8 ช่องทางความสุข

มาตาภาวนา…ธรรมะพักใจผู้หญิงเมืองกรุง

เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก บางคนต้องรับบทเมีย  แม่ และลูกสาวยอดกตัญญูดูแลพ่อแม่ยามแก่ชราไปพร้อมกัน  ยิ่งผู้หญิงในสังคมเมืองกรุงที่ต้องเผชิญกับรถติดบนท้องถนนร่วมด้วยแล้ว ถึงไม่มีภาระครอบครัว พอกลับถึงบ้านปุ๊บ หัวก็แทบฟุบสลบคาหมอนเลยทีเดียว โอกาสปลีกวิเวกเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมแบบ 5 วัน 7 วันจึงยากจะได้สัมผัส

ทว่า หลังจากสวนโมกข์กรุงเทพย่านจตุจักรเปิดต้อนรับคนเมืองกรุงให้เข้าไปสัมผัสธรรมะเมื่อเกือบสิบปีที่ผ่านมา สถานที่แห่งนี้จึงกลายเป็น “ที่พักใจ” ของคนเมืองทุกช่วงวัย เพราะมีกิจกรรมแนวธรรมะหมุนเวียนสับเปลี่ยนมาให้ผู้คนได้เข้าร่วมทุกสัปดาห์ หนึ่งในนั้นคือกิจกรรมธรรมะสำหรับผู้หญิง 18 ชั่วโมงภายใต้ชื่อ “มาตาภาวนา” ทุกสัปดาห์ที่ 2 และ 4 ของเดือน ออกแบบกิจกรรมเพื่อผู้หญิงเมืองกรุงโดยเฉพาะเลยทีเดียว เพราะกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่ายวันเสาร์จนถึงรุ่งเช้าวันอาทิตย์ ใครทำงานวันเสาร์ครึ่งเช้ายังสามารถมาร่วมกิจกรรมได้ทัน พอถึงสายๆ วันอาทิตย์ก็ได้กลับบ้านไปซักผ้าและนอนเอกเขนกได้อีกครึ่งวัน ก่อนกลับไปเริ่มต้นทำงานเช้าวันจันทร์ด้วยหัวใจที่เต็มอิ่ม หลังจากได้ชาร์ตแบต เทขยะทางจิตออกไปตลอดเวลาเกือบหนึ่งวัน

จิรภัทร์ บัวอิ่น หรือ คุณภัทร ผู้ประสานงานกิจกรรมมาตาภาวนาวัย 38 ปี กล่าวถึงจุดแรงบันดาลใจเริ่มต้นของการชวนผู้หญิงเมืองกรุงมาปฏิบัติธรรมร่วมกันในช่วงเวลาสั้นๆ ตั้งแต่เจ็ดปีก่อนว่า ตัวเธอเองได้เห็นประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่ตอนอายุ 25 ปี จึงอยากให้ผู้หญิงในเมืองกรุงมีโอกาสได้สัมผัสธรรมะด้วยเช่นกัน

คุณภัทรเล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยทำงานเอ็นจีโอกับชุมชนชาวบ้านมาก่อน ช่วงเวลานั้นเธอมองว่าการทำงานเอ็นจีโอคือการทำงานเพื่อคนอื่นและเป็นงานที่เธอมองว่าเป็นการ “ทำความดี” ในรูปแบบหนึ่ง แต่หลังจากทำงานไปหลายปี เธอเริ่มพบว่า “การเป็นคนดี” กับ “การพ้นทุกข์” เป็นคนละประเด็นกัน เพราะเมื่อพายุปัญหาการงาน สุขภาพ และความรักพัดโหมกระหน่ำมาในเวลาเดียวกัน เรือชีวิตก็สัดส่ายจนแล่นต่อไปไม่ไหว

ตอนนั้นเรามีไฟแรงในการทำงานกับชุมชนซึ่งเราชอบมาก แต่ทำไมชีวิตยังไม่มีความสุข ช่วงทำงานเรามีความสนุก แต่เราก็เหนื่อยมากๆ  เราไม่มีคู่มือในการจัดการกับอารมณ์ตัวเอง เราเป็นคนดียังไม่พอ เพราะเราก็ยังมีความทุกข์อยู่

เมื่อเกิดคำถามถึง “ต้นเหตุแห่งทุกข์” การเดินทางค้นหาคำตอบจึงเกิดขึ้น คุณภัทรตัดสินใจพักการทำงานและเข้าร่วมปฏิบัติธรรมแบบจริงจังสองครั้ง  ครั้งแรกเป็นช่วงปี 2553 เข้าร่วมโครงการบวชสามเณรี (สมาทานศีล10) 9 วันและขออยู่ปฏิบัติธรรมต่อเป็นเวลาห้าเดือนครึ่งที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีจ.นครปฐม และครั้งที่สองช่วงปี 2557เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมตนเพื่อชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม (สมาทาน บวชแบบอุบาสิกา ศีลแปด )ที่ธรรมาศรมธรรมมาตา สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในดำริการส่งเสริมเพศแม่ปฏิบัติธรรมโดยท่านพุทธทาสภิกขุ และอุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง  ริเริ่มโครงการฯ นี้ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม)

ช่วงที่ปิดวาจาเป็นเวลานานหลายเดือนพร้อมกับการฝึกภาวนาเฝ้ามองจิตอันซัดส่ายไปมาของตนเองบ่อยขึ้น  คุณภัทรจึงเริ่มมองเห็น “การเกิด-ดับ” ของลมหายใจที่เกิดขึ้นทุกขณะ เช่นเดียวกับความทุกข์และความสุขที่ผลัดกันหมุนเวียนเปลี่ยนเข้ามาให้เราได้ “มองเห็น” และ “ปล่อยวาง” ให้เลือนหายไปพร้อมกับลมหายใจในอดีต แล้วดึงจิตกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะให้เร็วที่สุด

หญิงสาวผู้เลือกเดินบนเส้นทางภาวนากล่าวถึงบทเรียนที่ได้รับระหว่างการเดินทางสายนี้ว่า

“หลังจากผ่านคอร์สยาวๆ เราก็เริ่มมองเห็นว่าทำไมเราถึงทุกข์และออกมาจากตรงนั้นไม่ได้  เพราะเราไม่ได้มองว่าสาเหตุที่แท้จริงคือตัวเราเอง เราไปโทษสิ่งรอบข้าง โทษคนอื่น แต่ยกเว้นการโทษตัวเราเอง ฉะนั้นถ้าเราอยากพ้นทุกข์ เราก็ต้องเริ่มจากแก้ไขตัวเราเอง เริ่มจากปรับความคิด ปรับวิธีปฏิบัติธรรมที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่วัด แต่เราต้องปรับให้อยู่ในชีวิตประจำวันและนำมาปรับใช้กับการทำงานให้ได้ด้วย เช่น เวลาทำงานไม่ได้ดั่งใจ  เรามักจะมีอารมณ์โกรธ เราก็ต้องกลับมาดูแลใจของเราใหม่ว่าเกิดอะไรขึ้นเพื่อให้เราทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น”

เมื่อมองเห็นใจตนเองชัดขึ้น คำตอบที่ตามหามานานว่า “ทำไมคนดียังทุกข์อยู่” จึงแจ่มชัดตามมา

“เริ่มงานที่นี่มา 7 ปี  ช่วง 3 ปีแรก เราเป็นคนดีที่ยังทุกข์อยู่ เพราะเราเห็นประโยชน์ส่วนตนน้อย ทุ่มเทให้ประโยชน์ส่วนรวมจนร่างกายเหนื่อยล้า สุขภาพทรุดโทรม จัดการความรู้สึกตนเองไม่ได้  หลังจากปฏิบัติธรรมก็เริ่มมองเห็นว่า ถ้าเราตกหลุมไปทำประโยชน์ท่านมาก แต่เห็นประโยชน์ของตนน้อยเกินไป เราก็จะไปไม่รอดเพราะเหนื่อยจนหมดแรงทั้งกายและใจ   ฉะนั้น เราต้องเห็นความสำคัญของประโยชน์ตนไปพร้อมๆ กับผู้อื่น พอได้คำตอบนี้ เราก็กลับมาร่าเริงในธรรมะและผ่อนคลายในการทำงานมากขึ้น”

ผลจากการรดน้ำพรวนดินเมล็ดพันธุ์ธรรมะมานานหลายปี ต้นไม้ธรรมะก็เริ่มผลิใบ แตกกิ่งก้านสาขา เติบโตงอกงามจนเป็นต้นไม้ใหญ่จนอยากแบ่งปันให้ผู้หญิงในสังคมเมืองกรุงได้เข้ามาพักพิง เพราะเธอรู้ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับผู้หญิงที่จะทิ้งภาระความรับผิดชอบมาปฏิบัติธรรมยาวนานนับเดือนเหมือนอย่างเธอ

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ปี 58 คอร์สมาตาภาวนาสำหรับผู้หญิงเมืองกรุงจึงเริ่มต้นขึ้นจากกลุ่มกัลยาณมิตรประมาณ 15 คนที่เคยปฏิบัติธรรมร่วมกัน  แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นเพียง 18 ชั่วโมงแต่ผู้ที่ได้เข้าร่วมกลับรู้สึกเหมือนได้เจอบ่อน้ำกลางทะเลทรายของสังคมเมืองกรุงอันแห้งแล้ง ยากจะหาเวลา “พักใจ” จากโลกโซเชียลและสังคมพลุกพล่านรอบตัว การได้ปิดเครื่องมือสื่อสาร ปิดหน้าจอคอมฯ ปิดวาจา แม้เพียงข้ามคืนเดียวได้ทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกเหมือนได้ shut down ความคิดตนเองเพื่อชาร์ตแบตได้เต็มที่ เพราะไม่มีข้อมูลข่าวสารความทุกข์ใจใหม่ๆ ผ่านเข้ามาให้รับรู้ ขณะเดียวกันก็ได้พักเทขยะในจิตที่หมักหมมมาทั้งสัปดาห์ออกไป เพราะการปิดรับขยะใหม่และเทขยะเดิมทิ้งไปทำให้จิตปลอดโปร่งเบาสบายและได้พักผ่อนอย่างแท้จริง แม้ว่าร่างกายอาจมีเวลานอนหลับไม่เต็มอิ่มในค่ำคืนของการเข้าร่วมกิจกรรมก็ตาม

“การปฏิบัติในรูปแบบทำให้เรามีพลังกลับมา สร้างนิสัยใหม่ที่ไม่ได้เกิดจากตัวเองเท่านั้น แต่เกิดจากคนอื่น หรือกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่ได้สื่อสาร ปิดวาจากับใคร ทำให้อยู่กับตัวเองมากขึ้น เราเห็นตัวเอง อยู่กับตัวเอง อาจมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นบ้างแต่เล็กน้อยมาก พอเรารู้ว่าตัวเองว่ามีข้อเสียแบบไหน คนอื่นเขาก็มี มันเป็นเรื่องธรรมดา เรายอมรับข้อผิดพลาดของตัวเองมากขึ้น เรารู้สึกใคร่ครวญและทบทวนตัวเองตลอดเวลาว่าวันนี้เราทำอะไรผิดพลาดบ้างไหม”

รูปแบบกิจกรรมตลอด 18 ชั่วโมงได้คัดเลือกเนื้อหาสำคัญของการเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมมาให้สัมผัสกันแบบย่อยง่าย อาทิ การฝึกนั่งสมาธิดูลมหายใจ การฟังซีดีบรรยายธรรมะโดยท่านพุทธทาสภิกขุ การฟังบรรยายธรรมะและตอบคำถามข้อสงสัยโดยแม่ชี หรืออุบาสิการุ่นพี่ การสวดมนต์ที่มีบทแปลเพื่อให้รู้ความหมายของบทสวด รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนข้อซักถามในวงคุยรวมกันก่อนกลับบ้าน

สิ่งที่ถูกตั้งคำถามจากผู้ปฏิบัติธรรมบ่อยมากคือ “ทำไมต้องใส่เสื้อขาวและนุ่งผ้าถุงสีดำ” เพราะนี่คือการยึดติดกับเครื่องแต่งกายมากเกินไปหรือเปล่า คุณภัทรตอบคำถามเรื่องนี้ว่า

ช่วงแรกคนไม่คุ้นกับการแต่งกายว่าทำไมต้องใส่ชุดแบบนี้ เรามองว่าประโยชน์ในการใส่ชุดปฏิบัติธรรมที่เป็นผ้าถุงจะทำให้ผู้ใส่เกิดความสำรวมมากกว่าการใส่กางเกง เสื้อผ้าสีขาวเป็นเสื้อที่เรียบง่าย เวลาปฏิบัติร่วมกันไม่เกิดความแตกต่างทางเครื่องแต่งกาย  เราบวชที่ใจไปพร้อมกันด้วยการสำรวมอินทรีย์ทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ  กฎสามข้อที่ต้องเน้นกับผู้ปฏิบัติธรรมคือ  ปิดวาจา ปิดมือถือ ปิดการสื่อสารกับโลกข้างนอก ถ้าเราทำและปฏิบัติตามกติกา เราจะมีบรรยากาศของการภาวนาจริงๆ ถ้ามีใครพูดกันสักคนก็จะกระเทือนเพื่อนคนอื่นในคอร์สด้วย บางคนแม่เป็นผู้ป่วยติดเตียง การจะมาเข้าคอร์สไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเพื่อนในคอร์สพูดคุยกัน คนที่ตั้งใจมาปฏิบัติก็จะม่สามารถปฏิบัติได้เต็มที่ เมื่อไรก็ตามที่กระทบกับประโยชน์ส่วนรวม เราเป็นคนที่อยู่ตรงกลางต้องทำหน้าที่ขอความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมเพื่อให้เขาตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเองและคนอื่น

บางคนสงสัยว่าการเข้าร่วมคอร์ส 18 ชั่วโมงจะสามารถทำให้คนเข้าใจธรรมะและกลับไปปฏิบัติที่บ้านด้วยตนเองหรือไม่  คุณภัทรอธิบายหลักการฝึกปฏิบัติธรรมให้ฟังว่า

การมาปฏิบัติร่วมกันทำให้เราได้เห็นบรรยากาศของพลังกลุ่ม บางคนนั่งอยู่ที่บ้านห้านาทีก็ลืมตาแล้ว แต่พอมาปฏิบัติร่วมกันครั้งละหนึ่งชั่วโมง ถ้าลืมตามาเพื่อนยังนั่งหลับตาอยู่ เขาก็จะลองหลับตาต่อไป จากที่ทำได้ไม่นานก็จะนั่งได้นานขึ้น แม้ว่าความคิดจะฟุ้งซ่าน แต่ฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เราก็จะดึงตัวเองกลับมาอยู่กับปัจจุบันได้เร็วขึ้น สิ่งที่เรามาเรียนรู้ร่วมกัน คือ วิถีหรือนิสัยใหม่ที่เราทำกันเป็นหมู่คณะ  ถ้าเราทำได้ เวลากลับไปอยู่ที่บ้านก็น่าจะเริ่มทำได้ด้วยตนเอง เช่น เราจะใส่ความรู้สึกตัวในชีวิตประจำวัน รู้สึกตัวตอนพูด ตอนเข้าห้องน้ำ ตอนทำงาน มันเหมือนเป็นระฆังเตือนสติที่ย้อนกลับมาหาตัวเอง

ตลอดเวลากว่าสิบปีตั้งแต่เริ่มต้นก้าวสู่เส้นทางธรรม คุณภัทรเริ่มมองเห็นว่า “ธรรมะกับผู้หญิง” เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะท่ามกลางภาระที่ผู้หญิงต้องแบกรับจนแทบไม่มีเวลาให้ตนเอง ยิ่งทำให้ผู้หญิงจมอยู่กับความทุกข์ได้ง่ายขึ้น การมีเวลา “หยุดพักใจ” ด้วยการเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม 18 ชั่วโมงจึงทำให้ผู้หญิงหลายคนมีความสุขกับวิถีชีวิตเดิมๆ มากขึ้น หลายคนจึงเป็น “ขาประจำ” ทุกสัปดาห์เว้นสัปดาห์ แม้ว่าภาระความรับผิดชอบจะยังมากมายเท่าเดิม แต่ด้วยมุมมองต่อชีวิตที่เปลี่ยนไป “ความทุกข์” จึง “เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป” ได้เร็วขึ้น ความสุขจากการอยู่กับปัจจุบันขณะจึงมาเยือนบ่อยขึ้นจนทุกคนสามารถ “เริงร่าในธรรมะ” เช่นเดียวกับผู้หญิงวัย 38 ปีคนนี้ได้เช่นกัน

ยิ่งเราปฏิบัติธรรมมากขึ้น เราก็จะเรียนรู้ว่า เราไม่ใช่คนสมบูรณ์แบบ เราเป็นคนหนึ่งที่ทำอะไรพลาดได้ และคนอื่นก็พลาดได้เช่นกัน ถ้าเรารู้ตัวได้เร็ว เราก็จะแก้ปัญหาได้เร็ว เราจะคาดหวังให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงทันทีไม่ได้ เพราะทุกคนก็มีเวลาของเขา เราก็มีเวลาของเรา

บนเส้นทางธรรมะสายนี้…คงไม่มีใครช่วยให้ใครพ้นทุกข์ได้ หากเราไม่เริ่มต้นก้าวเดินด้วยสองเท้าของตนเอง เราก็คงจะจ่อมจมอยู่กับความทุกข์ตรงหน้า  กล่าวโทษโชคชะตาที่พัดโหมปัญหารอบด้านมาให้เรา โดยหลงลืมไปว่าความทุกข์และความสุขคือสัจธรรมความไม่เที่ยงบนโลกใบนี้ แค่เพียงเราตระหนักรู้การเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไปพร้อมกับหนึ่งขณะของลมหายใจ เราก็จะรับมือกับความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาอย่างมีสติและมีหนทางดับทุกข์ให้ตนเองได้เร็วขึ้นอย่างแน่นอน

 

หมายเหตุ – ชมคลิปวีดีโอเรียนรู้เรื่องการทำงานคือการปฏิบัติธรรม เติมพลังชีวิตให้สดชื่นและเบิกบานกับมาตาภาวนา ที่สวนโมกข์กรุงเทพตามลิงค์นี้ได้เลยค่ะ

การภาวนา

มาตาภาวนา

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save