8 ช่องทางความสุข

เกตุวดี Marumura นักเขียนไทยหัวใจญี่ปุ่น

“เวลาไปญี่ปุ่นไม่ได้รู้สึกว่าไปเที่ยว แต่รู้สึกเหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง เพราะมีความสุขกับการใช้ชีวิตที่นั่นมาก”

 “เกตุวดี Marumura” ถ่ายทอดความรู้สึกต่อประเทศญี่ปุ่นผ่านรอยยิ้มสดใส หากดูเพียงชื่อประกอบกับใบหน้าผิวพรรณ เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจผิดว่าเธอมีเชื้อสายญี่ปุ่นอย่างแน่นอน แต่ความจริง เธอคือนักเขียนไทยหัวใจญี่ปุ่นเจ้าของเพจ “เกตุวดี Marumura” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 7 หมื่นคน รวมทั้งยังเป็นคอลัมนิสต์ให้สื่อออนไลน์และมีผลงานรวมเล่มพ็อคเก็ตบุ๊คที่ตีพิมพ์มาแล้วหลายเล่ม และยังเป็นด็อกเตอร์ด้านการตลาดรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ คือชื่อจริงของนักเขียนหญิงคนเดียวกันนี้

ปัจจุบันเธอมีความสุขกับทำงานทั้งสองอย่างควบคู่กันไป เพราะเชื่อมั่นในการส่งต่อ “พลังการสื่อสาร” เรื่องราวดีๆ ไปสู่คนอื่นนั่นเอง

“เราเป็นคนชอบสื่อสาร เวลาได้สื่อสารเรื่องราวดีๆ ออกไปรู้สึกชีวิตมีความสุขจังเลย เวลาคนอ่านนำไอเดียจากงานเขียนของเราไปใช้ ทำให้รู้สึกว่างานที่ทำมีคุณค่าและมีพลังดีๆ สะท้อนกลับมาให้เรามีกำลังใจอยากทำงานต่อไป”

นกน้อยในกรงทองบินสู่โลกกว้าง

ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ หรือ นามปากกาในโลกออนไลน์ “เกตุวดี Marumura” ย้อนอดีตวัยเยาว์ให้ฟังว่าชีวิตของเธอเหมือน “นกน้อยในกรงทอง” เป็นเด็กเรียนเก่งที่มีพ่อแม่คอยดูแลทุกอย่าง จวบจนกระทั่งได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาตรี โท และเอกที่ประเทศญี่ปุ่นรวม 8 ปี   ประตูกรงจึงถูกเปิดออกให้ได้โผบินสู่โลกกว้างด้วยตนเอง

เราเหมือนนกในกรงที่ถูกขังมา 17 ปี พอโดนปล่อยออกจากกรงก็บินออกมาอย่างโหยหาอิสรภาพ เราทำตัวเหมือนผ้าขาวเปิดใจเรียนรู้ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา เลยใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นตลอดแปดปีอย่างมีความสุข

แม้ว่าเพื่อนบางคนจะไม่ชอบนิสัยความขี้เกรงใจของคนญี่ปุ่น แต่สำหรับนกน้อยที่บินออกจากกรงทองอย่างเธอแล้ว กลับมีความสุขในการเลือกซึมซับแง่มุมดีๆ ของคนญี่ปุ่นมาพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ทำให้เธอมีความสุขในการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่นจนกลืนกลายกับสังคมญี่ปุ่นได้ไม่ยาก

“คนญี่ปุ่นปลูกฝังเรื่องความเกรงใจให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก เวลาไปไหนมาไหนแล้วเด็กเสียงดัง แทนที่พ่อแม่จะบอกลูกว่า ‘เงียบนะ’ แต่เขาจะบอกว่า ‘อย่ารบกวนคนอื่นสิ’ หรือ คำว่า ‘ขออนุญาต’ จะถูกนำมาใช้เป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นการให้เกียรติอีกฝ่าย ขนาดเราจะยืมของเพื่อนยังต้องพูดว่า ‘ขออนุญาตยืมปากกาหน่อยนะ’ ปกติคนญี่ปุ่นจะไม่ชอบแสดงออกอารมณ์ความรู้สึก แต่ถ้าเป็นคำว่า ‘ขอบคุณ’ และ ‘ขอโทษ’ จะใช้บ่อยมาก เช่น ถ้าเจ้านายญี่ปุ่นพาไปเลี้ยงข้าว ลูกน้องกล่าวขอบคุณตอนกินเสร็จแล้วครั้งหนึ่ง พอกลับมาบ้านยังต้องอีเมลไปขอบคุณอีกรอบ การขอบคุณบ่อยๆ ยิ่งทำให้เรานึกถึงคนอื่นมากขึ้น”

นอกจากการเรียนรู้วัฒนธรรมดีๆ ของคนญี่ปุ่นแล้ว นักเรียนทุนต่างแดนคนนี้ยังได้เรียนรู้ความสุขจากการเดินทางทั้งภายนอกและภายในจิตใจตนเองด้วยเช่นกัน

ตอนอยู่กรุงเทพฯ เราไม่เคยมองท้องฟ้าเลย พออยู่ที่โน่น เริ่มสังเกตตัวเองและธรรมชาติรอบตัวมากขึ้น เวลาเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ จะชอบความเงียบ ได้ยินเสียงเท้าของเราเดินบนใบไม้แห้งหรือเสียงน้ำไหล บางวันแค่แหงนมองเห็นท้องฟ้าใสก็มีความสุขแล้ว เหมือนเราอยู่กับธรรมชาติมากขึ้นแล้วใจสงบลง ทำให้กลับมาอยู่กับตัวเองมากขึ้น

หลังจากเริ่มปรับตัวใช้ชีวิตในญี่ปุ่นได้อย่างกลมกลืนและมีความสุข หญิงสาวนักเรียนทุนจึงเริ่มลงมือขีดๆ เขียนๆ เรื่องราวเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมญี่ปุ่นออกมาให้คนไทยได้อ่านผ่านเว็บไซต์ชื่อว่า “Marumura” (แปลว่า หมู่บ้านวงกลม) ภายใต้นามปากกา “เกตุวดี” จนกระทั่งชื่อ “เกตุวดี Marumura” กลายเป็นนักเขียนเรื่องราวญี่ปุ่นที่มีผู้ติดตามอ่านบนโลกออนไลน์มากที่สุดคนหนึ่งในเวลาไม่นาน

จากนักเรียนทุนสู่นักเขียนไทยหัวใจญี่ปุ่น

หากใครติดตามอ่านผลงานของนักเขียนหญิงคนนี้จะพบจุดเด่นที่สำคัญคือ การหยิบแง่มุมเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างคนไทยและคนญี่ปุ่นมาบอกเล่าเป็นเรื่องราวสนุกๆ ด้วยภาษาอ่านง่าย หลายเรื่องเป็นมุมเล็กๆ ใกล้ตัวที่นักเขียนคนอื่นอาจมองข้ามไป แต่เธอสามารถหยิบยกมาเล่าได้อย่างน่าสนใจ ใครได้อ่านมักอมยิ้มตามไปด้วยเสมอ เมื่อถามถึงเคล็ดลับในการหาวัตถุดิบมานำเสนอ เธอตอบว่า เรื่องส่วนใหญ่มาจากคำว่า “เอ๊ะ…” เท่านั้นเอง

“ตอนเขียนช่วงแรก เริ่มจากการสังเกตความแตกต่างระหว่างญี่ปุ่นและไทยในเรื่องรอบตัวว่า เอ๊ะ…ไทยเป็นแบบนี้ ญี่ปุ่นเป็นแบบนั้น เพราะเวลาเราไปอยู่เมืองนอกนานๆ พอกลับมาเมืองไทย เราก็มักจะมองเห็นเรื่องเดิมๆ ในมุมที่ต่างออกไป ตรงนี้น่ารัก ตรงนี้ขำๆ ดี เช่น กว่าจะข้ามถนนเมืองไทยได้ทำไมยากจังเลย หรือเวลาอ่านข่าว เซเรปไฮโซเมืองไทยเปิดบ้านร้อยล้านก็มานั่งคิดว่าที่ญี่ปุ่นไม่มีข่าวแบบนี้

“ประเด็นที่นำมาเขียนช่วงปีแรกๆ ส่วนใหญ่มาจากเรื่องรอบตัวเพราะจะใกล้ชิดผู้อ่านได้ง่าย อาทิ ชีวิต ความรัก การกิน การเที่ยว การเดินทาง เป็นต้น เราจะพยายามไม่เปรียบเทียบว่าใครดีกว่าใคร มีแต่บอกว่า ญี่ปุ่นคิดแบบนี้ ไทยคิดแบบนี้ อยากเชื่อมสองวัฒนธรรมให้ยอมรับความแตกต่างของกันและกัน”

หลังจากเขียนเรื่องรอบตัวจนถึงจุดอิ่มตัว ประกอบกับเลือกเรียนปริญญาเอกด้านการตลาด เธอจึงเริ่มหันมาสนใจเขียนเรื่อง “ธุรกิจเพื่อสังคมในญี่ปุ่น” เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับแวดวงคนทำธุรกิจไทยในการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีคุณค่าต่อสังคมไทยมากยิ่งขึ้น

พอเราอายุมากขึ้น เราก็ไม่สนุกในการเขียนเรื่องไลฟ์สไตล์แล้ว เลยหันมาเขียนเรื่องธุรกิจเพื่อสังคมบ้างเพราะเราไม่ได้เปลี่ยนความคิดแค่คนหนึ่งคน แต่เปลี่ยนความคิดผู้ประกอบการที่สร้างสินค้าให้คนไทยได้ด้วย  เมื่อก่อนไม่เชื่อว่าคนไทยชอบอ่านเรื่องเครียดๆ แต่ก็อยากลองเขียนดู พอเขียนไปแล้วปรากฎว่ามีคนชอบมาก หลังจากนั้นก็เปลี่ยนสไตล์การเขียนไปเลย คือกล้าแสดงออกสิ่งที่ตัวเองคิดมากขึ้น

ความสำเร็จจากการเขียนงานแนว “ธุรกิจเพื่อสังคม” ส่งผลให้แฟนคลับงานเขียนของเธอขยายตัวจากกลุ่มคนอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่น สู่แวดวงคนทำงานธุรกิจที่ต้องการไอเดียการตลาดแนวใหม่ รวมทั้งคนทำงานภาคสังคมที่ต้องการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม งานเขียนของเธอจึงถูกแชร์ไปในโลกออนไลน์มากกว่างานเขียนไลฟ์สไตล์ทั่วไป เพราะเป็นงานเขียนที่สร้าง “พลังการเปลี่ยนแปลงสังคม” ด้วยเช่นกัน อาทิเช่น เรื่อง “ชอล์กแห่งความสุข” เป็นเรื่องของบริษัทผลิตชอล์กที่มีพนักงานบริษัทร้อยละ 70 เป็น ‘ผู้มีความต้องการพิเศษ’ เป็นต้น นักเขียนหญิงเล่าถึงแรงบันดาลใจการนำเสนอเนื้อหาแนวนี้ว่า

“ตอนเราอยู่เมืองไทยไม่ค่อยมีใครคิดแบบนี้ ทุกคนบอกว่า ‘เฮ้ย..เป็นนักธุรกิจดีว่ะ รวย’ เราเลยอยากเขียนประเด็นธุรกิจช่วยสังคมได้นะ เราอยากเอาไอเดียนี้ให้คนไทยอ่าน มันไม่ได้ทำงานแค่เพื่อเงิน แต่เราทำอะไรที่มีคุณค่ากับชีวิตมากกว่านั้น อย่างเช่น เราเขียนบทความนี้เพราะอยากให้คนในชุมชนมีความสุข มีของอร่อยทาน เราเขียนเรื่องโถสุขภัณฑ์เพราะทุกคนมีปัญหาเรื่องการเข้าห้องน้ำ หรือการได้เดินทางไปตามเมืองต่างๆ ได้เห็นว่าแต่ละเมืองมีวัฒนธรรม ภาษาต่างกัน ทุกเมืองมีเสน่ห์ เขาจะภูมิใจว่าเมืองของฉันมีอะไรดี พอเราเรียนเรื่องการตลาดก็ได้เห็นไอเดียเก๋ๆ น่าสนใจเอามาบอกเล่าให้คนไทยได้อ่านกัน”

ในฐานะนักเขียนตัวเล็กๆ คนหนึ่งคงไม่มีอะไรน่าภูมิใจไปกว่าการได้รับฟีดแบคดีๆ จากคนอ่านที่ได้แรงบันดาลใจจากงานเขียนแล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

“เคยเจอคุณผู้อ่านที่อยู่โคราช บอกว่าที่บ้านกำลังทำสวนน้ำ มีร้านกาแฟและห้องสมุดเพราะได้แรงบันดาลใจจากการอ่านงานเขียนของเรา อยากให้เด็กมีหนังสือดีๆ อ่าน สิ่งที่เขามาเล่าให้ฟังทำให้เรารู้สึกมีความสุขมากๆ”

 ฉีดวัคซีนชีวิตให้คนรุ่นใหม่

“คนไทยเลี้ยงและเป็นห่วงลูกค่อนข้างมาก คอยปกป้องดูแลลูก เด็กจึงไม่มีโอกาสฉีดวัคซีนชีวิตตนเอง จะทำอะไรแม่ก็จัดให้ ทำให้ไม่ได้คิดด้วยตนเอง โลกของเราตอนอยู่เมืองไทยเป็นเด็กเรียนคนหนึ่ง จากบ้านไปโรงเรียน เลิกเรียน เรียนพิเศษ เราพยายามทำกิจกรรมเป็นประธานกีฬาสีด้วย แต่เรื่องอื่นๆ มีพ่อแม่ช่วยทุกอย่าง พอไปอยู่ญี่ปุ่น แค่ไปส่งจดหมายที่ไปรษณีย์เองได้ ลองใช้เครื่องซักผ้าเป็นนี่ ภูมิใจในตัวเองมากๆ เลย นั่นคือตอนที่เราอายุตั้ง 18 ปีแล้ว การอยู่ต่างประเทศทำให้เราพึ่งพาตัวเองได้ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา”

ด็อกเตอร์นักเขียนย้อนอดีตสมัยเรียนปริญญาเอกให้ฟังว่า เธอเองก็เคยเป็น “เด็กเรียนที่ไร้แรงบันดาลใจ” มาก่อนจนถึงขนาดอยากเดินข้ามถนนให้รถชนตายเพราะไม่รู้ว่าเรียนจบปริญญาเอกแล้วจะไปทางไหนต่อดี

ชีวิตทุกข์ที่สุดคือ ตอนเรียนไปถึง ป.เอกแล้วหาแรงบันดาลใจ หรือ passion ไม่เจอ การเป็นเด็กเรียนมันง่าย แค่รู้ว่าอาจารย์จะออกข้อสอบอะไรก็อ่านตามนั้น ตอนเรียนโทก็ยังหาตัวเองไม่เจอ เลยเรียนต่อป.เอกละกัน ชีวิตเราเป็นเด็กเรียนมาตลอด แต่พอกำลังจะเรียนจบ ป.เอก เริ่มรู้สึกเคว้งคว้าง เพราะต่อไปเราต้องกำหนดชีวิตตัวเอง ไม่ต้องมีใครบอก ก. ข. ค. ง. ไม่มีใครบอกว่าถูกหรือผิด เด็กที่ไม่เคยคิดอะไรด้วยตัวเอง เลยไม่รู้จะเดินไปไหนต่อดี ตลอดหนึ่งปีแรกของการเรียนป.เอก ชีวิตไม่มีความสุขเลย ไม่ชอบวิจัย เคยรู้สึกอยากเดินข้ามถนนให้รถชนๆ ไปเลย รู้สึกแย่มาก เลยตัดสินใจพักการเรียนกลับมาเมืองไทยก่อน

หลังจากกลับมาถึงเมืองไทยเพียงไม่กี่วัน เธอก็ได้พบคำตอบของชีวิตที่กำลังตามหา ชีวิตจึงไม่เคว้งคว้างอีกต่อไป

“พอกลับมาได้สามวัน รุ่นพี่ชวนมาสอนหนังสือที่จุฬาฯ เวลาอยู่ในห้องเรียน เราเห็นแววตาเด็กเป็นประกายแล้วรู้สึกมีความสุขขึ้นมาเลย คิดว่าจะกลับไปเรียนให้จบแล้วทำงานเป็นอาจารย์ เพราะเป็นทักษะที่เราทำได้ดีและมีความสุข”

การเป็นอาจารย์สอนคนรุ่นใหม่ยิ่งทำให้เธอมองเห็น “เงาอดีต” เด็กเรียนของตนเองซ้อนทับอยู่ในตัวนักศึกษาชัดเจนมากขึ้น จนทำให้เธอรู้สึกอยากส่งผ่านแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่มองเห็นความฝันของตนเองมากขึ้น

การเป็นอาจารย์ยิ่งทำให้เห็นว่า ลูกศิษย์หลายคนไม่รู้จัก passion เวลามาเรียนหนังสือ บางคนจะทำตาลอยๆ  ไม่หิวโหยการเรียนรู้เลย ยิ่งเด็กที่มีทางบ้านขีดเส้นทางชีวิตให้หมดแล้ว จบป.ตรีแล้วต้องต่อป.โทสาขานี้ ประเทศนี้ เด็กกลุ่มนี้ยิ่งไม่มี passion ของตนเองเลย เขาก็จะใช้ชีวิตแบบเบลอ เรียนไปแบบเบลอ ถามว่าอยากทำอะไร ใช้ชีวิตเพื่ออะไร เด็กบอกไม่รู้

การศึกษาบ้านเราชอบให้เด็กเก่งทุกวิชาเท่ากันหมด แต่เราไม่เคยให้เขาหยิบหรือชูความเป็นตัวตนของเขาขึ้นมาเลย เด็กบางคนทำทุกวิชาได้ดีเท่ากัน แต่เวลาถามว่าหนูชอบอะไร เหมือนหัวใจเขาตายด้านไปแล้ว

ในฐานะที่เราเป็นครู เราจะทำยังไงให้เขาหาความฝันของตนเองให้เจอ”

สิ่งที่ทำได้ในฐานะอาจารย์คนหนึ่ง คือการสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์ค้นหาศักยภาพตนเองด้วยความเชื่อมั่นและก้าวเดินไปตามทางที่ฝันไว้เฉกเช่นเดียวกับเธอ

“เราสอนการตลาดก็จริง แต่เรามักจะบอกเด็กเสมอให้มีความกล้าในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ คุณต้องกล้าต่อสู้เพื่อความฝันของตนเอง พ่อแม่ในสังคมไทยมักหวาดกลัวความมั่นคงทางสังคม คนในสังคมมักแซวเรื่องจุดด้อยของคนอื่นทำให้ขาดความภูมิใจในตนเอง เช่น อ้วนขึ้น ดำขึ้น และยังขาดการสร้างแรงบันดาลใจในอาชีพที่หลากหลาย ผิดกับญี่ปุ่น เขาทำให้ทุกคนเห็นว่าทุกอาชีพมีคุณค่าของตนเอง พอทุกคนตั้งใจทำหน้าที่ของตนเองให้ดี มันก็เลยต่อยอดกันและกัน เพราะทุกคนทุกอาชีพสำคัญเท่ากันหมด”

ทุกวันนี้ ด็อกเตอร์สาวและนักเขียนไทยหัวใจญี่ปุ่นยังคงมีความสุขกับการทำงานทั้งสองอย่างที่รักในชีวิต แม้ว่าก่อนหน้านี้พ่อแม่จะยังไม่เชื่อมั่นในเส้นทางที่เลือกเดิน แต่เมื่อเธอพิสูจน์ให้เห็นถึงความรักในงานที่มีอย่างเต็มหัวใจแล้ว ความสำเร็จที่มาพร้อมกับความสุขจึงทำให้ครอบครัวยอมรับได้ในที่สุด

เราเองก็ต้องผ่านการพิสูจน์ตนเองให้พ่อแม่เชื่อเหมือนกันว่าเป็นอาจารย์แล้วมีความสุข เงินเดือนอาจน้อยกว่าอาชีพอื่นก็จริง แต่เราพยายามบอกพ่อแม่เสมอ เช่น เอาจดหมายที่เด็กๆ เขียนให้ดูว่าเด็กนักศึกษามีความสุขยังไง พอเราตั้งใจทำหน้าที่ตนเองให้ดีที่สุด เงินทองและความสุขก็จะตามมาพร้อมกันเอง

ขอบคุณภาพประกอบทั้งหมดจากคุณ “เกตุวดี Marumura”

การทำงาน

เกตุวดี Marumura

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save