ความสุขเรียบง่ายที่ชุมชนสามแพร่ง
ช่วงเวลา 2 วันของการจัดงานคือการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้ผู้คนในเมืองหลวงที่มีวิถีชีวิตเร่งรีบเคร่งเครียด ได้ย้อนกลับมาเรียนรู้วิถีชีวิตที่ง่ายๆ สบายๆ เต็มไปด้วยรอยยิ้ม การเอื้อเฟื้อแบ่งปัน เกื้อกูลกันด้วยน้ำใจไมตรีอย่างที่ชุมชนแห่งนี้เคยเป็นมาตลอดนับร้อยปี
ถ้าเราบินได้เหมือนนก แล้วมีโอกาสอยู่บนฟากฟ้า มองลงมายังพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อกวาดสายตาหา ‘พื้นที่ของความสุข’ เราคงเห็นผู้คนมากมายกระจุกตัวอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมติดแอร์ที่เรียกว่าห้างสรรพสินค้า แต่เราจะใจชื้นขึ้น เมื่อมองมายังจุดเล็กๆ ใจกลางเมืองหลวงแล้วพบว่า ยังมีพื้นที่ของความสุขที่เรียบง่าย เปี่ยมด้วยรอยยิ้ม ดุจดังโอเอซิสที่มอบความชุ่มชื้นให้กับผู้อยู่อาศัย และผู้ที่มาเยี่ยมเยือนผ่านข้ามกาลเวลามาแล้วเป็นเวลาเนิ่นนาน พื้นที่นี้ถูกขนานนามว่า ‘ชุมชนสามแพร่ง’
ชุมชนสามแพร่ง คือชื่อเรียกชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณถนนอัษฎางค์ทอดตัวยาวไปจรดกับถนนตะนาวหน้าศาลเจ้าพ่อเสือใจกลางกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย แพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์ นับเป็นย่านการค้าประวัติศาสตร์ ที่เจริญรุ่งเรืองมากในสมัยรัชกาลที่ 5
กาลเวลาที่ผันผ่าน นำพาเอาความเจริญของเทคโนโลยีและรสนิยมใหม่ๆ เข้ามาบดบังความงดงามและรากเหง้าแห่งวิถีชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพมหานครให้หายวับไปอย่างรวดเร็ว แต่โชคดีที่พื้นที่ชุมชนสามแพร่งแห่งนี้ ยังคงยืนหยัดรักษารากเหง้าของชุมชนไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวดของผู้คนในชุมชน ที่ผสานกำลังกับสองมือน้อยๆ ของกลุ่มเยาวชนอาสาที่ชื่อว่า ‘เยาวชนอาสารักยิ้ม’
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เยาวชนกลุ่มอาสารักยิ้มที่ประกอบด้วยน้องๆ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดบวรนิเวศและโรงเรียนสายปัญญา ได้เริ่มลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ชุมชนที่แพร่งภูธรเป็นแห่งแรก จากการได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ คลุกคลีกับวิถีชีวิตในชุมชนจนเกิดเป็นความผูกพัน ทำให้เกิดการพูดคุยร่วมกันกับชุมชน จนสามารถกำหนดทิศทางสร้างความเข้มแข็ง ด้วยการชูเอกลักษณ์ความเป็นย่านเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยศิลปะ สามารถเล่าเรื่องราวชุมชนของตนเองได้อย่างภาคภูมิใจ
จากความสำเร็จของการเรียนรู้ที่แพร่งภูธร พื้นที่การทำงานของกลุ่มอาสารักยิ้มจึงค่อยๆ ขยายต่อจนครบสามแพร่ง การทำงานที่เข้มแข็งและต่อเนื่อง ก่อให้เกิดกลุ่มอาสารักยิ้มที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น สืบทอดต่อกันรุ่นแล้วรุ่นเล่า เมื่อผนวกกับการได้รับความร่วมมือจากสโมสรพื้นที่นี้..ดีจัง และกลุ่มดินสอสี ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้มีการเปิดพื้นที่สามแพร่งให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ผ่านผลงานเทศกาลศิลปะชุมชน ‘สามแพร่งfacestreet’ ที่ต่อเนื่องกันมา 3 ปีแล้ว
ฝน – รัตนาภรณ์ เจือแก้ว ผู้ประสานงานกลุ่มรักยิ้ม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่เติบโตขึ้นมาจากการเป็นเยาวชนอาสารักยิ้มตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนเมื่อ 10 ปีที่แล้วกล่าวว่า งาน ‘สามแพร่ง facestreet’ นั้นที่จริงแล้วเป็นแค่เพียงปลายทางเท่านั้น สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือกระบวนการเรียนรู้ล้ำค่าที่เยาวชนอาสาได้รับระหว่างทาง
“สิ่งที่ได้เรียนรู้มันเปลี่ยนชีวิตเรา มันทำให้เราเรียนรู้ที่จะมองเห็นคนอื่นมากขึ้น ไม่ได้คิดแค่ตัวเราเองเท่านั้น น้องๆ เยาวชนอาสาทุกคนเขาได้เรียนรู้มิติของคำว่าการให้ที่ลึกซึ้งมากกว่าการบริจาคสิ่งของ หรือบริจาคเงิน มันเป็นความสุขที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่เราที่มีความสุข แต่เป็นคนอื่นด้วยที่มีความสุข ฝนเชื่อว่าน้องๆ เยาวชนอาสาทุกคนจะเติบโตไปด้วยความคิดที่ว่า ไม่ใช่ฉันมีความสุขคนเดียวก็พอ แต่พวกเขาจะคิดถึงคนอื่นด้วย ถ้าเขามีความสุขแล้ว คนอื่นจะมีความสุขด้วยได้อย่างไร“
งานสามแพร่ง facestreet คือบทพิสูจน์ของการมอบความสุขให้กับผู้คน กลุ่มเยาวชนอาสารักยิ้มมีบทบาทเป็นผู้จัดงานหลักที่จัดเตรียมทั้งสถานที่ อุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้ามาร่วมงานได้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศแห่งวิถีชุมชนที่พวกเขาหลงรักอย่างเต็มที่ ช่วงเวลา 2 วันของการจัดงานคือการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้ผู้คนในเมืองหลวงที่มีวิถีชีวิตเร่งรีบเคร่งเครียด ได้ย้อนกลับมาเรียนรู้วิถีชีวิตที่ง่ายๆ สบายๆ เต็มไปด้วยรอยยิ้ม การเอื้อเฟื้อแบ่งปัน เกื้อกูลกันด้วยน้ำใจไมตรีอย่างที่ชุมชนแห่งนี้เคยเป็นมาตลอดนับร้อยปี
“ชุมชนเองเขาก็มีความรู้สึกเป็นเจ้าของงาน เขามีบทบาทตั้งแต่เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะจัดงานหรือไม่ จัดงานแบบไหนอย่างไร ชุมชนจะคอยให้การต้อนรับดูแลทุกคนที่มาเที่ยวงาน เหมือนเจ้าบ้านที่คอยดูแลแขกที่มาเยี่ยมเยือน” ฝน – รัตนาภรณ์ เจือแก้ว เล่าถึงบทบาทชุมชน “สิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้คนในชุมชนสามัคคีกัน ทำให้พวกเขาตื่นตัว รู้สึกว่านี่แหละคือทิศทางที่ชุมชนเขาควรจะเป็น คือเป็นชุมชนที่ผู้คนยังใกล้ชิดกัน เปิดประตูบ้านเข้าหากัน ยังออกมาเจอ มาพูดคุยทักทายกันได้อย่างมีน้ำใจไมตรี”
ชุมชนที่เข้มแข็งคือรากฐานของสังคมและประเทศชาติที่มั่นคง อย่างไรก็ตาม ความเข้มแข็งของชุมชนคงเกิดขึ้นไม่ได้ หากคนในชุมชนพากันไหลตามกระแสที่เชี่ยวกรากของสังคมภายนอก โดยไม่เคยย้อนกลับมาตระหนัก หรือมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองมีและเป็นอย่างแท้จริง ดังที่เฮียเกี๊ยว – วิษณุ ปุระวัฒน์ หัวหน้าชุมชนแพร่งนรา ได้กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า
“ถ้ามีตึกสวยๆ แต่ไม่มีคน ไม่มีเรื่องราว มันก็ไม่ต่างอะไรจากกล่องเปล่าๆ ใบหนึ่ง ไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมาย แต่วันนี้ชุมชนตระหนักว่าเรื่องราวของพวกเขามีคุณค่า ทำให้เกิดความภาคภูมิใจที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนสามแพร่ง“
…ความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงนั้นเอง….อยู่ที่รอยยิ้ม แววตาจริงใจ ความอบอุ่น น้ำใจไมตรี…ไม่ใช่แค่ตึกสวยๆ ที่เราเห็นเพียงแค่ตาเปล่าเท่านั้น…