ทำไมเงินซื้อความสุขไม่ได้?
เราทุกคนติดกับดักความเชื่อที่ว่า การได้ทำงานตำแหน่งใหญ่โต มีบ้านหรู จะนำมาซึ่งความสุขในชีวิต ความเชื่อในความสุขแบบผิดๆ นอกจากจะทำให้ออกห่างจากความสุขที่แท้จริงแล้ว ยังส่งผลให้เรามองหามันผิดที่ การไปยึดติดกับสิ่งของหรือคนอื่น เพื่อจะทำให้เรามีความสุขนั้น นับเป็นสิ่งที่ฉาบฉวยชั่วคราว ไม่อาจใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจเราได้
ว่ากันว่า ‘เงิน‘ ถูกผลิตขึ้นตั้งแต่ 700 ปีก่อนคริสต์ศักราช หลังจากนั้นมา มนุษย์ก็เริ่มวิ่งไล่ไขว่คว้าเงินกันอย่างอุตลุด เชื่อว่าใครถือครองได้มากเท่าไร ก็จะมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น ทว่ามีคนบางกลุ่มกลับพบว่า แม้จะมีเงินอยู่มากมาย ท้ายที่สุดกลับพบแต่ความว่างเปล่า
มีบล็อกเกอร์คนหนึ่งใช้ชื่อว่า Happy Way เธอสนใจศึกษาเรื่องศิลปะและวิทยาศาสตร์เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ค้นคว้าทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เธอเชื่อว่านอกจากมนุษย์จะต้องรู้จักความสุขที่แท้จริงแล้ว ยังควรที่จะเรียนรู้วิธีที่จะไปถึงความสุขนั้นด้วย และนี่บางส่วนจากข้อเขียนของเธอ ที่พยายามตอบคำถามว่า ‘ทำไมเงินซื้อความสุขไม่ได้‘
ทำไมเงินซื้อความสุขไม่ได้
โดย…Happy Way, 21 ตุลาคม 2558
ฉันคิดว่าตัวเองได้ถึงจุดพีคของชีวิตเมื่อหลายปีมาแล้ว มีครอบครัวที่น่ารักอบอุ่น มีบ้านในฝัน มีหน้าที่การงานดีๆ ช่างแลดูเป็นชีวิตที่สมบูรณ์แบบและมีความสุขสุดๆ แต่ในความเป็นจริงฉันกลับไม่รู้สึกเช่นนั้น นี่ฉันผิดปกติหรือเปล่า? คนที่เพียบพร้อมอย่างฉันควรจะมีความสุขในชีวิตไม่ใช่หรือ?
เกิดอะไรขึ้นกับพวกเรา?
ความเป็นจริงคือเราทุกคนติดกับดักของความเชื่อที่ว่า การได้คู่ครองที่ดี มีครอบครัวเป็นหลักเป็นฐาน ได้ทำงานตำแหน่งใหญ่โต มีบ้านหรู จะนำมาซึ่งความสุขในชีวิต พวกเราเชื่อกันมาตลอดว่า ‘ความสุข’ เกิดขึ้นจากบรรดาสิ่งของที่เราหามาปรนเปรอให้ตัวเอง
จากศัพท์ภาษาอังกฤษ ความสุข ( hap จาก happiness ) มีคำจำกัดความคือ โชค ลาภ การอยู่ในสถานการณ์ที่โชคช่วย โชคดี ซึ่งตามความหมายนี้ไม่ได้บอกว่าความสุขจะอยู่กับเราเนิ่นนานแค่ไหน
มองหาความสุขผิดที่
จากการศึกษาพบว่า ความเชื่อในความสุขแบบผิดๆ ที่เรายึดถือมาตลอด นอกจากจะทำให้ออกห่างจากความสุขที่แท้จริงแล้ว ยังส่งผลให้เรามองหาความสุขผิดที่อีกด้วย เรามักมองไม่ออกว่าอะไรจะนำมาซึ่งความสุขที่แท้จริง สุดท้ายก็เลยมองว่าเงินทองนี่แหละที่จะบันดาลให้มีความสุข และเรายังมักโอนเอียงเชื่อว่าจะเป็นความสุขที่ถาวรอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเงินกับความสุขจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันเลย ทั้งเงินและความสุขมีความเกี่ยวข้องกันจริง แต่ก็เฉพาะเพื่อสนองตอบความต้องการขั้นพื้นฐานของเราเท่านั้น หลังจากนั้นแล้ว สองสิ่งนี้ก็จะไม่เกี่ยวข้องกันอีกเลย ดังนั้น การมีเงินทองมาก จึงไม่ได้แปลว่าจะมีความสุขมากขึ้น ในทางตรงข้าม ความคิดแบบวัตถุนิยมกลับเป็นตัวบ่อนทำลายความสุขอันแท้จริงด้วยซ้ำ
พฤติกรรมปรับตัวกับความสุข
จากแนวคิดทางจิตวิทยาที่ว่าด้วยการปรับตัวเข้ากับประสบการณ์แปลกใหม่ซึ่งทำให้เรามีความสุข (Hedonic Adaptation)พบว่าความรู้สึกของคนเรานั้นแปรเปลี่ยนไปได้เร็วกว่าที่เราคิด เวลาที่เราพบกับเหตุการณ์ทั้งดีและไม่ดีในชีวิต ความรู้สึกใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นความตื่นเต้น ดีใจ หรือเสียใจ ฯลฯ จะหายไปในระยะเวลาอันสั้น
มีการศึกษาพบว่า ระดับความสุขที่เกิดขึ้นกับคู่แต่งงานจะเพิ่มขึ้นใน 2 ปีแรกเท่านั้น เช่นเดียวกับการได้งานใหม่จะทำให้เราปลื้มมากเฉพาะแค่ใน 1 ปีแรก เรื่องนี้ยังเป็นจริงกับคนที่ถูกล็อตเตอรี่หรือได้ลาภลอยอื่นๆ รวมถึงหลายคนที่ได้ของเล่นใหม่ๆ ราคาแพงมา แต่หลังจากนั้นก็ไม่เคยแตะมันอีกเลย
ยังดีที่ว่าการปรับตัวนี้ก็เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ไม่ดีในชีวิตด้วย คนมักกลัวการสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นการพ้นจากอำนาจหน้าที่ การยุติความสัมพันธ์ หรือสูญเสียสิ่งของ เพราะเชื่อว่าเราจะต้องจมอยู่กับความทุกข์โศกเศร้าเสียใจ แท้จริงแล้วความรู้สึกในทางลบพวกนี้ก็จะไม่อยู่กับเรานานเช่นกัน ตัวอย่างเช่น คนกลัวว่าหย่าร้างแล้วจะทำให้ไม่มีความสุขไปตลอดชีวิต แต่มีการวิจัยพบว่า แค่ 4 ปีหลังการหย่า เรากลับจะมีความสุขเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ
หาความสุขผิดที่ ทำให้ตัดสินใจผิดไปด้วย
ถ้าเรายังมองไม่ออกว่าอะไรที่จะทำให้เรามีความสุขได้อย่างแท้จริง ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับประสบการณ์ในชีวิตที่เรามีนี้ อาจส่งผลทำให้เราตัดสินใจบางอย่างในชีวิตผิดไปได้ เช่น พอเราเริ่มปรับตัวเข้าที่กับงานหรือแฟน จนหมดความรู้สึกตื่นเต้นแล้ว ก็คิดอยากจะโบกมือลา ซึ่งนั่นอาจกลายเป็นว่าเราตัดสินใจทิ้งสิ่งดีๆ ในชีวิตไปก็เป็นได้
หรือในชีวิตคนเราที่ต้องมีล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่บางคนอาจกลัวจะล้มแล้วทุกข์นาน ทำให้กลายเป็นคนอืดๆ ไม่กล้าทำอะไร ได้แต่อยู่อย่างเฉื่อยๆ ซึ่งนั่นอาจทำให้เขาพลาดโอกาสในชีวิตไปหลายอย่าง ความกลัวเช่นนี้ยังรวมไปถึงความกลัวการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลัวมีอายุเพิ่มขึ้น กลัวลูกหลานทิ้ง ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นภาวะวิกฤติที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต
มองหาสิ่งที่ใช่
เราจำเป็นต้องมองให้ออกว่า ‘ความสุข’ ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกตัวเราเลย สิ่งของนอกกายเหล่านั้น มันอาจจะจากเราไปเมื่อไรก็ได้ การไปยึดติดกับสิ่งของหรือคนอื่น เพื่อจะทำให้เรามีความสุขนั้น นับเป็นความสุขที่ฉาบฉวยชั่วคราว ไม่อาจใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจเราได้
ที่สุดแล้ว เราควรต้องพึ่งพาตัวเองในการที่จะนําความสุขที่ยั่งยืนกว่ามาสู่ชีวิต ความสุขไม่ได้เกิดจากการ ‘มี‘ สิ่งที่ดีที่สุดไว้ในครอบครอง แต่กลับพบได้จากการ ‘ปฏิบัติ‘ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทํางานสําเร็จลุล่วง การมีส่วนร่วมในชุมชน การฝึกเจริญสติ ฯลฯ การฝึกฝนสิ่งเหล่านี้ให้กลายเป็นอุปนิสัย จะสามารถทําให้เรามีความสุขได้ทุกวันและยืนยาว เกิดสุขภาวะที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจ สังคมและปัญญา ซึ่งจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เรามีความสุขอย่างยั่งยืนบนโลกใบนี้ได้อย่างแท้จริง
ขอบคุณ
ภาพ : www.freepik.com