใครๆ เขานิยมกัน เราก็สามารถมีความสุขได้กับทุกสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวได้ เรามองเห็นความงามที่มากขึ้นและง่ายขึ้น”
ด้านคุณวสุ สุ่นศักดิ์สวัสดิ์ จิตอาสาหมู่บ้านพลัม หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมเล่าว่า แม้ที่ผ่านมาจะฝึกการภาวนามาอย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อได้มาฝึกการถ่ายภาพซึ่งเป็นทักษะที่ไม่คุ้นเคย ก็ได้พบความสุขในรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน
“มันเหมือนการได้ปลดล็อคตัวเอง” คุณวสุกล่าว “ตอนก่อนมาฝึกเครียดมาก เพราะเราถ่ายรูปไม่เป็นเลย เราเคยคิดว่าเราถ่ายรูปยังไงก็ไม่สวย แต่พอมาเรียนรู้การถ่ายภาพแนวนี้ มันไม่ต้องคิด ใจเราโล่งโปร่งสบาย แต่ละวันผ่านไปอย่างรวดเร็ว มีความสุขมาก”
การฝึกฝนการถ่ายภาพเชิงภาวนา ยังมีบางแง่มุมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการใช้ชีวิตและการทำงานได้อีกด้วย
“มันทำให้เราย้อนกลับมามองตัวเอง….ที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตอย่างไม่โฟกัสหรือเปล่า” คุณปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ร่วมกิจกรรมกล่าว “ต่อจากนี้คงได้นำสิ่งที่ได้รับจากการฝึกไปใช้ในการทำงานและใช้ชีวิตมากขึ้น รวมถึงการดูแลความสัมพันธ์กับคนอื่น เราต้องชัดเจนในตัวเราก่อน แล้วสิ่งที่เราทำออกไปก็จะชัดเจน”
สำหรับใครที่สนใจอยากฝึกฝนการถ่ายภาพเชิงภาวนา อ.ธนา แนะนำว่าสามารถเริ่มฝึกได้ด้วยตนเอง โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดและตัวอย่างภาพ รวมถึงแบบฝึกหัดต่างๆ ได้ที่เฟซบุ๊กเพจ Thai Comtemplative Photography
“ทุกคนต้องฝึก ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง” อ.ธนากล่าวสรุป “ครูที่แท้จริงอยู่ในตัวของทุกคนเอง ถ้าฝึกแล้วเจอครูของตัวเองเมื่อไร ก็เป็นโชคดีของคนนั้น…”
เรียกว่า…โลกของความสุขรออยู่แล้ว เหลือเพียงตัวเรา เลือกจะ ‘เปิด’ มันหรือไม่ เท่านั้นเอง….
ขอบคุณภาพและข้อมูล : หลักสูตรการถ่ายภาพเชิงภาวนา โครงการวิถีสุขภาวะทางปัญญา