การเจริญสติทำให้อายุยืนขึ้นเพราะอะไร?
คนเราจะมีอายุยืนหรือไม่ก็อาศัยปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่พันธุกรรม ไปจนถึงการดำเนินชีวิต เช่น อาหาร คนที่กินอาหารที่มีพลังงานมาก พวกไขมัน แป้ง น้ำตาล จำนวนมาก จะทำให้อายุจะสั้นลง คนที่ได้รับอนุมูลอิสระเข้าไปในร่างกายจากสิ่งแวดล้อมมากทำให้เกิดการอักเสบขึ้นในร่างกายก็จะอายุสั้นลง
คนที่ไม่ออกกำลังกายเป็นประจำก็มีแนวโน้มจะเป็นโรคเรื้อรังต่างๆได้มากและอายุสั้นลง คนที่มีความเครียดมากอายุก็จะสั้นลง
ปัจจุบันนี้มีงานวิจัยที่น่าสนใจและเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างมากในหมู่นักวิจัยเรื่องคนสูงอายุก็คือเรื่องของ หน่วยพันธุกรรม ของคนเรา ที่เรียกว่า โครโมโซม ซึ่งเป็นตัวควบคุมลักษณะทางร่างกายและการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย โครโมโซมมี 23 คู่ 46 อัน เราลองนำเอามา 1 คู่มาดูดังภาพ
จะเห็นว่า 1 คู่มี 2 อันเชื่อมติดกัน ตรงปลายสายโครโมโซมจะมีลักษณะคล้ายหมวกคลุมอยู่ (สีแดงในภาพ) เรียกว่า ทีโลเมียร์ (Telomere)
เวลาเซลแบ่งตัว เจริญเติบโตขึ้นทุกๆปี ทีโลเมียร์จะสั้นลง ในคนหนุ่มสาวทีโลเมียร์จะยาวกว่าคนสูงอายุ ทีโลเมียร์จะเป็นตัวป้องกันปลายสายโครโมโซมต่ออนุมูลอิสระต่างๆที่จะมาทำลาย ถ้าไม่มีตัวนี้ปลายสายจะบานออก และจะเชื่อมติดกับปลายสายอันอื่น ทำให้สูญเสียหน้าที่และแตกสลายไป ทีโลเมียร์นี้เปรียบเหมือนปลอกพลาสติคที่หุ้มปลายเชือกผูกรองเท้าของเรา มันช่วยป้องกันไม่ให้ปลายบานออก เวลาสนเข้ากับรูของรองเท้าก็จะสะดวกง่ายดาย แต่ถ้าไม่มีปลอกพลาสติคปลายสายเชือกก็จะบานออก ก็จะใช้งานไม่ได้ สายโครโมโซมก็คล้ายกัน ปัญหาก็คือ ทีโลเมียร์ที่สั้นลงก็หมายความว่าอายุของเราก็สั้นลงด้วย แต่ธรรมชาติก็สร้างเอ็นไซม์ตัวหนึ่งที่จะมาช่วยให้ดำรงสภาพความยาวของทีโลมียร์เอาไว้ เรียกว่า เอ็นไซม์ทีโลเมอร์เรส (Telomerase) เอ็นไซม์ตัวนี้ช่วยสร้างทีโลเมียร์ ทำให้ทีโลเมียร์ไม่สั้นลงเร็วเกินไป เซลปกติแบ่งตัวแต่ละครั้งมันจะสั้นลงบ้าง จำนวนครั้งของการแบ่งตัวก็มีจำกัด นั่นหมายความว่า ถ้าเอ็นไซม์ตัวนี้ทำงานได้ดี เราก็จะมีอายุยืน แต่ถ้าเอ็นไซม์ตัวนี้ทำงานได้น้อยลง อายุเราก็จะสั้นลง
ผู้ที่ค้นพบ เอ็นไซม์ตัวนี้ คือ ดร. อลิซาเบท แบล็คเบิร์น (Elizabeth Blackburn) เธอเป็นศาสตราจารย์ด้านชีวโมเลกุล อยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก หรือ UCSF จากผลงานการค้นคว้าเรื่องนี้เธอและคณะได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาทางการแพทย์ในปี 2009
ปัจจุบันเธอทำงานที่ ห้องทดลองแบล็คเบิร์น (Blackburn Labs) ภาควิชาชีวเคมีและชีวฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก เธอศึกษาโครงสร้างและการทำงานของทีโลเมียร์และเอ็นไซม์ทีโลเมอร์เรส ในเซลของคน ในแง่มุมต่างๆ เช่น ในโรคมะเร็ง ในคนสูงอายุ (www.biochemistry.ucsf.edu/labs/ Blackburn) ห้องปฏิบัติการนี้สามารถตรวจวัดความยาวของทีโลเมียร์ และวัดการทำงานของทีโลเมอร์เรสได้ นั่นหมายความว่าเราสามารถจะตรวจดูได้ว่าในแต่ละปี ทีโลเมียร์ของเราสั้นลงหรือไม่ การทำงานของทีโลเมอร์เรส ยังดีอยู่หรือไม่ นั่นหมายถึง ถ้าทีโลเมียร์สั้น อายุเราก็มีแนวโน้มจะสั้นลง ทีโลเมียร์ยังเหมือนเดิมอยู่ อายุเราก็ยืนต่อไป เราตรวจได้ทุกปี ปัจจุบันเราดูได้จากค่าของ ความยาวของทีโลเมียร์ ตรวจค่าการทำงานของเอ็นไซม์ทีโลเมอร์เรส ดังนั้นขณะนี้จึงมีการพัฒนาเป็นชุดตรวจสำเร็จรูปที่ให้เราเอาไปตรวจความยาวของทีโลเมียร์และการทำงานของทีโลเมอร์เรส ด้วยตัวเอง เข้าใจว่า อาจจะมีจำหน่ายเร็วๆนี้ ในอเมริกา
งานวิจัยของเธอพบว่า ภาวะทีโลเมียร์สั้นลง มีความสัมพันธ์กับโรคต่างๆ คือ พบได้ในโรคมะเร็ง โรคติดเชื้อ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ภาวะสมองเสื่อม โรคอ้วน และในภาวะความเครียดเรื้อรัง
ในเซลปกติ ความสามารถในการแบ่งตัวของเซลจะถูกจำกัดโดยความยาวของทีโลเมียร์ พบว่า ทีโลเมียร์จะสั้นลงทุกครั้งที่เซลแบ่งตัว และเมื่อมีการแบ่งตัวหลายๆครั้งจนทีโลเมียร์สั้นถึงระดับหนึ่งแล้วเซลก็จะตายลง เอ็นไซม์ทีโลเมอร์เรส เป็นตัวสร้างทีโลเมียร์ทำให้มันรักษาความยาวไว้ได้ ในเซลมะเร็งมันสามารถจะแบ่งตัวได้โดยไม่จำกัด มากกว่าร้อยละ 90 ของเซลมะเร็งจะมีการสร้างและการทำงานของเอ็นไซด์ทีโลเมอร์เรสผิดปกติ เราสามารถตรวจพบในชิ้นเนื้อที่เป็นมะเร็ง ในเซลที่เผชิญกับสารอนุมูลอิสระ ทีโลเมียร์จะสั้นลงเร็วกว่าเซลปกติ (เตือนจิต คำพิทักษ์และคณะ,พันธุศาสตร์ทางการแพทย์ 2551)
งานวิจัยที่น่าสนใจส่วนหนึ่งเป็นงานที่เธอทำร่วมกับ ดร. อลิสา แอปปอล (Elissa Epel) ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาสุขภาพ ทำงานที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอรืเนีย ซานฟรานซิสโกเหมือนกัน เธอเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับความเครียด (Stress Researcher) เธอทำวิจัยร่วมกันหลายเรื่อง เช่น เธอทำวิจัยในคนที่มีอาชีพดูแลผู้ป่วย (Caregiver) พบว่า คนเหล่านี้มีความเครียดมากและเรื้อรังโดยลักษณะอาชีพความเครียดเรื้อรังทำให้ทีโลเมียร์สั้นลง การทำงานของทีโลเมอร์เรสลดลงและทำให้อายุสั้นลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับคนทั่วไป
ต่อมาเธอศึกษาถึงปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อความยาวของทีโลเมียร์ ซึ่งเธอพบว่า
1)การขาดการออกกำลังกาย ทำให้ทีโลเมียร์สั้นลงการออกกำลังกายเป็นประจำช่วยให้ทีโลเมียร์ยาวขึ้น
2) ความอ้วน ทำให้ทีโลเมียร์สั้นลง
3)การได้รับอนุมูลอิสระ มากๆ ทำให้เกิดภาวะ Oxidative Stress และเกิดการอักเสบในร่างกาย ทำให้ทีโลเมียร์สั้นลง
เป็นที่มาของโรคต่างๆ เช่นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคมะเร็ง เป็นต้น
4)การกินวิตามินและ สารแอนติออกซิแดนซ์ เสริมช่วยรักษาความยาวของทีโลเมียร์ได้
5) การนอนหลับอย่างเพียงพอช่วยรักษาความยาวของทีโลเมียร์ได้
6) ปัจจัยด้านจิตใจ การศึกษาอันแรก เธอทำร่วมกับดร. ดีน ออร์นิชและ ดร. แบล็คเบิร์น โดยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (Intensive Lifestyle change)โดยศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก ซึ่งไม่รุนแรง โดยให้ผู้ป่วยกินอาหารมังสวิรัติ ไขมันต่ำประมาณร้อยละ 15 ออกกำลังกายปานกลางวันละ 30 นาที ฝึกโยคะ เพื่อความผ่อนคลาย ทำอยู่ 3 เดือน เจาะเลือดเพื่อดูการทำงานของเอ็นไซด์ทีโลเมอร์เรส และวัดความยาวของทีโลเมียร์ ก่อนและหลังการเข้าโปรแกรม พบว่า การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบนี้เป็นเวลา 3 เดือน ทำให้ทีโลเมียร์ยาวขึ้น การทำงานของทีโลเมอร์เรสดีขึ้นนั่นคืออายุก็จะยาวขึ้น
การทดลองที่สอง เป็นการศึกษาวิจัยทำในกลุ่มคนที่ปฏิบัติธรรมแบบสมถกรรมฐาน (Shamatha meditation study) โดยให้เข้าอบรมฝึกการทำสมาธิ ฟังธรรม ถือศีล เป็นเวลา ๔ เดือนในสถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งแถบเทือกเขาโคโรลาโดเจาะเลือดตรวจก่อนและหลังเข้าอบรม ก็ได้ผลคือ พบว่า การฝึกสมาธิแบบนี้ก็ทำให้ทีโลเมียร์ยาวขึ้น การทำงานของทีโลเมอร์เรสดีขึ้นเช่นกัน
การทดลองที่สาม ทำการศึกษาในกลุ่มผู้เข้าโปรแกรม การเจริญสติแบบ MBSR (Mindfulness stress Reduction Program) ของ ศ. จอน คาแบค ซิน และฝึกเจริญสติในการกินอาหารด้วย (Mindful Eating) ใช้เวลาศึกษาอยู่ 4 เดือนเช่นกัน พบว่า การเจริญสติช่วยให้ทีโลเมียร์ยาวขึ้น ทีโลเมอร์เรสทำงานได้ดีขึ้น
ดังนั้นจะเห็นว่าความยาวของทีโลเมียร์และการทำงานของทีโลเมอร์เรสเอ็นไซด์ เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในด้านต่างๆ ตั้งแต่อาหาร การออกกำลังกาย การฝึกความผ่อนคลาย การฝึกสมาธิ การเจริญสติ ล้วนส่งผลให้รักษาความยาวทีโลเมียร์ไว้ได้ ทีโลเมอร์เรสทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งก็คือ เราจะอายุยืนขึ้นได้