สร้างสมดุลใจกายด้วย ‘โยคะ’
หากจะเอ่ยถึงกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายที่ได้รับความนิยม และได้รับความเชื่อมั่นว่าผู้ฝึกจะได้สมาธิจากการฝึกอย่างยิ่งยวด หนึ่งในนั้นจะต้องมีชื่อของ ‘โยคะ’ อยู่ในลำดับต้นๆ อย่างแน่นอน
มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พบว่า ‘โยคะ’ เกิดขึ้นตั้งแต่สมัย 2,500 ปีก่อนพุทธกาล แรกเริ่มเดิมทีเป็นวิถีของพราหมณ์หรือโยคี ที่ใช้ในการฝึกฝนควบคุมจิตให้นิ่งจนเกิดเป็นสมาธิ โยคะในยุคแรกไม่มีท่าทางใดๆ มากที่สุดเป็นแต่เพียงการฝึกสำรวมร่างกายให้เกิดความสมดุลที่สุด เพื่อฝึกให้ลมหายใจหรือปราณเกิดภาวะ ‘นิ่ง’ ที่สุด เข้าสู่การเพ่ง ฌาน หรือสมาธิ
จนกระทั่งถึงประมาณปี พ.ศ.2400 ประเทศอินเดียเริ่มมีการฟื้นฟูหลังถูกอังกฤษปกครอง กษัตริย์อินเดียในขณะนั้น เกิดความคิดให้ครูโยคะท่านหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังมากคือ กฤษณะมาจารยา นำเอายิมนาสติกและศิลปะป้องกันตัวแบบอินเดียโบราณ มาปรับประยุกต์ให้เข้ากับโยคะแบบดั้งเดิม จุดประสงค์เพื่อให้โยคะมีประโยชน์เพ่ิมขึ้น นอกจากการพัฒนาจิตแล้ว ยังได้พัฒนาร่างกายให้แข็งแรงด้วย
และนี่เองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้โยคะแพร่หลายไปยังประเทศทางตะวันตก พัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็นหลักสูตรโยคะท่าสวยๆ ที่เราเห็นกันหลากหลายละลานตา ทั้งตามโรงเรียนสอนโยคะ ฟิตเนส และสถานออกกำลังกายในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโยคะจะพัฒนาไปจนเกิดท่าทางที่ซับซ้อนพิสดารเพียงใด สิ่งที่โดดเด่นที่สุดที่ผู้ฝึกโยคะทุกคนล้วนได้รับตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นสมัยใด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากที่สุดก็คือ ‘สมาธิ‘ อันจะนำไปสู่การค้นพบสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งจะพาเราไปถึงหนทางแห่งความสุขที่ยั่งยืน
“ความสุขนั้นมีหลายระดับ มีหลายแง่มุม” ครูกวี คงภักดีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันโยคะวิชาการ กล่าวถึงการฝึกโยคะกับการสร้างสุขภาวะทางปัญญา “ในเบื้องต้นเรามักจะอิงความสุขที่คว้าได้ง่าย เป็นรูปธรรม พึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอก แต่พอชีวิตเราดำเนินไปเรื่อยๆ ความสุขจากวัตถุภายนอกจะถึงจุดหนึ่งซึ่งเป็นจุดที่อิ่มตัว ถึงตอนนั้นมนุษย์จะค่อยๆ พัฒนาไปหาความสุขที่ละเอียด ประณีตกว่าความสุขแบบเดิม อันนั้นแหละคือความสุขที่เป็นภาวะมาจากภายใน คือความสุขจากความสงบ สมาธิ ซึ่งถ้าเราลองมาฝึกโยคะอาสนะสัก 30นาที เราก็จะเร่ิมค้นพบสิ่งนั้น”
ถ้าจะเปรียบไปแล้ว มนุษย์เราก็เปรียบได้กับตุ๊กตาล้มลุก เมื่อเผชิญสิ่งใดมากระทบ ก็มีหน้าที่ต้องฟื้นกลับมาลุกขึ้นยืนอย่างสมดุลให้ได้อีกครั้ง ตัวกลไกที่ขับเคลื่อนให้เกิดความสมดุลนี้ ในทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะธำรงดุล หรือ Homeostasis ซึ่งนักวิชาการพบว่า การเคลื่อนไหวร่างกายแบบโยคะ จะทำให้กลไกการรักษาภาวะธำรงดุลนี้พัฒนาได้ดีที่สุด
“ถ้าให้เห็นภาพชัดๆ ให้นึกถึงการรักษาอุณหภูมิร่างกายของเรา ไม่ว่าเราจะไปที่ไหน อุณหภูมิภายนอกจะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเท่าไร แต่ร่างกายเราใช้เวลาไม่นาน ก็สามารถรักษาอุณหภูมิกลับมาคงที่ไว้ได้ นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่เรียกว่าภาวะธำรงดุล” ครูกวีอธิบาย
ประโยชน์จากการฝึกโยคะที่ช่วยพัฒนาภาวะธำรงดุล ยังส่งผลถึงการดูแลความสมดุลทางอารมณ์ด้วย เมื่อมีสิ่งใดมากระทบอารมณ์ของเรา คนที่ไม่ได้ฝึกโยคะอาจจะมีอารมณ์ที่เหวี่ยงไปมา แต่คนที่ฝึกโยคะอย่างดีแล้ว จะเกิดความนิ่ง รู้เท่าทัน และสามารถคืนกลับมาสู่อารมณ์ปกติได้อย่างรวดเร็ว
“เรายืนยันได้เลยว่าการฝึกโยคะนำไปสู่ความสุขทางปัญญา ตอนที่ฝึกนั้นอาจดูเหมือนทำกับกาย แต่ลมหายใจมันไปด้วย ประสาทไปด้วย มันพาไปทั้งหมด ท่าทางของการฝึกมีการตามรู้ เคลื่อนไหวอย่างช้าๆ แล้วหยุด คอยเข้าไปปรับให้ผู้ฝึกเกิดการเรียนรู้ในเชิงความสมดุล ฝึกจากภาวะทางกายก่อให้เกิดเป็นปัญญา ที่จะนำให้เกิดเป็นสติซึ่งมีค่ามหาศาล“
สำหรับผู้สนใจอยากเริ่มฝึกโยคะ ครูกวีบอกเคล็ดลับว่า การฝึกโยคะขอเพียง 2 อย่างเท่านั้น คือ ‘ความเพียร‘และ ‘การละวาง‘ขอให้ทำทั้งสองอย่างนี้ไปพร้อมกัน หากเราไม่เพียร ทำสิ่งใดย่อมไม่เกิดผล ขณะเดียวกันก็ต้องปล่อยวางความคาดหวัง เพราะเป้าหมายของโยคะไม่ใช่การทำท่าให้ได้ แต่ขอให้เราฝึกเพื่อให้เข้าใจตัวเอง เห็นธรรมชาติความเป็นไปของกาย อารมณ์ และจิตของตัวเราเอง
“ใครที่สนใจโยคะ มีเปิดสอนโยคะที่ไหนเข้าไปฝึกได้เลย อ่านข้อมูลไปนิดหน่อย ที่เหลือขอให้ไปเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เราเชื่อว่าคนจะหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง ขอแค่เพียรและละวาง เชื่อเถอะว่าธรรมชาติในตัวเราจะพาเราไปในภาวะที่ดีที่สุด ไม่ต้องมีความกังวลใดๆ ทุกคนทำได้ เริ่มต้นที่ไหนก็ได้”
ท้ายสุดครูกวีย้ำว่า การฝึกโยคะนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยสถานที่ฝึกใหญ่โต หรืออุปกรณ์เสื้อผ้าที่สวยหรูแต่อย่างใด เมื่อเรียนรู้หลักการเบื้องต้นแล้ว เราสามารถฝึกโยคะที่บ้านได้ด้วยตนเอง ขอให้มีวินัย ฝึกฝนจนเป็นวิถี แล้วเราจะค้นพบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากภายใน เพราะครูที่ดีที่สุดที่จะนำเราไปสู่ความสุขทางปัญญาที่แท้จริง หาใช่ใครไหนอื่น นอกจาก ‘ตัวของเรา’ เท่านั้นเอง
ขอขอบคุณ : สถาบันโยคะวิชาการ, หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
** ผู้สนใจอยากเริ่มฝึกโยคะกับสถาบันโยคะวิชาการ สามารถไปร่วมฝึกได้ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ทุกวันพุธและวันพฤหัสบดี และที่ มศว.ประสานมิตร ทุกวันอาทิตย์ที่ 4 ของเดือน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiyogainstitute.com **