ทำบุญ ‘เป็น’ เห็น ‘ความสุข’
จะว่าไปแล้วเรื่องของการ ‘ทำบุญ‘ เป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับคนไทยมาทุกยุคสมัย โดยเฉพาะเวลาที่มีความทุกข์ หลายคนมักจะได้รับคำแนะนำให้ไปทำบุญ ซึ่งในสายตาของคนรุ่นใหม่ อาจเกิดคำถามขึ้นในใจว่า การทำบุญ ซึ่งดูคล้ายเป็นเรื่องภายนอกนั้น จะไปเกี่ยวพันหรือส่งผลกับทุกข์สุขที่เกิดขึ้นในใจได้อย่างไร?
เคยมีคำกล่าวว่า ต้นไม้จะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อได้แผ่กิ่งก้านให้ความร่มเย็นแก่ผู้คนบนโลก พืชพรรณจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อผลิดอกออกผล แม้บางครั้งอาจไม่ช่วยให้อิ่มท้อง แต่ก็ให้ความชื่นตาชื่นใจแก่ผู้พบเห็น ส่วนมนุษย์คนหนึ่งจะสมบูรณ์ได้นั้น ก็ต่อเมื่อได้ประกอบผลบุญ อันเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่นและสังคม
ความหมายของคำว่า บุญ ในทางพุทธศาสนานั้นหมายถึง เครื่องชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เป็นเครื่องกำจัดสิ่งเศร้าหมองที่เรียกว่ากิเลส อันเป็นเหตุแห่งความทุกข์
ดังนั้น การทำบุญ จึงหมายถึง การกระทำที่เป็นการช่วย ลด-ละ-เลิก ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความใจแคบ ความตระหนี่ถี่เหนียว ความหวงแหนยึดติด ลุ่มหลงในวัตถุสิ่งของ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของความทุกข์ให้หมดไปจากใจ
และหากยังไม่แน่ใจว่าการกระทำใดถือว่าเป็นการทำบุญบ้าง ก็ขอให้พิจารณาดูง่ายๆ ว่า การกระทำอะไรก็ตามแต่ ที่ทำแล้วเข้าข่ายคำว่า ‘สงบเย็นและเป็นประโยชน์’ ถือได้ว่าเป็นการทำบุญทั้งสิ้น ซึ่งหากเราทุกคนมีความเข้าใจความหมายของบุญตามนี้แล้ว การทำบุญก็จะสามารถประยุกต์เข้าไปกับการดำเนินชีวิตของเราได้ทุกขณะ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงการบริจาคทรัพย์สินเงินทองอย่างที่หลายคนเคยเข้าใจแต่อย่างใด
การเริ่มต้นทำบุญอย่างถูกวิธี สามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วย ‘บุญกริยาวัตถุ 10’ อันเป็น10 วิธีการทำบุญ ที่ถ้าใครได้ลองปฏิบัติแล้ว วิถีแห่งความสุขในชีวิตที่สงบและยั่งยืน จะไม่ใช่เรื่องไกลเกินคว้าอีกต่อไป สำหรับ 10 วิธีที่ว่านี้มีอะไรบ้าง มาติดตามกัน
วิธีที่ 1 ให้ทาน – การแบ่งปันผู้อื่นด้วยสิ่งของ เป็นวิธีในการช่วยขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ การยึดติดในวัตถุของเรา
วิธีที่ 2 รักษาศีล – ฝึกฝนที่จะลด ละ เลิกความชั่ว มุ่งทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เบียดเบียนใคร พัฒนาชีวิตของตนเองสู่ความดีงาม
วิธีที่ 3 เจริญภาวนา – การภาวนาจะช่วยพัฒนาจิตและปัญญา ทำให้จิตสงบ ไม่มีกิเลส มองเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง
วิธีที่ 4 อ่อนน้อมถ่อมตน – แค่ผู้น้อยรู้จักถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ให้ความเมตตาแก่ผู้น้อย ให้เกียรติ เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง ก็ถือเป็นการทำบุญแล้ว เพราะนั่นหมายถึงการลดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนของตนเอง
วิธีที่ 5 ช่วยเหลือสังคม – ได้แก่งานจิตอาสาทุกประเภท การสละแรงกายเพื่อช่วยเหลือทั้งคนใกล้ชิดและสังคม ล้วนเป็นการทำบุญทั้งหมด
วิธีที่ 6 เปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำบุญ – หมายความรวมไปถึงการทำงานที่เปิดโอกาสให้คนอื่นได้เข้ามาร่วมทำ ร่วมแสดงความคิดเห็น และยังหมายถึงการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย
วิธีที่ 7 ยอมรับและยินดีในการทำความดีหรือการทำบุญของคนอื่น – เวลาเห็นคนอื่นทำความดีก็ชื่นชมยินดีด้วยใจจริง ไม่อิจฉา ระแวงสงสัยในความดีของเขา
วิธีที่ 8 ฟังธรรม – ข้อนี้ไม่ได้หมายความเพียงแค่การฟังธรรมจากพระสงฆ์เท่านั้น แค่เพียงการเลือกฟังสิ่งดีๆ ที่มีประโยชน์ต่อชีวิตจากบุคคลรอบตัว ก็ถือเป็นการฟังธรรมด้วยเช่นกัน
วิธีที่ 9 แสดงธรรม – เช่นเดียวกับข้อ 8 การแสดงธรรมในยุคปัจจุบันนี้ ไม่จำกัดเพียงพระสงฆ์เท่านั้น การที่เรานำเรื่องดีๆ ที่มีประโยชน์ไปบอกเล่าต่อกับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางใด ก็ถือว่าเป็นการทำบุญในข้อนี้ทั้งสิ้น
วิธีที่ 10 ทำความเห็นให้ถูกต้อง – อาจเรียกได้ว่าข้อสุดท้ายนี้ เป็นหัวใจสำคัญที่นำมากำกับการกระทำในทุกหัวข้อเลยก็ว่าได้ หากไม่แน่ใจว่าสิ่งใดถือเป็นความเห็นที่ถูกต้อง อาจพิจารณาง่ายๆ ว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์และเกื้อกูลต่อผู้อื่นหรือไม่ ถ้าใช่ ก็นับเป็นความเห็นที่ถูกต้องอันเป็นส่วนหนึ่งของการทำบุญแล้ว
เห็นไหมว่าการทำบุญทั้ง 10 วิธีสามารถทำได้ตลอดเวลา ถ้าทำได้ตามนี้แล้ว บุญจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งหากเราทำได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผลแห่งการปฏิบัติก็จะช่วยพัฒนาชีวิตของเราให้ก้าวไปสู่การค้นพบความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่สงบ ประณีต และเป็นอิสระ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาหรือแสวงหาวัตถุจากภายนอก เพื่อมาตอบสนองความต้องการที่ไม่รู้จบสิ้นของเราอีกเลย และนี่ก็น่าจะเป็น ‘ผลแห่งบุญ’อันเป็นคำตอบแท้จริงที่ซ่อนอยู่ ภายใต้คำพร่ำสอนของผู้ใหญ่ที่เน้นย้ำให้ลูกหลานทำบุญในยามประสบความทุกข์ในชีวิต ที่สืบทอดต่อกันมาหลายยุคหลายสมัยนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม 10 ปากว่าก็ไม่เท่าตาเห็น 10 ตาเห็นก็คงไม่เท่าลงมือทำ จะรอช้าอยู่ไย เมื่ออ่านจบแล้ว เริ่มออกเดินทางตามหาความสุขของคุณ ด้วยเส้นทางของ ‘บุญ 10 วิธี’ กันได้เลย !
ขอขอบคุณ
ข้อมูล: โครงการฉลาดทำบุญ เครือข่ายพุทธิกา
ภาพ :โครงการฉลาดทำบุญ เครือข่ายพุทธิกา / ธนาคารจิตอาสา