8 ช่องทางความสุข

6 เคล็ดลับทำงานให้มีสุข

Chorthip

คุณกำลังเบื่อ…เซ็ง…ทำงานซังกะตายไปวันๆ แบบไม่มีความสุขอยู่หรือเปล่า? ถ้าคำตอบคือ ใช่…ลองมาติดตาม 6 เคล็ดลับที่จะเปลี่ยนการทำงานของคุณให้มีความสุขจากเจ้าของรางวัล The Giver Award สาขาความสุขจากการทำงาน พญ.ช่อทิพย์ นาถสุภา พัฒนะศรี กันดีกว่า

“เช้าวันมหิดล ไปดูคนไข้ด้วยความรู้สึกขอบคุณสถาบัน ขอบคุณครูอาจารย์ ขอบคุณทุกความช่วยเหลือเกื้อกูลของผู้คนมากมายที่ทำให้ได้เรียนรู้และยืนอยู่ที่นี่ในวันนี้….บ่ายช่วยกันเก็บข้าวของที่ไม่ได้ใช้ในบ้านมาบริจาคที่ปันกัน พ่อกับแม่ก็ช่วยกันเก็บข้าวของมาใส่ถุงบริจาคให้ด้วย ขอบคุณแคมเปญวันมหิดลที่ทำให้เราได้กลับมาคิดว่าในวันนี้เราได้ทำอะไรดี ๆ ให้ตัวเองและคนรอบตัวบ้าง และมีกำลังใจที่จะทำอะไรเล็ก ๆ ด้วยความตั้งใจต่อไปในทุก ๆ วัน  #วันมหิดล #MahidolDayofService #MUEG1 #MURA25”

ข้อความข้างต้นคือโพสต์ในเฟซบุ๊กของคุณหมอช่อทิพย์ เป็น 1 ในหลาย ๆ ข้อความที่ปรากฎขึ้นภายใต้โครงการ Mahidol Day of Service ซึ่งเป็นโครงการที่ชักชวนให้ชาวมหิดลและผู้ที่สนใจมาทำความดีร่วมกันในวันมหิดล ซึ่งนัยยะที่ซ่อนอยู่ในกิจกรรมที่คุณหมอทำ คือการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ด้วยความสุข ได้จับหัวใจคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จนตัดสินใจมอบรางวัล The Giver Award สาขาความสุขจากการทำงานให้กับเธอ

14440705_10210533094393841_2700744133007411040_n-526x432

“จริง ๆ แล้วกิจกรรมที่เลือกทำ คือการเอาของในบ้านไปบริจาคให้ที่ปันกัน แต่บังเอิญว่าในเช้าวันมหิดล ได้เห็นเพื่อน ๆ โพสต์รำลึกกันว่าวันนี้เป็นวันมหิดล ข้อความเหล่านั้นทำให้เรานึกถึงสถาบัน นึกถึงครูอาจารย์ที่ท่านเคยสอนเรามาทำให้เราเกิดความรู้สึกอยากจะส่งต่อความรู้ ความชำนาญที่เราได้มา ให้เกิดประโยชน์ต่อคนไข้มากยิ่งขึ้น เช้าวันนั้นก็เลยไปดูแลคนไข้โดยที่มีความรู้สึกอย่างนั้นอยู่ข้างใน ซึ่งผลก็คือมันทำให้เราทำงานวันนั้นอย่างมีความสุขมากขึ้น

Chorthip#award (1)

ปัจจุบันคุณหมอช่อทิพย์ปฏิบัติหน้าที่เป็นอายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อ อยู่ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และยังแบ่งเวลาส่วนหนึ่งเป็นอาจารย์พิเศษที่ภาควิชาอายุรศาสตร์แผนกต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลรามาธิบดี แม้อาชีพแพทย์จะมีตารางการทำงานทั้งแน่นและหนัก แถมยังต้องแบกเอาความหวังของทั้งคนไข้และญาติ แต่คุณหมอก็ยังคงทำงานแต่ละวันได้อย่างมีความสุข ด้วย 6 เคล็ดลับง่ายๆ ที่ประกอบด้วย

เคล็ดลับ 1 : ดูแลตัวเอง

สิ่งที่คุณหมอช่อทิพย์ให้ความสำคัญลำดับแรก คือ การดูแลตัวเอง ร่างกายต้องพักผ่อนให้พอ ทานอาหารให้เป็นเวลา ออกกำลังกาย เวลานั่งทำงานเมื่อยก็ลุกขึ้น ยืดเสียหน่อยไม่ให้ปวดเมื่อยจนเกินไป ส่วนจิตใจนั้นก็ต้องดูแลความสุขความเบิกบานในตัวเรา ง่ายที่สุดคือการหาเวลาพักบ้างในระหว่างวัน การหยุดพักสั้น ๆ กลับมาหายใจลึก ๆ ดื่มน้ำดื่มท่าสักเล็กน้อย จะทำให้เรากลับมามีพลังที่จะทำงานมากยิ่งขึ้น

เคล็ดลับ 2 : เปลี่ยนมุมมองกับสิ่งรอบตัว

คุณหมอช่อทิพย์ย้ำว่ามุมมองของตัวเราเองกับสิ่งรอบตัวเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราสามารถมองเห็นความงดงามของสิ่งที่อยู่รอบตัว เช่น เห็นความงามของต้นไม้แตกใบอ่อน เห็นความงามของประกายแสงแดดที่ส่องเข้ามาในห้อง มองเห็นน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ของผู้ร่วมงาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะหล่อเลี้ยงใจให้เรามีความสุขมากยิ่งขึ้นในแต่ละวัน

เคล็ดลับ 3 : ปล่อยวาง

อาชีพแพทย์ทำงานอยู่บนความเจ็บป่วยและความตาย แน่นอนว่าคนไข้ของคุณหมอช่อทิพย์เองก็ไม่ได้หายดีทุกคน สิ่งเดียวที่ทำได้คือการปล่อยวาง “เราต้องวางใจในงานที่เราทำค่ะ เร็วๆ นี้ก็มีคนไข้ที่เสียไปคนหนึ่ง เราต้องกลับมาคิดว่า เราได้ทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดแล้ว เราอาจจะไม่ได้รักษาให้เขาหายได้ทุกคน แต่ในขณะที่เขาจะจากไป เราได้ช่วยดูแลญาติของเขา ได้ช่วยสนับสนุนให้ญาติรู้สึกว่าคนไข้ได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ให้เขาสบาย ตรงนี้คือการที่เราทำงานอย่างเต็มที่ แต่ว่าปล่อยวางผล เราก็จะไม่ทุกข์”

Chorthip2

เคล็ดลับ 4 : เห็นคุณค่าของงานที่ทำ

ข้อนี้ไม่ใช่เฉพาะอาชีพแพทย์เท่านั้น แต่คุณหมอหมายถึงทุก ๆ อาชีพ ทั้งนี้เพราะเราแต่ละคนมีความถนัด มีความสามารถที่แตกต่างกัน เราควรใช้ความสามารถ ความถนัดของเรา ทำงานที่เรารัก มองเห็นคุณค่าของงานที่เราทำ ว่ามันเป็นส่ิงที่มีความหมายและมีประโยชน์ต่อคนอื่นอย่างไรบ้าง ถ้าเรามองเห็นคุณค่าของงานที่ทำได้เมื่อไร เมื่อนั้นเราก็จะเกิดความรัก มีปณิธานบางอย่างที่จะผลักดันให้เราทำงานนั้นอย่างเต็มที่และมีความสุข

เคล็ดลับ 5 : มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน

เพราะความจริงที่ว่าเราต้องทำงานกับเพื่อนร่วมงานทุกวัน ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงานจะเกื้อกูล ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีเพื่อน มีคนที่คอยสนับสนุนเราอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในยามปกติหรือเวลาที่เจออุปสรรคและปัญหา

เคล็ดลับ 6 : งานคือการเรียนรู้

เราสามารถใช้งานเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ การทำงานจะทำให้เราเรียนรู้และเติบโต คุณหมอช่อทิพย์ยกตัวอย่างในกรณีของคุณหมอว่า “ถ้าเรามีคนไข้ที่เราช่วยเขาไม่ได้ แทนที่เราจะเครียด กังวล หรือเศร้าเสียใจ เราควรจะใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาทักษะหรือเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม หรือแม้กระทั่งว่าเราทำงานแล้วรู้สึกหงุดหงิดจังเลย เราก็อาจจะต้องกลับมาถามตัวเองว่า เราไม่มีความสุขเพราะอะไร จากนั้นเราก็กลับมาดูว่าเราควรจะดูแลกายใจของเรายังไงต่อไป นี่ก็คือการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองเช่นเดียวกัน”

ทั้งหมดนี้คือ ‘6 เคล็ดลับทำงานให้มีสุข’ อย่างง่าย ๆ จาก พญ.ช่อทิพย์ นาถสุภา พัฒนะศรี ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า ทั้ง 6 ข้อมีสิ่งที่ตรงกันอย่างหนึ่งก็คือ ความสุขจากการทำงาน ไม่จำเป็นต้องไปเริ่มต้นที่ไหนไกลเลย ไม่ต้องไปเปลี่ยนเจ้านาย เปลี่ยนองค์กร เปลี่ยนเพื่อนร่วมงาน แต่เราก็มีความสุขกับการทำงานได้ ด้วยการเริ่มต้นเปลี่ยนที่ตัวเราเอง แค่เพียงเราลองปรับตัว ปรับใจ ปรับความคิดและทัศนคติบางอย่าง เราก็จะพบความสุขที่แท้จริงในการทำงานได้อย่างไม่ยากเย็น
**โครงการ Mahidol Day of Service เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมหิดลและธนาคารจิตอาสา ภายใต้โครงการวิถีสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. รายละเอียดwww.mahidol.ac.th/dayofservice **

 

การทำงาน

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save