ความสุขจากความสัมพันธ์ การร่วมแรงร่วมใจ เป็นชุมชน
วิถีสุขดั้งเดิม ช่วยส่วนรวม ส่วนรวมช่วยเรา
การพึ่งพาอาศัยและร่วมแรงร่วมใจ เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีมานาน ความสุขเห็นได้จากใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส จากความใกล้ชิดสนิทสนมและความรักใคร่เอื้ออาทรของคนที่มาช่วยเหลือกัน “หลวงพี่โต้ง” พระครูธรรมคุต (พระสรยุทธ ชยปญโญ) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม เห็นถึงความหมายของวิถีเช่นนี้ที่จะสามารถนำความสุขคืนมาได้ ซึ่งท่านได้นำแนวคิดนี้กลับไปใช้ในชุมชนหลายหมู่บ้านของอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
เศรษฐกิจแบบใหม่ คนเริ่มไม่สนใจการพึ่งพากัน แต่ละคนต่างไม่มีเวลา แย่งกันบริโภค
“เราเห็นวิถีแบบนี้ตอนเริ่มบูรณะวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม (ช่วงปี 2548) ตั้งแต่วันแรกคนมาร่วมแรงร่วมใจกันมาก มันมีประเพณีการทำงานแบบนี้ที่เขาทำกันมา เรียกว่า ‘ลงแขก’ คนมาเป็นร้อยๆ คน ห่อข้าวกันมาเอง ถึงเวลาก็นั่งล้อมวงแบ่งกินกัน และมาทำงานร่วมกันฟรีๆ จริงๆ สังคมมีเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่คนมองไม่เห็น และใช้พลังจากตรงนี้ไม่พอ ทำให้วิถีเช่นนี้จืดจางลงด้วยวิธีคิดแบบใหม่ การผลิตแบบใหม่ และเศรษฐกิจแบบใหม่ คนเริ่มไม่สนใจการพึ่งพากัน แต่ละคนต่างไม่มีเวลา แย่งกันบริโภค เมื่อแรงงานไม่พอก็จ้างงานคนนอกพื้นที่”
แบ่งปันความสุข ชีวิตเปลี่ยน
“เราได้รู้จักชาวบ้าน รู้ว่าชาวบ้านมีอาการลงแดงเหมือนกัน คือโหยหาการบริโภค พอเสพแล้ว อยากได้อีก ไม่ได้ก็โหยหาให้ได้ พอทำมากเข้าๆ กลายเป็นนิสัย เมื่อไม่ได้ก็ดิ้นรนขวนขวาย แต่สุดท้ายชาวบ้านเริ่มเห็นว่า มันเกิดภาระหนักตามมา หนี้สินเยอะ จิตใจจากที่เคยโอบอ้อมอารีและแบ่งปันความสุข ตอนนี้เขาไม่มีความสุข เพราะชุมชนมันแย่ลง มันแตก มันเสื่อม เราอยู่กับเขาทุกวันๆ จึงคิดจะหาทางช่วยเขาไม่มากก็น้อย ค่อยๆ เริ่มคุยกับเขาว่า ทำไมเป็นแบบนี้ เมื่อก่อนทำไมมีความสุข เขาวิเคราะห์ตัวเองว่า เขาอยากได้ในสิ่งที่ไม่เคยได้ อยากมีสิ่งที่ไม่เคยมี เมื่อมีไฟฟ้าก็อยากได้เครื่องซักผ้า ทีวี ตู้เย็น เมื่อก่อนไม่มีก็ไม่ตาย ตอนนี้มีไฟฟ้าต้องมีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า แล้วจะมีไปทำไม เมื่อก่อนใช้วัวใช้ควายใช้เกวียน ตอนนี้มีมอเตอร์ไซค์ มีรถยนต์ หาเรื่องใส่ตัวทั้งนั้น เงินไม่พอจะทำอย่างไร ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน นึกว่าตัวเองจะหาเงินจ่ายได้ แต่การเกษตรมันไม่แน่นอน บางปีดี บางปีน้ำแล้ง ราคาตก เงินไม่พอก็ไปกู้เพิ่มอีก ดอกเบี้ยบานอีก จากคนไม่เคยเป็นหนี้ก็เป็นหนี้บานตะไท ทุกข์ไหมละ ต้องขายวัว ขายควาย ขายรถ ขายที่ ขายบ้าน มันจะมีความสุขได้อย่างไร”
หนี้สินเยอะ จิตใจจากที่เคยโอบอ้อมอารีและแบ่งปันความสุข ตอนนี้ไม่มีความสุข เพราะชุมชนมันแย่ลง มันแตก มันเสื่อม
“ชาวบ้านจึงคิดหาเหตุผลว่าที่เป็นอย่างนี้ เพราะตัวเองนั้นแหละคิดไม่ถูก เห็นเขาโฆษณาก็เชื่อ เมื่อผิดไปแล้วก็หาทางแก้ไข ให้เขาหันมาดูแลชุมชน ดูแลป่า ดูแลธรรมชาติ ปลูกต้นไม้ สร้างฝาย ทำผลิตภัณฑ์ในชุมชน เช่น สบู่ น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาซักผ้า ทำปุ๋ย ปลูกผัก เผาถ่าน เกิดอาชีพ และพึ่งอาศัยกันในชุมชน ทำให้ปลดหนี้ปลดสินได้ ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มปรับมาสู่วิถีของการร่วมแรงร่วมใจช่วยกันในชุมชน กลางคืนมาอยู่บ้านคนนี้บ้าง คนโน้นบ้าง มาช่วยกันทำงาน เป็นพี่เป็นน้อง รู้จักกัน ช่วยเหลือกัน มีความสุข แบ่งปันความสุข ชีวิตเปลี่ยน”
ช่วยส่วนรวม แล้วส่วนรวมจะช่วยเรา
หลวงพี่โต้งบอกกล่าวสำหรับคนที่สนใจจะหันมาพบความสุขในวิถีเช่นนี้ว่า “ต้องเห็นว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้มันทุกข์ ถามตัวเองว่าที่ทำมันสุขจริงหรือเปล่า เราจำเป็นหรือที่จะต้องดิ้นรนหาเงินเพื่อซื้อความสุข สุขภาพเป็นยังไง คุ้มไหม ถ้าไม่คุ้ม จะทำอย่างไร เมื่อเห็นว่ามันไม่ใช่ จึงหาวิธีที่ถูก” ท่านมีคำแนะนำ ดังนี้
# หากัลยาณมิตร คบเพื่อนดี วิเคราะห์ตัวเองว่าเราอยู่ในสังคมที่จะพาเราไปทางไหน ถ้าเลือกเพื่อนที่ชอบช้อปปิ้ง เราก็จะไปช้อปปิ้ง เราจึงควรคบเพื่อนให้ถูกกลุ่ม หาเพื่อนดีให้เจอ เพื่อนที่จะพาเราไปในทางที่ดี ถ้าเราเจอกลุ่มเพื่อนดี เราก็มีโอกาสที่จะดีเช่นกัน ถ้าหากัลยาณมิตรไม่ได้ กำลังตัวเองจะไม่พอ ต้านกระแสไม่ได้ และคิดเองได้ยากมาก เพื่อนดีจึงสำคัญมาก อาจหาจากกลุ่มค่ายอาสาสมัครตามอินเทอร์เน็ต แล้วลองเปลี่ยนกลุ่มเพื่อนดู เพื่อจะออกจากลุ่มเก่าให้ได้
# ใส่ใจคนจริงๆ ที่อยู่รอบข้าง ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่การหมกมุ่นอยู่กับเพื่อนในโทรศัพท์มือถือ
# ทำงานหนักกว่าคนอื่น เหนื่อยไม่บ่น เห็นประโยชน์สุขของการเอื้ออาทรช่วยแหลือกันทำงาน เมื่อเราทำได้แล้วจึงค่อยแนะนำคนอื่นให้มาทำด้วยกัน
# ช่วยเหลือคนอื่น หรือทำงานอาสา เพราะเมื่อเห็นคนอื่นมีความสุข เราจะมีความสุข ความสุขแบบนี้ต้องเห็นเอง เป็นความสุขอีกระดับหนึ่งที่ต้องไปสัมผัสเอง ถ้าสัมผัสแล้วไปสู่ใจ จะรู้สึกลึกซึ่ง และจะเปลี่ยนวิถีชีวิตเราได้
# ในระดับหมู่บ้านและกลุ่มคน การรวมกันเป็นชุมชนที่พึ่งพาอาศัยกันต้องเริ่มด้วยการมีผู้นำที่เข้มแข็ง สามารถบริหารกลุ่มได้ และออกกุศโลบายที่จะจำกัดกิเลสของแต่ละคนในชุมชน เป็นการทวนกระแสโลก กระแสกิเลส ที่แต่ละคนอยากได้ อยากมี และอยากเป็น จึงต้องบอกให้เขารู้ว่า ช่วยส่วนรวมแล้วส่วนรวมจะช่วยเรา เหมือนเราตั้งสหกรณ์ ทำให้สหกรณ์แข็งแรง สหกรณ์จะช่วยเราได้
การจะสร้างความร่วมมือร่วมใจเป็นชุมชนที่เอื้อประโยชน์สุขร่วมกันได้ หลวงพี่โต้งบอกว่า ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ส่วนรวมมีความสำคัญมากขนาดไหน ทำให้คนในชุมชนเชื่อว่า การมารวมตัวกันและมีกองกลางที่แข็งแรง กองกลางจะดูแลทุกคนได้ เมื่อมีปัญหา คนๆ เดียว จะเอาตัวไม่รอด แต่ถ้ามารวมตัวกันจะช่วยตัวเราและทุกคนให้ผ่านพ้นปัญหาได้ และเกิดความสำเร็จ
คนในชุมชนจะเกิดความรัก ความเห็นอกเห็นใจกัน เป็นความสุขที่ปลอดภัยและยั่งยืน
พระครูธรรมคุต (พระสรยุทธ ชยปญโญ) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุดอยผางาม และพระนักพัฒนาชุมชน ท่านได้เห็นการร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือกันของชาวบ้านในการบูรณะวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม และเห็นความทุกข์จากวิถีการบริโภคที่เกินพอดี จึงเกิดเป็นศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง และจัดตั้งการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาส ในพื้นที่ดอยผาส้ม อำสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่