8 ช่องทางความสุข

ความสุขจากการภาวนา

ความสุขแบบนี้มันยั่งยืน ไม่หายจากเราไปง่ายๆ 

หากจะมีใครถามหาหนทางไปถึงความสุขที่จริงแท้แน่นอน ‘การภาวนา’ เป็นทางสายนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย คนที่ผ่านการปฏิบัติภาวนาจะทราบดีว่า จิตที่เป็นสมาธิมีความสุขสงบเย็นเพียงใด
เมื่อปีที่แล้วนิตยสารระดับโลกอย่าง TIME Magazine เผยแพร่ผลวิจัยของสหรัฐฯ ว่า คนที่มีความสุขมากที่สุดในโลกคือ พระในพุทธศาสนา หลังทดสอบด้วยการสแกนสมองของพระที่ทำสมาธิ มหาวิทยาแห่งซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย สำรวจพบว่า ผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนามาเป็นเวลาเกิน 2 ปี มีสุขภาพจิตดีกว่าคนทั่วไป 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะการภาวนาไม่ว่าจะด้วยการนั่งสมาธิ เดินจงกลม เจริญสติ และสวดมนต์ ช่วยปรับสภาวะความสมดุลของร่างกายและจิตใจ กล้ามเนื้อผ่อนคลาย คลื่นสมองเรียบ อัตราการหายใจและชีพจรช้าลง สมองจะปลอดโปร่ง จิตใจประณีตผ่องใส

ผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนามาเป็นเวลาเกิน 2 ปี มีสุขภาพจิตดีกว่าคนทั่วไป 10 เปอร์เซ็นต์

บุคคลผู้มีชีวิตเพื่อการภาวนา รศ.ดร.กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล (หงศ์ลดารมภ์) เผยถึงความสุขจากการภาวนาว่า “ความสุขส่วนหนึ่งเกิดจากการทำงานด้านภาวนา การเข้าใจความหมายและพอใจในสิ่งที่ทำจึงนำความเบิกบานมาให้ อีกส่วนหนึ่งเป็นความสุขที่มาจากการภาวนาของตัวเอง ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การนั่งสมาธิ หรือการสวดมนต์เฉยๆ แต่การภาวนารวมทุกๆ อย่างของการใช้ชีวิต การภาวนาที่ยิ่งใหญ่ที่ได้ทำคือ การจาริกแสวงบุญ และการปลีกวิเวกอยู่จำศีล เพื่อภาวนาในประเด็นที่ต้องการปฏิบัติจนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ภายใน ตรงนี้ได้นำพาความเข้าใจอันยิ่งใหญ่มาให้ การที่เราเข้าใจเป้าหมายของการภาวนา ทำให้เราเข้าใจจิตใจและเข้าใจชีวิตของเรา มันให้ความสุขอันยิ่งใหญ่ ซึ่งความสุขนี้เป็นพลังกลับมา ทำให้เรามีวิริยะมากขึ้นที่จะทำอะไรดีๆ ให้ผู้อื่น”

อ.กฤษดาวรรณ ผู้ประทับใจในเสน่ห์ของวัฒนธรรมและจิตวิญญาณแบบทิเบต ได้ศึกษาและฝึกปฏิบัติการภาวนาแบบพุทธมหายานสายทิเบตอย่างถึงแก่น ท่านบอกเล่าประสบการณ์ว่า “การภาวนาอาจจะเรียกว่า เป็นการเดินทางภายใน กลับมาดูสภาวะจิตภายในของเรา อาจารย์เคยปฏิบัติธรรมหนึ่งเดือนโดยไม่ได้ติดต่อโลกภายนอกเลย ปฏิบัติตั้งแต่เช้าจนมืดอยู่คนเดียว เรามีความสุขทุกวันในช่วงปฏิบัติ และก็มีความสุขแม้ในช่วงที่ทำงานอยู่ภายนอก เพราะภาวนาตลอดเวลา คือทั้งชีวิตไม่ได้มีเป้าหมายอื่น นอกจากปฏิบัติธรรม และทำงานทางธรรมเพื่อผู้อื่น ไม่มีส่วนไหนที่ไม่เกี่ยวกับการภาวนา”

“แต่การที่เรายังอยู่ในสังสารวัฏ เราไม่สามารถตอบได้ว่า เรามีความสุขตลอดเวลา เพราะเรามีช่วงเวลาเจ็บป่วย ขณะที่เราป่วย เราได้รับทุกขเวทนาจากความเจ็บป่วย แต่ใจเราไม่ป่วยตาม อาจมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพหรืออาการป่วย ความกังวลอาจจะเกิดขึ้นมา แต่เราสามารถเตือนตัวเอง และหันมาภาวนา เพราะฉะนั้นช่วงที่ป่วย เราจะบอกว่าสุขมากๆ ก็ไม่ใช่ หรือช่วงที่เรามีอะไรมากระทบการงาน แม้ว่าเราทำงานทางธรรม แต่เรายังดำเนินชีวิตอยู่กับโลกภายนอก เมื่อมีความผิดพลาด จะบอกว่าเป็นความสุขคงไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราไม่ทุกข์จนเกินไป”

เมื่อมีความผิดพลาด จะบอกว่าเป็นความสุขคงไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราไม่ทุกข์จนเกินไป

การภาวนา เปรียบดังน้ำเย็นชโลมกาย
ถ้าเปรียบเทียบกับความสุขจากการบริโภค อ.กฤษดาวรรณ บอกว่า “แตกต่างกันมาก เพราะความสุขจากการภาวนาเป็นเหมือนน้ำเย็นที่เราค่อยๆ นำมาชโลมกาย ส่วนความสุขจากการบริโภคอาจเหมือนน้ำตก มันอาจได้ความสุขโดยทันทีและอาจจะหายไปอย่างรวดเร็ว แต่ความสุขจากการภาวนาจะค่อยๆ ชโลมเราไป ค่อยๆ เปลี่ยนใจเราไป สิ่งที่เราเคยคิดว่า ถ้าไม่มีแล้วเราจะทุกข์ มันก็อาจจะเปลี่ยนไป จากที่พูดว่า ‘ไม่มีไม่ได้’ เราจะเปลี่ยนว่า ‘ไม่มีก็ได้’ เมื่อเราสามารถพูดว่า ‘ไม่มีก็ได้’ มากขึ้น วันหนึ่งเราจะยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างว่าจะมีหรือไม่มีก็ไม่เป็นไร แม้ไม่มีก็มีสุขได้ นี่คือบทเรียนจากการภาวนาที่ทำให้เราเปลี่ยน”
ความอัศจรรย์ของการภาวนาไม่ใช่เพียงความสุข แต่หมายรวมถึงหนทางการเข้าสู่สภาวะจิตที่ประณีตบริสุทธิ์ “อาจารย์เชื่อว่า เราเกิดมาเพื่อภาวนา ไม่ใช่เกิดมาเพื่อทำงานหนัก เราหาเงินเพียงเพื่อเราไม่ต้องเบียดเบียนผู้อื่น เลี้ยงปากท้องเราได้ สำหรับนักบวชผู้คนไปทำบุญให้ท่านก็เหมือนผู้คนเลี้ยงท่าน แต่ท่านก็ต้องทำงานเพื่อเกื้อกูลผู้คน เรามีเงินส่วนหนึ่งพอเพียงกับชีวิต พอเพียงที่เราจะดูแลบุคคลที่อยู่ในความดูแลของเรา

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

โดยที่เราไม่ต้องวางแผนให้เขาร่ำรวยในอนาคต ไม่ต้องให้ลูกเป็นเศรษฐี ลูกต้องมีวิถีของลูก หากมีเงินเหลือ เรานำมาบำเพ็ญกุศล เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพื่อให้เป็นที่พักพิงใจชั่วลูกชั่วหลาน เพื่อให้ประเพณีการภาวนามีไปไม่รู้จบ อาจารย์เชื่อว่าเราเกิดมาเพื่อบำเพ็ญกุศล เพื่อสลายกิเลส เพื่อให้เราเข้าไปถึงสภาวะที่แท้ของจิตที่ผ่องแผ้ว ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเข้าถึงสภาวะนั้นด้วยการอ่านหนังสือ เราเข้าถึงได้อย่างเดียวด้วยการปฏิบัติภาวนา”
การภาวนาให้ความสุขอันยิ่งใหญ่ แต่คนยังปฏิบัติน้อย อ.กฤษดาวรรณ วิเคราะห์ว่า “อาจเพราะเป็นอะไรที่นามธรรม ผู้คนอยากได้รูปธรรม บางคนแรกๆ ทำไม่เป็น นั่งสมาธิหลับตลอด หรือว่าเบื่อ ไม่ได้รับความสุขจากการภาวนา ปฏิบัติครั้งเดียวแล้วไม่มาปฏิบัติอีก เขาก็ไม่สามารถเข้าถึงตรงนี้ได้ บางคนสงสัยว่าทำไมเขาถึงต้องภาวนา หรือต้องปฏิบัติธรรม มองเป็นเรื่องของนักบวช และบางคนไม่มีเวลาให้สำหรับการปฏิบัติ”
มาภาวนาเพื่อเปลี่ยนตัวเอง

เมื่อทราบถึงความวิเศษของการภาวนา สนใจมาฝึกปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขสงบเย็น และเปลี่ยนแปลงตัวเอง อ.กฤษดาวรรณ แนะนำว่า

  • เปิดใจและอย่าความคาดหวังสูงมาก เพราะถ้าคาดหวังมากแล้วไม่ได้อย่างที่ต้องการ จะมองว่าไม่ได้ผล การเปิดใจให้กับการปฏิบัติถือเป็นเรื่องสำคัญ ทำความเข้าใจในสายการปฏิบัติที่เราเลือกฝึกฝน
  • ปฏิบัติด้วยตัวเองช่วงเช้า ซึ่งเป็นเวลาอันประเสริฐหลังจากหลับมาทั้งคืน เมื่อตื่นขึ้นมา อย่าคิดเรื่องงาน ให้พาจิตกลับไปสู่ความว่างภายใน สั้นๆ 5 นาที แล้วทำให้เป็นนิสัย
  • ควรปลีกเวลาเข้าคอร์สการภาวนาอย่างน้อยในระยะแรก 3 วัน ในสายปฏิบัติที่ตัวเองสนใจ ทุ่มเทใจให้และไม่นำพื้นฐานความรู้เดิมไปใช้ในบริบทใหม่ เมื่อปฏิบัติเป็นแล้ว จึงนำไปปฏิบัติที่บ้านอย่างต่อเนื่อง

สำหรับคอร์สภาวนาตามแนวพุทธมหายานสืบสายทิเบต เน้นเรื่องความกรุณาที่ต้องอยู่คู่กับปัญญา กรุณามาจากการทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นการเปิดใจให้แก่ผู้อื่นนอกเหนือจากการละอัตตา ปัญญาเกิดจากการเข้าถึงความผ่องแผ้วภายในจากสมาธิ การบ่มเพาะความกรุณาทำโดยการกราบอัษฎางคประดิษฐ์ การสวดมนต์ การสวดมนตรา และอีกหลากหลายวิธีการ เมื่อปฏิบัติเป็นจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสมาธิมากขึ้น เมื่อกลับบ้านควรสวดมนตราทุกวัน อย่างน้อยวันละ 7 ครั้ง ขณะสวดให้ตั้งจิต สติจะมาอัตโนมัติ แต่หากมีเวลาน้อยมาก ให้เริ่มจากการภาวนาทันทีหลังตื่นนอน การปฏิบัติตามแนวพุทธทิเบตจะทำให้ใจเราไม่มีกิเลส เอาความเห็นแก่ตัว ความโลภ ความเหย่อหยิ่ง ความอิจฉาริษยาออกไป ให้ใจเราเต็มไปด้วยความรัก เมื่อใจเต็มไปด้วยความรักความกรุณา ใจเราจะเป็นเนื้อที่อันประเสริฐสำหรับการทำสมาธิ เราจะกลับไปสู่ความบริสุทธิ์ของจิตภายใน

ผลที่ได้รับจากการภาวนา อ.กฤษดาวรรณ บอกว่า “นำไปสู่ความเบิกบาน ความพึงพอใจ เข้าใจตัวเอง เข้าใจสรรพสิ่ง เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจสภาวะจิตของตัวเอง ระดับของความเข้าใจขึ้นอยู่กับความเพียรพยายามในการปฏิบัติ และการที่เรารู้สึกเป็นสุขภายใน จะทำให้เราเกิดสันติในใจ ความสุขแบบนี้มันยั่งยืน ไม่หายจากเราไปง่ายๆ เมื่อฝึกฝนปฏิบัติไปเรื่อยๆ เราจะค่อยๆ เปลี่ยน เราจะดีวันดีคืน มีความสุขมากขึ้น เราจึงอยากให้คนอื่นมีโอกาสปฏิบัติ แล้วมีความสุขอันเป็นผลจากการภาวนา”

คนที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน เมื่อมาปฏิบัติแล้วพบว่า ‘สุขเหลือเกิน’ และไม่เคยมีใครที่ปฏิบัติภาวนาตลอดเวลาแล้วไม่มีความสุข

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

รศ.ดร.กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล (หงศ์ลดารมภ์)
สนใจการปฏิบัติภาวนาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดความสุขและประทับใจพุทธศาสนามหายานสืบสายทิเบต ระหว่างนั่งอ่านคัมภีร์ภาษาทิเบต ที่สหรัฐฯ ก่อตั้งมูลนิธิพันดารา และลาออกจากการเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ทำงานภาวนา สร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมที่หัวหิน จัดคอร์สภาวนาให้กับคนทั่วไปเกือบทุกเดือน

ความสุขแบบนี้มันยั่งยืน ไม่หายจากเราไปง่ายๆ

การภาวนา

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save