ความสุขวงใน

สุขร่วมกันด้วยฉันทามติ

หากมองเรื่องทีมเวิร์คเป็นเรื่องที่สำคัญในการสร้างองค์กร ชุมชน หรือแม้แต่ครอบครัวที่ดีนั้น หลายๆ ครั้งเรามักมองหาวิธีว่าทำอย่างไรให้เกิดทีมเวิร์คที่ยั่งยืนได้ วันนี้ได้มาสัมภาษณ์กลุ่มหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘สายแข็งบุรี’ มีเทคนิคและเครื่องมือในการสร้างทีมแบบง่ายๆ ที่เรียกว่า Consensus แปลว่า ฉันทามติหรือมติเป็นเอกฉันท์

กลุ่มสายแข็งก่อตั้งขึ้นมาได้อย่างไร

เนื่องจากว่าในกลุ่มจะมีการสอบขี่ม้า ยิงธนู ในชมรมธนูโพชฌงค์ จึงนัดกันไปขี่ม้าที่ชลบุรี ถือเป็นครั้งแรกที่กลุ่มได้ไปด้วยกัน เมื่อทำกิจกรรมร่วมกันความสัมพันธ์จึงเริ่มเกิด โดยสมาชิกตอนนี้มีกันทั้งหมด 18 คน เดิมโดนแซวว่ากลุ่มนี้กินกันเก่ง แต่เป็นจุดเริ่มของการพบเจอกัน เป็นข้ออ้างในการได้มานั่งล้อมวงเปิดใจคุย การนั่งกินข้าวร่วมวงกันบ่อยๆ มีผลต่อบรรยากาศในการเปิดใจร่วมทีมกันมากๆ ความตึงเครียดจากการทำงานประจำที่มี หายเป็นปลิดทิ้งเมื่อทุกคนได้มาเจอกัน เลยมีกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น ตลาดอาสา ไปทำกิจกรรมต่างจังหวัด จัดทริปทำบุญ ไปวัดต่างๆ เป็นต้น


มติเป็นเอกฉันท์

เทคนิคมติเป็นเอกฉันท์นี้ ปกติจะใช้สำหรับการตัดสินใจใหญ่ๆ เช่น การเลือกคณะกรรมการบริหาร ที่ทุกคนจะต้องมีมติเห็นชอบเป็นเสียงเดียวกัน ค้านแม้แต่คนเดียวก็ต้องหยุดคิด แล้วคุยกันให้ได้ ว่าทำไมเขาจึงค้าน ค้นคว้าต่อ ไม่ชุ่ยๆ เร่งๆ รีบๆ Vote ให้จบๆ ไป แต่จะต้องเปิดให้มีการคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนกว่าจะเกิดการยอมรับและเข้าใจกัน ซึ่งจะไม่นำมาใช้ในการตัดสินใจที่ต้องการความรวดเร็ว ในกรณีนั้นปล่อยให้เบอร์หนึ่ง หรือท่านประธานตัดสินใจไป

ระบบ Vote ยุติธรรมจริงหรือ

ก่อนอื่นพวกเราต้องมองเห็นก่อนว่าระบบ Vote สร้างปัญหาอะไรให้เกิดขึ้นบ้าง

  1. ลองคิดดูว่าถ้าในองค์กรหรือชุมชนมีคนจิตอกุศล คนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คนอ่อนหัด ฯลฯ ถ้ามีการแอบสมคบคิดกัน (ฮั้วกัน) ผล Vote ที่ออกมาจะเป็นผล Vote ที่ใช่ที่สุดหรือไม่
  2. คนฉลาดคนดีส่วนใหญ่จะมีน้อยกว่า เมื่อโดน Vote แพ้บ่อยๆ คนฉลาดคนดีก็จะออกจากองค์กรไปเรื่อยๆ
  3. การ Vote มันเหมือนกับการไม่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนทางปัญญาเลย

ระบบแบบนี้จะช่วยให้คนกล้าพูด ไม่ซ่อนความเห็นเอาไว้ บ่อยครั้ง เสียงต่างแค่ 1 เสียง แต่ให้เหตุผลได้ดี อีก 9 เสียงก็เปลี่ยนใจตามได้

มันทำได้ตั้งแต่แรกเลยไหม หรือมันค่อยๆ เปลี่ยนครับ

เกิดจากอาจารย์วรภัทร์สอนว่า ‘ใครพูดก่อนชนะ’ ใครพูดก่อนก็เอาตามคนนั้น เราก็เลยลองทำดู เลยเริ่มทำจากเรื่องง่ายๆ ก่อนเลย เช่น พูดเรื่องวันนี้จะไปกินอะไรกันดี สมมติโบว์พูดคนแรก อ่ะ เย็นตาโฟ โตเกียว พูดมาก่อนทุกคนก็ไปเลย ไม่มีตัวเลือกอื่น โน่น นั่นนี่ ตัดตัวเลือกอื่นออกไป ใครพูดก่อนชนะ เริ่มจากจุดเล็กๆ แบบนี้

เราเรียนมาด้วยกันด้วย จึงมีพื้นฐานแบบเดียวกัน เพราะฉะนั้นพูดอะไรเพียงเล็กน้อย พวกเราก็เข้าใจกัน อีกอย่างก็คือเป็นการฝึกการยอมกันนั่นเอง

 

มันขัดใจอะไรข้างในไหม มีอุปสรรคไหม

ไม่มีนะ พวกเราฝึกยอมกันอยู่แล้ว เราก็ต้องมีสติว่าเราต้องเริ่มยอมคนอื่น เราเรียน Sense zen ด้วยกันมา แล้วเข้ามาสอบในชมรมธนูโพชฌงค์ ช่วงแรกๆ ยังไม่เข้าใจว่า Consensus มันคืออะไร ก็ยังตัดสินใจแบบกึ่งๆ ประชาธิปไตย หรือใช้การ Vote อยู่บ้าง เสียงส่วนมากว่าอย่างไรก็ว่าตามๆ กัน แต่ยังเอาชนะเสียงในใจไม่ค่อยได้อยู่ดี หลังจากฝึกไปสักพัก ก็ไม่มีตัวเลือกอื่น สุดท้ายใครพูดก่อนก็ว่ากันตามนั้น


การใช้หลัก
Consensus กับละครโนห์

ละครโนห์เป็นการแสดงที่สื่อสารด้วยท่าทาง จะว่าจากใจสู่ใจก็ไม่ผิดนัก จะว่าแบบนั้นก็ได้ การแสดงละครโนห์ไม่ได้แสดงผ่านการพูด ไม่ได้แสดงผ่านการคิด เรามีหน้าที่เป็นผู้ส่งสารด้วยท่าทาง แต่คนรับสารจะคิดอย่างไรเป็นเรื่องของคนรับสาร เราส่งสารจบก็จบหน้าที่ของเราแล้ว ส่วนคนรับสารจะเข้าใจเรื่องนั้นได้ก็ต่อเมื่อเอาประสบการณ์ หรือสัญญาของตัวเองมาบวกแล้วถึงจะรู้เรื่องนั้น เพราะฉะนั้นเราก็ไม่มีสิทธิ์รู้ว่าคนรับสารเขาเข้าใจอะไร นี่น่าจะเป็นหลักการของละครโนห์


ตอนนั้นคิดอย่างไรถึงเอาละครโนห์มาเล่นกันครับ

มันปิ๊งแวบออกมาเอง ได้รับแรงบันดาลใจมาจากที่อาจารย์สอนเรื่องการสื่อแบบใจสู่ใจ แบบละครโนห์ การร่ายกลอนไฮกุ พี่หมูกับพี่โทนเป็นคนปิ๊งไอเดียนี้กันก่อน ส่วนทีมพอได้รับข้อมูลก็ไม่คิดมาก เริ่มลงมือทำกันได้ทันที

ลองเล่าไอเดียที่จัดละครโนห์ที่หอศิลป์ว่ามีกระบวนการอย่างไร

เริ่มจากเขียน Story board ลงไปในไลน์กรุ๊ป ถามทุกคนว่าเห็นด้วยกับเรื่องประมาณนี้ไหม โยนไปปุ๊ปมีข้อคิดเห็น แต่ไม่แตกคอกันว่าไม่เห็นด้วย แค่มีความเห็นเพิ่มเติมว่าเนื้อเรื่องจะเยิ่นเย้อไปไหม เหมาะกับเวลาไหม ต้องปรับเนื้อเรื่องใน Story board 12 ช่องให้ทันเวลาที่น้อยมากอย่างไร เรื่องเวลาซ้อมที่น้อยก็เป็นเรื่องหลักๆ ด้วย

การแสดงออกมาลื่นไหล จนคนดูเกิดคำถามว่าเขาจัดการบริหารทีมอย่างไร

ทุกคนช่วยกันรุมทำแบบไม่คิดมาก อะไรต้องซื้อ อะไรที่พอมี ช่วยกันหยิบช่วยกันยืม หาโน่นนี่กันมาเอง อุปกรณ์การแสดงต่างๆ หากันเอง ช่วยกันออกความคิดเรื่องชุดกัน จริงๆ แล้วแบ่งกันเตรียมล่วงหน้าไม่กี่วัน ทำงานไปขำกันไปในรายละเอียดเรื่องการเตรียมอุปกรณ์ที่ขาดๆ เกินๆ ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ไปกันได้ อะไรเห็นว่าดีก็เอามาใช้หมด

เข้าใจถูกไหมว่า Consensus ของทีมคือ เมื่อคนหนึ่งบอกว่าจะทำอย่างนี้ ทุกคนจะลองทำตามโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ มันช่วยให้งานไวขึ้นไหมครับ

ไวขึ้นมาก บริหารงานแบบลงมือทำไปเลย ผิดคือเรียนรู้ ก็คือ ตัดความคิดจร ที่ไม่เกี่ยวออกไป พุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว


มีหลักการ หลักธรรมอะไรที่ใช้กับ
Consensus ครับ

การกลับมาที่งานตรงหน้า (อยู่กับปัจจุบัน) บางครั้งในหัวเรามันมีตัวเลือกหลายอย่าง อยากจะเปลี่ยนเป็นแบบนั้น แบบนี้ดีกว่าไหม แต่บางครั้งถ้าความคิดจร (ความคิดที่ชวนออกนอกทาง ความคิดที่แทรกเข้ามา ความคิดที่ไม่ตั้งใจคิด) ของเรามากไปมันก็วุ่นวาย

ในการทำงานเป็นกลุ่มทุกคนต่างช่วยกันให้แต่ละคนสนใจที่งานตรงหน้า มันก็กลายเป็นว่า แทนที่เราจะจัดการความคิดจรของเราเพียงคนเดียว กลับมีเพื่อนคอยมาช่วยว่า เฮ้ย ตอนนี้เรากำลังเป๋ออกนอกทางที่ทีมกำลังจะไป หรือว่างานตรงหน้าของละครโนห์ที่เราจะทำ ซึ่งมันก็กลายเป็นว่าเราเลิกอิดออด และไม่ต้องมาคอยเสียใจว่า เขาไม่ซื้อความคิด เพราะมันก็เป็นเพียงแค่ความคิด แล้วตรงกลับไปหางานที่ทำ เพราะฉะนั้นทีมมีส่วนช่วยในการกำจัดความคิดจรได้เร็ว ทำให้กลับมาสนใจกับงานตรงหน้าได้เร็วขึ้น

ด้วยการที่ต้องออกมาแสดงอยู่ข้างหน้า ก็ต้องฝึกซ้อมทำซ้ำๆ ตอนแรกก็กังวลว่า ต่อมแรดมันไม่เกิด มันไม่พลิ้ว เลยคุยกับทีมว่า เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ไหม ได้คำตอบจากทีมคำเดียวเลยว่า ‘ไม่’ ตอนนั้นไม่ต้องมีความคิดอะไร ต้องฝึกทำซ้ำอย่างเดียวแค่นั้นเองก่อนแสดงในทีมก็เดินเข้ามาบอกว่า ทิ้งมันไปให้หมด เราปล่อยว่างๆ โล่งๆ สบายๆ ทุกอย่างทิ้ง ไม่ต้องไปจำอะไร แค่นั้น ท้ายที่สุดออกไปแสดงก็เต็มที่

ส่วนใหญ่การทำงานร่วมกัน ถ้าเรามัวแต่มาคิดว่า คนนั้นไม่ทำอย่างนั้น คนนี้ไม่ทำแบบนี้ มันคิดอยู่แต่กับตัวเอง มันก็เหมือนจะไม่เดินไปไหน ถ้าเรามัวแต่มีความคิดมาอยู่ที่เราเอง อย่างวันแสดงจริงทุกคนก็ทำในส่วนที่ตัวเองต้องทำไป แทบจะไม่ต้องดูเลย ใครวิ่งไปถึงไหน ลูกบอลไปถึงไหนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เฮ้ย จังหวะนี้เป็นจังหวะของเราแล้ว ถ้าเรามัวแต่ไปอยู่ที่อื่น จังหวะจะคลาดเคลื่อน มันจะมีปัญหาได้ มันก็จะหลุด จะกระทบคนอื่นไปด้วย เพราะฉะนั้นตอนที่เราทำอะไรอยู่เราต้องมีสติมากๆ

สรุปสิ่งที่ได้จากงานนี้คือ Consensus มันเกิดจากการรู้หน้าที่ของทุกคน ทุกคนรู้หน้าที่ของตนเองว่าจะต้องทำอะไร และทำให้เต็มความสามารถ แล้ว Consensus จะเกิดเองครับ ไม่ต้องไปบอกว่าต้อง Consensus อย่างไร Consensus ไม่ต้องมีประเด็นด้วยครับ บางทีเราเห็นเราก็รู้ว่าเพื่อนเราคิดอะไร เรียกว่าอ่านใจกันได้ รู้ใจกัน

มีใครเกิดการเปลี่ยนแปลงไหม และเกิดความสุขร่วมกันมากขึ้นอย่างไรบ้าง

การเปลี่ยนแปลงนั้น ทุกคนมีมุมที่เปลี่ยนแปลงของแต่ละคนเหมือนกัน เพราะแต่ละคนก็ฝึกตัวเองกันอยู่ ทุกคนก็นิ่งขึ้น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ตอนพบกันใหม่ๆ ทุกคนคบกันด้วยความเกรงใจ แต่ตอนนี้เราคบกันด้วยความจริงใจ

ความเกรงใจมันจะมีความเกรงๆ นิดหน่อยครับ ว่าเพื่อนเราจะรู้สึกอย่างไร แต่ตอนนี้เราคบกันด้วยความจริงใจ เรารู้ว่าเพื่อนเรารู้สึกอย่างไร ก็คือหวังดี พูดตรงๆ ได้

เหมือนเราอยู่ในโพรงเดียวกัน เราเรียน Sense Zen กับอาจารย์วรภัทร์ด้วยกันมา อยู่บนการพัฒนาตัวเองตามที่บอก เพราะฉะนั้นการตัดสินใจเด็ดขาดมันก็จะมากขึ้น แล้วด้วยพอเราเด็ดขาดกันเป็นหมู่คณะ มันก็เลยช่วยเสริมสร้างความกล้าหาญในส่วนของแต่ละคน ถ้าอย่างเมื่อก่อนจะมีตัวเลือกเยอะ ตอนนี้ก็มีอยู่ แต่กลายเป็นว่า ตัวเลือกมันคมขึ้น ตัวอย่างเช่น ละครโนห์ หลอดไฟต้องวางอย่างไร เมื่อก่อนต้องคอยคิด แล้วก็ปรับอีกหน่อย เพื่อให้มันออกมาดีที่สุด แต่นั่นมันคือดีตามใจเราคนเดียว กลายเป็นว่ามันยังห่างไกลจากความรู้สึก จากความจริงที่ควรจะเป็น สมมติว่ามันได้แล้ว วางปุ๊ปมันก็ใช่เลย แรกๆ อาจจะติดหน่อย หลังๆ มันก็จะแม่นขึ้น

มันเหมือนการกลมกลืน นิสัยแต่ละคนที่มันแตกต่าง เราอยู่ด้วยกันแล้วมันซึมซับกันเอง ท้ายที่สุดมันเปลี่ยน เหมือนจับฉ่ายที่อยู่ในหม้อเดียวกัน ซึ่งมันเป็นไปเองนะ โดยที่เราไม่ได้ดัดจริต อย่างพี่ๆ มีอะไรดีเราก็ซึมซับ โดยที่ทุกอย่างไม่ใช้คำพูด ทุกอย่างเขาจะทำเป็นตัวอย่าง ด้วยการที่เจอกัน นัดรวมตัวกันบ่อยๆ อาจารย์ให้โอกาสโยนกิจกรรมต่างๆ ให้ทำกันเยอะ มันก็ได้ฝึกได้เรียนรู้ งานช่าง งานสวน ขี่ม้า คนมีความรู้ด้านนี้ก็จะช่วยกันสอน มันทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นมาเยอะมาก ทุกคนก็ฝึกการยอม ฝึกนิสัยนี้ไปด้วยกัน จริงๆ มีทำกันหลายอย่าง เช่น ไปวัดไปวา นั่งสมาธิ ฯลฯ มันเสริมกัน แต่ละคนก็พัฒนาขึ้น เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

มีอะไรอยากฝากทิ้งท้ายถึงการสร้างทีมแบบนี้ไหมครับ

เครื่องมือตัวนี้ก่อให้เกิดคำว่า Oneness ตามแบบพุทธในประเทศเอเชียตะวันออก นั่นคือเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือทำงานเป็นทีมนั่นเอง อยากให้ลองเอาเครื่องมือนี้ไปใช้ ฝึกทำบ่อยๆ อาศัยการล้อมวงคุยกันบ่อยๆ เปิดใจฟังกันมากขึ้น แล้วจะดีขึ้นเรื่อยๆ อย่าล้มเลิกกลางคัน อย่าทำเล่นๆ ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะ

กฎของกลุ่มสายแข็งบุรีมีอยู่ข้อเดียว คือ ใครเข้ากลุ่มสายแข็งบุรีต้องดูแลกันตลอดชีวิต

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save