8 ช่องทางความสุข

รอยยิ้มแห่งความสุขบนเส้นทางภาวนา

“เมื่อก่อนเงื่อนไขในชีวิตเยอะมาก ต้องไปกินข้าวเฉพาะร้านที่ชอบ แต่งตัวดูดีตั้งแต่หัวจรดเท้า หงุดหงิดและโกรธง่ายจนนักศึกษาไม่กล้ามาขอสอบด้วยเพราะขึ้นชื่อว่าดุ”

อาจารย์วรวรรณ วัฒนาวงศ์สว่าง หรืออาจารย์แอนประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการย้อนอดีตก่อนค้นพบหนทางเปลี่ยนแปลงตนเอง

“ตอนนี้เงื่อนไขในชีวิตลดลง โกรธน้อยลง ฟุ่มเฟือยน้อยลง ความอยากน้อยลง ทุกข์น้อยลง วิธีการพูดกับคนอื่นและวิธีแต่งตัวต่างไปจากเดิมเลย

พูดจบเจ้าตัวก็หยิบโทรศัพท์มือถือค้นหาภาพตนเองในอดีตมายืนยัน ภาพหญิงสาวผมยาวสลวยสวยเก๋ในเครื่องแต่งกายทันสมัย แววตาดื้อรั้นแฝงความเชื่อมั่นในตนเองตรงกันข้ามกับผู้หญิงที่อยู่ตรงหน้าเราตอนนี้อย่างสิ้นเชิง

ช่วงปี 2550 ถึง 2558 เข้าเวิร์คชอปแนวพัฒนาตนเองเยอะมาก ทำให้เริ่มเข้าใจตนเองมากขึ้นว่าเราเป็นคนอย่างไร ช่วงที่อยู่ในคอร์สอบรมจะรู้สึกดีมาก แต่พอกลับมาใช้ชีวิตในวิถีเดิมๆ สักพัก เราก็พบว่าเราสามารถพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่งแต่สิ่งที่ฝึกฝนมามันยังไม่พอ ความทุกข์ยังมีอยู่เยอะ ยกตัวอย่างเช่น เวลาโกรธใคร เรายังไม่มีเครื่องมือหยุดตัวเองไม่ให้โกรธ แม้เราจะรู้ตัวว่าเรากำลังโกรธอยู่ก็ตาม

น้ำเสียงเล่าเรื่องปนรอยยิ้มเล็กน้อยเริ่มถ่ายทอดเส้นทางเปลี่ยนแปลงตนเองให้ฟัง  การแสวงหาเครื่องมือใหม่ๆ เริ่มจากการสวดมนต์ก่อนไปทำงานทุกวัน เปิดฟังบรรยายธรรมะ หัดนั่งฝึกสมาธิเอง แต่ทุกวิธีก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้แสวงหาได้รับคำตอบที่ต้องการ จวบจนกระทั่งเดือนธันวาคมปี 2558

“ช่วงนั้นตรงกับวันเกิดของตนเอง อาจารย์ธนาซึ่งเป็นเพื่อนสนิทชวนเข้าคอร์สเจริญสติตามแนวทางหลวงพ่อเทียนเป็นเวลาห้าวัน เป็นคอร์สการสร้างความรู้สึกตัวผ่านการเคลื่อนไหว 14 จังหวะและเดินจงกรม นับเป็นจุดเริ่มต้นของการภาวนาครั้งแรก  คอร์สนี้เปลี่ยนชีวิตเลย เป็นคอร์สที่ปิดวาจาและปฏิบัติต่อเนื่องทั้งวัน ตั้งแต่ตีห้าถึงสองทุ่ม เป็นคอร์สที่หนักเหมือนกันสำหรับเรา เพราะยังไม่เคยเข้าปฏิบัติธรรมเข้มข้นแบบนี้ แต่มันทำให้เราได้เห็นความคิดตนเองเยอะมาก ได้เห็นว่าเราเป็นทุกข์เพราะความคิดของเรา ปฏิบัติไปได้สามวัน บ่ายวันที่สาม เราเห็นคนคุยกันในคอร์ส เราก็โกรธ แต่ขณะที่เราโกรธ เราก็กลับมารู้สึกตัว โดยการยกมือ 14 จังหวะไปเรื่อยๆ แล้วจู่ๆ เราก็มองเห็นความโกรธอยู่ที่สองคนนั้น ความโกรธไม่เข้ามาที่ใจ จึงไม่มีความโกรธ ณ ขณะนั้น ป้าชูซึ่งเป็นผู้ชี้แนะแนวทางให้คำแนะนำว่าต่อไปเราจะโกรธน้อยลง รู้เท่าทันความคิดตนเองมากขึ้น ”

หลังจากจบคอร์สปฏิบัติธรรมคอร์สแรกนี้ เมื่อต้องคืนกลับสู่โลกการทำงานและวิถีชีวิตเดิมๆ ซึ่งแวดล้อมไปด้วยคนหลายกลุ่ม อาทิ นักศึกษาซึ่งเรียนด้านการแก้ไขการพูดให้ผู้ป่วย เพื่อนร่วมงานซึ่งมีทั้งอาจารย์และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล รวมไปถึงผู้ป่วยและญาติ เธอกลับพบว่า มุมมองต่อโลกใบเก่าไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เรารู้สึกเลยว่าคุณภาพใจเราเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย เช่น สมมติว่ามีคนขับรถมาปาดหน้า เมื่อก่อนจะปาดกลับ แต่หลังจากเข้าคอร์สนี้ เราเห็นความโกรธอยู่ที่รถคันนั้น ความโกรธไม่เข้ามาถึงใจ ใจจึงเบาสบาย ทำให้เรานิ่งสงบมากขึ้น เมื่อก่อนเป็นคนขี้หงุดหงิดแล้วพูดออกไปเลย แต่ช่วงนี้เห็นความคิดตนเอง ความคิดก็หายไป มีความรู้สึกตัวมากขึ้น จึงไม่ไปว่าใครหรือโกรธใคร ไม่เอาแต่ใจตัวเองเหมือนเมื่อก่อน ไม่ทำให้คนอื่นและตนเองเดือดร้อน กิจวัตรประจำวันก็เปลี่ยน ทำอะไรช้าลง เล่นเฟซบุ๊กน้อยกว่าเดิม ซื้อของฟุ่มเฟือยน้อยลง ชีวิตจึงง่ายขึ้นเยอะ

“ความรู้สึกตัว”ที่เธอค้นพบที่ทำให้ใจไม่โกรธ ใจเบาสบาย ทุกข์น้อยลง มาจากการฝึกสร้างความรู้สึกตัวผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกาย 14 จังหวะและเดินจงกรม เมื่อเกิดความคิดอะไรขึ้นมา ไม่ไปยุ่งกับความคิด กลับมารู้สึกตัว ความคิดต่างๆ จึงค่อยๆ น้อยลง เท่าทันความรู้สึกต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ความทุกข์ในใจจึงน้อยลงไปเรื่อยๆ

“เราสร้างความรู้สึกตัวผ่านการเคลื่อนไหว ถ้าคิดก็ไม่เป็นไร ปล่อยให้คิดไป กลับมาที่รู้สึกตัว รู้ว่ากายขยับ นั่งทำไปเรื่อยๆ โดยไม่กำหนดเวลา ถ้าเมื่อยก็หยุดหรือเปลี่ยนมาเดินจงกรม เน้นใจดีกับร่างกาย และใจดีกับความคิด ถ้ามีความคิดอะไรไม่ดีขึ้นมาระหว่างปฏิบัติก็ไม่ไปยุ่งกับความคิด เฝ้ามองดูความคิดนั้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งความคิดนั้นลดลงจนรู้สึกผ่อนคลาย ความคิดต่างๆ ค่อยๆ ดับลงไปเองในที่สุด”

หลังจากฝึกฝนตนเองอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายเดือน ทั้งเข้าคอร์สปฏิบัติทุกๆ เดือนและปฏิบัติในรูปแบบที่บ้านทุกเช้า ตั้งแต่ตี 4 ถึงตี 5 คนแวดล้อมเริ่มสังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวอาจารย์ซึ่งเคยขึ้นชื่อว่า เอาแต่ใจตัวเอง เจ้าอารมณ์ เรื่องเยอะ และดุในสายตาของนักศึกษา

“เรารู้ว่ามาถูกทางแล้ว ปฏิบัติเช่นนี้ทำให้ทุกข์ลดลง เลยปฏิบัติทุกวัน ทำให้เรียนรู้และเข้าใจตนเองมากขึ้น ปัญหาที่คาใจมันหยุดเลย นักศึกษาบอกว่าใจดีมากขึ้น เมื่อก่อนนักศึกษาจะไม่กล้ามาสอบด้วย เดี๋ยวนี้มีแต่คนบอกว่าอยากขอสอบกับเรา (พูดแล้วอมยิ้มด้วยความปลื้มใจ)”

เมื่อมุมมองต่อตัวเองเปลี่ยนไป มุมมองต่อการงานก็เปลี่ยนตามด้วยเช่นกัน

เมื่อก่อนเรามีความกลัวว่า เดี๋ยวคนนั้นคนนี้จะว่าไหม แต่ตอนนี้ทำงานเพื่อทำงาน ไม่ได้ทำเพราะอยากได้หน้า เพราะความกลัว หรือทำงานบนความคาดหวังของคนอื่น ทำให้เราโฟกัสกับงานได้ดีขึ้นและผลงานก็ออกมาดีกว่าเดิม

สิ่งที่ทำให้เธอมีความสุขมากขึ้นไม่ใช่เพียงเพราะดับทุกข์ให้ตนเองได้เร็วขึ้นเพียงตัวเธอคนเดียวเท่านั้น ทว่าเธอยังสามารถช่วย “ลดระดับ” ความทุกข์ของผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดด้านการพูดให้เหลือน้อยลงได้ด้วยเช่นกัน

เมื่อก่อนคิดว่าเราตั้งใจทำงานเต็มที่สำหรับคนไข้อยู่แล้ว แต่หลังจากปฏิบัติภาวนา เราพบว่าเราสามารถจับสังเกตความผิดปกติของคนไข้ได้ละเอียดขึ้นและสามารถมองเห็นปัญหาของเด็กง่ายขึ้น เช่น กล้ามเนื้อขยับนิดนึง เราจะมองเห็นแล้ว สามารถจับรายละเอียดภาษากายของเด็กที่มาฝึกพูดได้เร็วขึ้น รับรู้ความรู้สึกของเด็กที่ยังไม่พูดได้ง่ายขึ้น เพราะใจเรานิ่งมากขึ้น หรือแม้แต่พ่อแม่เด็กมาขอคำปรึกษา เราก็รับฟังและให้คำปรึกษาที่ตรงกับความต้องการมากขึ้น สื่อสารกันง่ายขึ้น และกล้าที่จะพูดเพื่อให้เด็กดีขึ้น เมื่อก่อนจะมีความกลัวว่าพูดไปเดี๋ยวเขาจะว่าเราไหม ตอนนี้เราพูดเพราะความหวังดี ความกล้าก็จะมากขึ้น พอเราเข้าใจตนเองแล้ว ง่ายมากที่จะเข้าใจผู้ปกครองหรือเด็กเล็กๆ ก็เลยทำงานราบรื่นมาก



อาจารย์สอนแก้ไขการพูดคนเก่งพูดด้วยความปลาบปลื้มใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่ค้นพบและประจักษ์ด้วยตนเอง เมื่อชีวิตดีขึ้นในทุกด้าน ความสุขอันเกิดจากภายในจึงทำให้เธอรู้สึกอยากแบ่งปันสิ่งดีๆ กับคนอื่นมากขึ้นตามมา เธอได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมงานการจัดคอร์สงานของมนุษย์ การเจริญสติตามแนวทางหลวงพ่อเทียนให้กับผู้ที่แสวงหาหนทางพ้นทุกข์ โดยมีป้าชูเป็นผู้ชี้แนะแนวทาง ป้าชูเรียนรู้คำสอนจากหลวงพ่อเทียนโดยตรงเป็นเวลาหลายปี ภายใต้ชื่อ “การปฏิบัติในแนวหลวงพ่อเทียนโดยป้าชู” โดยรับสมัครผ่านเว็บไซต์ มีการบอกต่อๆ กันไป จนกระทั่งปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มมากกว่า 200 คนและหมุนเวียนกันมาปฏิบัติธรรมกันทุกเดือน เดือนละสองครั้ง สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ต้องเข้าคอร์สทั้งห้าวัน ส่วนผู้ปฏิบัติเก่าสามารถเลือกเข้าคอร์สเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันที่สะดวก

“เราจะรับได้แค่เดือนละ 25 คน ในแต่ละเดือนเราจะรับคนใหม่ได้ประมาณเดือนละ 10 คนเท่านั้น ที่เหลือจะเป็นคนเก่ามาปฏิบัติต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานในเมือง อาทิ อาจารย์มหาวิทยาลัย แพทย์ นักธุรกิจ เจ้าของกิจการ ลูกจ้าง แม่บ้านและผู้สูงอายุ พอประกาศปุ๊บไม่เกินสองชั่วโมงก็เต็มแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าคนปัจจุบันทุกข์มาก ฟีดแบคจากคนที่มาเข้าร่วมส่วนใหญ่เห็นความเปลี่ยนแปลงในตนเองเยอะมาก บอกว่าความทุกข์น้อยลง รู้ทันความคิดมากขึ้น ไม่ค่อยทะเลาะกับลูกเหมือนเมื่อก่อน”

ขั้นตอนการเข้าร่วมกิจกรรม คือ ทุกคนต้องส่งใบสมัครมาทางเว็บไซต์ (www.khunjaidee.com) หลังจากนั้นจะต้องผ่านกระบวนการสัมภาษณ์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันก่อนเข้าปฏิบัติธรรม ระหว่างการปฏิบัติธรรมจะมีป้าชูเป็นผู้ให้คำแนะนำกับผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อให้ทุกคนสามารถพัฒนาการฝึกจิตของตนเองดีขึ้นเรื่อยๆ

 หัวใจสำคัญของการเข้าคอร์สนี้ คือ การสร้างความรู้สึกตัวผ่านการเคลื่อนไหว 14 จังหวะหรือเดินจงกรมอย่างต่อเนื่อง และทำสบายๆ สบายกายและสบายใจ ปล่อยให้คิดได้แต่ไม่เข้าไปยุ่งกับความคิด มีการปิดวาจาเพื่ออยู่กับตนเอง เราจะเริ่มสะสมความรู้สึกตัวเหมือนสะสมหยดน้ำทีละหยด น้ำก็เหมือนสติที่เราสะสมไว้ ถ้าเราสะสมความรู้สึกตัวทั้งวันจนได้น้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วเผลอไปพูดกับคนอื่น รับข้อมูลข่าวสารใหม่เมื่อไหร่ น้ำก็จะรั่วออกจากแก้วที่เราสะสมไว้ทันที

“เวลาอยู่ในคอร์สถ้ามีปัญหาอะไรก็จะคุยกับป้าชู วันละสองรอบ เช้าและเย็น สอบถามเรื่องการปฏิบัติว่าเป็นอย่างไรบ้าง บางคนก็หลุดจากทุกข์ บางคนคิดซ้ำไปซ้ำมา ป้าชูก็จะบอกให้ทำต่อไป ใจดีกับกายและความคิดและขยันขยับไปเรื่อยๆ ตอนแรกเราจะยังเห็นทุกข์ก้อนนี้อยู่ แต่หลังจากปฏิบัติไปเรื่อยๆ ทุกข์ก็จะลดลงไปเอง”

ไม่เพียงช่วยจัดคอร์ส “ลดระดับความทุกข์” ให้คนทำงานในเมืองใหญ่ อดีตอาจารย์ “จอมโหด” ผู้กลายมาเป็น“ขวัญใจนักศึกษา” ยังหาเวลามาแบ่งปันความสุขจากการปฏิบัติธรรมมาเผื่อแผ่ลูกศิษย์ด้วยเช่นกัน

“เราจัดค่ายปฏิบัติธรรมให้นักศึกษาประมาณ15 คน โดยไม่ได้บังคับ นักศึกษาก็ฟีดแบคหลังจบคอร์สว่า เขาทันความคิดมากขึ้น เวลาแม่บ่นก็จะหุบปากไม่บ่นกลับ ด้วยวัยของนักศึกษาอาจฝึกยังไม่ต่อเนื่องนัก แต่เขาก็บอกว่า เวลาเจอความทุกข์ การปฏิบัติธรรมก็จะช่วยได้เหมือนกัน”

ก่อนจบบทสนทนา อดีตอาจารย์สาวเจ้าอารมณ์กล่าวสรุปบทเรียนชีวิตบนเส้นทางปฏิบัติธรรมเกือบสิบปีที่ผ่านมาด้วยแววตาสงบนิ่งแฝงด้วยรอยยิ้มจากความสุขภายในว่า

ที่ผ่านมา เรามองไม่เห็นปัญหาตนเอง มีชีวิตแบบโลภ โกรธ หลงตื้นๆ ตามความต้องการของเรามากกว่า ไม่รู้เท่าทันตัวเอง แต่พอเราปฏิบัติภาวนาแต่ละครั้งก็จะเห็นตนเองลึกขึ้น เข้าใจตนเองมากขึ้น สังเกตรายละเอียดได้เยอะขึ้น ปฏิบัติมาถึงในจุดที่เห็นข้างในตัวเองลึกมาก รู้ความเป็นมนุษย์ของเรา โลภ โกรธ หลงมีความเป็นมาอย่างไร รู้เท่าทันกิเลสเรา ความทุกข์ก็ค่อยๆ ลดลง เงื่อนไขในชีวิตก็ลดลง กลายเป็นคนอยู่ง่ายสบายๆ

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก อ.แอน มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

 

 

การภาวนา

การเคลื่อนไหว 14 จังหวะ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save