8 ช่องทางความสุข

เปิดโลกการเรียนรู้คนรุ่นใหม่กับ ดร. อดิศร จันทรสุข

ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี

บรรยากาศเปิดปีการศึกษาใหม่คึกคักไปด้วยนักศึกษาที่เพิ่งผ่านรั้วโรงเรียนเข้าสู่มหาวิทยาลัย คนหนุ่มสาวในวัยแสวงหาความหมายต่างก้มหน้าก้มตามองดูหน้าจอมือถือของตนเอง   บ้างอ่านข่าวสารอัพเดทในโลกสังคมออนไลน์ บ้างค้นหาสินค้าไอทีรุ่นใหม่ บ้างค้นหาผลิตภัณฑ์เสริมความงามไปจนถึงสถาบันลดความอ้วน

พอถึงเวลาเข้าเรียนชั่วโมงแรก ทุกคนแยกย้ายกันเข้าห้องเรียน เตรียมพร้อมจดเลคเชอร์ตามความเคยชิน ทว่า เมื่อย่างเท้าเข้าไปในห้อง พวกเขาต้องแปลกใจกับรูปแบบการจัดห้องที่เรียงเก้าอี้เป็นวงกลม ไม่มีโต๊ะกั้นกลางระหว่างอาจารย์และนักศึกษาเหมือนห้องเรียนทั่วไป ไม่กี่นาทีต่อมา อาจารย์คนแรกเดินเข้ามาในห้อง ตามด้วยคนที่สองและสาม นักศึกษาเริ่มทำหน้างงเพราะไม่แน่ใจว่า อาจารย์ประจำวิชานี้คือคนไหน จนกระทั่งได้รับคำชี้แจงว่า

            ที่นี่ไม่มีอาจารย์คนใดคนหนึ่งเป็นผู้สอน แต่มีอาจารย์สอนแบบ “ยกทีม”

            ที่นี่ไม่มีการเรียนแบบที่เน้นการจดเลคเชอร์

            ที่นี่ไม่การสอบทั้งกลางภาคและปลายภาค

เพราะที่นี่คือ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ คณะใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีนโยบายปฏิรูปแนวทางการเรียนการสอนจากอาจารย์ “ผู้กุมความรู้” สู่การ “คืนอำนาจการเรียนรู้” ให้กับนักศึกษาทุกคน

หนึ่งในทีมอาจารย์ที่ร่วมแผ้วถางเส้นทางการเรียนรู้รูปแบบใหม่ คือ ดร. อดิศร จันทรสุข อาจารย์หนุ่มไฟแรงผู้มีความฝันอยากเห็นคนรุ่นต่อไปสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อก้าวไปสู่เส้นทางผู้นำแห่งอนาคตของประเทศไทยต่อไป


ดร. อดิศร จันทรสุข หนึ่งในผู้แผ้วถางเส้นทางการเรียนรู้รูปแบบใหม่

ห้องเรียนที่เปลี่ยนไป

ตามปกตินักศึกษาจะคุ้นชินกับการนั่งฟังเลคเชอร์ ก้มหน้าก้มตาจดความรู้ที่อาจารย์เตรียมมาให้แบบสูตรสำเร็จ  เมื่อไม่มีอาจารย์คอยบอก บรรยากาศการเรียนวันแรกจึงเต็มไปด้วยความงุนงงสงสัยว่า พวกเขาจะเรียนรู้กันอย่างไร  ดร.อดิศรเล่าบรรยากาศการเรียนช่วงแรกให้ฟังว่า

“แรกๆ เขาก็จะงงและสับสนว่าให้เขาเรียนรู้อะไร เราให้ตั้งคำถามและถอดบทเรียนจากการเข้าร่วมกิจกรรมของเขาเอง กระตุ้นให้เขารู้สึกว่าทุกคนสามารถสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเองโดยเชื่อมโยงจากประสบการณ์จริง ทำให้เขารู้ว่าเรายอมรับฟังความคิดของเขาโดยที่เราไม่ได้บอกว่า คิดแบบนี้ผิด คิดแบบนี้ถูก เราตั้งคำถามเพื่อให้เขาอธิบายว่า ที่มาของความคิดมาจากไหน”


การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ไม่มีอาจารย์ยืนสอนหน้าชั้น และไม่มีการเน้นจดเลคเชอร์

ท่ามกลางกระแสวิจารณ์เด็กรุ่นใหม่ว่า พวกเขาใช้ชีวิตเบาหวิวล่องลอยอยู่ในโลกโซเชียลโดยไม่สนใจปัญหาสังคม อาจารย์ท่านนี้กลับมองต่างออกไป โดยตั้งคำถามย้อนกลับมาที่ “ผู้ใหญ่” ในสังคมแทน

สาเหตุที่คนรุ่นใหม่ไม่สนใจสังคม แต่สนใจมือถือมากกว่า เราคงต้องดูว่า เพราะอะไร ถ้าผู้ใหญ่ในสังคมยังพูดเรื่องเดิมๆ แต่โลกในมือถือพูดถึงเรื่องที่เขาสนใจมากกว่า เขาก็ย่อมสนใจโลกในมือถือมากกว่าปัญหาสังคม  เราคงต้องย้อนกลับมามองกระบวนการเรียนรู้ที่มีอยู่ว่า เราอาจมีเครื่องมือที่ไม่เหมาะสมกับวิธีการใช้ชีวิตและการมองโลกของคนรุ่นใหม่

เมื่อเครื่องมือเดิมไม่ได้นำไปสู่การเรียนรู้ที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ การทดลองคิดค้นเครื่องมือใหม่จึงเกิดขึ้น

“ผมเชื่อว่าลึกๆ แล้ว ทุกคนอยากเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ไม่มีใครอยากหยุดตัวเองในแง่การเติบโตและการเรียนรู้ แต่ที่ผ่านมา ผมสังเกตได้จากนักศึกษาของผมเอง ตอนแรกเขาคาดหวังว่าจะมาฟังอาจารย์บรรยาย ซึ่งนั่นเป็นวิธีที่เขาคุ้นชินกับการปฏิบัติในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เพราะถือว่าอาจารย์เป็นผู้กุมความรู้เอาไว้”

วิธีการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่เริ่มต้นนำมาใช้ คือ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ของตนเอง หรือที่เรียกว่า “Active Learning” เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง หรือ “Experiential learning” และการสอนแบบ “Team Teaching” โดยมีอาจารย์ที่เรียนจบสาขาวิชาแตกต่างกันมาช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ไม่ใช่คนหนึ่งคนมาให้ความรู้  ไม่มีอาจารย์ยืนพูดปาวๆ อยู่หน้าห้อง ไม่มีนักศึกษาก้มหน้าจดตัวหนังสือยิกๆ มีแต่ “คนช่วยถาม” และ “คนช่วยตอบ” และการต่อยอดความคิดของกันและกันต่อไปเรื่อยๆ  ทุกคนสามารถร่วมสร้างการเรียนรู้ไปด้วยกัน ความแตกต่างทางความคิดจะทำให้ทุกคนมองเห็นโลกในมุมที่มีความกว้าง ยาว ลึก ไปพร้อมๆ กัน

การสอนให้นักศึกษากล้าตั้งคำถามและค้นหาคำตอบร่วมกันคือหัวใจการสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง

นี่คือบทเริ่มต้นของการ “คืนอำนาจการเรียนรู้” ให้กับผู้เรียนทุกคน

เราเปลี่ยนบทบาทความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาใหม่ อาจารย์ไม่ใช่ผู้กุมความรู้เหมือนที่ผ่านมา แต่นักศึกษาต้องสร้างความรู้ด้วยตนเอง เมื่อเขาได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์แบบนี้เพิ่มมากขึ้น เขาก็จะเรียนรู้ว่า เขาสามารถหาหนังสืออ่านได้ด้วยตนเอง สามารถเชื่อมโยงความรู้จากประสบการณ์ตรง เราคืนอำนาจของการสร้างการเรียนรู้ให้แต่ละคน

“เราไม่ได้ปฏิเสธการสอนแบบบรรยาย เพราะเราเชื่อว่ามีความรู้บางอย่างที่ไม่สามารถสกัดความรู้ได้ด้วยประสบการณ์ตรง แต่เราจะบรรยายยังไงให้เขาเชื่อมโยงความรู้เข้ากับประสบการณ์ตรงได้ เราไม่เชื่อเรื่องการท่องจำความรู้เพื่อนำไปสอบ ที่นี่จึงไม่มีการสอบแบบให้นั่งตอบในเวลาจำกัดทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท”

ตราบใดที่โลกยังหมุน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์ต้องเรียนรู้และปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แม้ว่าช่วงแรกอาจรู้สึกแปลกแยกแตกต่างเพราะความไม่คุ้นชิน แต่หากใครยอมเปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงและมองเห็นแง่ดีของสิ่งใหม่ที่ผ่านเข้ามา เพียงไม่นานพวกเขาก็จะเริ่มยอมรับและมีความสุขกับโลกใบใหม่ได้ไม่ยากนัก ตรงกันข้ามกับคนที่หวาดกลัวความเปลี่ยนแปลงเพราะรู้สึกไม่มั่นใจในทางเดินสายใหม่ พวกเขาจะเลือก “ปิดใจ” และหันหลังกลับไปสู่เส้นทางสายเดิมในที่สุด

ช่วงปีแรกที่เปิดคณะนี้ บางคนอยากได้สูตรสำเร็จในการเรียน อยากได้การสอบเพื่อเรียนจบได้ใบปริญญา เราจะบอกเขาตรงๆ ว่าที่นี่อาจไม่เหมาะกับคุณ เขาก็จะลาออกไป แต่บางคนอาจลองเข้ามาเรียนดูก่อน หลังจากนั้นความคิดก็ค่อยๆ เปลี่ยนและยอมรับการเรียนรู้รูปแบบใหม่อย่างมีความสุขมากขึ้น


นักศึกษาทุกคนสามารถสร้างการเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ตรงของตนเอง

ด็อกเตอร์หนุ่มผู้มีไฟฝันอยากจุดประกายการเรียนแนวใหม่ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟัง พร้อมกับตอบคำถามที่หลายคนอาจสงสัยว่า “เรียนจบคณะนี้ไปทำงานอะไรได้บ้าง”

“เป้าหมายของหลักสูตรปริญญาตรีไม่ได้เน้นการผลิตครู แต่ถ้ามาเรียนหลักสูตรนี้แล้วอยากทำงานเป็นครูในสังกัดสพฐ.ก็สามารถเรียนต่อเพิ่มเติมเพื่อได้วุฒิครูเช่นกัน คนที่เรียนจบสามารถสมัครทำงานได้หลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการพัฒนามนุษย์ รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ในบริบทต่างๆ ทั้งในสถาบันการศึกษา องค์กรธุรกิจ ภาคประชาสังคม หรือแม้แต่การทำงานอิสระ ดังนั้น เราจึงมีอาจารย์จากหลากหลายสาขามาร่วมออกแบบและสร้างการเรียนรู้ด้วยกัน ช่วยกันมอง ช่วยกันคิด เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจ และสามารถสร้างการเรียนรู้ให้แก่ตนเองและคนอื่นๆ ได้”

สิ่งสำคัญของการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง คือ การสั่งสมประสบการณ์ในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เน้นการรีบเร่งไปให้ถึง “เส้นชัย” เพียงอย่างเดียว แต่เน้นการเรียนรู้ “ระหว่างทาง” ที่ก้าวผ่าน ค่อยๆ มองดูดอกไม้ริมทางทีละดอก สังเกตหลุมบ่อบนถนนที่ก้าวเดิน ฟังเสียงนกพูดคุยกัน เฝ้าดูใจตนเองอย่างละเอียดเพื่อ “มองเห็น” บางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างไปจากเดิม และเมื่อไปจนถึง “เส้นชัย” ที่กำหนดไว้ให้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องหยุดอยู่เพียงแค่นั้น แต่สามารถพิจารณาว่ายังมีเส้นทางแห่งการพัฒนาตนเองในแง่มุมหรือมิติอื่นๆ ที่สนใจอีกหรือไม่ต่อไป

“ผมสอนเรื่อง ‘กระบวนการและการจัดการความเปลี่ยนแปลง’ ในระดับปริญญาโทร่วมกับอาจารย์ในคณะอีกสองท่าน นักศึกษาจะต้องทำโครงการของตัวเอง โดยเลือกว่าเขาอยากเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิต นักศึกษาส่วนใหญ่เลือกเปลี่ยนแปลงตัวเอง  สิ่งสำคัญของวิชานี้ คือ คุณไม่จำเป็นต้องทำให้สำเร็จ แต่คุณเรียนรู้อะไรระหว่างทางบ้าง คุณได้เข้าใจตัวคุณเองยังไงบ้าง เราสนใจเรื่องกระบวนการพอๆ กับเป้าหมาย   ระยะเวลาที่เราให้ทำรายงานแค่สองเดือน คุณอาจไปไม่ถึงเป้าหมายก็ไม่เป็นไร สิ่งสำคัญคือคุณได้เริ่มกลับมาสังเกตและพิจารณาตนเอง อันนี้เป็นเครื่องมือที่เขาจะนำไปใช้ได้ในอนาคต เขาจะรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อนร่วมงาน องค์กร หรือสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะแต่ละคนมีอุปสรรคไม่เหมือนกัน คุณจะเริ่มเรียนรู้ในการเข้าใจตนเองและผู้อื่นมากยิ่งขึ้น”

อาจารย์หนุ่มผู้ร่วมบุกเบิกเส้นทางให้กับคนรุ่นต่อไปบอกเล่าวิธีการสร้างองค์ความรู้รูปแบบใหม่ให้เราฟัง แววตาของเขาเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นในการแผ้วถางทางเดินให้คนหนุ่มสาวมีความสุขกับการเรียนรู้โลกใบนี้ด้วยตนเอง และอยากเห็นคนหนุ่มสาวก้าวเดินไปตามความฝันของตนเองจนสุดทาง เช่นเดียวกับที่เขาเคยติดปีกความฝันของตนเองโบยบินไปไกลแสนไกลมาแล้วเช่นเดียวกัน

 

ย้อนรอยเส้นทางฝัน

พ.ศ. 2545 เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ชายหนุ่มจากทวีปเอเชียร่างเล็กวัยยี่สิบห้าปี อดีตนักศึกษาด้านสื่อสารมวลชนและจิตวิทยาการปรึกษาเดินทางมาทำงานเป็นนักศิลปะบำบัดเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเด็กเอชไอวีในโรงพยาบาลของรัฐเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนหน้านี้เขาเคยทำงานจัดรายการวิทยุและเป็นครูสอนวิชาการละครให้กับเด็กมัธยมในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีเป็นต้นมา เส้นทางชีวิตในเวลานั้นยังอยู่ในช่วงแสวงหาประสบการณ์ใหม่ให้ตนเอง

 ตอนนั้นคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสเรียนรู้การทำงานในพื้นที่ใหม่   สถานการณ์ที่นั่นวิกฤติมาก เด็กส่วนใหญ่อาการหนัก เป็นผู้ป่วยติดเตียง เป็นชีวิตที่รอความตาย เราเอากระบวนการศิลปะไปให้เขาได้แสดงความคิดความรู้สึก รวมทั้งให้กำลังใจในระยะสุดท้าย ไปเติมความหวัง ให้หัวเราะ ให้ยิ้มได้บ้าง เช่น ชวนใช้พู่กันระบายสี หรือเอาหุ่นมือไปให้เล่นบ้าง

ดร. อดิศรย้อนอดีตเมื่อสิบกว่าปีก่อนให้ฟัง ช่วงเวลาดังกล่าวนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเฝ้ามองย้อนเข้าไปสำรวจจิตใจตนเอง ทั้งความเปลี่ยนแปลงเชิงอคติต่อคนผิวสีและการเรียนรู้ธรรมะเพื่อเยียวยาอาการซึมเศร้า

ตอนแรกผมมีความหวาดกลัวคนผิวสีอยู่บ้าง เพราะเรารับรู้โลกของคนกลุ่มนี้ผ่านช่องทางสื่อ ซึ่งมักจะให้ภาพแง่ลบด้านเดียว ทำให้เราอยู่ในโลกที่กักขังตัวเองไว้ในความกลัวค่อนข้างเยอะ แต่หลังจากได้ใกล้ชิดพวกเขาแล้ว พบว่าเขามีใจกรุณาสูงมาก แม้ว่าเด็กส่วนใหญ่จะขาดพ่อแม่เพราะเสียชีวิตไปก่อนแล้ว แต่เขาก็ยังเก็บขนมไว้ให้เราเสมอเวลาที่เราเข้าไปทำงานกับเขา

“สภาพโรงพยาบาลมีแต่ความเครียดและความเศร้าหมองเพราะมีคนตายทุกวัน พอทำงานไปสักพัก ผมเริ่มมีอาการหดหู่ซึมเศร้า เพราะเด็กที่เราเล่นด้วยวันนี้ วันรุ่งขึ้นอาจตายจากเราไปแล้ว เริ่มรู้สึกว่าถ้าปล่อยให้ตัวเองเป็นอย่างนี้ต่อไปคงรับไม่ไหวแล้ว”

ในเวลานั้น สภาพจิตใจของชายหนุ่มซึ่งต้องทำหน้าที่เยียวยาหัวใจคนอื่นกลับเริ่มต้องการได้รับการเยียวยาหัวใจตนเองแทน เขาเริ่มมองหาหนทางพ้นทุกข์จากอาการซึมเศร้าด้วยการเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งหนึ่งตามแบบนิกายเซน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางเข้าสู่การเรียนรู้จักรวาลภายในตนเองบนเส้นทางของการภาวนาเป็นครั้งแรก

ผมเริ่มสนใจศึกษาพุทธศาสนามากขึ้น เพราะต้องการหาวิธีเยียวยาตนเองให้หายจากอาการซึมเศร้า ถ้าเรายังไม่มีความมั่นคงภายในตนเอง เราก็จะช่วยเหลือคนอื่นไม่เต็มที่

หลังจากใช้การปฏิบัติภาวนาช่วยบำบัดอาการซึมเศร้าให้ตนเอง เขาจึงพบกับภาวะจิตใจที่มั่นคงมากขึ้นจนสามารถทำหน้าที่เป็น “ผู้ให้” กำลังใจเด็กน้อยต่อไปได้จนครบหนึ่งปีตามสัญญาจ้างงาน และเดินทางกลับสู่มาตุภูมิอีกครั้งพร้อมกับการมองโลกภายนอกและโลกภายในที่เปลี่ยนไป

ชายหนุ่มเริ่มตั้งคำถามกับตนเองอีกครั้งว่า ต้องการก้าวเดินต่อไปข้างหน้าในทิศทางไหนดีเพราะในเวลานั้นปลายทางแห่งความฝันของเขายังพร่ามัว เขายังคงสนใจเรียนรู้ด้านศิลปะบำบัดในระดับที่ลงลึกมากยิ่งขึ้น จึงตัดสินใจขอทุนไปเรียนต่อด้านศิลปะบำบัดที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์จนได้รับใบประกาศนียบัตรสำหรับคอร์สเตรียมปริญญาเอกมาเพิ่มอีกหนึ่งใบ ในเวลานั้นเส้นทางสู่ปลายฝันยังคงไม่ชัดเจน เขาจึงพักการเรียนปริญญาเอกเอาไว้ก่อนและเดินทางกลับมาเมืองไทยเพื่อบ่มเพาะประสบการณ์ทำงานให้มากขึ้น

ในที่สุด โชคชะตาก็นำพาให้เขาก้าวเดินเข้าสู่เส้นทางความฝันที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากได้รับการชักชวนจาก รศ. ประภาภัทร นิยม ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณในเวลานั้นให้ทำงานเป็นผู้จัดการก่อตั้งสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เน้นกระบวนการพัฒนามนุษย์อย่างเป็นองค์รวม ในขณะเดียวกันก็ได้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายกลุ่มจิตตปัญญาศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สนใจและทำงานโดยการใช้เครื่องมือที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ภายใน ช่วงเวลานี้นับเป็นช่วงเวลาแห่งการบ่มเพาะทางจิตวิญญาณภายในและสร้างเครือข่ายคนทำงานที่พูดคุยภาษาเดียวกันซึ่งสนใจการสร้างการเรียนรู้แนวทางใหม่เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย จนเขาเกิดแรงบันดาลใจอยากกลับไปเรียนต่อปริญญาเอกเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการให้ตนเองนำกลับมาใช้แผ้วถางเส้นทางการเรียนรู้สู่อนาคตให้กับคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยต่อไป

ผมเลือกไปเรียนต่อที่นิวซีแลนด์เพราะเป็นประเทศที่ยังมีความใกล้ชิดธรรมชาติอยู่มาก ใช้เวลาเรียนที่นั่นเกือบสี่ปี การได้ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติมันกล่อมเกลาจิตใจตัวเราเองโดยไม่รู้ตัว ธรรมชาติอยู่ตรงนั้นมาเป็นล้านๆ ปี เรามีชีวิตเป็นแค่ส่วนเสี้ยวเดียวของธรรมชาติเท่านั้น ยิ่งอยู่ใกล้ธรรมชาติ ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเลย

ความเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจที่อ่อนโยน ลุ่มลึก และเคารพต่อธรรมชาตินำไปสู่การเติบโตทางจิตวิญญาณมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันความรู้ทางวิชาการที่เพิ่มมากขึ้นก็ยิ่งทำให้เขา “กล้าคิดต่าง” ไปจากนักศึกษาคนอื่นจนทำให้ผลงานวิทยานิพนธ์ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมประจำปีการศึกษา พ.ศ. 2556 จากมหาวิทยาลัยโอทาโก้ (Otago) ประเทศนิวซีแลนด์ ดอกเตอร์หนุ่มไฟแรงกล่าวถึงความน่าสนใจของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จนทำให้คว้ารางวัลอันน่าภาคภูมิใจให้ฟังว่า

นักวิชาการในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มักจะสนใจศึกษาเรื่องราวหรือประเด็นต่างๆ นอกรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่มีจำนวนน้อยที่จะหันกลับมาตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ภายในมหาวิทยาลัยของตัวเอง ผมเองสนใจศึกษาวิธีคิดเรื่องความเป็นผู้นำของอาจารย์และผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่า คนส่วนใหญ่มีวิธีคิด มุมมองและความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้แตกต่างกันมาก แต่เรามักจะเอามุมมองของตัวเราเองเป็นที่ตั้งในการประเมินตัดสินคนอื่น โดยลืมไปว่า เรากำลังใช้ไม้บรรทัดของตัวเราเองเป็นเครื่องมือ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับไม้บรรทัดนั้นๆ เสมอไป

ภารกิจแผ้วถางเส้นทางผู้นำแห่งอนาคต

ปี 2556 ด็อกเตอร์หนุ่มไฟแรงเดินทางกลับมาถึงเมืองไทยพร้อมกับความฝันที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เขามองเห็นหนทางข้างหน้าว่าต้องการก้าวเดินไปในเส้นทางใด และพร้อมเป็นผู้บุกเบิกเส้นทางนั้นอย่างมุ่งมั่นด้วยความรู้และประสบการณ์ที่บ่มเพาะมากว่าครึ่งชีวิต เขาเริ่มต้นทำงานกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และร่วมก่อตั้งโครงการผู้นำแห่งอนาคต ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสสส. โดยโครงการดังกล่าวเน้นการสร้างเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพคนทำงานเพื่อสังคมหลากหลายวัยและบทบาทหน้าที่ ทั้งจากภาคธุรกิจ ภาคการศึกษาและภาคประชาสังคมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เขาอธิบายถึงเป้าหมายโครงการให้ฟังต่อไปอีกว่า

เราไม่ได้เน้นการสอนเรื่องภาวะผู้นำว่าต้องทำอย่างไร หรือต้องมีบุคลิกแบบไหน เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ของตนเองที่มีความเฉพาะตัว ไม่เหมือนคนอื่นๆ  เราทำหน้าที่จัดกระบวนการให้เขาได้มาเรียนรู้ศักยภาพของตนเอง สร้างเครือข่าย เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยเฉพาะภาคสังคมกับภาคธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาเกือบจะเป็นศัตรูกันด้วยซ้ำไป

ในช่วงปลายปี 2557 เขาได้รับการชักชวนจาก รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการโครงการผู้นำแห่งอนาคตให้มาร่วมก่อตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิชาการ เพื่อทำงานเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ของคนในประเทศด้านต่างๆ และเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้เอง เขาเพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ภายใต้การนำของ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีคนใหม่ เพื่อร่วมทำงานพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนของทั้งมหาวิทยาลัยให้มีความทันสมัย สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและโลกให้มากยิ่งขึ้น

หลังจากทำงานบุกเบิกเส้นทางเพื่อคนรุ่นใหม่ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาจารย์หนุ่มท่านนี้เริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นในแววตาของนักศึกษา จากเดิมที่เคย “ว่างเปล่า” ไร้ทิศทางเป้าหมายในการดำเนินชีวิตสู่แววตาแห่งการ “ค้นหา” พร้อมเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ที่ผ่านเข้ามาด้วยความกล้าหาญและมุ่งมั่น ไม่หวาดกลัวความล้มเหลว และพร้อมจะลุกขึ้นมาเป็น “ผู้นำ” เปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น

ความสุขของคนเป็นครู คือ การได้เห็นผู้เรียนเกิดการเรียนรู้งอกงามทั้งภายในและภายนอกตัวเอง ได้เห็นความเข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้น ผมได้เห็นแววตาของนักศึกษาเปลี่ยนไป ไม่ใช่คนที่มารอรับว่าอาจารย์จะบอกอะไร แต่เขาตื่นตัวว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องของตัวเขาเอง และการเรียนรู้ของมนุษย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน ยอมรับในความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น เริ่มมีความตระหนักต่อมุมมองและวิธีคิดของตัวเองมากขึ้น หลายคนสะท้อนว่า เขาเริ่มตัดสินคนอื่นน้อยลง ยอมรับความคิดอันแตกต่างของคนอื่นได้มากขึ้น

เมื่อถูกตั้งคำถามถึงความสุขของตนเอง ณ ปัจจุบัน ด็อกเตอร์วัยต้นสี่สิบปีนิ่งคิดทบทวนความทรงจำก่อนถ่ายทอดออกมาอย่างลุ่มลึกด้วยแววตาสงบนิ่ง

ความสุขของผมคือการได้มีโอกาสกลับมาเรียนรู้และเข้าใจตัวเราเองมากขึ้นเรื่อยๆ มีพื้นที่ในการพัฒนาตัวเราเอง ทั้งในแง่การเจริญสติ และการพัฒนาตนเองในรูปแบบต่างๆ ที่สำคัญคือการได้เรียนรู้ว่า เราสามารถผิดพลาดในวันนี้เพื่อจะได้เติบโตในวันหน้า เราเห็นการเชื่อมโยงระหว่างโลกภายในกับโลกภายนอกมากขึ้น

เมื่อก่อนผมจะมีความคาดคั้นตัวเองสูง ทำงานแล้วต้องเห็นผลสำเร็จ เห็นความเปลี่ยนแปลงให้ได้ แต่มาถึงวันนี้ ผมเรียนรู้ว่า บางเรื่องต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน ผลสำเร็จมันอาจไม่เกิดในยุคสมัยเราก็ได้ แต่เราต้องเริ่มต้นลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เพราะถ้าเราไม่เริ่มต้น ผลอาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้”

หมายเหตุ –  ขอบคุณภาพประกอบจาก ดร. อดิศร จันทรสุข

การศึกษาเรียนรู้

คนรุ่นใหม่

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save