เส้นทางความสุข : การภาวนา
- ใจที่วุ่นวาย ใจที่ไม่หยุดนิ่ง ซัดส่าย ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล และเหนื่อยล้า ความสงบในจิตใจคือกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดความเครียดและความเหนื่อยล้า การภาวนาคือวิธีการพื้นฐานที่จะหยุดเพื่อพักใจ
- จากการวิจัยพบว่า การภาวนาช่วยปรับสภาวะความสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจ การภาวนาอย่างสม่ำเสมอช่วยปรับคลื่นสมอง กล้ามเนื้อผ่อนคลาย อัตราการหายใจและชีพจรช้าลง ทำให้จิตใจปลอดโปร่งเบาสบายยิ่งขึ้น
- การภาวนามิได้มีเพียงแค่การสวดมนต์และนั่งสมาธิ แต่มีรูปแบบที่หลากหลาย พวกเราสามารถปรับกิจกรรม ในชีวิตประจำวันของเราให้อยู่ในโหมดภาวนาได้ทั้งนั้น
.
.
ชะลอความเร็วให้ใจ
หากตั้งคำถามว่า อะไรเอ่ย ที่เคลื่อนที่ ‘เร็ว’ ที่สุด? หลายคนคงนึกถึงรถไฟความเร็วสูง เครื่องบินเจ็ท หรือรถซุปเปอร์คาร์สมรรถนะสูง ฯลฯ จริงอยู่ที่ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้รวดเร็วว่องไว แต่ถ้านำมาเทียบกับ ‘ใจ’ ของเราแล้ว จะเห็นได้ว่าไม่มีอะไรจะว่องไวเท่ากับใจของคนเราได้เลย ถ้าไม่เชื่อลองสังเกตตัวเองตอนนี้ก็ได้ว่า วันนี้ทั้งวันใจของเราวิ่งไปไกลถึงไหนมาบ้างแล้ว?
.
‘ใจ’ ที่ว่องไววุ่นวายกำลังพาหลายคนเหนื่อยล้า บางคนยังไม่ทันทำอะไรมาก แค่วิ่งตามใจตัวเองก็เหนื่อยแล้ว ยิ่งใจที่ไขว่คว้าอยากได้อยากมีอยากเป็นเหมือนใครๆ ยิ่งทำให้เจ้าของใจเหนื่อยล้าขึ้นทุกวัน นานวันเข้าความทุกข์ในใจก็เริ่มทับถมจนหาทางออกไม่เจอ นั่นจึงเป็นที่มาของการตามหาความสงบในใจ ทำยังไงหนอจะทำให้ใจเราสงบ นิ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในโลกที่ทุกคนที่ปฏิบัติผ่านมาแล้วล้วนพบความสุขสงบที่แท้ในใจคือเครื่องมือที่เรียกว่า การภาวนา
.
มหาวิทยาแห่งซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย สำรวจพบว่าผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนามากกว่า 2 ปี จะมีสุขภาพจิตดีกว่าคนทั่วไปถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะการภาวนาไม่ว่าจะด้วยการนั่งสมาธิ เดินจงกรม เจริญสติ และสวดมนต์ จะช่วยปรับสภาวะความสมดุลของร่างกายและจิตใจ กล้ามเนื้อผ่อนคลาย คลื่นสมองเรียบ อัตราการหายใจและชีพจรช้าลง สมองจะปลอดโปร่ง จิตใจประณีตผ่องใส
.
แม้จะรู้ว่าการภาวนามีผลดีขนาดนี้ แต่คนรุ่นใหม่หลายคนก็อาจจะยังกล้าๆ กลัวๆ ถ้าจะต้องเข้าวัด นั่งสมาธิ สวดมนต์ขนาดนั้นฉันขอบาย ไม่ไหวๆ งานการก็ต้องทำ เงินทองก็ต้องหาเลี้ยงชีพ จะให้ไปมัวภาวนาเช่นนั้นได้อย่างไร ชาตินี้ทั้งชาติคงไม่ได้สัมผัสความสงบสุขทางใจเป็นแน่ — ใครที่เคยคิดอย่างนั้น ขออย่าเพิ่งถอดใจ
ภาวนา คือ…
คำว่า ภาวนา มีความหมายกว้างมาก หมายถึง การเจริญ การอบรม การพัฒนา การทำจิตใจให้สงบ ฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้เข้าใจตามเป็นจริง คือการทำใจให้หยุดนิ่ง ให้สงบ ผ่องใส เป็นการเดินทางภายใน เพื่อกลับมาดูสภาวะจิตภายในของเรานั่นเอง
.
การภาวนามิได้มีเพียงแค่การสวดมนต์และนั่งสมาธิ แต่มีรูปแบบที่หลากหลายมาก พวกเราสามารถปรับกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้อยู่ในโหมดภาวนาได้ทั้งนั้น ทั้งการเดิน การนั่ง การวิ่ง โยคะ วาดรูป จัดดอกไม้ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่สนใจให้มีโอกาสเริ่มต้นฝึกภาวนา
.
.
นอกจากนี้ การภาวนาในพุทธศาสนา ยังแบ่งเป็น 4 ด้าน คือ กายภาวนา ศีลภาวนา จิตตภาวนา และปัญญาภาวนา ซึ่งแต่ละด้านมีรายละเอียดดังนี้
- กายภาวนา หมายถึง การพัฒนาความสัมพันธ์กายของเรากับสิ่งแวดล้อมภายนอก ปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ เช่น การบริโภคในชีวิตประจำวัน เราจะต้องรู้ว่าเราบริโภคสิ่งต่างๆ เพื่อประโยชน์อะไร เช่น บริโภคเพื่อสุขภาพ เพื่อประโยชน์ต่อร่างกาย มิใช่การบริโภคตามความอยาก ความสนุกสนานหรือความโก้เก๋ ฯลฯ
- ศีลภาวนา (ภาษาบาลี : สีล) หมายถึง การฝึกความประพฤติให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดีเกื้อกูลแก่กัน
- จิตตภาวนา หมายถึง การพัฒนาจิตให้เข้มแข็งมั่นคงเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตากรุณา ขยันหมั่นเพียร อดทนมีสมาธิ และสดชื่น เบิกบาน เป็นสุขผ่องใส ฯลฯ
- ปัญญาภาวนา หมายถึง การฝึกปัญญา ให้รู้ เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสและปลอดพ้นจากความทุกข์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยสุขภาวะทางปัญญา
.
เมื่อพิจารณาความหมายของการภาวนาอย่างรอบด้านตามนี้แล้วจะเห็นได้ว่า การภาวนาไม่ได้ขึ้นกับศาสนา ไม่จำเป็นต้องปลีกวิเวกก็ภาวนาได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ช่วงเวลาใด ในการทำงานหรือแม้แต่ชีวิตประจำวัน การภาวนาสามารถปฏิบัติได้ทุกที่ทุกเวลา
.
อย่างไรก็ตาม เราควรศึกษาและเรียนรู้วิธีปฏิบัติในรูปแบบที่ถูกต้องเสียก่อน ทั้งการภาวนาในรูปแบบ และการภาวนาที่กลมกลืนไปกับชีวิตประจำวัน ในอดีตวิธีการภาวนาอาจรู้จักกันในรูปแบบของการสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนา แต่ในปัจจุบัน การภาวนาเริ่มมีการพัฒนารูปแบบและวิธีที่แตกต่างเพื่อตอบรับกับชีวิตยุคใหม่ เราคงเคยได้ยินคำว่า เดินวิ่งสมาธิ โยคะภาวนา วาดรูปภาวนา หรือแม้กระทั่งจัดดอกไม้ภาวนา ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่สนใจ แต่ยังไม่พร้อมสำหรับการนั่งสมาธิวิปัสสนา
.
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
การภาวนาในการกิน https://www.happinessisthailand.com/2023/09/25/spiritual-meditation-happiness-peace/
การภาวนาในการลากเส้น https://www.happinessisthailand.com/2023/03/12/spiritual-art-meditation-zentangle/
การภาวนาขณะออกกำลังกาย https://www.happinessisthailand.com/2022/07/15/spiritual-movement-pilates-meditation/
หากต้องการความสุขด้านใน หรือ สุขภาวะทางปัญญา (spiritual health) ขอให้พวกเรา ‘เปิดใจ’ และมีปณิธานที่จะเพิ่มมิติการภาวนาในชีวิต ค่อยๆ ปฏิบัติ เรียนรู้ใจของตนเอง ช่วงแรกอาจจะรู้สึกฝืน เบื่อ ท้อบ้าง แต่ขอให้มีจิตใจที่มั่นคงว่ากำลังเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองไปในทางที่ดี ไม่ว่าใครก็สามารถสัมผัสความสุขจากการภาวนาได้ทุกคน
ข้อมูลที่มา:
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ , หน้า 286-287
http://www.roong-aroon.ac.th/?page_id=1942