เมื่อฝรั่งหันมาหยิบจอบแบกเสียมไปลงแขก
ผมจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนกำหนดประโยคนี้ขึ้นมา
มันช่างเป็นคำถามที่น่าสงสัยและน่าสนใจดีเหลือเกิน
ถ้าลองเหลียวหลังแลประวัติศาสตร์โลกในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา
เราคงได้เห็นว่า โลกนี้หมุนไปโดยแรงเหวี่ยงของประเทศตะวันตก
ชาวประเทศโลกที่สามอย่างพวกเรา (ซึ่งฝรั่งมังค่าเป็นคนจัดหมวดหมู่ให้)
ได้แต่ถอนรากตัวเองแล้วเดินตามประเทศโลกที่หนึ่ง เขาปฏิวัติเกษตรก็ปฏิวัติเกษตรกับเขา
เขาปฏิวัติอุตสาหกรรม เราก็ปฏิวัติอุตสาหกรรมกับเขา
แล้ววันหนึ่งที่เขากลับมาสนใจธรรมชาติรอบตัว เราก็หันมาสนใจตามเขา
ทั้งที่เราอยู่กับธรรมชาติมาแต่ไหนแต่ไร เผลอๆ ชาวประเทศโลกที่สามอย่างเราๆ
อาจรู้ดีกว่าชาวประเทศโลกที่หนึ่งด้วยซ้ำ
แต่สิ่งที่เราอาจไม่รู้คือ ประเทศโลกที่หนึ่ง โลกที่สอง หรือโลกที่สาม มันไม่มีจริงหรอก
โลกนี้มีใบเดียวเท่านั้น
ทุกคนล้วนอยู่บนโลกเดียวกัน
ถ้าคิดได้เช่นนั้น เราอาจไม่ต้องเดินตามใคร แต่เดินตามใจตัวเอง เดินในทางที่เหมาะกับเรา
และเหมาะกับโลกใบนี้
ไม่ใช่ว่าเลือกทิ้งดินปีนขึ้นตึกแบบฝรั่ง โดยไม่รู้ว่าฝรั่งจำนวนไม่น้อยกำลังทยอยไต่จากตึกลงสู่ดิน
พอติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวในแวดวงสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลกมากๆ ก็ชักสงสัยว่า
ใครกำลังเดินตามใคร
โลกนี้ใครกำหนด?
จีนประกาศว่าจะทำให้ปักกิ่งกลับมาเป็นเมืองจักรยานอีกครั้ง
ทั้งที่เคยเป็นเมืองหลวงที่มีคนขี่จักรยานมากที่สุดในโลก
แต่ดันพัฒนาไปในทางที่ชวนให้คนเลิกใช้จักรยานหันไปขับรถแทน
จนกระทั่งเห็นหลายเมืองในยุโรปวางระบบจนประกาศตัวว่าเป็นเมืองจักรยาน จีนถึงเพิ่งนึกได้
โรงเรียนในตะวันตกวิจัยพบว่า การมีสวนผักในโรงเรียน ให้เด็กๆ
ได้ออกมาเรียนรู้อยู่กับธรรมชาติแบบตะวันออกช่วยให้เด็กเรียนดีขึ้น
ในขณะที่โรงเรียนบ้านเราทิ้งพื้นที่สีเขียว เปลี่ยนผืนดินให้เป็นตึกเรียนสูงตระหง่านติดแอร์เย็นฉ่ำ
เพราะคิดว่านั่นคือการแสดงศักยภาพทางวิชาการได้ผงาดกว่า
เรื่องล่าสุดเกี่ยวกับการเกษตร
ผู้ปกครองในบ้านเราไม่ค่อยอยากให้ลูกทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเกษตรเท่าไหร่
เพราะทั้งร้อน ทั้งเปื้อน และเป็นงานที่ต่ำต้อยด้อยค่า ไม่มีประโยชน์อันใดในการทำมาหาเลี้ยงชีพ
ไม่ใช่ทักษะที่น่าเชิดชูเหมือนดนตรี กีฬา หรือศิลปะ
ส่วนครอบครัวเกษตรกร ก็ไม่อยากให้ลูกหลานมาสานอาชีพนี้ต่อ
เพราะเป็นงานเหนื่อยที่เพียบไปด้วยหนี้ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ลูกเรียนสูงๆ
ทำงานออฟฟิศดีๆ มีเงินเดือนดีๆ เป็นเจ้าคนนายคน
พูดง่ายๆ ก็คือ ทิ้งไร่นาของตัวเองไปเป็นลูกน้องเขาในเมือง
ในขณะที่ชาวตะวันตกกำลังพากันหนีเมืองมาสู่ภาคเกษตรเยอะขึ้นเรื่อยๆ
อาจจะไม่ถึงขั้นยึดเป็นอาชีพ แต่ก็อยากรู้จักมันมากขึ้นด้วย 2 เหตุผลหลักคือ
พวกเขาเบื่อเมือง เบื่อวัตถุ อยากกลับไปเรียนรู้วิถีที่มนุษย์อยู่กับธรรมชาติ
และ พวกเขารู้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตไม่ใช่วัตถุ แต่เป็นอาหาร
เลยอยากรู้ว่า อาหารมาจากไหน และอยากลองลงมือสร้างมันขึ้นมาเอง
การได้ทำงานเกษตรเป็นเรื่องน่าภูมิใจ ในซีกโลกนั้น
ที่นอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา มีฟาร์มเกษตรที่ผลิตแบบยั่งยืนค่อนข้างมาก
ฟาร์มเหล่านี้ไม่ใช้สารเคมีในการผลิตทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง
นั่นทำให้การปลูกผักปลูกผลไม้เหล่านี้ต้องใช้แรงงานคนมากกว่าการทำเกษตรแบบอุตสาหกรรม
ก็เลยเกิดสิ่งที่เรียกว่า Crop Mob ขึ้นมา
เรื่องของเรื่องก็คือ มนุษย์เมืองขี้เบื่อทั้งหลายที่ไม่รู้จักกันต่างนัดรวมตัวกันผ่าน social media
เพื่อทำอะไรสนุกๆ อย่าง Flash Mob
เช่น นัดมายืนตัวแข็งที่สถานีรถไฟ ให้คนผ่านไปผ่านมางงเล่น
จาก Flash Mob ก็ขยับมาสู่ Carrot Mob ที่นัดรวมตัวกันไปอุดหนุนร้านค้าที่ขายสินค้าดีๆ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
และล่าสุด Crop Mob การรวมตัวกันเพื่อไปช่วยแรงเกษตรกรที่ทำฟาร์มอย่างยั่งยืน
เครือข่ายของ Crop Mob คือกลุ่มคนที่อยากลองเป็นเกษตรกร อยากรู้จักอาหารของตัวเอง
และอยากช่วยสนับสนุนฟาร์มที่ทำการเกษตรอย่างยั่งยืน
การที่คนจำนวนมากซึ่งไม่รู้จักกันมาก่อนนัดมารวมตัวทำงานร่วมกันในที่ดินของคนที่เขาก็ไม่รู้จัก
ทำให้ได้ผลพลอยได้อีกอย่างคือ ความรู้สึกร่วมของการเป็นชุมชน
ซึ่งเราเคยมีอยู่เต็มเปี่ยมสมัยทำเกษตรแบบเก่า
ทำให้คนได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนในชุมชน ทำงานร่วมกันอย่างสนุกสนาน
มีอาหารเลี้ยง มีดนตรีบรรเลงให้ฟัง แต่ไม่มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง
มันคือการลงแขกเกี่ยวข้าวชัดๆ
ในวันที่เราทิ้งควายไปหารถไถ รถเกี่ยวข้าว ฝรั่งกลับกำลังเห่อการลงแขก
Crop Mob ที่นอร์ทคาโรไลน่าประสบความสำเร็จมากมาย จนขยายสาขาไปในอีกหลายเมืองทั่วอเมริกา
เดาว่า วันหนึ่งมันอาจจะวนมาถึงเมืองไทย
ใครกำหนดให้เราทิ้งสิ่งที่เรามี เพื่อเดินตามฝรั่ง
และใครกำหนดให้ฝรั่งกลับมาเดินตามเรา
ใครกำลังเดินตามใครกันแน่
ถ้าเรายึดมั่นกับรากที่มั่นคง และเหมาะสมกับเรา เราอาจรู้ว่า
เราต่างหากที่เป็นผู้กำหนดทุกอย่าง
ที่มา : บทความเรื่อง “ไร่ม็อบ” จาก http://www.lonelytrees.net/?p=2265#.VbJcnv0qQRY