8 ช่องทางความสุข

โรงเรียนแปลงผักอินทรีย์ (ตอนที่ 1)

AN4

พวกเรามาทำงานก็เหมือนมาโรงเรียน ปลูกผักอินทรีย์ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก

ในบ่ายวันที่แดดร้อนเปรี้ยงจนแทบจะละลาย ทีมงานความสุขประเทศไทยนั่งพักหลบแดดสนทนาสบายๆ ใต้อาคารเล็กหลังหนึ่งในบริเวณวัดนักบุญอักเนส จ.ราชบุรี กับ 3 นักเรียนโรงเรียนชีวิต เจ๊มะ เจ๊แจ๋ว และพี่วีระ ทีมงานโครงงานพัฒนาต้นแบบแหล่งผลิตพืชผักปลอดสารเคมี ชุมชนคาทอลิก นักบุญอักแนส สนับสนุนโดย สสส. ซึ่งประโยคข้างต้นคือประโยคที่เจ๊แจ๋ว – เพยาว์ ยนปลัดยศ ผู้ที่เป็นเหมือนผู้จัดการฝ่ายขายของทีมเอ่ยขึ้นมา

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน ทั้งเจ๊มะ เจ๊แจ๋ว พี่วีระ ก็เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ ในชุมชน ชีวิตรับจ้างทั่วไป มีปลูกผักผลไม้บ้าง แต่ก็ใช้สารเคมีเหมือนกับที่พ่อแม่และเพื่อนบ้านใช้กันมาตลอด จนกระทั่งวันที่บาทหลวง ผศ.ดร.วุฒิชัย อ่องนาวา ได้เข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสดูแลวัดนักบุญอักแนสแห่งนี้

ด้วยภารกิจหน้าที่การทำงาน ที่คุณพ่อวุฒิชัยต้องออกเยี่ยมเยียนดูแลชาวบ้านคาทอลิกกว่า30 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ที่ อ.บ้านคา และ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งในทางปฏิบัติรวมถึงชาวบ้านทั่วไปที่นับถือศาสนาอื่นที่อยู่ในบริเวณนั้นด้วย ทำให้คุณพ่อได้รู้ถึงปัญหาการใช้สารเคมีในการทำเกษตร ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านทั้งร่างกายและจิตใจ

“เราไม่ได้เห็นเขาฉีดสารเคมีตรงๆ หรอกนะ แต่เราได้กลิ่น พอกลับมาก็รู้สึกเวียนหัว” คุณพ่อวุฒิชัยเล่า “ทีนี้พอไปดูข้อมูลจากโรงพยาบาล เราก็พบว่าอัตราชาวบ้านป่วยที่เป็นโรคระบบหายใจเยอะมาก ช่วงออกเยี่ยมก็เห็นความกังวลใจหลายอย่างของชาวบ้าน เขาเองก็ไม่ได้อยากใช้สารเคมี ตัวเขาเองก็รู้สึกผิด แต่ที่เขาทำก็เพราะพยายามให้ตัวเองอยู่รอด ปัญหาของชาวบ้านไม่ใช่ว่าเขาอยากหรือไม่อยากใช้สารเคมี ปัญหาคือปลูกเสร็จแล้วเขาจะขายที่ไหน ถ้าผลผลิตไม่สวย ตลาดไม่รับ ผลผลิตถูกตีกลับ เขาก็เจ๊ง”

AN1

สภาพปัญหาที่เห็นตรงหน้า ทำให้เกิดเป็นความเข้าใจ เข้าถึง และที่สุดนำสู่ความพยายามที่จะทำอะไรบางอย่างให้ดีขึ้น

“แต่ก่อนเรารับรู้นะ แต่ไม่เข้าใจ พอได้เห็นได้เจอกับตัวเอง เรารู้สึกว่าเข้าใจ เข้าถึงชีวิตชาวบ้านว่าเขาอยู่ยังไง ทำให้ไม่โทษเขาเลยนะที่ต้องใช้สารเคมี กลับมาย้อนถามตัวเองเสียอีกว่า แล้วที่ผ่านมาเราทำอะไรอยู่” คุณพ่อวุฒิชัยเล่าถึงจุดเริ่มต้น

“เราอยากเห็นชาวบ้านมีความสุข แต่ความสุขที่ยั่งยืนก็ต้องทำตัวกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ไม่ใช่เอาชนะ สุดท้ายก็เลยตัดสินใจเลือกเอาการทำเกษตรอินทรีย์นี่แหละมาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยชาวบ้าน คือเป็นการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาให้กับคนด้วยการทำเกษตร

วัดนักบุญอักแนสจึงเริ่มกลายเป็นพื้นที่ทดลองทำเกษตรอินทรีย์ คุณพ่อวุฒิชัยชักชวนพี่วีระ ตาบู๊ หนุ่มปกากะญอ คนงานดูแลสวนของวัดมาร่วมทีมคนแรก สองหนุ่มที่คนหนึ่งเป็นด็อกเตอร์ อีกคนความรู้แค่อ่านออกเขียนได้ เรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ไปด้วยกัน จนมีผลิตผลนำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่มาโบสถ์ในวันอาทิตย์

คำโฆษณาปากต่อปากที่ร่ำลือถึง ‘ผักบุ้ง’ ของวัดว่าอร่อยนัก รวมถึงแปลงผักที่งอกงามหน้าวัด กระตุ้นให้ชาวบ้านเริ่มสนใจใคร่รู้ คุณพ่อวุฒิชัยกับพี่วีระจึงเดินหน้าขยายพื้นที่การปลูกผักให้กว้างขวางออกไปมากยิ่งขึ้น ช่วงนั้นเองที่เจ๊มะและเจ๊แจ๋วเข้ามาร่วมเป็นทีมงานในโครงการ

AN3

“ตอนนั้นมีปัญหาหนี้สินเต็มตัว จนสุดท้ายทางตัน คนในหมู่บ้าน 30 กว่าคนนี่เรายืมเขาหมดทุกหลังคาบ้านแล้ว คิดเลยว่าต้องฆ่าตัวตาย แต่พอเห็นลูกก็กลัวว่าถ้าเราตายแล้วลูกจะอยู่ยังไง ก็เลยตัดสินใจมาขอความช่วยเหลือคุณพ่อ คุณพ่อก็ช่วย แล้วก็ชวนมาทำงานนี้ด้วยกัน” เจ๊มะ – คำขวัญ รอดธง เล่าถึงที่มา

“ส่วนของพี่ตอนนั้นเลิกกับสามี เห็นแม่เราอยู่ที่นี่คนเดียวไม่มีใครดูแล ก็เลยตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน อีกอย่างคือเราห่างวัดไปนานมากเป็น 10 ปีได้ พอเจ๊มะชวนให้มาทำงานด้วยกัน ก็เลยตัดสินใจมา ทั้งๆ ที่เราเองก็ทำเกษตรไม่เป็นสักเท่าไร ยังคิดอยู่เหมือนกันว่าจะรอดไหม?” เจ๊แจ๋วเล่า

ตั้งแต่วันนั้นเจ๊มะ เจ๊แจ๋ว พี่วีระก็เริ่มต้นการเป็นนักเรียนชีวิตบนแปลงผักเกษตรอินทรีย์ด้วยกัน ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านทั้งความเครียด ความเหนื่อยล้า เหงื่อและน้ำตา ทำให้แต่ละคนเติบโต เปลี่ยนแปลงและพบกับความสุขจากภายใน

11870698_1627193817550871_1516792504760342398_n

เพราะเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่แค่เรื่องอาหาร แต่มันเป็นเรื่องจิตใจด้วย เกษตรอินทรีย์ไม่ปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นอะไรต่างๆ ที่ทำให้เกิดความไม่ยั่งยืนในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นบริโภคนิยม วัตถุนิยม ปัจเจกที่คิดแต่ตัวเองเป็นหลัก สิ่งเหล่านั้นเอามาใช้ในการทำเกษตรอินทรีย์ไม่ได้ และนั่นจะทำให้พวกเขาได้เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะปัญญาด้านในของตัวเองไปโดยไม่รู้ตัว” คุณพ่อวุฒิชัยกล่าว

ตอนต่อไป เราจะมาติดตามกันว่า ชีวิตของเจ๊มะ เจ๊แจ๋ว พี่วีระ ตลอดจนถึงคนในชุมชนจะเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อได้มารู้จักกับเกษตรอินทรีย์ ในโรงเรียนแปลงผักอินทรีย์ (ตอนที่ 2)

ขอขอบคุณ : โครงงานพัฒนาต้นแบบแหล่งผลิตพืชผักปลอดสารเคมี ชุมชนคาทอลิก นักบุญอักแนส สนับสนุนโดย สสส.

การทำงาน

การศึกษาเรียนรู้

การสัมผัสธรรมชาติ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save