ความสุขวงใน

นำพากระบวนการเรียนรู้ ผู้ปลุกปลูกความรู้ในผู้คน

กระบวนกร (Facilitator) คือ ผู้นำพากระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดชุดความรู้ใหม่ขึ้นจากภายในจิตใจของผู้เรียนเอง ชุดความรู้ใหม่นั้นอาจหมายถึง มุมมองใหม่ ความหมายใหม่ ความรู้สึกใหม่ ความคุ้นชินใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ หรือกรอบความเชื่อใหม่ องค์ประกอบสำคัญของการนำพากระบวนการเรียนรู้โดยกระบวนกรคือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ และการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ จะช่วยให้ผู้เรียนเปิดใจพร้อมเรียนรู้ รู้สึกถึงการมีตัวตนแต่ไม่ปกป้องตัวตน เมื่อเกิดพื้นที่ปลอดภัย เสียงเล็กๆ จากภายในที่เคยผุดขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวตนในลักษณะที่ว่า สิ่งนี้ใช่-สิ่งนี้ไม่ใช่ สิ่งนี้ชอบ-สิ่งนี้ไม่ชอบ รวมถึงเสียงความคิดต่างๆ ที่แปรเปลี่ยนมาจากความกลัวภายในจิตใจ จะค่อยๆ หายไป ผู้เรียนจะเริ่มดำรงอยู่ในสภาวะที่ไม่คุ้นชินทีละเล็กทีละน้อยเพื่อการสำรวจพื้นที่ใหม่ๆ ภายในจิตใจของตนเอง

บรรยากาศในการเรียนรู้ที่ปลอดภัยนั้น มีลักษณะที่ผ่อนคลาย สบายๆ มีความรัก ไม่ตัดสินตนเอง ไม่ตัดสินผู้อื่น มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ‘ประตูใจ’ ของผู้เรียนจะเปิดกว้างออก และพร้อมที่จะเรียนรู้ถึงระดับจิตใจ

บางทีเราอาจเรียกการเรียนรู้ระดับจิตใจว่าเป็นการเรียนรู้ทักษะด้านอ่อน (Soft Skills) ซึ่งจำเป็นอย่างมากที่จะต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในการนำพากระบวนการเรียนรู้ อุปมาเหมือนการแตกของเปลือกไข่ หากเปลือกไข่เกิดการแตกจากภายนอกชีวิตก็ตาย หากเปลือกไข่เกิดการแตกจากภายในชีวิตใหม่ก็เกิดขึ้น (If egg is broken by outside force, life ends. If broken by inside force, life begins.)

หรืออุปมาเหมือนธรรมชาติของต้นไมยราบ ถ้าเราผลีผลามเข้าไปแตะสัมผัส ใบของมันก็จะหุบเข้าทันที โดยธรรมชาติของจิตใจมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน หากเรารีบร้อนแนะนำบอกสอน เรื่องราวที่ไปกระทบตัวตนของผู้เรียนแบบทันทีทันใด ‘ประตูใจ’ ของผู้เรียนก็จะปิดลง หลงเหลือเพียงการเรียนรู้ในระดับความคิดความจำเท่านั้น

กระบวนกรสามารถวางท่าทีใน 2 ลักษณะเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนรู้

  1. ดำรงอยู่แบบไร้ตัวตน อยู่เหมือนไม่อยู่ คือเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ร่วมกันไม่รบกวนการเรียนรู้ เปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง
  2. ดำรงอยู่อย่างมีตัวตน ด้วยการเป็นในแบบที่ตัวเองเป็นอย่างซื่อตรง มีคุณภาพบางอย่างจากภายในที่เหนี่ยวนำให้ผู้เรียนเกิดความศรัทธา พร้อมที่จะเผชิญความไม่คุ้นชิน

กระบวนกร (Facilitator) นำพาให้เกิดผลของการเรียนรู้ที่หลากหลายแตกต่างกันไป อาทิเช่น การสร้างให้เกิดชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice) ที่มีความสนใจร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง มีอิสรภาพในการแลกเปลี่ยนความคิดเป็นเบื้องต้น ไปจนถึงสามารถค้นพบข้อจำกัดภายในของตนเอง ละวางกรอบความเชื่อเดิมขยับขยายศักยภาพใหม่ๆ ไปจนถึงการเปิดศักยภาพสูงสุดของการเป็นมนุษย์

ขยับขยายขอบเขตจิตใจของตนเอง จากมุมมองที่ตนเองเป็นศูนย์กลางสู่มุมมองที่เข้าใจผู้อื่น ทำเพื่อกลุ่มคน ทำเพื่อสังคม จนขยับขยายไปถึงการมีมุมมองแห่งการเชื่อมโยงถึงกัน (Interconnectedness) เป็นหนึ่งเดียวกันกับทุกกลุ่มคน และทุกสรรพสิ่ง

 


เขียนโดย รัน ธีรัญญ์ ไพโรจน์อังสุธร ผู้ชำนาญด้าน Ei (Emotional Intelligence) หรือ EQ ประกอบด้วย 1. การตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) 2. การบริหารจัดการตนเอง (self-management) 3. การตระหนักรู้ในสังคม (social awareness) 4. การบริหารจัดการความสัมพันธ์ (relationship management) ถ่ายทอดความรู้ผ่านการหลอมรวมสรรพวิชาเข้าด้วยกัน (multidisciplinary) มีวิธีการสอนที่หลากหลาย อาทิเช่น การฟา (facilitation) การโค้ช (coaching) และกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญา (contemplative learning) เพื่อให้เกิดการบ่มเพาะ และ เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม (transformative learning)

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save