ความสุขจากการทำงาน
การหาความสุขจากการทำงานคือการหาความสุขจากการดำเนินชีวิต
มีอย่างเดียวในวันอาทิตย์ที่มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ไม่ชอบคือตอนระลึกได้ว่า ‘พรุ่งนี้เป็นวันจันทร์’ ขณะที่ในอังกฤษมีการรวมตัวเป็นชุมชนเครือข่ายออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กในชื่อว่า “I HATE MONDAYS!” และมีบทความด้านจิตวิทยาการทำงานมากมายนำเสนอวิธีการรักษาโรค I hate Monday syndrome ดูเหมือนว่าวันจันทร์ซึ่งเป็นวันแรกของการทำงานในแต่ละสัปดาห์ จะสร้างอาการหวาดผวาให้กับคนทำงานไม่น้อยทีเดียว เมื่อถึงเช้าวันจันทร์ เราอาจมีอาการปวดเนื้อตัว ไม่อยากลุกจากเตียงนอน ขาดความกระปรี้กระเปร่า ทั้งที่อันที่จริงการทำงานได้สร้างความสำเร็จเป็นของขวัญชิ้นงามให้กับชีวิต และนำพาความสุขอันอิ่มเอมให้เราได้
ผลสำรวจจากสถาบัน Institute of Economic Affairs ในอังกฤษ พบว่า คนที่ออกจากงานมาอยู่บ้านเฉยๆ มีโอกาสที่จะเกิดอาการหดหู่และทุกข์ใจเพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ‘ถ้าอยากมีความสุข ให้ไปทำงาน’ เพียงแต่ปรับวิธีการคิดใหม่ให้ไม่ทุกข์กับงานที่ทำและสร้างการตระหนักรู้ในตัวเอง ตามคำแนะนำของ รศ.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ซึ่งมักได้รับเชิญให้บรรยายเกี่ยวกับความสมดุลของการใช้ชีวิตและการทำงาน
“เรามักแบ่ง Work กับ Life ออกจากกัน..แบ่งทำไม การหาความสุขจากการทำงานคือการหาความสุขจากการดำเนินชีวิต ดำเนินชีวิตที่ทำงาน ดำเนินชีวิตที่บ้าน ดำเนินชีวิตท่องเที่ยว มันคือการดำเนินชีวิต บางคนชีวิต 80 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ทำงาน จริงๆ บ้านเป็นที่ทำงานและที่ทำงานก็เป็นบ้าน แต่ถ้าเราแยก งานจะกลายเป็นของประหลาด เราจะเกิดปัญหาว่า วันจันทร์ไม่อยากไปทำงาน รถติด เราเซ็ง เราเหนื่อย เราไม่มีความสุข งานก็ค้างตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว เป็นกันทั้งระดับหัวหน้าและลูกน้อง บรรยากาศอึมครึม มีความเครียด เริ่มต้นสัปดาห์ก็แย่ ทุกคนจะรอว่าเมื่อไหร่วันศุกร์ พอวันศุกร์ก็คึกคัก รอเมื่อไหร่จะถึงวันเสาร์ ชีวิตวนเวียนแบบนี้ มันใช่แล้วเหรอ ชีวิตเราห้าวันอยู่ที่นี่แล้วเราจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ไหม”
มีสุขในการทำงาน ต้องรู้สาเหตุของทุกข์
“ความสุขในการทำงานที่สำคัญเราต้องรู้ว่า เราทุกข์เพราะอะไร อันนี้หลักพุทธศาสนา คือเราทุกข์เพราะส่วนเกิน ทุกข์เพราะกลัว ทุกข์เพราะอยาก ทุกข์เพราะไม่แน่ใจอย่างนั้น อยากได้อย่างนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามีการแข่งขันเปรียบเทียบ ทุกข์เพราะกลัวแพ้เขา กลัวไม่ได้เป้า กลัวตกอันดับ กลัวไม่ทันเขา กลัวไม่ทันเออีซี (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) กลัวไม่สากล กลัวไปหมดทุกอย่าง ความกลัว ความกังวล ความคาดหวัง ก่อให้เกิดความทุกข์ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุด เราต้องรู้ทันสภาวะนั้น ทำให้ใจเรากลับมาเป็นปกติตั้งมั่น แล้วทำตามเหตุ ตามปัจจัย และทำตามสิ่งที่ควรจะทำ ไม่ใช่ทำเพราะกลัว และไม่มีความเชื่อมั่นศรัทธาว่า เรามีความพอเพียงและความมั่นคงอะไรบางอย่างอยู่ สังเกตไหม Paradigm (แบบอย่าง) เรื่องความพอเพียงจะไม่มีการกล่าวถึงในระดับสากล เพราะขบวนทัศน์ของสากลคือทุนนิยม”
ความสุขในการทำงานที่สำคัญเราต้องรู้ว่า เราทุกข์เพราะอะไร
คำแนะนำเพื่อการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข
อ.ชัชวาลย์ กล่าวแนะนำเบื้องต้นสำหรับคนทำงานที่กำลังประสบภาวะอึดอัดคับข้องใจ ดังนี้
# หากไม่มีทางเลือกในงานที่ทำ มันบีบคั้น แต่ต้องทำ เพราะกติกาเขาเป็นเช่นนี้ เราก็ต้องยอมรับ เมื่อต้องทำแล้วทำให้คุ้มกับเวลาแปดชั่วโมง ทุกข์กับมันให้น้อยลง และทางเดียวที่จะอยู่รอดคือ เรียนรู้ฝึกฝนตัวเอง ได้แค่ไหนแค่นั้น แต่ถ้าไม่สำเร็จที่หน่วยงานนี้ ก็ลาออกไปเรียนรู้และสำเร็จที่หน่วยงานอื่น แต่ขอให้ช่วงเวลาในระหว่างที่ยังทำงานอยู่ เราได้เรียนรู้และเบิกบานแจ่มใส
# คิดว่าเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน ต่างกันตรงที่เป็นหัวหน้า เป็นลูกน้อง ต่างกันตรงการศึกษา และเพศ การเป็นมนุษย์เหมือนกันคือความเท่าเทียม ถ้าคนทำงานคิดเช่นนี้ เราจะปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ
# เชื่อมั่นว่าทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า ซึ่งความรู้สึกมีคุณค่าเป็นความหมายของ Spiritual มันอยู่เหนือกายภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง บริบททางสังคม มันเป็นสภาวะบางอย่าง ซึ่งต้องปลูกฝังให้คนมีศรัทธาเชื่อมั่นในความหมายอันนี้ ความเชื่อมั่นจะทำให้เราปลอดความกลัว ความกังวล จากพันธนาการบางอย่างออกไป ทุกคนจะมีศักยภาพ
# เมื่อเราทุกข์ ไม่แจกทุกข์ให้คนอื่น แต่สำหรับคนที่โกรธไว แก้ไขได้ด้วยการฝึกสติ เขาจะเกิดการเปลี่ยนแปลง
# ไม่เปรียบเทียบ เราทุกข์เพราะเปรียบเทียบ ไม่ใช่ทุกข์เพราะเพื่อนร่วมงานไม่ทำงาน รวมทั้งต้องไม่เพ่งโทษคนอื่น ถ้าเราคิดว่าหัวหน้างานลำเอียง เราลาออกไปทำที่ใหม่ เราเจอปัญหาใหม่ ก็ลาออกอีก ชีวิตการทำงานจะวนเวียนอยู่อย่างนี้
คำแนะนำเพื่อการทำงานอย่างมีความสุขที่แท้จริง
สถานที่ทำงานนับเป็นที่ฝึกฝนและเรียนรู้ด้านจิตวิญญาณได้ครอบคลุมครบถ้วนดีมาก เพราะต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลาย อ.ชัชวาลย์ แนะนำหลักปฏิบัติเพื่อการพัฒนาด้านในสำหรับคนทำงานและมีสุขอย่างแท้จริงว่า ต้องมาฝึกฝนด้าน Spiritual (จิตวิญญาณ)
“ถ้าเราไม่พูดถึง Spiritual มันจะไม่จบ เช่น เงินเดือนขึ้นมากี่รอบไม่มีทางพอ แต่ถ้าคนมีเงินน้อยแล้วรู้จักพอ เขาเห็นคุณค่าอย่างอื่น เขามีความสุขได้ เพราะมันเป็นเรื่องข้างใน ซึ่งไม่ใช่การเข้าวัด ทำบุญ ไหว้พระสวดมนต์ พิธีกรรมนั้นดี แต่ไม่ใช่พฤติกรรมข้างนอก มันอยู่ที่คุณภาพข้างใน เพราะฉะนั้นเราต้องสลายภาพลักษณ์ของ Spiritual ไม่ให้เป็นเรื่องของพระสงฆ์หรือศาสนา แต่เป็นทักษะพื้นฐานของมนุษย์ที่ควรฝึกฝนปฏิบัติ” นั่นคือ
# มีสติระหว่างทำงาน แค่สูดลมหายใจเข้าแล้วกลับมาอยู่กับตัวเอง สังเกตว่าตอนนี้มันกลับมาอยู่กับตัวเองหรือเปล่า ค่อยๆ ทำงานไป เดี๋ยวก็เสร็จ พอมีสติก็จะมีเสียงบอกว่า ค่อยๆ ทำไป เดี๋ยวก็เสร็จ เราเคยผ่านการทำงานแบบนี้มาหลายรอบ ไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งแรก บ่นไปบีบคั้นไปจะทำให้งานล่าช้าและเสียสมาธิ ให้ทำงานไป ทันก็ทัน ถ้าไม่ทันก็ชี้แจงไป แต่ต้องฝึกฝนการมีสติรู้ในการทำงานอยู่เสมอ
# เรียนรู้และฝึกฝนในวิถีที่เราไม่คุ้นชิน เราคุ้นชินกับการมีความสุขกับสิ่งที่เราอยากได้และหลุดพ้นจากสิ่งที่เราไม่อยากเจอ แต่เราต้องเรียนรู้ที่จะฝึกฝนให้ใจมันอยู่ได้ทั้งสองภาวะ ใจที่หนักแน่น มั่นคง ไม่หวั่นไหว ทั้งความพอใจและไม่พอใจ ถ้าไม่พอใจก็แค่ไม่พอใจ จบแค่นั้น แต่ถ้าเราไม่จบ เราต้องการคำอธิบาย เราจะทุกข์เพราะคำอธิบายนี่เอง ถ้าอยากได้แล้วไม่ได้ มันเป็นธรรมดา เราฝึกให้เห็นความเป็นธรรมดา ฝึกฝนให้รู้จักตนเอง การตระหนักรู้ในตนได้ต้องมีความสามารถที่จะสังเกตตัวเอง แล้วจะเริ่มเข้าใจ เมื่อเข้าใจจะเริ่มยอมรับ ยอมรับทุกอย่างอย่างที่มันเป็น ยอมรับได้ว่าวันนี้ฝนตก แดดออก รถติด ถ้ายอมรับได้ จบแล้ว การยอมรับไม่ใช่ยอมจำนน ยอมรับคือ วางใจได้ ไม่แปลกใจ ไม่ฮึดฮัด มันเป็นอย่างนี้ ชัดเจนยิ่งกว่านั้นคือ ถ้าโดนด่าฟรี ก็ได้นะ เรายังเคยด่าคนอื่นฟรี เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจกับอะไรทั้งนั้น อะไรที่เกิด กระทบใจ แล้ววาง”
เงินเดือนขึ้นมากี่รอบไม่มีทางพอ แต่ถ้าคนมีเงินน้อยแล้วรู้จักพอ เขาเห็นคุณค่าอย่างอื่น เขามีความสุขได้
อ.ชัชวาลย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “ทุกคนมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมเหมือนกันที่จะเข้าถึงสภาวะความสุขด้านในได้ แต่ขาดการฝึกฝน ตัวสำคัญคือ สมองซีกขวา มันไม่มีภาษา แต่มันเป็นส่วนที่จะรับรู้ถึงสภาวะสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่เหนือคอนเซ็ปต์ ขณะที่สมองข้างซ้ายมันเห็นอะไรมันฟอร์มคอนเซ็ปต์ มันเรียกชื่อ เป็นกู เป็นมึง เป็นเขา เป็นเธอ เป็นชาย เป็นหญิง ตามทฤษฎี ดังนั้น เราต้องฝึกให้ (สมองซีกซ้าย) มันเงียบลงบ้าง โดยการภาวนา (มีสติรู้)
ผลที่ได้จากการฝึกฝนในวิถีแบบนี้ นอกจากได้ความสุขแล้ว ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น สุขภาพ ความอิ่มเอม ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความรัก ความเมตตา คุณธรรม และจริยธรรม เพราะว่ากลไกสำคัญในการออกฤทธิ์คือ สติ การรู้ตัว เมื่อนั้นทุกคนจะเครียดน้อยลง ความกังวล และความเศร้าลดลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นอานิสงค์มหาศาล มีงานวิจัยล่าสุดพบว่า คนเราถ้ามีความกังวล เวลาขึ้นเวทียีนจะเปิดสวิตช์ผลิตสารให้ตื่นเต้น แต่คนที่ฝึกการมีสติรู้แม้แค่วันเดียวจะเปิดสวิตช์สารให้ตื่นเต้นน้อยลง นี่คือผลระยะสั้นๆ แต่มีคุณค่าและมีความหมาย เพราะจิตที่สงบแม้ชั่วช้างกระดิกหูก็มีคุณค่าแล้ว
เมื่อยอมรับ เคารพผู้อื่น และฝึกการมีสติรู้ ความสุขจากการทำงานจะเกิดขึ้นได้ทุกวัน
รศ.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เป็นทั้งอาจารย์ แพทย์รักษาคนไข้ และวิทยากร มีความสนใจการพัฒนาด้านในมาโดยตลอด ท่านได้มีโอกาสเข้าคอร์สเกี่ยวกับการเจริญสติและนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน รวมทั้งบอกเล่าประสบการณ์อันมีคุณค่านี้แก่คนทำงานทั่วไป