“ระบบอาหารปลอดภัย” รูปธรรมของการสร้างจิตวิญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลง
สังคมมนุษย์เลือก “อาหารการกิน” เป็นหนึ่งในรูปธรรมของการสร้างความสุขในชีวิตมาเนิ่นนาน
เมื่อดีใจก็ฉลองด้วยการรับประทานอาหารดีๆ เมื่อกังวล เครียด หรือเศร้าใจก็ใช้อาหารเป็นเครื่องมือ
ปลอบประโลมชีวิตให้รู้สึกดีขึ้น ปัจจุบันพบว่าอาหารยังกลายสภาพเป็นตัวแบ่งสถานะทางสังคมของผู้คน
คำว่า “อยู่ดีกินดี” ถูกแปลความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “กินหรูดูแพง” เข้าไปทุกวัน
ขณะเดียวกัน สังคมบริโภคนิยมก็จัดการแยกผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ห่างไกลออกจากกัน
ไม่มีใครตั้งคำถามถึงที่มาของอาหารว่ามีที่มาจากที่ไหนอีกต่อไป คำว่า “อาหารปลอดภัย”
กลายเป็นเรื่องไกลตัว เป็นปัจจัยตัวท้ายๆ ที่ผู้บริโภคจะตระหนักและให้ความสนใจ
นั่นจึงเป็นที่มาของความพยายามโดยกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ในการทวงคืนระบบอาหารปลอดภัยให้กับโลกใบนี้
ซึ่งคำว่าระบบอาหารที่ “ปลอดภัย” นั้น ไม่ได้หมายถึงแค่ความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคเท่านั้น
แต่ยังหมายถึงความปลอดภัยต่อผู้ผลิต สังคม สิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้ที่เราทุกคนอาศัยอยู่
คุณสุชาญ ศีลอำนวย กรรมการกลางและเลขามูลนิธิเอ็มโอเอไทย
ได้สะท้อนมุมมองภาพรวมเรื่องของระบบอาหารปลอดภัยกับธรรมชาติไว้อย่างน่าคิดว่า
“ทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติได้ถูกกำหนดไว้อยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นเรื่องของการเพาะปลูก
ขอเพียงเลือกดินที่ถูกต้องเหมาะสม เลือกฤดูกาลที่ใช่ พืชแต่ละชนิดก็จะสามารถออกดอกออกผล
ให้เราได้อย่างอุดมสมบูรณ์โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีใดๆ ”
ดังนั้น การปรับเปลี่ยนระบบอาหารเพื่อความปลอดภัยทั้งต่อคนและสิ่งแวดล้อม
จำเป็นต้องเริ่มต้นที่ทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นสำคัญ จากการบริโภคตาม “ความอยาก”
ควรเปลี่ยนมาเป็นการบริโภคตาม “ธรรมชาติ” ที่มีความสอดคล้องกับฤดูกาล สิ่งแวดล้อม และท้องถิ่นที่อยู่อาศัย
อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ คือการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิตให้มาพบกันโดยไม่ผ่านผู้ค้าคนกลาง
ผ่านความพยายามของการสร้างตลาดสีเขียว ตัวอย่างเช่น ตลาดสุขใจที่สวนสามพราน จ.นครปฐม
ตลาดนัดอาหารปลอดภัยในพื้นที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ตลาดนัดสีเขียว
ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นห่วงโซ่สำคัญ
ที่จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคได้เริ่มตระหนักถึงที่มาของอาหารที่เรากิน
ว่ามาจากความทุ่มเทและตั้งใจของเกษตรกรที่มีเลือดมีเนื้อจริงๆ ในสังคม
“คนมักตั้งคำถามว่าอาหารอินทรีย์ไม่ได้ใช้สารเคมีแล้วทำไมถึงมีราคาสูง”
คุณพฤฒิ เกิดชูชื่น เกษตรกรผู้ผลิตนมออร์แกนิคสะท้อนมุมมองถึงความเป็นอยู่ของเกษตรกร
“แต่จริงๆ แล้วถ้ามองถึงคุณภาพของผลผลิตที่ได้ ทั้งเรื่องสารอาหารอะไรต่างๆ ที่มันมากกว่าอาหารทั่วๆ ไป
มันก็ถือว่ามีความเหมาะสม อีกประเด็นหนึ่งก็คือ หากเรามองด้วยสายตาที่เป็นธรรมแล้ว
เกษตรกรทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะมีความเป็นอยู่ที่ดี ใช้ชีวิตที่มีความสุข สะดวกสบาย
เช่นเดียวกับพวกเราที่เป็นผู้บริโภคทุกคนในสังคม นี่คือสิ่งที่เรียกว่าการบริโภคที่ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน
คือความเอื้ออาทรที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่เราหวังอยากให้เกิดขึ้นจริง”
ปัจจุบัน หลายองค์กรกำลังพยายามนำรูปแบบการท่องเที่ยวมาเป็นช่องทางหลักในการนำพาผู้คน
ไปสัมผัสชีวิตที่เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ด้วยหวังว่าการได้เข้าไปมีประสบการณ์ตรง
ได้สัมผัสจนถึงแหล่งต้นกำเนิดของอาหาร สัมผัสกับเกษตรกรตัวจริงผู้เป็นเพื่อนมนุษย์
ที่มีทุกข์สุขเช่นเดียวกับพวกเราทุกคน จะเป็นตัวจุดประกายให้ผู้บริโภค
ได้หันมามองเห็นและตระหนักในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น ได้เรียนรู้ถึงความรัก
ความเอื้ออาทรระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ และมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมรอบกาย
สังคมมนุษย์เลือก “อาหารการกิน” เป็นหนึ่งในรูปธรรมของการสร้างความสุขในชีวิตมาเนิ่นนาน
แต่ทั้งหมดนี้เราสามารถเลือกได้ว่า ความสุขของเราในมื้อต่อๆ ไป
จะเป็นเพียงความสุขที่ได้ตอบสนองรสชาติ ความอยาก และความต้องการส่วนตัวอย่างที่เคยเป็นมาตลอด
หรือจะเป็นห่วงโซ่แห่งความสุขและความเอื้ออาทร ที่ถูกส่งต่อไปยังเพื่อนมนุษย์ที่เป็นผู้ผลิต
ส่งต่อไปยังสรรพสัตว์ผู้เป็นเพื่อนร่วมโลก ส่งต่อไปยังอากาศ สายน้ำ
และผืนแผ่นดินแม่อันเป็นต้นกำเนิดของพืชพรรณธัญญาหารที่อุดมสมบูรณ์
ความสุขแบบไหนคือความสุขที่แท้? คุณเลือกและเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวของคุณเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก: เวทีแลกเปลี่ยน “ตลาดที่มีจิตสำนึก : ห่วงโซ่อุปทานใหม่ของผลผลิตอินทรีย์”
#ตลาดที่มีจิตสำนึกครั้งที่ 2