เรียนรู้ใจในกายด้วย ‘ไท้เก๊ก’
การเคลื่อนไหวร่างกายพลิ้วไหวเนิบช้า ดุจดั่งท่วงท่าการร่ายรำของผู้สูงวัยที่เราเห็นกันจนคุ้นชินสายตาตามสวนสาธารณะ อาจทำให้เราเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปว่า ‘ไท้เก๊ก‘ เป็นการออกกำลังกายที่เหมาะเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้นเลย
ไท้เก๊กเป็นศิลปยุทธ์จีนที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากเป็นการเคลื่อนไหวทางกายที่ไม่ได้ใช้แรงปะทะ จึงเหมาะกับทุกเพศทุกวัย สามารถฝึกได้ตั้งแต่เด็กอายุ 3 – 5 ขวบ ความมหัศจรรย์ของไท้เก๊กยังอยู่ที่ผลของการฝึก ที่แม้จะฝึกด้วยรูปแบบเดียวกัน แต่ส่งผลได้ตั้งแต่ระดับการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง การเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ลึกไปจนถึงการฝึกให้เราเข้าถึงความสุขแท้จากภายในหรือ ‘สุขภาวะทางปัญญา‘ ครูบี – เสกสันน์ ทรัพย์สืบสกุล ผู้สอนไท้เก๊กเพื่อสุขภาพกายและใจ มูลนิธิบ้านอารีย์ เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้เรียนรู้และฝึกฝนไท้เก๊กมาตั้งแต่เด็ก โดยร่ำเรียนจากคุณตาที่เป็นคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ การฝึกครั้งแรกๆ เริ่มต้นจากความสนุก อยากรู้อยากเห็นตามประสาเด็ก แต่เมื่อฝึกไปเรื่อยๆ ระยะเวลากว่า 20 ปีทำให้ครูบีได้ค้นพบว่าไท้เก๊กมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่าสิ่งที่ตาเห็นมากมายนัก “ถ้าฝึกไท้เก๊กจนถึงระดับหนึ่ง มันจะเปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนความคิดของคนๆ หนึ่งได้เลย เปรียบแล้วอาจจะคล้ายคนที่ไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม แล้วเกิดความเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้คืออะไร แต่มันไม่สามารถบอกกันได้ด้วยคำพูดนะ จะรู้ได้ต้องปฏิบัติด้วยตัวเอง รู้ได้โดยธรรมชาติ โดยร่างกายของเราเอง” การฝึกไท้เก๊กเบื้องต้นคือการฝึกลมหายใจ มลพิษและชีวิตที่เร่งรีบอาจทำให้เราหายใจสั้นเร็ว ส่งผลทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย หรือปวดตามจุดต่างๆ แต่พอมาฝึกหายใจให้ลึก ผ่อนตามร่างกายตามแบบไท้เก๊กแล้ว จะทำให้อ๊อกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่่างกายได้ดีขึ้น เพียงเท่านี้ก็เป็นพื้นฐานทำให้ร่างกายรู้สึกปลอดโปร่ง สดชื่นและมีความสุข
ถัดจากลมหายใจคือเรื่องของการเคลื่อนไหว จากชีวิตปกติที่เราเคยใช้ร่างกายแบบเร่งรีบ ไม่เคยสังเกตเลยว่าแต่ละการเคลื่อนไหวร่างกายมันเป็นไปอย่างไร พอต้องมาเคลื่อนไหวเนิบช้าแบบไท้เก๊ก จะทำให้เราได้ย้อนกลับมาอยู่กับตัวเอง เห็นตัวเราผ่านการเคลื่อนไหว เป็นการปรับให้ร่างกายค่อยๆ รู้จักตัวเองทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ หายใจตามไป เปรียบไปแล้วคล้ายกับการเจริญสติโดยใช้ร่างกายที่เรียกว่า ‘กายคตาสติ’ ซึ่งมีความหมายว่า การเห็นความเป็นไปของกายตามความเป็นจริง
“คนที่ฝึกไท้เก๊กไปเรื่อยๆ จะเริ่มรู้สึกว่ามีการต่อสู้กับจิตใจของเราเอง เพราะบางทีเราคุ้นชินกับการทำอะไรเร็วๆ พอต้องมาเคลื่อนไหวค่อยๆ ช้าๆ เฉื่อยๆ มันจะทำให้เราค่อยๆ รู้จักตัวเราเองมากขึ้น จะเกิดคำถามกับตัวเองหลายอย่าง เช่น เอ๊ะ…ทำไมฉันใช้ชีวิตแบบนี้มาจนป่านนี้? มันเกิดอะไรขึ้น? ที่ผ่านมาเราส่งจิตออกข้างนอกมากไปหรือเปล่าทำให้เป็นทุกข์? ทำไมไม่ย้อนกลับมามองดูตัวเอง ความจริงความทุกข์มันอยู่แค่ที่ปลายจมูกเราเท่านั้นเอง…ง่ายๆ แค่นั้น”
ครูบีเสริมว่าช่วงที่ต้องต่อสู้กับจิตใจของตัวเอง ต่อสู้กับความไม่คุ้นชิน อาจทำให้ผู้ฝึกไท้เก๊กเกิดความท้อได้ แต่ขอให้มีศรัทธาว่าเรากำลังจะทำสิ่งดีๆ เพื่อตัวเอง เมื่อผ่านจุดนั้นไปแล้ว จะค้นพบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่ ‘ใจ’ “พอเราทำอะไรช้าลง เราก็จะใจเย็นมากขึ้น พอเกิดอะไรมากระทบ เราก็จะย้อนกลับมาดูตัวเองทันที มันจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ อย่างถ้าเรารู้สึกโกรธ ร่างกายมันจะฟ้องเลยทันที หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น กล้ามเนื้อจะเกร็ง พอเรารู้ทัน ก็ตัดความคิดทัน อารมณ์โกรธก็จะหายไป”
สำหรับผู้ที่สนใจอยากลองฝึกไท้เก๊ก สิ่งสำคัญที่ต้องเริ่มต้นเลยคือการเปิดใจ ทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าไท้เก๊กไม่ได้เหมาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เป็นสิ่งดีๆ เป็นความสุขที่เราทุกคนทุกวัยสามารถฝึกฝนและมอบให้กับตัวเองได้ ลองเปิดใจให้ไท้เก็กนำเราเดินทางเข้าไปค้นหา ‘ความจริง’ ที่อยู่ภายในตัวตนของเรา ให้การเคลื่อนไหวที่เปี่ยมด้วยสติ นำทางเราให้ไปถึงความสุขที่แท้จริงหรือ ‘สุขภาวะทางปัญญา’ ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล นอกจากซ่อนอยู่ภายในจิตใจของเราเอง
ขอขอบคุณ ข้อมูล – ภาพ : ไท้เก๊กเพื่อสุขภาพกายและใจ มูลนิธิบ้านอารีย์ ** มูลนิธิบ้านอารีย์เปิดสอนไท้เก๊กให้กับผู้สนใจโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สามารถติดตามรายละเอียดและสอบถามได้ที่ https://www.facebook.com/baanareefoundation/?fref=ts **