8 ช่องทางความสุข

เส้นทางความสุข : การร่วมแรงเป็นชุมชน

วันนี้ชุมชนคงไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การอยู่ร่วมกันบนพื้นที่ทางกายภาพ เราอาจรวมกลุ่มเป็นชุมชนกันได้ผ่านทางสังคมออนไลน์ เป็นชุมชนในมิติใหม่ ไม่ปฏิเสธเทคโนโลยี แต่นำมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

มีคนเคยตั้งคำถามว่า ถ้ามีปลาอยู่ 1 ตัว ทำอย่างไรถึงจะกินได้นานที่สุด บางคนตอบว่าเอาไปหมัก บางคนตอบว่าเอาไปตากแห้ง หนึ่งในคำตอบที่น่าชวนให้คิดที่สุดก็คือ ‘เอาไปแบ่งให้คนอื่น’

การแบ่งปัน เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน เป็นความงดงามที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนในการรวมกลุ่มของครอบครัว เครือญาติและชุมชนที่เข้มแข็ง ทว่าน่าเสียดายที่ภาพดังกล่าวกลับค่อยๆ ห่างหายไปจากความคุ้นเคยของคนในสังคมเข้าไปทุกที ยิ่งกระแสบริโภคนิยม กระตุ้นเร้าให้คนหันไปพึ่งพาวัตถุภายนอกมากขึ้นเท่าไร ภาพของการร่วมแรงเป็นชุมชนก็ดูจะไกลตัวเราออกไปมากขึ้นเท่านั้น

พระธาตุดอยผาส้ม1

พื้นที่ดอยผาส้ม อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในพื้นที่ตัวอย่างที่กระแสสังคมได้เข้าไปเปลี่ยนวิถีชุมชนจากหน้ามือเป็นหลังมือ “การผลิตแบบใหม่และเศรษฐกิจแบบใหม่ ทำให้คนเริ่มไม่สนใจการพึ่งพากัน แต่ละคนต่างไม่มีเวลา แย่งกันบริโภค” พระครูธรรมคุต (พระสรยุทธ ชยปญโญ) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุดอยผางาม และพระนักพัฒนาชุมชนเล่าถึงภาพวิถีชุมชนที่เปลี่ยนไป

“เราได้รู้จักชาวบ้าน รู้ว่าเขาโหยหาการบริโภค เกิดภาระหนี้สินเยอะ ตอนนี้เขาไม่มีความสุข เพราะชุมชนมันแย่ลง มันแตก มันเสื่อม เราค่อยๆ เริ่มคุยกับเขาว่า ทำไมเป็นแบบนี้ เมื่อก่อนทำไมมีความสุข เขาวิเคราะห์ตัวเองว่า เขาอยากได้ในสิ่งที่ไม่เคยได้ อยากมีสิ่งที่ไม่เคยมี ชุมชนเลยเริ่มหันกลับดูแลกันเอง ดูแลป่า ดูแลธรรมชาติ สร้างผลิตภัณฑ์ในชุมชน พึ่งพาอาศัยกัน เกิดการร่วมแรงร่วมใจช่วยกันในชุมชน มีการแบ่งปันความสุข ชีวิตก็เปลี่ยน”

ดอยผ้าส้ม 2

ดอยผ้าส้ม 3

ข้ามไปอีกซีกโลกหนึ่ง Brice Royer ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่ทุกข์ทรมานจนเคยคิดที่จะฆ่าตัวตาย ได้ใช้เวลาในการศึกษาและค้นคว้าเพื่อหาคำตอบว่า อะไรคือสาเหตุในการเจ็บป่วยของเขา เขาค้นพบว่ารากเหง้าของปัญหาทั้งหมดทั้งมวลเริ่มต้นจาก ‘การขาดความรักในสังคม’ เขาพบว่าคนที่มีสุขภาพดีในหลายพื้นที่ มีสิ่งที่เหมือนกันนั่นคือ พวกเขามีครอบครัวที่อบอุ่น ชุมชนที่ดูแลเอาใจใส่กันและกัน มีการแบ่งปันโดยไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องได้อะไรเป็นการตอบแทน

image (3)

Brice Royer จึงตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตที่เหลือในรูปแบบใหม่ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เขาสร้างชุมชนที่ ‘ให้และรับโดยไม่ใช้เงิน’ เขาบอกเพื่อนและเริ่มตั้งกลุ่มใน Facebook หลังจากนั้นก็เริ่มให้ความช่วยเหลือกับคนแปลกหน้าโดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นการเสนอที่จะจ่ายค่าเช่าให้แก่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ป่วยเรื้อรังในเพนซิลวาเนีย แม้เขาไม่เคยพบผู้หญิงคนนี้มาก่อน แต่เขาจ่ายเงิน 4800 เหรียญให้เธอ หรือการช่วยจ่ายค่าทันตแพทย์ให้กับคนแปลกหน้าซึ่งเป็นทหารผ่านศึกและมีลูกชายที่เป็นออทิสติก โดยให้เธอเอาปรอทที่อุดฟันออกเพราะมันทำให้เธอป่วย

เขาบอกว่า “ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรต่อจากนั้น ความเมตตานี้มันจะส่งผมไปยังคนอื่น ๆ ต่อไปหรือไม่ แต่ผมรู้ว่ามีผลดีย้อนกลับมาหาผม หลังจากเริ่มมอบความรักให้แก่คนแปลกหน้าอย่างไม่มีเงื่อนไข ของขวัญต่าง ๆ ก็กลับมาที่ผม อย่างที่คาดไม่ถึง“

หลังจากเขาโพสต์เล่าเรื่องราวลงใน Facebook คนจากทุกมุมโลกให้กำลังใจเขาด้วยการถ่ายรูปกับแครอทซึ่งเป็นอาหารชนิดเดียวที่เขากินได้โดยไม่ป่วย และใช้ hashtag #EatCarrotsForBrice ชาวสวนคนหนึ่งที่ปลูกแครอท เสนอแครอทให้เขากินได้มากเท่าที่เขาต้องการโดยที่ทั้งคู่ไม่เคยพบกันมาก่อน และยังมีคนแปลกหน้าอีกหลายคนที่อาสาช่วยทำงานบ้าน ปอกแครอท หรือพาเขาไปโรงพยาบาลโดยไม่รับผลตอบแทนใดๆ ทั้งหมดนี้คือปาฏิหาริย์ความสุขที่เกิดขึ้นกับ Brice

o-EAT-CARROTS-FOR-BRICE-570

เรื่องราว 2 เรื่องที่เกิดขึ้นคนละมุมโลก คงบอกความหมายของการร่วมแรงเป็นชุมชนได้อย่างงดงามและลึกซึ้ง สิ่งที่น่าใคร่ครวญคือนิยามความหมายของชุมชนที่เปลี่ยนไป วันนี้ชุมชนคงไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การอยู่ร่วมกันบนพื้นที่ทางกายภาพ เราอาจรวมกลุ่มเป็นชุมชนกันได้ผ่านทางสังคมออนไลน์ เป็นชุมชนในมิติใหม่ ไม่ปฏิเสธเทคโนโลยี แต่นำมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ดังที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้เคยให้ความหมายของคำว่าชุมชนไว้ว่า ชุมชนอาจเกิดขึ้นในสถานที่และสถานการณ์ต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น

1. มีความเป็นชุมชนในครอบครัว

2. มีความเป็นชุมชนในที่ทำงาน

3. มีความเป็นชุมชนวิชาการ (academic community)

4. มีความเป็นชุมชนสงฆ์

5. มีความเป็นชุมชนทางอากาศ เนื่องจากรวมตัวกันโดยใช้วิทยุติดต่อสื่อสารกัน

6. มีความเป็นชุมชนทางอินเตอร์เนต (Internet)

แต่ไม่ว่าจะเป็นชุมชนแบบใด สิ่งที่สำคัญที่ทุกชุมชนควรมีก็คือความรัก ความเอื้ออาทร มีการทำงานและการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อนำชุมชนไปสู่สุขภาวะที่ดีทั้งทางกาย ใจ สังคม และสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใดคือ สุขภาวะทางปัญญา อันเป็นความสุขที่แท้จริงและยั่งยืน

 


 

ขอบคุณภาพ :

www.watdoiphasom.com

www.huffingtonpost.ca/2015/04/07/brice-royer-carrot-photos_n_7019740.html

https://shar.es/1cfaUI

https://youtu.be/rThishQZmJg

https://www.youtube.com/watch?v=PXdB_yDbt2U

 

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save